เวทีแลกเปลี่ยนผู้ทำงานประกันคุณภาพระดับคณะ

6 ต.ค.53 ณ ห้องบ่มเพาะ เวลา 9.30 – 12.00น. มีผู้ทำงานประกันคุณภาพระดับคณะ ประกอบด้วย อ.เบญ อ.จอม อ.อดิศักดิ์ อ.กิ๊ก คุณแนน คุณต่าย คุณแอ๋ว และอ.เก๋ มารวมกัน โดยรับการสนับสนุนจาก อ.อุษณีย์ ณ น่าน ด้วยดี เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษา ตามคู่มือฉบับ กรกฎาคม 2553 ที่ประกาศโดย สกอ. เป็นครั้งแรก เพื่อแลกเปลี่ยนและเตรียมพร้อมเข้าฟังการบรรยายจาก อ.อุษณีย์ คำประกอบ ในปลายเดือน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน เอกสาร และศึกษาการเป้าหมายร่วมกันเบื้องต้นเชิงบูรณาการ ก่อนเข้าระบบของมหาวิทยาลัยที่ยกร่างเป้าหมายระดับมหาวิทยาลัย ให้คณะวิชาพิจารณามากำหนดเป้าหมายของคณะเป็นลำดับต่อไป เป็นอีกเวทีหนึ่งในการจัดการความรู้ที่เกิดจากกลไกของคณะวิชา และทีมวิจัยฐานข้อมูลประกันคุณภาพการศึกษา

สรุปรายงาน KM จำนวน 2 เล่ม

22 พ.ค.53 ตามที่อ.อติชาต เป็นกลไกสำคัญในการกำกับดูแลการจัดการความรู้ในคณะวิทย์ ทำให้มีรายงานตามแผนการจัดการความรู้เกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมาจำนวน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1) ในปีการศึกษา 2551 ทำ KM เรื่อง การสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนัก
     ในปีการศึกษา 2552 ผ่องถ่ายมายังคณะวิทย์ และเกิดการทำงานตามแผนทั้งหมด 2 แผน คือ 2) มิ.ย.-พ.ย.52 ทำเรื่อง การพัฒนาการเรียนการสอน และ 3) ม.ค.-เม.ย.53 ทำเรื่องการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และได้จัดทำรายงานเผยแพร่ใน blog ของมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดให้เพื่อนบุคลากรและบุคคลทั่วไปได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการติดตามเรื่องแรก พบว่า ค่าเฉลี่ยความสำเร็จของการนำความรู้ไปใช้อยู่ระดับมากที่สุด (X=4.57) ผลการติดตามเรื่องที่สอง พบว่า มีการยอมรับคู่มือวิชาโครงงานฯ สำหรับนำไปประกอบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผ่านกระบวนการจัดการความรู้
     หากเพื่อนท่านใดมีข้อเสนอแนะก็ยินดีรับ เพื่อการปรับแก้และเป็นบทเรียนแก่บุคคลทั่วไป
+ http://www.thaiall.com/km/science/52_km_june_nov_v1.zip
+ http://www.thaiall.com/km/science/53_km_jan_may_v3.zip

