มือชา ปัญหาที่มีสาเหตุจากการไม่ดูแลสุขภาพ

14 เม.ย.53 อาการมือชาทั้งสองข้างชัดเจน เกิดขึ้นเมื่อวานเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน หรือที่ใครอาจเรียกว่าเหน็บชา เกิดขึ้นกับฝ่ามือทั้ง 2 ข้างนานหลายชั่วโมง ขณะพิมพ์งานก็ยังรู้สึกได้ ครั้งนี้บ่นให้ภรรยาฟัง เพราะเกรงว่าจะเป็นอย่างอื่น พฤติกรรมของผมในช่วงนี้คือ 1) ใช้มือยกแขนพิมพ์คอมพิวเตอร์จนดึกเกือบทุกวัน 2) เมื่อยไหล่ทั้งสองข้าง แต่ไม่รุนแรง ทนไปได้ในแต่ละวัน อย่างวันนี้ก็รู้สึก 3) บางวันต้องพัก เพราะเจ็บนิ้วชี้หรือนิ้วกลางที่ต้องใช้คลิ๊กเมาส์ 4) บางวันต้องพัก เพราะเจ็บอุ้งมือขวาจากการวางพื้นราบก่อนถึงเมาส์
      ค้นจากเน็ตพบว่า 1) อาการปวดและชาเกิดเนื่องจากมีความดันสูงในช่องอุโมงค์ที่เส้นประสาทลอดผ่านที่บริเวณฝ่ามือ เนื่องจากมีการอักเสบและการหนาตัวของเนื้อเยื่อพังผืดที่คลุมช่องอุโมงค์นี้เกิดการกดทับเส้นประสาท ในรายที่เป็นมากก็จะเกิดเนื้อเยื่อพังผืดบางๆ รัดเส้นประสาทอีกชั้นหนึ่ง ทำให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล 2) ชามือ โดยส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาของระบบประสาทส่วนปลายถูกกดทับ ที่สามารถรักษาหายได้ และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ มือและแขนของคนเรา มีระบบเส้นประสาทไปเลี้ยง ให้ความรู้สึก 3 เส้น คือ 2.1 ) เส้นประสาทมีเดียม ให้ความรู้สึกด้านฝ่ามือของนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนางที่อยู่ติดกับนิ้วกลาง 2.2 ) เส้นประสาทอัลนาร์ ให้ความรู้สึกมือ ด้านนิ้วก้อยและครึ่งหนึ่งของนิ้วนางที่ติดนิ้วก้อย 2.3 ) เส้นประสาทเรเดียน ให้ความรู้สึกหลังมือ ของนิ้วหัวแม่มือ ครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง เมื่อมีอาการชามือ ลองสังเกตให้แน่ชัดว่าชาตรงไหน จะได้ช่วยแพทย์ให้การวินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้น ถ้าชาด้านฝ่ามือของนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง บางส่วนนิ้วนาง อาจจะเป็นนิ้วใดนิ้วหนึ่งหรือหลายนิ้ว เรียกว่า “พังผืดรัดเส้นประสาทที่ข้อมือ” หรือ “กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ”
     การปฏิบัติตนคือ รับประทานวิตามินบี 1, 6, 12 และบริหารร่างกายเป็นประจำ .. ในเวลาที่ยังเยียวยาได้ ผมคงต้องชะลอการใช้ร่างกายแบบไม่สมเหตุสมผลลงบ้างแล้ว จะได้มีไว้ใช้ตราบนานเท่านาน .. เผื่อว่าใครจะชวนให้มีชีวิตเป็นอมตะ ก็จะได้มีร่างที่เหมาะสม

ปรับความหนาแน่นของคำสำคัญ และสร้างโปรแกรมนับคำสำคัญ

keyword counting

14 เม.ย.53 ค้นคำว่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พบว่า blog ของ thaiall.com อยู่อันดับที่ 8 ส่วนอันดับที่ 3 พบใน blogspot.com มีความหนาแน่นของคำสำคัญจำนวน 11 แต่เว็บเพจ thaiall.com/blog เคยมีเพียง 4 ถ้าทำงานตามหลัก seo ก็จะต้องเพิ่มความหนาแน่น แล้วผมก็เพิ่มเป็น 17 โดยปรับ code ของ wordpress ให้มี keywords และ description ซึ่งเขียนวิธีการไว้ที่ thaiall.com/wordpress ส่วนโปรแกรมนับ keyword ของฝรั่งมีปัญหาเรื่องภาษาไทย และ utf8 ทำให้ต้องเขียนโปรแกรม check keyword ใช้เองและเปิดบริการไว้ที่ thaiall.com/seo/checkkeyword.php
     สรุปว่าใช้เวลาพักหนึ่ง แกะเรื่อง utf8 กับ windows-874 หรือ tis-620 ส่วนการเพิ่มฟังก์ชันก็ต้องแกะ code เพิ่ม function ใน wordpress เพื่อเรียกใช้ the_tags ที่แสดงแบบมี link และ nonlink เพราะทุกหน้าจะมี tag เป็น keyword ของตนเองก็ต้องเรียกใช้ tag แบบ nonlink
+ http://www.thaiall.com/seo/checkkeyword.php
+ http://www.thaiall.com/wordpress

