เว็บรุ่นของเพื่อนเก่า (241)

เว็บรุ่น ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย

4 พ.ค.53 เว็บรุ่นของเพื่อนเก่า : กว่าจะโตมาเป็นผู้เป็นคน มนุษย์ในปัจจุบันมักผ่านการศึกษามาจากหลายสถาบันในหลายระดับ และมีเพื่อนใหม่ ครูใหม่ ห้องเรียนใหม่ สังคมใหม่ สั่งสมประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ บางสถาบันการศึกษามีชั้นเรียนหลายระดับและสลับกลุ่มเรียนทุกปีการศึกษา บางสถาบันมีการสลับกลุ่มเรียนในแต่ละวันตามแต่ความสนใจของแต่ละบุคคล เช่น โรงเรียนอนุบาลลำปางมีการสลับกลุ่มเพื่อนในชั้นเรียนทุกปีการศึกษาที่ใช้วิธีการสุ่มโดยการจัดการของครู ในมหาวิทยาลัยจะเปิดให้นักศึกษาลงทะเบียนเรียนวิชาและตอนเรียนได้ตามความสนใจทำให้การเรียนในแต่ละวันอาจพบเพื่อนไม่ซ้ำหน้ากันเลยก็ได้ ทำให้มนุษย์มีโอกาสพบปะผู้คนที่หลากหลายไม่ซ้ำเหมือนเช่นในอดีต แต่ถึงกระนั้นผู้คนในสังคมไซเบอร์ส่วนหนึ่งก็ยังแสวงหาเพื่อนใหม่แปลกหน้าผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ตลอดเวลา
             การศึกษาเริ่มจากประถมศึกษาไปสู่มัธยมศึกษา แล้วเลือกเรียนในสายอาชีพหรือสายสามัญ จากนั้นก็ก้าวต่อไปยังระดับอุดมศึกษา ความสัมพันธ์ของเพื่อนในระดับประถมศึกษาจะเหมือนความสัมพันธ์ตามที่เราพบจากภาพยนต์เรื่องแฟนฉัน คือ ไม่ค่อยจะชัดเจน เรื่องราวที่เกิดขึ้นมักเลือนหายไปกับกาลเวลา แต่ถ้าเป็นระดับมัธยมศึกษาจะมีความผูกพันธ์ที่ลืมได้ยาก เพราะเป็นเหตุการณ์ในช่วงวัยรุ่นที่คึกคะนองและร่วมกันทำอะไรที่น่าจดจำด้วยกันอยู่เสมอ เมื่อก้าวต่อไปสู่ระดับอุดมศึกษาก็ต้องเตรียมพร้อมกับการเป็นผู้ใหญ่ ต้องรับผิดชอบมากขึ้น มีเหตุผลในการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์อย่างวัยรุ่นเริ่มหายไป แต่ใช้เหตุผลในการมีปฏิสัมพันธ์ที่เรียกว่าสังคมของนักศึกษา เช่น การทำรายงานกลุ่ม การออกค่ายอาสา การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยร่วมกัน เป็นต้น
                เว็บรุ่นเป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคย แต่การสร้างเว็บรุ่นขึ้นมาและทำให้คงอยู่อย่างยั่งยืนนั้นยาก เพราะการรวมกลุ่มเพื่อนครั้งประถมศึกษานั้นไม่ง่าย เนื่องจากทุกอย่างเลือนหายไปกับเวลาและมีภารกิจมากมายที่ถาโถมเข้าใส่ระหว่างเติมโตเป็นผู้ใหญ่ เว็บรุ่นมัธยมศึกษาสามารถเกิดขึ้นและหายไปในเวลาที่รวดเร็วจากเหตุที่ทุกคนต้องให้เวลากับสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ และกิจกรรมใหม่หลังแยกย้ายกันไปเรียนต่อในสถาบันการศึกษาแห่งใหม่ที่แตกต่างกัน แต่การกลับมารวมกันของเพื่อนมัธยมศึกษานั้นมักพบเห็นได้หลังจากทุกคนเริ่มมีความพร้อมทางสังคม มีเวลาให้รำลึกถึงอดีต  และมีชีวิตที่มั่นคงพอจะเข้าร่วมกับสังคมเพื่อนเก่า แล้วย้อนรำลึกเรื่องราวในอดีตที่งดงามรวมกันอีกครั้ง ปัจจุบันเว็บบล็อก เว็บเครือข่ายสังคม เว็บบอร์ดล้วนเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้เขียนได้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางเชื่อมโยงเพื่อนทุกระดับได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ปัญหาที่ตามมาคือเวลาที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกันกับแต่ละกลุ่ม จนอาจทำให้ภารกิจในครอบครัวและการงานบกพร่อง ก็ต้องเตือนตนตลอดเวลาว่าต้องมีความสมเหตุสมผลในการเข้าสังคม และตระหนักถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมิให้เสียหายได้
http://www.aclalumni.com
+ http://www.thaiall.com/homepage/bwc30
+ http://www.thaiabc.com/ynalumni
+ http://www.facebook.com/profile.php?id=814248894