เพิ่มวาระการประชุมก่อนเปิดภาคเรียน

20 พ.ค.53 วันนี้หัวหน้าส่งเมลมาถามว่ามีวาระอะไรต้องเข้าประชุมก่อนเปิดภาคเรียน ซึ่งเราทุกคนทราบว่าในการทำงานต้องมีการวางแผนเตรียมการ ซึ่งสอดรับกับพันธกิจสี่ด้าน การประกันคุณภาพ แผนปฏิบัติการประจำปี และแผนกลยุทธ์ มีเรื่องราวมากมายทั้งนโยบายจากผู้บริหารและหน่วยงานสนับสนุน แต่ที่ผมทราบและสามารถให้ข้อมูลได้มี 2 เรื่อง จึงเสนอเพิ่มวาระการประชุมที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 26 พ.ค.53 13.30 – 16.30 จำนวน 2 วาระ
     มีวาระที่เสนอคือ 1) ขอเพิ่มวาระเรื่อง อาจารย์ประจำหลักสูตรร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศเชิงบูรณาการ เพื่อให้มีหลักฐานการมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านการประชุมที่เป็นกลไกขับเคลื่อนให้การทำงานตามตัวบ่งชี้ 7.5 เกิดขึ้นตามเกณฑ์ของ สกอ.ใหม่ ซึ่งอาจารย์อติชาต กำลังทำหนังสือขอแต่งตั้งจากท่านอธิการ 2) ขอเพิ่มวาระเรื่อง การรายงานการติดตามประเมินผลความสำเร็จของการจัดการความรู้ เหตุผลของการเพิ่มวาระนี้คือ เป็น 1 ใน 39 ตัวบ่งชี้ที่ต้องมีร่องรอยหลักฐาน ในการประเมินตนเองเพื่อรับการประกันคุณภาพ ปีการศึกษา 2552 ซึ่งในตัวบ่งชี้ 7.3 มีการพัฒนาองค์กรสู่องค์กรการเรียนรู้ เกณฑ์ที่ 5 ระบุว่า “นำผลการประเมินไปปรับใช้ในการพัฒนากระบวนการจัดการความรู้ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนงานปกติและปรับปรุงแผนการจัดการความรู้”
     ในวาระที่ 2 ที่นำเสนอนี้จำเป็นต้องมีมติในทางที่เห็นชอบร่วมกันกำหนด 2 อย่างคือ 1. หัวเรื่อง KM ใหม่ 2.ตัวบ่งชี้ที่วัดได้เป็นรูปธรรม จึงต้องการมติว่าบุคลากรในคณะคิดว่าปีการศึกษาต่อไปควรมีเรื่องอะไรเป็น KM ของคณะ โปรดเสนอในที่ประชุมของคณะเพื่อปีการศึกษาต่อไปจะได้มีแผนการจัดการความรู้ เพื่อให้ผ่าน 1 ใน 39 ตัวบ่งชี้ของการประกันคุณภาพ ตามเกณฑ์ใหม่ของ สกอ. แต่ผมคงไม่รอให้ถึงวันประชุม คิดว่าต้องทำงานนอกรอบ จึงคาดว่าจะไปขอหารือกับ อ.ภาณี หรืออ.เบณ ไม่อยากใช้เวลามากเกินจำเป็นสำหรับ KM เพราะการทำงานในระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องมีการทำงานนอกรอบก่อนเสมอ เวลาเข้าเวทีที่เป็นทางการจะได้ข้อสรุปหรือได้ประเด็นที่สำคัญอย่างรวดเร็ว