ความสำคัญของ keyword ในเว็บเพจตามหลัก seo

เปรียบเทียบ คำสำคัญใน truehits.net กับ google.com

13 เม.ย.53 ใช้บัญชีผู้ใช้ของ truehits.net เข้าระบบ แล้วคลิ๊กลิงค์ “เปรียบเทียบผลการค้นคีย์เวิร์ด (แสดงรายชื่อเว็บ) Click!!” ที่อยู่ใน Main Block ที่มุมบนขวาภายหลังเข้าสู่ระบบแล้ว ทดสอบดูข้อมูลของคำว่า “หางาน” จะไปพบจากเว็บไซต์ใดบ้าง ก็ได้ผลลัพธ์คือ 1) jobthai.com 2) jobth.com 3) jobbkk.com เมื่อนำคำว่า “หางาน” ไปค้นใน google.com ก็พบผลการสืบค้นมีความใกล้เคียงกับที่พบใน truehits.net จึงสรุปในเบื้องต้นได้ว่า การใส่คำสำคัญให้หนาแน่นเท่าใดจะสัมพันธ์กับผลการจัดอันดับที่ดีใน google.com ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งของการทำ seo
     เว็บไซต์ต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มีบริการสืบค้นตามคำสำคัญที่มีชื่อต่างกันไป (มีปัญหาภาษาไทย) เช่น Search Engine Position, Keyword Density Checker, Google adwords keyword tool, Spider Viewer, Keyword Density Analysis ซึ่งเครื่องมือทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนการเขียนเนื้อหา (content) ให้โดยใจ search engine ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่า keyword สำคัญกับการทำ seo  ดังนั้นจะเขียนอย่างไรก็ต้องอยู่ในใจตลอดเวลาทั้งก่อนเขียน ขณะเขียน หลังจากเขียนร่าง และการปรับปรุงร่าง ก่อนเผยแพร่
+ http://www.webuildpages.com/seo-tools/keyword-density/
+ http://truehits.net/let/
+ http://www.iwebtool.com/search_engine_position
+ http://www.webconfs.com/keyword-density-checker.php
+ http://www.iwebtool.com/keyword_density
+ https://adwords.google.com/select/KeywordToolExternal
+ http://www.webuildpages.com/seo-tools/spider-test/
+ http://www.thaiall.com/article/promote.htm