ประชุมทบทวนและเสนอเรื่องใหม่

2 พ.ค.53 มีโอกาสทำรายงานการประชุมทบทวนแผนการจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) หลายท่านขอสงวนนามไว้ แต่มีรายละเอียดชวนให้เรียนรู้ เป็นแนวคิดของแต่ละคน ดังนี้
1) วาระ แจ้งเพื่อทราบ อ.อติบุ๋ม แจ้งให้ทราบว่าในปีการศึกษา 2551 มหาวิทยาลัยมีการจัดการความรู้ในระดับมหาวิทยาลัยเป็นปีแรก โดยเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยตามแผนการจัดการความรู้ของมหาวิทยลัย ดังนั้นในปีการศึกษา 2552 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรมีแผนการจัดการความรู้ที่ดำเนินการภายในคณะที่ชัดเจน จึงได้จัดให้มีการประชุมทบทวน และยกร่างแผนการจัดการความรู้ของคณะในครั้งนี้ขึ้น
2) วาระ ทบทวน อ.อติบุ๋ม ให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมว่าการจัดการความรู้ในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากร ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกนั้นดำเนินการด้วยความเรียบร้อย
3) อ.วิบุญ แสดงความเห็นสนับสนุนว่าผลการดำเนินงานตามแผนการจัดการความรู้นั้น ได้ให้ความรู้เรื่องการจัดการความรู้ที่มีประโยชน์ ทำให้เข้าใจว่าความรู้ฝังลึก และความรู้ชัดแจ้งนั้นคืออะไร จึงเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลสนับสนุนให้มีการจัดการความรู้ในสถาบันการศึกษา และเกิดการยอมรับทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการจัดการความรู้คือแผนที่ความคิด (Mind Map) ที่สามารถใช้แสดงความคิดที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุม และมีแผนจะนำมาใช้ในการประชุม เพื่อจับประเด็น และหาข้อสรุปที่ได้จากการประชุม
4) อ.ศศิแนน เสนอว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถดำเนินการจัดการความรู้ได้อย่างถูกต้อง เพราะ อ.อติบุ๋มเป็นกำลังสำคัญที่มีความเข้าใจในการจัดการความรู้ และทุกคนให้ความเคารพเชื่อถือ ซึ่งการจัดการความรู้จำเป็นต้องอาศัยความสามัคคี ความเห็นพร้อง ความเป็นผู้นำ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น การรับฟัง และแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน หากเป็นผู้ที่ไม่มีความเข้าใจมาขับเคลื่อนอาจทำให้การจัดการความรู้ของคณะไม่สำเร็จก็ได้ จึงเสนอให้อ.อติบุ๋ม เป็นผู้นำในการจัดการความรู้ของคณะ
5) อ.ทนงเมือง เสนอว่าการจัดการความรู้ของคณะในปีการศึกษา 2552 ควรแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ มิถุนายน 2552 – พฤศจิกายน 2552 เพื่อให้สอดรับกับการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ของ สมศ. ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2552 และช่วงที่สอง คือ มกราคม 2553 – พฤษภาคม 2553 เพื่อให้เข้ากับการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ของ สกอ. ซึ่งเป็นความพิเศษเฉพาะของคณะฯ ในปีนี้
6) อ.เกศลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจากการอบรมทำให้ทราบว่าขั้นตอนของการจัดการความรู้ตามแนว กพร. มีทั้งหมด 7 ขั้นตอน คือ 1) การบ่งชี้ความรู้ คือ การระบุประเด็นความรู้ รูปแบบ และผู้รู้ที่สอดรับกับนโยบาย ขอบเขตและเป้าหมายขององค์กร 2) การสร้างและแสวงหาความรู้ คือ การรวบรวมความรู้ใหม่ รักษาความรู้เดิม และกรองความรู้ที่ไม่ใช้ออกจากแหล่งรวบรวม 3) การจัดความรู้ให้เป็นระบบ คือ การวิเคราะห์และคัดแยกความรู้เป็นกลุ่มประเด็นให้ง่ายต่อการเข้าถึงอย่างมีขั้นตอน 4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ คือ การปรับปรุงให้ความรู้มีรูปแบบมาตรฐาน ไม่ซ้ำซ้อน มีความสมบูรณ์ มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ 5) การเข้าถึงความรู้ คือ การสร้างแหล่งเผยแพร่ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา 6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ คือ การนำความรู้เข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนที่มีฐานความรู้หรือฐานข้อมูลรองรับให้ง่ายต่อการเข้าถึงและสืบค้น 7) การเรียนรู้ คือ การใช้ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เป็นวงจรความรู้ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน และนำไปปฏิบัติได้
7) ที่ประชุมมีมติ ว่าการจัดการความรู้ในปีที่ผ่านมาเป็นการปูพื้นฐานให้บุคลากรที่เพียงพอแล้ว ในครั้งต่อไปให้คณะมีแผนการจัดการความรู้ของคณะที่ชัดเจน และถือเป็นงานประจำของคณะที่ต้องดำเนินการทุกปี และมอบให้อ.อติบุ๋ม เป็นผู้ขับเคลื่อนงานการจัดการความรู้ของคณะต่อไป
8) เสนอหัวเรื่อง อ.อติบุ๋ม แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า จากการหารือกับ อ.ศศิแนน ได้ข้อสรุปว่า คณะควรมีหัวเรื่องการจัดการความรู้ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นการจัดการความรู้สำหรับช่วงแรกในกรอบปีพ.ศ.2552 และจัดทำรายงานตามเกณฑ์ของ สมศ. จึงขอให้อาจารย์ร่วมเสนอหัวเรื่องแล้วพิจารณาร่วมกัน และอ.อติบุ๋ม จะนำหัวเรื่องที่ได้ไปจัดทำแผนการจัดการความรู้ เพื่อเสนอในที่ประชุมผู้บริหารคณะพิจารณาอนุมัติต่อไป
9) อ.บุพันธุ์ เสนอเรื่องหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะปัจจุบันผู้คนขาดความรู้ความเข้าใจในหลักสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมบริโภคนิยม และไม่ปฏิบัติตนอย่างสมเหตุสมผล มีความโลภ โกรธ หลงเป็นที่ตั้ง ชีวิตจึงวุ่นวายไม่สิ้นสุด
10) อ.วิบุญ เสนอเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน เพราะเป็นหัวข้อที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ทุกคน และสอดรับกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยด้านการเรียนการสอน
11) ที่ประชุมมีมติ เลือกเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน เป็นหัวข้อการจัดการความรู้ของคณะในช่วงที่หนึ่งส่วนช่วงที่สองให้ดำเนินการช่วงที่หนึ่งให้แล้วเสร็จก่อน

ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจรับงานจัดทำเว็บไซต์

เว็บไซต์จากอินเทอร์เน็ต

2 เม.ย.53 มีเพื่อนชวนไปเป็นกรรมการตรวจรับงานจัดทำเว็บไซต์หนึ่ง มีงบจัดจ้าง 133200 บาท แบ่งเป็นค่าบริการออกแบบและจัดทำทั้งหมด 5 รายการ คือ a) เว็บหลัก 36000 b) เว็บสองภาษา 37000 c) โครงการเยส 21000 d) สังคมออนไลน์ 34000 e) เว็บบอร์ด 5200 การเป็นกรรมการครั้งนี้ได้ใบส่งของ (invoice) ซึ่งมีรายละเอียดว่าจะทำอะไรบ้าง แล้วผมก็ลองหยิบมาตรวจตามรายการ  ตรวจ a) เว็บหลัก พบว่า  1) สิ่งที่ยังไม่ทำ 2 หน้า คือ สารจากผู้บริหาร และติดต่อ ส่วนที่พิมพ์ผิดมีหลายหน้า คือ วิสัยทัศน์ เจ้าของ ชื่อผู้บริหาร กรรมการบริหาร แผนที่ 2) สินค้า สิ่งที่พบคือ ปัดบรรทัดผิด และผู้บริหารยังไม่ยอมรับเนื้อหาที่ขัดกับคุณภาพขององค์กร เช่น ไม่เช็คชื่อบ้าง 3) รายการระดับไม่ครบ
     ตรวจ b) เว็บสองภาษา พบรายการที่ทำแล้วเพียงกึ่งหนึ่ง ตรวจ c) โครงการเยส พบรายการที่ทำแล้วไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ตรวจ d) สังคมออนไลน์ รายการน่าจะครบ แต่มีข้อสังเกตเรื่อง back office ว่าใครได้หรือไม่ ตรวจ e) เว็บบอร์ด เห็นคำว่าปรับปรุง กับคำว่า re-design คนละรายการ .. ที่เล่านี่ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่อยากจะแบ่งปัน .. ยามตรวจงานเสร็จ