ประชุมทบทวนและเสนอเรื่องใหม่

2 พ.ค.53 มีโอกาสทำรายงานการประชุมทบทวนแผนการจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) หลายท่านขอสงวนนามไว้ แต่มีรายละเอียดชวนให้เรียนรู้ เป็นแนวคิดของแต่ละคน ดังนี้
1) วาระ แจ้งเพื่อทราบ อ.อติบุ๋ม แจ้งให้ทราบว่าในปีการศึกษา 2551 มหาวิทยาลัยมีการจัดการความรู้ในระดับมหาวิทยาลัยเป็นปีแรก โดยเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยตามแผนการจัดการความรู้ของมหาวิทยลัย ดังนั้นในปีการศึกษา 2552 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรมีแผนการจัดการความรู้ที่ดำเนินการภายในคณะที่ชัดเจน จึงได้จัดให้มีการประชุมทบทวน และยกร่างแผนการจัดการความรู้ของคณะในครั้งนี้ขึ้น
2) วาระ ทบทวน อ.อติบุ๋ม ให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมว่าการจัดการความรู้ในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากร ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกนั้นดำเนินการด้วยความเรียบร้อย
3) อ.วิบุญ แสดงความเห็นสนับสนุนว่าผลการดำเนินงานตามแผนการจัดการความรู้นั้น ได้ให้ความรู้เรื่องการจัดการความรู้ที่มีประโยชน์ ทำให้เข้าใจว่าความรู้ฝังลึก และความรู้ชัดแจ้งนั้นคืออะไร จึงเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลสนับสนุนให้มีการจัดการความรู้ในสถาบันการศึกษา และเกิดการยอมรับทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการจัดการความรู้คือแผนที่ความคิด (Mind Map) ที่สามารถใช้แสดงความคิดที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุม และมีแผนจะนำมาใช้ในการประชุม เพื่อจับประเด็น และหาข้อสรุปที่ได้จากการประชุม
4) อ.ศศิแนน เสนอว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถดำเนินการจัดการความรู้ได้อย่างถูกต้อง เพราะ อ.อติบุ๋มเป็นกำลังสำคัญที่มีความเข้าใจในการจัดการความรู้ และทุกคนให้ความเคารพเชื่อถือ ซึ่งการจัดการความรู้จำเป็นต้องอาศัยความสามัคคี ความเห็นพร้อง ความเป็นผู้นำ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น การรับฟัง และแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน หากเป็นผู้ที่ไม่มีความเข้าใจมาขับเคลื่อนอาจทำให้การจัดการความรู้ของคณะไม่สำเร็จก็ได้ จึงเสนอให้อ.อติบุ๋ม เป็นผู้นำในการจัดการความรู้ของคณะ
5) อ.ทนงเมือง เสนอว่าการจัดการความรู้ของคณะในปีการศึกษา 2552 ควรแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ มิถุนายน 2552 – พฤศจิกายน 2552 เพื่อให้สอดรับกับการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ของ สมศ. ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2552 และช่วงที่สอง คือ มกราคม 2553 – พฤษภาคม 2553 เพื่อให้เข้ากับการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ของ สกอ. ซึ่งเป็นความพิเศษเฉพาะของคณะฯ ในปีนี้
6) อ.เกศลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจากการอบรมทำให้ทราบว่าขั้นตอนของการจัดการความรู้ตามแนว กพร. มีทั้งหมด 7 ขั้นตอน คือ 1) การบ่งชี้ความรู้ คือ การระบุประเด็นความรู้ รูปแบบ และผู้รู้ที่สอดรับกับนโยบาย ขอบเขตและเป้าหมายขององค์กร 2) การสร้างและแสวงหาความรู้ คือ การรวบรวมความรู้ใหม่ รักษาความรู้เดิม และกรองความรู้ที่ไม่ใช้ออกจากแหล่งรวบรวม 3) การจัดความรู้ให้เป็นระบบ คือ การวิเคราะห์และคัดแยกความรู้เป็นกลุ่มประเด็นให้ง่ายต่อการเข้าถึงอย่างมีขั้นตอน 4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ คือ การปรับปรุงให้ความรู้มีรูปแบบมาตรฐาน ไม่ซ้ำซ้อน มีความสมบูรณ์ มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ 5) การเข้าถึงความรู้ คือ การสร้างแหล่งเผยแพร่ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา 6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ คือ การนำความรู้เข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนที่มีฐานความรู้หรือฐานข้อมูลรองรับให้ง่ายต่อการเข้าถึงและสืบค้น 7) การเรียนรู้ คือ การใช้ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เป็นวงจรความรู้ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน และนำไปปฏิบัติได้
7) ที่ประชุมมีมติ ว่าการจัดการความรู้ในปีที่ผ่านมาเป็นการปูพื้นฐานให้บุคลากรที่เพียงพอแล้ว ในครั้งต่อไปให้คณะมีแผนการจัดการความรู้ของคณะที่ชัดเจน และถือเป็นงานประจำของคณะที่ต้องดำเนินการทุกปี และมอบให้อ.อติบุ๋ม เป็นผู้ขับเคลื่อนงานการจัดการความรู้ของคณะต่อไป
8) เสนอหัวเรื่อง อ.อติบุ๋ม แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า จากการหารือกับ อ.ศศิแนน ได้ข้อสรุปว่า คณะควรมีหัวเรื่องการจัดการความรู้ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นการจัดการความรู้สำหรับช่วงแรกในกรอบปีพ.ศ.2552 และจัดทำรายงานตามเกณฑ์ของ สมศ. จึงขอให้อาจารย์ร่วมเสนอหัวเรื่องแล้วพิจารณาร่วมกัน และอ.อติบุ๋ม จะนำหัวเรื่องที่ได้ไปจัดทำแผนการจัดการความรู้ เพื่อเสนอในที่ประชุมผู้บริหารคณะพิจารณาอนุมัติต่อไป
9) อ.บุพันธุ์ เสนอเรื่องหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะปัจจุบันผู้คนขาดความรู้ความเข้าใจในหลักสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมบริโภคนิยม และไม่ปฏิบัติตนอย่างสมเหตุสมผล มีความโลภ โกรธ หลงเป็นที่ตั้ง ชีวิตจึงวุ่นวายไม่สิ้นสุด
10) อ.วิบุญ เสนอเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน เพราะเป็นหัวข้อที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ทุกคน และสอดรับกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยด้านการเรียนการสอน
11) ที่ประชุมมีมติ เลือกเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน เป็นหัวข้อการจัดการความรู้ของคณะในช่วงที่หนึ่งส่วนช่วงที่สองให้ดำเนินการช่วงที่หนึ่งให้แล้วเสร็จก่อน