อุปทานหมู่กับศรัทธาในศาสนาที่กำลังลดลง

11 เม.ย.53 ในขณะที่สารสนเทศเริ่มมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น และสารสนเทศที่ไม่ถูกยอมรับก็เริ่มจะหายไป ความจริงเริ่มกระจ่างกว่าความเชื่อ ศรัทธาในสิ่งที่เราไม่รู้เริ่มลดลง ทุกอย่างต้องการถูกพิสูจน์ การโกงบ้านโกงเมืองเพิ่มขึ้นเพราะคนกลัวบาปกรรมลดลง .. ครั้งหนึ่งได้ข่าวว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะเอาวัดเข้าห้างสรรพสินค้า เพราะเยาวชนเข้าห้างมากกว่าวัด แต่ก็หายไป .. ก็ให้ไปนึกถึงเรื่องของอุปทานหมู่ หรือการโน้มน้าวจิตใจในการประชุมใดใด ที่จิตใจของคนเราถูกควบคุมได้ ถ้ามีศรัทธา .. เชื่อว่าจิตใจของเด็กยุคใหม่คงจะยึดมั่นในความสมเหตุสมผลมากขึ้น เพราะเยาวชนในปัจจุบันเรียนหนังสือกันเป็นบ้าเป็นหลัง ทุกอย่างต้องพิสูจน์ได้ ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ต่างกับผู้ใหญ่ในปัจจุบันยังไปดูหมอ ยังเชื่อเรื่องดวงวันเกิด ยังเชื่อชีวิตหลังความตาย .. แต่เด็กสมัยนี้ไม่เข้าวัดก็เพราะไม่มีศรัทธา ประพฤติตัวเหลวแหลก เพราะไม่เชื่อในกฎแห่งกรรมและพ่อแม่ก็ไม่พาเข้าวัด .. สรุปว่าอุปทานหมู่เกิดจากศรัทธา แต่ในอนาคตศรัทธาของมนุษย์จะลดลงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่มีอะไรมายึดเหนี่ยวจิตใจพวกเขาอีกแล้ว .. น่าเป็นห่วงนะครับ กับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ขาดศรัทธา
     อุปทานหมู่  (Collective Hysteria, Collective Obsessional Behavior, Mass Hysteria หรือ Mass Psychogenic Illness) เป็นปรากฏการณ์ทางจิตสังคมอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นการแสดงออกอย่างเดียวกับโรคฮิสเตอเรียหรือโรคผีเข้า (อังกฤษ: Hysteria) แต่อุปาทานหมู่นั้นเป็นอาการสมดังชื่อ คือ เกิดขึ้นในคนหมู่ โดยมักมีสาเหตุจากการที่คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าตนกำลังประสบภาวะเจ็บป่วยหรืออาการอื่นอย่างเดียวกัน
     ปรากฏการณ์อุปาทานหมู่นั้นเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งเกิดป่วยหรือมีอาการของโรคฮิสเตอเรียอันเป็นผลมาจากภาวะเครียดและเมื่อผู้ป่วยคนนั้นเริ่มแสดงอาการ คนอื่นรอบข้างก็เริ่มแสดงอาการด้วย เพราะเชื่อว่าตัวเองก็ประสบภาวะอย่างเดียวกัน อาการที่แสดงเช่นว่ามักได้แก่ อาการคลื่นไส้ (Nausea), อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle Weakness) การชัก (Fit) หรืออาการปวดศีรษะ (Headache)
     อุปาทานหมู่มีลักษณะเด่น ตรงที่ไม่อาจหาสาเหตุแน่ชัดได้ อาการที่เกิดก็มักมีความคลุมเครือ แต่มักเชื่อกันว่ามีสาเหตุมาจากอำนาจเหนือธรรมชาติหรือเป็นทางทางศาสนา โดยว่ากันทางประชากรศาสตร์ อุปาทานหมู่เกิดมากในเพศเมียและในหมู่ผู้ที่รับบริการทางการแพทย์บ่อย ๆ คือพวกที่รับประทานยาหรือใช้ยามาก ๆ เป็นต้น
     อาการตื่นตระหนกทางใจ (Moral Panic) มีอาการแสดงคล้ายกับอุปาทานหมู่มาก อย่างไรก็ตาม เจอโรม คลาร์ก (Jerome Clark) นักวิจัยเรื่องเหลือเชื่อและจานผี ชาวอเมริกัน กล่าวว่า อุปาทานหมู่เป็นคำอธิบายอันไร้มูลฐานเมื่อเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญไม่อาจหาคำอธิบายได้สำหรับกรณีอันยุ่งเหยิงหรือน่าตระหนกใจ 
กรณี 1 อุปทานจากละคร
เป็นละครน้ำเน่าเกี่ยวกับชีวิตของเด็กในวัยทีนที่ได้รับความนิยมสูงมากในประเทศตุรกี โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นที่พากันติดงอมแงม – เดือนพฤษภาคม ปี 2006 โรคระบาดที่มีชื่อว่า ‘Morangos com Acucar virus’ เกิดขึ้นครั้งแรกในโรงเรียน 14 แห่ง นักเรียนมากกว่า 300 คน เกิดอาการประหลาด ซึ่งคล้ายคลึงกับอาการของตัวละครหนึ่งในละคร อาการดังกล่าวได้แก่ ผื่นขึ้น หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะ รุนแรงถึงขนาดบางโรงเรียนต้องปิดลง หน่วยสาธารณสุขได้ออกมาตรวจสอบและสรุปว่าเป็นปรากฏการณ์อุปทานหมู่ ซึ่งเกิดจากละคร บรรดาผู้ปกครองต่างพากันวิตกกังวล เพราะละครน้ำเน่าดังกล่าวไม่ได้ฉายทางทีวีอย่างเดียว มันยังตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารอีกด้วย
กรณี 2 อุปทานหมู่นร.อาชีวะตรัง
นร.อาชีวะตรังปี 2 นับร้อยคนเกิดอาการร้องไห้กรีดร้องเสียงดังสนั่นโรงเรียนลักษณะคล้ายร่างทรงบางรายพูดเป็นภาษาจีนก่อนจะวิ่งออกมาที่ศาลพระภูมิ โดยมีครูสวดมนต์ผ่านเครื่องขยายเสียงหวังให้สถานการณ์ผ่อนคลาย ผู้ปกครองแห่งรับกลับบ้านยันปี 2549 เคยเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันมากแล้ว ครูใหญ่เมินส่งรักษาโรงพยาบาลอ้างไม่ใช้เหตุร้ายแรง
+ http://lonesomebabe.spaces.live.com/blog/cns!B3DBC94207C84DE2!1755.entry
+ http://news.sanook.com/social/social_274960.php
+ http://www.trangzone.com/webboard_show.php?ID=3768
+ http://www.youtube.com/watch?v=DhNe7p-APp8
+ http://www.youtube.com/watch?v=TCH4aG_A5-Y

ผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บ 834 ราย จากเหตุเสื้อแดงปะทะทหาร