ด้วยอาลัย นางสาวพจนีย์ หน่อพรหม

พี่หนิง พจนีย์ หน่อพรหม

30 เม.ย.53 ผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยโยนก ไปร่วมพิธีงานศพของนางสาวพจนีย์ หน่อพรหม (พี่หนุงหนิง) ณ คริสตจักรลำปางแบ๊บติสท์ ตรงข้ามสวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ถ.ศิรินาวิน ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง ในวันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2553 เวลา 19.30 น. พี่หนุงหนิงเป็นคนแรกที่เสียชีวิตในมหาวิทยาลัย และเป็นศิษย์เก่ารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุที่มีโรคประจำตัวรุ่มเร้าทั้ง เบาหวาน และความดัน มีเพื่อนร่วมรุ่น ศิษย์เอ็มบีเอ และบุคลากรไปร่วมพิธีกันมากมาย เพราะพี่หนิงเป็นคนน่ารัก โดยมีกำหนดตั้งศพที่ลำปางวันเดียว และเคลื่อนศพไป อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนหลังเสร็จพิธี เพื่อนหลายคนวางแผนไปร่วมพิธีเผาศพที่แม่ฮ่องสอน (อ.แป๋ว ผู้นำประกอบพิธี ได้เล่าว่า พี่เขาเกิดวันที่ 5 พฤษภาคม 2508 อีกไม่กี่วันก็ครบรอบวันเกิดของเขาแล้ว)  ด้วยอาลัยรักจากเพื่อนรุ่น 1

อบรมการพัฒนาสื่อการสอนอีเลินนิ่ง

อบรมการใช้ moodle อีกครั้ง

29 เม.ย.53 วันนี้เป็นวันแรกในสองวันของการอบรมการพัฒนาสื่อการสอนอีเลินนิ่ง (e-learning) ซึ่งมี อ.ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้พื้นฐาน และมีผู้ได้รับคัดเลือกเป็นผู้พัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้อีเลินนิ่งระดับดี ประจำปีการศึกษา 2552 ซึ่งเป็นปีแรกที่มอบประกาศนียบัตรมาเป็นผู้บรรยายประสบการณ์ในการใช้ประโยชน์จากระบบอีเลินนิ่ง ประกอบด้วย อ.ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น อ.อติชาต หาญชาญชัย อ.วีระพันธ์ แก้วรัตน์ และอ.คงศักดิ์ ตุ้ยสืบ จากนั้นก็มีผู้ดูแลงานไอทีมาบรรยายการใช้โปรแกรม moodle แบบ offline โดยใช้โปรแกรม thaiabc.com เป็นเครื่องมืออบรม ซึ่งมีผู้ช่วยวิทยากรคือ อ.เกศริน อินเพลา และคุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ และผู้ประสานงานโครงการคือคุณศิริพร ยาสมุทร
ในการอบรมเน้นให้อาจารย์แต่ละคนจำลองตนเองเป็น ผู้ดูแลระบบ ครู และนักเรียน สลับบทบาทไปมาอย่างเข้าใจ เพื่อให้กลับไปจัดทำแผนการสอน และใช้เครื่องมือได้อย่างลงตัว ทำความเข้าใจแหล่งเอกสารระหว่างในไซต์กับจากนอกไซต์ แล้วฝึกใช้เครื่องมือทั้ง resource และ activities ซึ่งทั้งหมดเป็นการเรียนรู้แบบออฟไลน์ด้วยโปรแกรม thaiabc.com ทำให้รวมเร็ว และไม่มีผลต่อเครื่องบริการหลักของมหาวิทยาลัย ก่อนปิดคลาสวันนี้ ได้ฝึกให้อาจารย์สร้างการบ้าน และจำลองเป็นนักเรียน 2 คนเข้ามาส่งการบ้าน และอาจารย์ให้คะแนน ซึ่งมีผลเป็นการรวมคะแนนที่ได้จากการบ้าน 2 ชิ้น
+ http://www.thaiall.com/e-learning/moodle.htm
+ http://www.weerapun.com
+ http://www.facebook.com/album.php?aid=168683&id=814248894
+ http://www.4shared.com/dir/38358133/530e46a/train_elearning.html