ความไว้วางใจในหมู่มนุษย์

สัตว์ที่มีความสามัคคี

29 เม.ย.53 มนุษย์เรามีหัวหน้ามากมายตามบทบาทที่แตกต่าง ในชุมชนหรือกลุ่มคนที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่ต้องการจะไปให้ถึงย่อมต้องมีหัวหน้าเป็นผู้นำไปสู่เส้นชัย เช่น หมู่บ้านก็ย่อมมีผู้ใหญ่หน้าเป็นหัวหน้า สมาคมศิษย์เก่าก็ย่อมมีนายกเป็นหัวหน้า จังหวัดก็ย่อมมีผู้ว่าเป็นหัวหน้า ครอบครัวย่อมมีภรรยาเป็นหัวหน้าแม่บ้าน กลุ่มเสื้อแดงก็ต้องมีคนตัดสินใจเรื่องกลยุทธ์ รัฐบาลก็ต้องมีนายก แล้ววันหนึ่งผมก็ได้รับมอบหมายงานหนึ่งที่ทำให้ไม่สบายใจนัก แม้จะเห็นหัวหน้ายิ้มอย่างมีความสุขที่มอบหมายงานให้ผมทำงานซ้ำรอบสอง  แต่อาจเป็นเพราะหัวหน้าไม่วางใจผู้ทำงานคนแรกและสงสัยในผลที่ได้ จึงให้ผมทำงานซ้ำเพื่อตรวจสอบการทำงานของเพื่อนร่วมงานคนแรก บางทีหัวหน้าอาจทราบผลและไม่กล้าออกหน้าด้วยเกรงบารมีของผู้ทำงานคนแรก ซึ่งผมเองก็เกรงบารมีนั้นเช่นกัน .. ในโลกแห่งภาพยนต์มีเหตุการณ์แบบนี้เสมอ .. ก็แค่เรื่องเล่าถึงคำว่าบารมีของสมาชิกในครอบครัวที่หัวหน้าก็ยังต้องเกรงต่อบารมีนั้น