สั่งปิด 36 เว็บไซต์

ข่าว ณ วันที่ 11 เม.ย.53 ศูนย์ เอราวัณ รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุม็อบเสื้อแดงปะทะทหาร มีผู้เสียชีวิต 19 ราย เป็น พลเรือน 15 ราย ทหาร  4 นาย ในจำนวนนี้ เป็นนายทหารยศ พ.อ.สังกัด กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เสียชีวิตเนื่องจากถูกยิงที่ศีรษะ…
     ด้านศูนย์เอราวัณ รายงานจำนวนผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่ทหารเข้าผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม ณ บริเวณ ถ.ราชดำเนิน สรุปจำนวนผู้บาดเจ็บเบื้องต้น 834 ราย นำส่งโรงพยาบาล รพ.วชิระ 160 ราย  รพ.มิชชั่น 6 ราย  รพ.พระมงกุฎฯ 215 ราย รพ.กลาง 146 ราย รพ.รามาฯ  51 ราย รพ.หัวเฉียว 59  ราย รพ.ศิริราช 34 ราย รพ.ตำรวจ 18 ราย  รพ.จุฬาฯ 6 ราย รพ.ตากสิน 62 ราย รพ.เลิดสิน 8 ราย รพ.เจ้าพระยา 4 ราย รพ.ราชวิถี 8 ราย รพ.เจริญกรุงฯ  18 ราย  รพ.พระปิ่นเกล้า 39 ราย
     ส่วนผู้เสียชีวิตมีทั้งสิ้น 19 ราย ประกอบด้วย พลเรือน 15 คน ประกอบด้วย 1) นาย อําพล ตติยรัตน์ 2) นายยุทธนา ทองเจริญพลพร 3) นายไพศล ทิพย์ลม 4) นายสวาท วางาม 5) Mr.Hiroyuki Muramoto 6) นายธวัฒนะชัย กลัดสุข 7) นายทศชัย เมฆงามฟ้า 8 ) นายจรูญ ฉายแม้น 9) นายวสันต์ ภู่ทอง 10) นางคะนึง ฉัตรเท 11) นายเกรียงไกร คําน้อย 12) นายบุญธรรม ทองผุย 13) นายสมศักดิ์ แก้วสาน 14) นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ 15) ชายไทยไม่ทราบชื่อ ส่วนทหาร 4 นาย ประกอบด้วย 16) พลฯ ภูริวัฒน์ ประพันธ์  17) พลฯอนุพงษ์ เมืองรําพัน  18) พลฯสิงหา อ่อนทรง  19) พ.อ.ร่มเกล้า ชุวธรรม
     เมื่อวันที่ 9 เม.ย.53 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน  ว่า องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ออกแถลงการณ์ประณามการปิดกั้นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิลแชนแนลและเว็บไซต์ 36 เว็บไซต์ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยระบุว่า “เป็นเรื่องน่าตำหนิที่ทางการใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีจุดประสงค์เพื่อปิดกั้นสื่อมวลชนที่ทั้งเป็นกลางและสื่อที่มีความเห็นไปในทางเดียวกับฝ่ายค้าน
     เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ได้ลงนามสั่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร ให้ปิด 36 เว็บไซต์ ซึ่งเป็นสื่อของกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงหรือนปช. หลังจากสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิลแชนแนลไปก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เช่น prachatai.com redshirttv.com newskythailand.com d-dek.org
+ http://news.siamtrue.com/view/newshot.3271 รายชื่อผู้เสียชีวิต
+ http://hilight.kapook.com/view/47657 มีรายชื่อเว็บไซต์
+ http://www.blognone.com/node/15799 มีรายชื่อเว็บไซต์
+ http://talk.mthai.com/topic/104430
+ http://www.khanpak.com/front-news/news-view.php?id=804
+ http://www.fwdder.com/topic/235394
+ http://news.mthai.com/breaking-news/72978.html

