รายงานการประชุมวิเคราะห์ความรู้จากอาจารย์แต่ละคน

การวิเคราะห์ความรู้

11 เม.ย.53 มีโอกาสทำรายงานการประชุมตามแผนการจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) กิจกรรมวิเคราะห์ความรู้จากอาจารย์แต่ละคน เรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ หลายท่านขอสงวนนามไว้ แต่มีรายละเอียดชวนให้เรียนรู้ เป็นแนวคิดของแต่ละคน ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการเรียนการสอน ดังนี้
     1) อ.อติบุ๋ม  ให้รายละเอียดว่ามีประเด็นความรู้จากกิจกรรมแสวงหาความรู้หลายประเด็นพอสรุปได้ คือ 1) คะแนนพัฒนาการ 2) เทคนิคการสอน 11 ประเด็น 3) แฟ้มเค้าโครงรายวิชาและแบบสอบ ซึ่งวันนี้จะมีท่านใดให้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ยินดีรับฟัง ขอย้ำว่ากิจกรรมครั้งนี้คือการนำประเด็นที่ได้มาแยกให้เห็นรายละเอียดและประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอน
     2) อ.ศศิแนน ให้ความคิดเห็นว่าเหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาการเรียนการสอนคือ เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ต้องดำเนินการ และสัมพันธ์กับการประกันคุณภาพอย่างที่แยกกันไม่ได้ ซึ่งการได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเรียนการสอนจะสนับสนุนให้เกิดบทเรียนร่วมกันและนำเทคนิคที่ได้พูดคุยกันไปใช้พัฒนาการสอนในวิชาหรือกิจกรรมที่ตนรับผิดชอบ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรมการเรียนการสอน และส่งผลสุดท้ายต่อการได้บัณฑิตที่มีคุณภาพ จากกระบวนการที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยหวังใจว่าเราจะไปถึงจุดนั้น
     3) อ.วิบุญ ให้ความคิดเห็นว่าการให้ความสำคัญกับนักศึกษานั้นต้องมีกระบวนการรองรับที่เป็นรูปธรรม มีระบบ กลไก แผนงาน ซึ่งปกติการพัฒนาการเรียนการสอนต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาการให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษา ต้องมีคู่มือให้คำปรึกษา มีการรายงานผลการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล และจัดทำสรุปสิ้นภาคเรียนหรือสิ้นปีการศึกษาสำหรับภาพรวมของการให้คำปรึกษา แล้วประชุมสรุปงานอาจารย์ที่ปรึกษาสิ้นปีเพื่อทบทวนคู่มือ ระบบ กลไก และพัฒนาการให้คำปรึกษาให้ครอบคลุมทั้งวิชาการ วิชาชีวิต การนำปัญหามาแลกเปลี่ยน หาทางออก วิเคราะห์ความเสี่ยง และพัฒนาข้อมูลที่จะนำไปใช้จัดทำแผนปฏิบัติการ หรือแผนกลยุทธ์ ทั้งหมดนี้สอดรับกับระบบ PDCA ที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาการเรียนการสอน ดังคำที่ว่าถ้านักศึกษาไม่พร้อมจะเรียน แล้วอาจารย์จะจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร
     4) อ.ทนงเมือง ให้ความคิดเห็นว่าเทคนิคที่ใช้ในการเรียนการสอนนั้นมีหลายวิธี โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small – Group Discussion) เป็นวิธีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกวิชา เพราะทำให้นักศึกษาได้ฝึกการเป็นคนใจกว้างที่ให้ข้อมูลแก่เพื่อนร่วมทีมยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน หาวิธีแก้ปัญหาร่วมกันเชิงบูรณาการ ไม่ใช่การโยนหน้าที่ให้กันหรือเกี่ยงกันรับผิดชอบแต่เป็นการรับผิดชอบร่วมกัน การฝึกแบบนี้จะทำให้นักศึกษารู้จักประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อแก้ปัญหาที่จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ทำให้การยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองถูกเสมอเบาบางลงได้ เทคนิคนี้ทำให้ต้องมีระบบและกลไกเกิดกระบวนการแบ่งภาระหน้าที่ให้แก่คนในทีม เช่น ประธาน และเลขานุการของกลุ่ม ที่ต้องคอยประสาน คอยกำกับดูแล ส่วนสมาชิกก็ต้องเรียนรู้การเป็นผู้ตามที่ดี เพื่อให้เป้าหมายของกลุ่มสำเร็จลุล่วง