รายงานการประชุมวิเคราะห์ความรู้จากอาจารย์แต่ละคน

การวิเคราะห์ความรู้

11 เม.ย.53 มีโอกาสทำรายงานการประชุมตามแผนการจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) กิจกรรมวิเคราะห์ความรู้จากอาจารย์แต่ละคน เรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ หลายท่านขอสงวนนามไว้ แต่มีรายละเอียดชวนให้เรียนรู้ เป็นแนวคิดของแต่ละคน ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการเรียนการสอน ดังนี้
     1) อ.อติบุ๋ม  ให้รายละเอียดว่ามีประเด็นความรู้จากกิจกรรมแสวงหาความรู้หลายประเด็นพอสรุปได้ คือ 1) คะแนนพัฒนาการ 2) เทคนิคการสอน 11 ประเด็น 3) แฟ้มเค้าโครงรายวิชาและแบบสอบ ซึ่งวันนี้จะมีท่านใดให้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ยินดีรับฟัง ขอย้ำว่ากิจกรรมครั้งนี้คือการนำประเด็นที่ได้มาแยกให้เห็นรายละเอียดและประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอน
     2) อ.ศศิแนน ให้ความคิดเห็นว่าเหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาการเรียนการสอนคือ เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ต้องดำเนินการ และสัมพันธ์กับการประกันคุณภาพอย่างที่แยกกันไม่ได้ ซึ่งการได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเรียนการสอนจะสนับสนุนให้เกิดบทเรียนร่วมกันและนำเทคนิคที่ได้พูดคุยกันไปใช้พัฒนาการสอนในวิชาหรือกิจกรรมที่ตนรับผิดชอบ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรมการเรียนการสอน และส่งผลสุดท้ายต่อการได้บัณฑิตที่มีคุณภาพ จากกระบวนการที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยหวังใจว่าเราจะไปถึงจุดนั้น
     3) อ.วิบุญ ให้ความคิดเห็นว่าการให้ความสำคัญกับนักศึกษานั้นต้องมีกระบวนการรองรับที่เป็นรูปธรรม มีระบบ กลไก แผนงาน ซึ่งปกติการพัฒนาการเรียนการสอนต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาการให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษา ต้องมีคู่มือให้คำปรึกษา มีการรายงานผลการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล และจัดทำสรุปสิ้นภาคเรียนหรือสิ้นปีการศึกษาสำหรับภาพรวมของการให้คำปรึกษา แล้วประชุมสรุปงานอาจารย์ที่ปรึกษาสิ้นปีเพื่อทบทวนคู่มือ ระบบ กลไก และพัฒนาการให้คำปรึกษาให้ครอบคลุมทั้งวิชาการ วิชาชีวิต การนำปัญหามาแลกเปลี่ยน หาทางออก วิเคราะห์ความเสี่ยง และพัฒนาข้อมูลที่จะนำไปใช้จัดทำแผนปฏิบัติการ หรือแผนกลยุทธ์ ทั้งหมดนี้สอดรับกับระบบ PDCA ที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาการเรียนการสอน ดังคำที่ว่าถ้านักศึกษาไม่พร้อมจะเรียน แล้วอาจารย์จะจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร
     4) อ.ทนงเมือง ให้ความคิดเห็นว่าเทคนิคที่ใช้ในการเรียนการสอนนั้นมีหลายวิธี โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small – Group Discussion) เป็นวิธีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกวิชา เพราะทำให้นักศึกษาได้ฝึกการเป็นคนใจกว้างที่ให้ข้อมูลแก่เพื่อนร่วมทีมยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน หาวิธีแก้ปัญหาร่วมกันเชิงบูรณาการ ไม่ใช่การโยนหน้าที่ให้กันหรือเกี่ยงกันรับผิดชอบแต่เป็นการรับผิดชอบร่วมกัน