รายงานการประชุมวิเคราะห์ความรู้จากอาจารย์แต่ละคน

การวิเคราะห์ความรู้

11 เม.ย.53 มีโอกาสทำรายงานการประชุมตามแผนการจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) กิจกรรมวิเคราะห์ความรู้จากอาจารย์แต่ละคน เรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ หลายท่านขอสงวนนามไว้ แต่มีรายละเอียดชวนให้เรียนรู้ เป็นแนวคิดของแต่ละคน ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการเรียนการสอน ดังนี้
     1) อ.อติบุ๋ม  ให้รายละเอียดว่ามีประเด็นความรู้จากกิจกรรมแสวงหาความรู้หลายประเด็นพอสรุปได้ คือ 1) คะแนนพัฒนาการ 2) เทคนิคการสอน 11 ประเด็น 3) แฟ้มเค้าโครงรายวิชาและแบบสอบ ซึ่งวันนี้จะมีท่านใดให้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ยินดีรับฟัง ขอย้ำว่ากิจกรรมครั้งนี้คือการนำประเด็นที่ได้มาแยกให้เห็นรายละเอียดและประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอน
     2) อ.ศศิแนน ให้ความคิดเห็นว่าเหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาการเรียนการสอนคือ เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ต้องดำเนินการ และสัมพันธ์กับการประกันคุณภาพอย่างที่แยกกันไม่ได้ ซึ่งการได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเรียนการสอนจะสนับสนุนให้เกิดบทเรียนร่วมกันและนำเทคนิคที่ได้พูดคุยกันไปใช้พัฒนาการสอนในวิชาหรือกิจกรรมที่ตนรับผิดชอบ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรมการเรียนการสอน และส่งผลสุดท้ายต่อการได้บัณฑิตที่มีคุณภาพ จากกระบวนการที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยหวังใจว่าเราจะไปถึงจุดนั้น
     3) อ.วิบุญ ให้ความคิดเห็นว่าการให้ความสำคัญกับนักศึกษานั้นต้องมีกระบวนการรองรับที่เป็นรูปธรรม มีระบบ กลไก แผนงาน ซึ่งปกติการพัฒนาการเรียนการสอนต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาการให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษา ต้องมีคู่มือให้คำปรึกษา มีการรายงานผลการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล และจัดทำสรุปสิ้นภาคเรียนหรือสิ้นปีการศึกษาสำหรับภาพรวมของการให้คำปรึกษา แล้วประชุมสรุปงานอาจารย์ที่ปรึกษาสิ้นปีเพื่อทบทวนคู่มือ ระบบ กลไก และพัฒนาการให้คำปรึกษาให้ครอบคลุมทั้งวิชาการ วิชาชีวิต การนำปัญหามาแลกเปลี่ยน หาทางออก วิเคราะห์ความเสี่ยง และพัฒนาข้อมูลที่จะนำไปใช้จัดทำแผนปฏิบัติการ หรือแผนกลยุทธ์ ทั้งหมดนี้สอดรับกับระบบ PDCA ที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาการเรียนการสอน ดังคำที่ว่าถ้านักศึกษาไม่พร้อมจะเรียน แล้วอาจารย์จะจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร
     4) อ.ทนงเมือง ให้ความคิดเห็นว่าเทคนิคที่ใช้ในการเรียนการสอนนั้นมีหลายวิธี โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small – Group Discussion) เป็นวิธีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกวิชา เพราะทำให้นักศึกษาได้ฝึกการเป็นคนใจกว้างที่ให้ข้อมูลแก่เพื่อนร่วมทีมยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน หาวิธีแก้ปัญหาร่วมกันเชิงบูรณาการ ไม่ใช่การโยนหน้าที่ให้กันหรือเกี่ยงกันรับผิดชอบแต่เป็นการรับผิดชอบร่วมกัน การฝึกแบบนี้จะทำให้นักศึกษารู้จักประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อแก้ปัญหาที่จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ทำให้การยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองถูกเสมอเบาบางลงได้ เทคนิคนี้ทำให้ต้องมีระบบและกลไกเกิดกระบวนการแบ่งภาระหน้าที่ให้แก่คนในทีม เช่น ประธาน และเลขานุการของกลุ่ม ที่ต้องคอยประสาน คอยกำกับดูแล ส่วนสมาชิกก็ต้องเรียนรู้การเป็นผู้ตามที่ดี เพื่อให้เป้าหมายของกลุ่มสำเร็จลุล่วง
     5) อ.เกศลา เห็นด้วยกับแนวความคิดของอาจารย์ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น แต่ในเวลาที่จำกัดของการประชุม ขอเสนอให้ทุกวิชาเพิ่มเทคนิคการใช้ กรณีศึกษา (Case Studies) เพราะทำให้นักศึกษาได้เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง และทราบว่าหลายวิชาก็ใช้เทคนิคนี้ เช่น วิชากฎหมาย วิชาสถิติ วิชาการโปรแกรม ส่วนวิชาอีคอมเมอร์ซที่สอนอยู่ก็มีกรณีศึกษาให้นักศึกษาได้เรียนรู้มากมาย และใช้สอบนักศึกษา ส่วนวิชาโครงงานก็ต้องใช้กรณีศึกษาในภาคธุรกิจ ที่ปัจจุบันนักศึกษาต้องเข้าศึกษาการกระบวนการทำงานของธุรกิจที่ตนสนใจเฉพาะบุคคล ช่วยให้นักศึกษาได้เข้าใจการทำงานของภาคธุรกิจก่อนสำเร็จการศึกษา เมื่อไปสมัครงานก็จะทำให้ได้งานง่ายขึ้น เพราะมีประสบการณ์มาแล้วระดับหนึ่ง
     6) อ.บุพันธุ์ เสริมว่าหลายวิชาก็ยังใช้เทคนิคการเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem-solving) ด้วยการที่อาจารย์กำหนดปัญหาขึ้นมา แล้วให้นักศึกษาฝึกแก้ปัญหาในชั้นเรียน บางวิชาอาจเปิดให้นักศึกษาเป็นผู้ตั้งโจทย์แล้วเพื่อนในชั้นเรียนร่วมกันแก้ไข หากมีข้อสงสัยอาจารย์ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ปล่อยให้นักศึกษาออกไปนอกห้องเรียนแล้วไปพูดว่าอาจารย์ลอยแพ อมภูมิ ไม่รู้เรื่อง หรือไม่เต็มใจสอน การเปิดให้นักศึกษาตั้งโจทย์อาจเป็นเทคนิคที่ต้องมีการควบคุมใกล้ชิด ซึ่งเป็นเทคนิคส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลอย่างมาก การเรียนการสอนในปัจจุบันต้องไม่น่าเบื่อเหมือนในอดีตที่อาจารย์ทำหน้าที่บรรยายอยู่หน้าชั้นเพียงอย่างเดียว ถึงเวลาสอบก็ให้นักศึกษาไปเดาข้อสอบกันเองอย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้น
     7) อ.แตบุตร เพิ่มประเด็นว่าการสอนนักศึกษาต้องเปลี่ยนไปจากในอดีต อาจารย์จะสั่งงานและทำตัวเป็นผู้มีอำนาจเหนือนักศึกษาไม่ได้แล้ว เพราะคำสั่งหรือสั่งแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของนักศึกษา อาจทำให้นักศึกษาไม่พอใจ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิผลของการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ หากอาจารย์สอนด้วยความรักความเข้าใจ รู้จักใช้กัลยาณมิตรด้วยความบริสุทธิ์ใจ นักศึกษาก็จะมีความสนใจ และไม่เกิดแรงต้านที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่จากผู้ที่พวกเขาเรียกว่าอาจารย์ แต่ถ้าลูกศิษย์ตั้งฉายาอาจารย์ว่าพ่อมด หรือแม่มด ก็คงเป็นอุปสรรค์ในการเรียนรู้อย่างแน่นอน ซึ่งอาจารย์ต้องรู้สึกว่านั้นคือความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการแก้ไขทั้งตนเอง และลูกศิษย์ไปพร้อมกัน