     5) อ.เกศลา เห็นด้วยกับแนวความคิดของอาจารย์ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น แต่ในเวลาที่จำกัดของการประชุม ขอเสนอให้ทุกวิชาเพิ่มเทคนิคการใช้ กรณีศึกษา (Case Studies) เพราะทำให้นักศึกษาได้เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง และทราบว่าหลายวิชาก็ใช้เทคนิคนี้ เช่น วิชากฎหมาย วิชาสถิติ วิชาการโปรแกรม ส่วนวิชาอีคอมเมอร์ซที่สอนอยู่ก็มีกรณีศึกษาให้นักศึกษาได้เรียนรู้มากมาย และใช้สอบนักศึกษา ส่วนวิชาโครงงานก็ต้องใช้กรณีศึกษาในภาคธุรกิจ ที่ปัจจุบันนักศึกษาต้องเข้าศึกษาการกระบวนการทำงานของธุรกิจที่ตนสนใจเฉพาะบุคคล ช่วยให้นักศึกษาได้เข้าใจการทำงานของภาคธุรกิจก่อนสำเร็จการศึกษา เมื่อไปสมัครงานก็จะทำให้ได้งานง่ายขึ้น เพราะมีประสบการณ์มาแล้วระดับหนึ่ง
     6) อ.บุพันธุ์ เสริมว่าหลายวิชาก็ยังใช้เทคนิคการเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem-solving) ด้วยการที่อาจารย์กำหนดปัญหาขึ้นมา แล้วให้นักศึกษาฝึกแก้ปัญหาในชั้นเรียน บางวิชาอาจเปิดให้นักศึกษาเป็นผู้ตั้งโจทย์แล้วเพื่อนในชั้นเรียนร่วมกันแก้ไข หากมีข้อสงสัยอาจารย์ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ปล่อยให้นักศึกษาออกไปนอกห้องเรียนแล้วไปพูดว่าอาจารย์ลอยแพ อมภูมิ ไม่รู้เรื่อง หรือไม่เต็มใจสอน การเปิดให้นักศึกษาตั้งโจทย์อาจเป็นเทคนิคที่ต้องมีการควบคุมใกล้ชิด ซึ่งเป็นเทคนิคส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลอย่างมาก การเรียนการสอนในปัจจุบันต้องไม่น่าเบื่อเหมือนในอดีตที่อาจารย์ทำหน้าที่บรรยายอยู่หน้าชั้นเพียงอย่างเดียว ถึงเวลาสอบก็ให้นักศึกษาไปเดาข้อสอบกันเองอย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้น
     7) อ.แตบุตร เพิ่มประเด็นว่าการสอนนักศึกษาต้องเปลี่ยนไปจากในอดีต อาจารย์จะสั่งงานและทำตัวเป็นผู้มีอำนาจเหนือนักศึกษาไม่ได้แล้ว เพราะคำสั่งหรือสั่งแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของนักศึกษา อาจทำให้นักศึกษาไม่พอใจ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิผลของการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ หากอาจารย์สอนด้วยความรักความเข้าใจ รู้จักใช้กัลยาณมิตรด้วยความบริสุทธิ์ใจ นักศึกษาก็จะมีความสนใจ และไม่เกิดแรงต้านที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่จากผู้ที่พวกเขาเรียกว่าอาจารย์ แต่ถ้าลูกศิษย์ตั้งฉายาอาจารย์ว่าพ่อมด หรือแม่มด ก็คงเป็นอุปสรรค์ในการเรียนรู้อย่างแน่นอน ซึ่งอาจารย์ต้องรู้สึกว่านั้นคือความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการแก้ไขทั้งตนเอง และลูกศิษย์ไปพร้อมกัน

Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

I am Lecturer, Developer, Researcher, Columnist, Writer, Photographer, and Webmaster - L@mpang man

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.