การฝึกแบบนี้จะทำให้นักศึกษารู้จักประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อแก้ปัญหาที่จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ทำให้การยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองถูกเสมอเบาบางลงได้ เทคนิคนี้ทำให้ต้องมีระบบและกลไกเกิดกระบวนการแบ่งภาระหน้าที่ให้แก่คนในทีม เช่น ประธาน และเลขานุการของกลุ่ม ที่ต้องคอยประสาน คอยกำกับดูแล ส่วนสมาชิกก็ต้องเรียนรู้การเป็นผู้ตามที่ดี เพื่อให้เป้าหมายของกลุ่มสำเร็จลุล่วง
     5) อ.เกศลา เห็นด้วยกับแนวความคิดของอาจารย์ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น แต่ในเวลาที่จำกัดของการประชุม ขอเสนอให้ทุกวิชาเพิ่มเทคนิคการใช้ กรณีศึกษา (Case Studies) เพราะทำให้นักศึกษาได้เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง และทราบว่าหลายวิชาก็ใช้เทคนิคนี้ เช่น วิชากฎหมาย วิชาสถิติ วิชาการโปรแกรม ส่วนวิชาอีคอมเมอร์ซที่สอนอยู่ก็มีกรณีศึกษาให้นักศึกษาได้เรียนรู้มากมาย และใช้สอบนักศึกษา ส่วนวิชาโครงงานก็ต้องใช้กรณีศึกษาในภาคธุรกิจ ที่ปัจจุบันนักศึกษาต้องเข้าศึกษาการกระบวนการทำงานของธุรกิจที่ตนสนใจเฉพาะบุคคล ช่วยให้นักศึกษาได้เข้าใจการทำงานของภาคธุรกิจก่อนสำเร็จการศึกษา เมื่อไปสมัครงานก็จะทำให้ได้งานง่ายขึ้น เพราะมีประสบการณ์มาแล้วระดับหนึ่ง
     6) อ.บุพันธุ์ เสริมว่าหลายวิชาก็ยังใช้เทคนิคการเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem-solving) ด้วยการที่อาจารย์กำหนดปัญหาขึ้นมา แล้วให้นักศึกษาฝึกแก้ปัญหาในชั้นเรียน บางวิชาอาจเปิดให้นักศึกษาเป็นผู้ตั้งโจทย์แล้วเพื่อนในชั้นเรียนร่วมกันแก้ไข หากมีข้อสงสัยอาจารย์ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ปล่อยให้นักศึกษาออกไปนอกห้องเรียนแล้วไปพูดว่าอาจารย์ลอยแพ อมภูมิ ไม่รู้เรื่อง หรือไม่เต็มใจสอน การเปิดให้นักศึกษาตั้งโจทย์อาจเป็นเทคนิคที่ต้องมีการควบคุมใกล้ชิด ซึ่งเป็นเทคนิคส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลอย่างมาก การเรียนการสอนในปัจจุบันต้องไม่น่าเบื่อเหมือนในอดีตที่อาจารย์ทำหน้าที่บรรยายอยู่หน้าชั้นเพียงอย่างเดียว ถึงเวลาสอบก็ให้นักศึกษาไปเดาข้อสอบกันเองอย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้น
     7) อ.แตบุตร เพิ่มประเด็นว่าการสอนนักศึกษาต้องเปลี่ยนไปจากในอดีต อาจารย์จะสั่งงานและทำตัวเป็นผู้มีอำนาจเหนือนักศึกษาไม่ได้แล้ว เพราะคำสั่งหรือสั่งแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของนักศึกษา อาจทำให้นักศึกษาไม่พอใจ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิผลของการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ หากอาจารย์สอนด้วยความรักความเข้าใจ รู้จักใช้กัลยาณมิตรด้วยความบริสุทธิ์ใจ นักศึกษาก็จะมีความสนใจ และไม่เกิดแรงต้านที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่จากผู้ที่พวกเขาเรียกว่าอาจารย์ แต่ถ้าลูกศิษย์ตั้งฉายาอาจารย์ว่าพ่อมด หรือแม่มด ก็คงเป็นอุปสรรค์ในการเรียนรู้อย่างแน่นอน ซึ่งอาจารย์ต้องรู้สึกว่านั้นคือความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการแก้ไขทั้งตนเอง และลูกศิษย์ไปพร้อมกัน