โจทย์ ครน และ หรม สำหรับเด็กประถม

คณิตศาสตร์ เรื่อง ครน แล หรม

11 เม.ย.53 การสร้างโจทย์คณิตศาสตร์เรื่อง ครน คูณร่วมน้อย หรือ หรม หารร่วมมาก สามารถใช้โปรแกรม Microsoft Excel สร้างได้ง่าย โดย หรม คือ การหาตัวเลขที่มากที่สุดที่หารตัวเลขทุกตัวที่ตั้งไว้ได้ เช่น เลขที่ตั้งไว้คือ 8,  100, 12, 20 ดังนั้น หรม ของเลขที่ตั้งไว้ คือ 4 เพราะเป็นเลขที่มากที่สุดที่หารตัวเลขที่ตั้งไว้ได้ทุกตัว ส่วน ครน คือ การหาตัวเลขที่น้อยที่สุดที่เลขที่ตั้งไว้ไปคูณร่วมกันได้ลงตัว เช่น เลขที่ตั้งไว้คือ 8,  100, 12, 20 ดังนั้น ครน ของเลขที่ตั้งไว้ คือ 600 เกิดจาก 4 * 5 * 2 * 5 * 3 * 1
     วิธีหาค่าของ ครน และ หรม ใช้การหารสั้น แล้วเอาผลหารที่หารทุกตัวได้ลงตัวมาคูณกัน ก็จะได้ หรม แต่ถ้าตัวหารที่หารบางตัวได้ก็จะนำมาใช้ประกอบการหา ครน ดังนั้น หรม ก็จะมีเพียงเลข 4 ตัวเดียว อยากให้ลองหา ครน ของ 8,  100, 12, 20 ก็จะเข้าใจครับ
+ http://www.thaiall.com/girl/multiply.xls

แบ่งปันเนื้อหาแบบทวีคูณ (238)

แนะนำ facebook

8 เม.ย.53 สังคมแห่งการสื่อสารในยุคโลกไร้พรมแดนมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การสื่อสารระหว่างบุคคลในต่างดินแดนสามารถสื่อสารกันได้เสมือนอยู่ในห้องเดียวกัน มีการพัฒนาการสื่อสารที่เป็นรูปธรรมทั้งเว็บบอร์ด บล็อก และเครือข่ายสังคม มนุษย์ยุคไอทีสามารถมีเพื่อนใหม่และกลายเป็นเพื่อนกันด้วยสัมผัสเพียงหนึ่งคลิ๊ก หากมีคนกล่าวว่าคลิ๊กเดียวก็เป็นเพื่อนกันได้เมื่อสิบห้าปีก่อน ผู้เขียนก็คงไม่คิดว่าเรื่องแบบนั้นจะเป็นจริง แต่ปัจจุบันมีบริการเครือข่ายสังคมที่เริ่มมีแนวโน้มผูกขาดการเป็นศูนย์บริการที่ได้รับความนิยม เช่น Facebook.com และ Twitter.com
     ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เครือข่ายสังคมอย่าง facebook.com เป็นที่นิยมคือ ยอมรับการแบ่งปันหัวข้อหรือบันทึก (Share Title) ซึ่งบันทึกนั้นอาจมาจากเว็บไซต์ใดใด เช่น cnn.com หรือ sanook.com หรือ thaiall.com ซึ่งเจ้าของบัญชีเครือข่ายสังคมสามารถดำเนินการด้วยเครื่องมือของ Toolbar ที่ติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อส่งข้อมูลจากทุกเว็บไซต์ได้ไปยังเว็บไซต์เครือข่ายสังคมได้ หรือคลิ๊กผ่านไอคอนในเว็บไซต์ข่าว ซึ่งผู้เป็นเจ้าของเว็บไซต์ข่าวสามารถสร้างไอคอนให้ผู้ชมสามารถคลิ๊กเพื่อส่งบันทึกหรือข่าวไปเผยแพร่ในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมเป็นการเปิดช่องทางให้เพื่อนของผู้ชมได้อ่านหัวข้อที่แนะนำ หากสนใจในรายละเอียดก็จะคลิ๊กเพื่อเปิดอ่านเนื้อหาต้นฉบับเต็มในเว็บไซต์ข่าวได้ ดังนั้นการเขียนข่าวเพียงหนึ่งครั้งแต่ส่งไปเผยแพร่ใน 3 เว็บไซต์เครือข่ายสังคม อาจมีผู้ชมเพิ่มจากเดิมถึง 3 เท่า และอาจเพิ่มขึ้นอีกหากมีผู้ชมที่สนใจแล้วเผยแพร่หัวข้อเพิ่มขึ้น
     เว็บไซต์ addthis.com ให้บริการส่งหัวข้อไปยังเว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่เปิดรับการแชร์เนื้อหาหรือหัวข้อ เช่น facebook.com myspace.com twitter.com blogger.com ถ้าจะใช้บริการก็เพียงแต่นำรหัสที่ได้จาก addthis.com ไปวางไว้ในเว็บไซต์ของตน เมื่อเพื่อนหรือผู้ชมเข้ามาอ่านบันทึกหรือข่าวแล้วสนใจก็จะคลิ๊กเพื่อส่งหัวข้อไปเผยแพร่ยังเว็บไซต์เครือข่ายของผู้ชม เมื่อเพื่อนของผู้ชมเข้าไปที่เว็บไซต์เครือข่ายสังคมก็จะได้พบกับหัวข้อข่าว หากสนใจก็จะคลิ๊กกลับมาอ่านรายละเอียด ซึ่งวิธีนี้เริ่มได้รับความนิยม เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการแบ่งปันเนื้อหา ดำเนินการง่าย และมีประสิทธิภาพในการให้สารสนเทศแก่กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ในภาคธุรกิจเริ่มใช้เทคนิคนี้เข้ามาเป็นกลยุทธ์ในการทำตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ หรือขยายช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น