รายงานการประชุมแสวงหาความรู้จากอาจารย์แต่ละคน

ทัศนะของรุ่นพี่ ที่ฉายภาพในคณะวิทย์

6 เม.ย.53 มีโอกาสทำรายงานการประชุมตามแผนการจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) ของอาจารย์กลุ่มหนึ่ง เรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ หลายท่านขอสงวนนามไว้ แต่มีรายละเอียดชวนให้เรียนรู้ เป็นแนวคิดของแต่ละคน ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการเรียนการสอน ดังนี้
     1) อ.อติบุ๋มให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ในฐานะที่เป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในด้านนี้ว่า ในการพัฒนาสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่มีบรรยากาศในการเรียนรู้ในระดับบุคคลและกลุ่มบุคคล จำเป็นต้องมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสามารถประมวลผลความรู้ในแต่ละด้าน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งการแสวงหา แลกเปลี่ยน และพัฒนาความรู้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการปฏิบัติงาน อันเป็นผลมาจากความรู้ใหม่ อันจะนำไปสู่การสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
      2) อ.ศศิแนนให้ความคิดเห็นว่าการพัฒนาการเรียนการสอนนั้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งบุคลากร นักศึกษา อาจารย์ สิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อม กระบวนการจัดการเรียนการสอน การดูแลเอาใจใส่ แหล่งค้นคว้า ทัศนคติ เป้าหมายที่ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน เสริมซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิผล โดยเฉพาะการให้คะแนนนั้นต้องเป็นไปในทางเดียวกันคือมีคะแนนพัฒนาการวิชาละ 5 คะแนน เพื่อวัดพัฒนาการหรือความก้าวหน้าในการเรียนรายบุคคล จากประสบการณ์ใช้วิธีบันทึกว่านักศึกษาแต่ละคนก่อนเรียนเป็นอย่างไร เมื่อให้งานแล้วผลการเรียน หรือผลสอบพัฒนาขึ้นมากน้อยเพียงไร ก็จะใช้เป็นเกณฑ์ในการให้คะแนนพัฒนาการ
     3) อ.วิบุญให้ความคิดเห็นว่าอาจารย์จำเป็นต้องเห็นนักศึกษาคือลูก ต้องทำตัวเป็นพ่อผู้ให้ความรักอย่างเอื้ออาทร และแสดงออกให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพราะทุกคนมีคุณค่า หากเริ่มต้นด้วยจิตใจที่ดีแล้ว ทุกอย่างก็จะดีงามเป็นเงาตามตัว ขอให้ทุกคนคิดดีด้วยจิตใจที่งามเห็นนักศึกษาเป็นลูกหลาน แล้วการให้คำปรึกษา การสอน หรือการปฏิบัติตนต่อนักศึกษาก็จะเป็นไปในแบบกัลยาณมิตร นักศึกษาก็จะเข้าเรียนอย่างมีความสุขกับพ่อพระที่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน ชี้แนะลูกทุกคน อย่างมีความสุขด้วยความเท่าเทียม การจัดการความรู้เป็นสิ่งที่ดีทำให้ทุกคนได้มาประชุมร่วมกันหากมีสิ่งดี ๆ ก็จะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้อีก ทำให้เกิดกำลังใจหนุ่นเสริมให้การทำงานเป็นไปอย่างมีความสุข และไม่รู้สึกว่าทำงานอีกต่อไป แต่รู้สึกว่าเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา
     4) อ.ทนงเมืองให้ความคิดเห็นว่าการพัฒนาการเรียนการสอนต้องมีเทคนิควิธีในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ซึ่งต้องบูรณาการเทคนิคเข้ากับวิชาที่ตนสอน โดยมีประเด็นนำเสนอทั้งหมด 5 ประเด็น คือ 1) การอภิปรายกลุ่มใหญ่ (Whole – Class Discussion) 2) การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small – Group Discussion) 3) การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) 4) สถานการณ์จำลอง (Simulation) 5) ละคร (Dramatization) นำเสนอประสบการณ์ว่าได้จัดกิจกรรมกลุ่มที่เปิดให้นักศึกษารวมกันเป็นกลุ่มเล็ก แบ่งหน้าที่กันทำงาน เรียนรู้ที่จะทำงานอย่างบูรณาการ รู้หน้าที่ของกันและกัน จำลองเหตุการณ์เพื่อแก้ปัญหา เช่นวิชาด้านความปลอดภัยที่เปิดให้ค้นคว้า แบ่งกันหาข้อมูล นำมาแลกเปลี่ยนและสรุปร่วมกัน และนำเสนออย่างรู้หน้าที่ร่วมกัน
     5) อ.เกศลาเห็นพร้องกับ อ.ทนงเมือง และเสนอประเด็นหรือเทคนิคที่สามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนอีก 6 ประเด็นคือ 1) กระบวนการสืบค้น (Inquiry Process) 2) การตั้งคำถาม (Questioning) 3) การศึกษาเป็นรายบุคคล (Individual Study) 4) การจัดการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยี (Technology – Related Instruction) 5) การฝึกปฏิบัติการ (Practice) 6) กรณีศึกษา (Case Studies) ตัวอย่างเช่นวิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้นที่ให้นักศึกษาทำโครงงานประจำวิชา ได้สืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ตั้งโจทย์ด้วยตนเองที่ต้องนำเสนอหน้าชั้นเรียนเป็นรายบุคคล ฝึกปฏิบัติสร้างภาพยนต์ด้วยโปรแกรม Flash หรือเรียนรู้จากกรณีศึกษา และวิเคราะห์ร่วมกัน ซึ่งถูกใช้ในหลายวิชา และสอดแทรกไปอยู่เสมอ การใช้เทคนิคเหล่านี้เป็นไปโดยธรรมชาติ การได้นำเสนอให้เกิดการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้รู้สึกดี และเสนอให้จัดขึ้นบ่อย ๆ เพราะถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในชั้นเรียนก็จะได้นำมาแลกเปลี่ยนร่วมกันได้
     6) อ.บุพันธุ์ เสริมว่ายังมีอีก 2 ประเด็นคือ การเรียนแบบค้นพบ   (Discovery Learning) และ  การเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem-solving) ตัวอย่างเช่นวิชาการโปรแกรมจาวาที่ให้นักศึกษาเรียนการใช้ฟังก์ชัน และสร้างฟังก์ชันขึ้นใช้เอง เพื่อใช้สำหรับแก้ปัญหาที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีรหัสต้นฉบับให้กับนักศึกษาและให้นักศึกษาค้นหาว่ารหัสต้นฉบับที่ให้นั้นมีคำสั่งใด รูปแบบ หรือผลลัพธ์ผิดพลาดอย่างไร ถ้าพบปัญหาแล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร
     7) นางสาวพัชวรรณ เสริมว่าแผนการสอน หรือเอกสารประกอบการสอนขออาจารย์ทุกท่านสามารถขอดูได้ที่เลขานุการเพื่อนำไปเรียนรู้ หรือเป็นบทเรียนในการพัฒนาการเรียนการสอนภายในคณะ ปัจจุบันคณะมีคลังแผนการสอนที่สั่งสมมาหลายปีหากมีการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมก็จะเกิดประโยชน์ได้