PHP Code เพื่อ share title จาก wordpress ไปยัง facebook และ twitter

facebook.com และ twitter.com

6 เม.ย.53 การเขียนบล็อกใน wordpress แล้วต้องการเผยแพร่ไปยัง facebook.com หรือ twitter.com เป็นเทคนิคที่สนับสนุนการทำ seo ที่สำคัญอีกวิธีหนึ่ง ผู้เป็นเจ้าของบล็อกสามารถวาง PHP Code ไว้ในเว็บเพจของตน สำหรับเว็บบล็อกของผมวางไว้ใน footer.php เพื่อให้ผู้เข้ามาสืบค้นข้อมูลสามารถส่งไปยัง facebook หรือ twitter ของเขาได้ ซึ่งผมเองก็ใช้บริการนี้ส่งไปยัง facebook ของผมครับ โดยมี code ดังนี้

<a href=”http://www.facebook.com/share.php?u=<?=urlencode(“http://www.thaiall.com” . $_SERVER[“REQUEST_URI”]);?>”> facebook </a>
<a href=”http://twitter.com/home?status=<?php urlencode(wp_title(‘«’, true, ‘right’)); ?><?=urlencode(“http://www.thaiall.com” . $_SERVER[“REQUEST_URI”]);?>”> twitter </a>