ขั้นตอนการทำ KM ให้ได้คะแนนประกัน และถูกตามหลักสากล

1 ธ.ค.52 ช่วงนี้หารือกับอาจารย์อติชาต หาญชาญชัย เรื่องเขียนแผน KM ของคณะบ่อยครั้ง ท่านทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ขั้นตอนสำหรับการจัดทำตามแผน KM มีอย่างน้อย 5 ขั้นตอนในเบื้องต้น คือ 1)ระบุว่าทำ KM เรื่องอะไร 2)เป้าหมายของแผน KM คืออะไร 3)หน่วยที่วัดผลได้เป็นรูปธรรมคืออะไร 4)ควรยึดแนวกระบวนการ KM ที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญนำเสนอกระบวนการไว้ 3 แนว ได้แก่ของ 4.1)กพร. 4.2)ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช 4.3)ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ สำหรับม.โยนกใช้แนวของ กพร. เพราะมีคู่มือ และแบบฟอร์มที่ใช้กันทั่วไป 5)แต่ละกิจกรรมตามแผน KM ต้องมีตัวบ่งชี้และเป้าหมาย เมื่อดำเนินการตามแผน ต้องมีหลักฐานว่าได้ผลเป็นอย่างไรตามเป้าหมายของกิจกรรม
     เพราะในการประกันคุณภาพของ สกอ. ตัวบ่งชี้ 7.3 เกณฑ์ที่ 3 ระบุว่า “มีการดำเนินการตามแผนจัดการความรู้และประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ร้อยละ ๑๐๐” ทั้งหมดที่เขียนมาก็เพื่อ 3 คะแนนในตัวบ่งชี้นี้
+ http://www.thaiall.com/km/handbook_2549.doc
+ http://www.thaiall.com/km/indexo.html
+ http://202.183.204.134/manage/StandardDetail.php?code=94

มองก้าว การจัดการความรู้คณะบริหารธุรกิจ ม.โยนก

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พ.ย.52 คณะบริหารฯ ดำเนินการตามแผนการจัดการความรู้ เห็นในขั้นตอนที่ 1 “การบ่งชี้ความรู้” เป็นที่ประจักษ์ คือ การระบุประเด็นความรู้ รูปแบบ และผู้รู้ที่สอดรับกับนโยบาย ขอบเขตและเป้าหมายขององค์กร โดยกำหนดเรื่องของ KM ว่า “การบริหารจัดการยุคใหม่” ตามนโยบายของท่านอธิการที่จะมี KM คณะละเรื่อง ซึ่งคณะบริหาร มีองค์ความรู้ มีความเข้าใจ มีความชำนาญ และผู้ที่ชำนาญในเรื่องที่กำหนดขึ้นก็มีอยู่หลายท่าน ก็ต้องเอาใจช่วยใน 2 เรื่อง คือ 1)กำหนดเป้าหมายที่จะวัดให้ชัดเจน (Desired State) 2)หน่วยที่วัดผลได้เป็นรูปธรรม เพราะการวัดผลสมัยนี้เป็นไปในแนวนี้ทั้งสิ้น ก็เอาใจช่วยและหวังจะเห็นคณะบริหารฯ เป็น good practice ขององค์กร เนื่องจากเริ่มต้นอย่างมีกระบวนการและเรื่องที่ชัดเจน ผ่านบทบาทของ อาจารย์บอย และ อาจารย์นิยม ในระดับคณะเป็นคณะแรกของมหาวิทยาลัย
     จากการชวน อ.บอย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง แผนการจัดการความรู้ ซึ่งมี 7 ขั้นตอน ตามแนว กพร. และ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ที่ได้จัดทำคู่มืออบรมไว้โดยละเอียด พบว่า การดำเนินการตามแผนที่ได้รับการยอมรับในแวดวงประกันคุณภาพ น่าจะเป็นแนวทางที่น่าสนใจ ซึ่งผมมอบแผน KM ที่ อาจารย์อติชาต หาญชาญชัย ท่านเขียนใช้ในคณะวิทย์ฯ ให้แก่อาจารย์บอยได้ศึกษาประยุกต์ ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยใช้แนวนี้ก็ได้
+ http://www.thaiall.com/km/indexo.html
+ http://www.yonok.ac.th/business/showword.php
+ http://www.thaiall.com/km/handbook_2549.doc

ความหมายของการจัดการความรู้

 

ระดับของความรู้
ระดับของความรู้

การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคล หรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด โดยที่ความรู้มี 2 ประเภท คือ 1)  ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาติญาณของแต่ละบุคคลในการทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรได้โดยง่าย เช่น ทักษะในการทำงาน งานฝีมือ หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ บางครั้ง จึงเรียกว่าเป็นความรู้แบบนามธรรม   2)  ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี คู่มือต่าง ๆ และบางครั้งเรียกว่าเป็นความรู้แบบรูปธรรม
       นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความหมายของคำว่า “การจัดการความรู้” ไว้ว่า สำหรับนักปฏิบัติ การจัดการความรู้ คือ เครื่องมือ เพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการไปพร้อมกัน ได้แก่ 1) บรรลุเป้าหมายของงาน 2) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน 3) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปเป็นองค์กรเรียนรู้ และ 4) บรรลุความเป็นชุมชน เป็นหมู่คณะ ความเอื้ออาทรระหว่างกันในที่ทำงาน
เรียบเรียงไว้ที่ http://www.thaiall.com/km/indexo.html