รายงานการประชุมแสวงหาความรู้จากอาจารย์แต่ละคน

ทัศนะของรุ่นพี่ ที่ฉายภาพในคณะวิทย์

6 เม.ย.53 มีโอกาสทำรายงานการประชุมตามแผนการจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) ของอาจารย์กลุ่มหนึ่ง เรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ หลายท่านขอสงวนนามไว้ แต่มีรายละเอียดชวนให้เรียนรู้ เป็นแนวคิดของแต่ละคน ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการเรียนการสอน ดังนี้
     1) อ.อติบุ๋มให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ในฐานะที่เป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในด้านนี้ว่า ในการพัฒนาสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่มีบรรยากาศในการเรียนรู้ในระดับบุคคลและกลุ่มบุคคล จำเป็นต้องมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสามารถประมวลผลความรู้ในแต่ละด้าน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งการแสวงหา แลกเปลี่ยน และพัฒนาความรู้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการปฏิบัติงาน อันเป็นผลมาจากความรู้ใหม่ อันจะนำไปสู่การสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
      2) อ.ศศิแนนให้ความคิดเห็นว่าการพัฒนาการเรียนการสอนนั้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งบุคลากร นักศึกษา อาจารย์ สิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อม กระบวนการจัดการเรียนการสอน การดูแลเอาใจใส่ แหล่งค้นคว้า ทัศนคติ เป้าหมายที่ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน เสริมซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิผล โดยเฉพาะการให้คะแนนนั้นต้องเป็นไปในทางเดียวกันคือมีคะแนนพัฒนาการวิชาละ 5 คะแนน เพื่อวัดพัฒนาการหรือความก้าวหน้าในการเรียนรายบุคคล จากประสบการณ์ใช้วิธีบันทึกว่านักศึกษาแต่ละคนก่อนเรียนเป็นอย่างไร เมื่อให้งานแล้วผลการเรียน หรือผลสอบพัฒนาขึ้นมากน้อยเพียงไร ก็จะใช้เป็นเกณฑ์ในการให้คะแนนพัฒนาการ
     3) อ.วิบุญให้ความคิดเห็นว่าอาจารย์จำเป็นต้องเห็นนักศึกษาคือลูก ต้องทำตัวเป็นพ่อผู้ให้ความรักอย่างเอื้ออาทร และแสดงออกให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพราะทุกคนมีคุณค่า หากเริ่มต้นด้วยจิตใจที่ดีแล้ว ทุกอย่างก็จะดีงามเป็นเงาตามตัว ขอให้ทุกคนคิดดีด้วยจิตใจที่งามเห็นนักศึกษาเป็นลูกหลาน แล้วการให้คำปรึกษา การสอน หรือการปฏิบัติตนต่อนักศึกษาก็จะเป็นไปในแบบกัลยาณมิตร นักศึกษาก็จะเข้าเรียนอย่างมีความสุขกับพ่อพระที่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน ชี้แนะลูกทุกคน อย่างมีความสุขด้วยความเท่าเทียม การจัดการความรู้เป็นสิ่งที่ดีทำให้ทุกคนได้มาประชุมร่วมกันหากมีสิ่งดี ๆ ก็จะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้อีก ทำให้เกิดกำลังใจหนุ่นเสริมให้การทำงานเป็นไปอย่างมีความสุข และไม่รู้สึกว่าทำงานอีกต่อไป แต่รู้สึกว่าเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา
     4) อ.ทนงเมืองให้ความคิดเห็นว่าการพัฒนาการเรียนการสอนต้องมีเทคนิควิธีในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ซึ่งต้องบูรณาการเทคนิคเข้ากับวิชาที่ตนสอน โดยมีประเด็นนำเสนอทั้งหมด 5 ประเด็น คือ 1) การอภิปรายกลุ่มใหญ่ (Whole – Class Discussion) 2) การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small – Group Discussion) 3) การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) 4) สถานการณ์จำลอง (Simulation) 5) ละคร (Dramatization) นำเสนอประสบการณ์ว่าได้จัดกิจกรรมกลุ่มที่เปิดให้นักศึกษารวมกันเป็นกลุ่มเล็ก แบ่งหน้าที่กันทำงาน เรียนรู้ที่จะทำงานอย่างบูรณาการ รู้หน้าที่ของกันและกัน จำลองเหตุการณ์เพื่อแก้ปัญหา เช่นวิชาด้านความปลอดภัยที่เปิดให้ค้นคว้า แบ่งกันหาข้อมูล นำมาแลกเปลี่ยนและสรุปร่วมกัน และนำเสนออย่างรู้หน้าที่ร่วมกัน
     5) อ.เกศลาเห็นพร้องกับ อ.ทนงเมือง และเสนอประเด็นหรือเทคนิคที่สามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนอีก 6 ประเด็นคือ 1) กระบวนการสืบค้น (Inquiry Process) 2) การตั้งคำถาม (Questioning) 3) การศึกษาเป็นรายบุคคล (Individual Study) 4) การจัดการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยี (Technology – Related Instruction) 5) การฝึกปฏิบัติการ (Practice) 6) กรณีศึกษา (Case Studies) ตัวอย่างเช่นวิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้นที่ให้นักศึกษาทำโครงงานประจำวิชา ได้สืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ตั้งโจทย์ด้วยตนเองที่ต้องนำเสนอหน้าชั้นเรียนเป็นรายบุคคล ฝึกปฏิบัติสร้างภาพยนต์ด้วยโปรแกรม Flash หรือเรียนรู้จากกรณีศึกษา และวิเคราะห์ร่วมกัน ซึ่งถูกใช้ในหลายวิชา และสอดแทรกไปอยู่เสมอ การใช้เทคนิคเหล่านี้เป็นไปโดยธรรมชาติ การได้นำเสนอให้เกิดการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้รู้สึกดี และเสนอให้จัดขึ้นบ่อย ๆ เพราะถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในชั้นเรียนก็จะได้นำมาแลกเปลี่ยนร่วมกันได้
     6) อ.บุพันธุ์ เสริมว่ายังมีอีก 2 ประเด็นคือ การเรียนแบบค้นพบ   (Discovery Learning) และ  การเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem-solving) ตัวอย่างเช่นวิชาการโปรแกรมจาวาที่ให้นักศึกษาเรียนการใช้ฟังก์ชัน และสร้างฟังก์ชันขึ้นใช้เอง เพื่อใช้สำหรับแก้ปัญหาที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีรหัสต้นฉบับให้กับนักศึกษาและให้นักศึกษาค้นหาว่ารหัสต้นฉบับที่ให้นั้นมีคำสั่งใด รูปแบบ หรือผลลัพธ์ผิดพลาดอย่างไร ถ้าพบปัญหาแล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร
     7) นางสาวพัชวรรณ เสริมว่าแผนการสอน หรือเอกสารประกอบการสอนขออาจารย์ทุกท่านสามารถขอดูได้ที่เลขานุการเพื่อนำไปเรียนรู้ หรือเป็นบทเรียนในการพัฒนาการเรียนการสอนภายในคณะ ปัจจุบันคณะมีคลังแผนการสอนที่สั่งสมมาหลายปีหากมีการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมก็จะเกิดประโยชน์ได้