ความไว้วางใจในหมู่มนุษย์

สัตว์ที่มีความสามัคคี

29 เม.ย.53 มนุษย์เรามีหัวหน้ามากมายตามบทบาทที่แตกต่าง ในชุมชนหรือกลุ่มคนที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่ต้องการจะไปให้ถึงย่อมต้องมีหัวหน้าเป็นผู้นำไปสู่เส้นชัย เช่น หมู่บ้านก็ย่อมมีผู้ใหญ่หน้าเป็นหัวหน้า สมาคมศิษย์เก่าก็ย่อมมีนายกเป็นหัวหน้า จังหวัดก็ย่อมมีผู้ว่าเป็นหัวหน้า ครอบครัวย่อมมีภรรยาเป็นหัวหน้าแม่บ้าน กลุ่มเสื้อแดงก็ต้องมีคนตัดสินใจเรื่องกลยุทธ์ รัฐบาลก็ต้องมีนายก แล้ววันหนึ่งผมก็ได้รับมอบหมายงานหนึ่งที่ทำให้ไม่สบายใจนัก แม้จะเห็นหัวหน้ายิ้มอย่างมีความสุขที่มอบหมายงานให้ผมทำงานซ้ำรอบสอง  แต่อาจเป็นเพราะหัวหน้าไม่วางใจผู้ทำงานคนแรกและสงสัยในผลที่ได้ จึงให้ผมทำงานซ้ำเพื่อตรวจสอบการทำงานของเพื่อนร่วมงานคนแรก บางทีหัวหน้าอาจทราบผลและไม่กล้าออกหน้าด้วยเกรงบารมีของผู้ทำงานคนแรก ซึ่งผมเองก็เกรงบารมีนั้นเช่นกัน .. ในโลกแห่งภาพยนต์มีเหตุการณ์แบบนี้เสมอ .. ก็แค่เรื่องเล่าถึงคำว่าบารมีของสมาชิกในครอบครัวที่หัวหน้าก็ยังต้องเกรงต่อบารมีนั้น

ภาพเก่าเล่าความหลัง

ภาพเพื่อนเก่า

28 เม.ย.53 เพื่อนของผมที่ชื่อเอก (เรียนด้วยกันสมัยยี่สิบปีก่อน) ถามว่าถ้ามีภาพเก่ามากมาย ถ้า scan แล้วจะฝากไว้ที่ไหนจะได้แชร์กัน 1) ผมเสนอให้เพื่อน scan ภาพที่ตนรักด้วยตนเอง 2) เก็บรักษาในสื่อที่ตนเป็นเจ้าของ เช่น facebook.com หรือ 4shared.com 3) ทำการบีบอัด แล้วเผยแพร่ link ให้เพื่อน download 
     ผมก็อยากคัดลอกภาพเก่าเก็บไว้ เพราะอายุมากแล้ว มองเห็นอดีตสมัยหนุ่มก็มีความสุขกับวันวาน มองเห็นระยะทางที่ผ่านมา .. และรู้ว่าต่อไปจะพบอะไรในอนาคต ตามสัจธรรมวิถีพุทธ
+ http://www.thaiall.com/homepage/bwc30
+ http://www.thaiabc.com/ynalumni
+ http://www.thaiall.com/histenlarge
+ http://www.facebook.com/album.php?aid=168296&id=814248894

ในวันวุ่นและพลาดประชุมของผมอีกวัน

28 เม.ย.53 วันนี้มีเหตุให้ผมทำงานไม่สำเร็จงานหนึ่ง คือ การจัดประชุมการจัดการความรู้ที่ อ.อติชาต หาญชาญชัย เป็นประธานการประชุมของคณะ ซึ่งมีแผนประชุมเวลา 13.00น. แต่บุคลากรในคณะทั้ง 8 คน ผมมาทราบช่วงก่อนประชุมว่าเพื่อนติดภารกิจ 5 คน จะประชุมก็ไม่สมเหตุสมผลทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกไป ในใจก็ดีใจ (หาย) เพราะอันที่จริงเวลานี้ผมก็มีสอนภาคเรียนฤดูร้อน จึงปลีกตัวไปสอนหนังสือได้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็ติดเป็นกรรมการสอบแทนหัวหน้าที่ต้องไปประชุมผู้บริหาร ซึ่งพอสรุปกิจกรรมของวันนี้ไว้เป็นบทเรียนให้มีการวางแผนให้ดีก่อนใช้ชีวิตในแต่ละวัน
     เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า 1) จัดทำบันทึกให้ท่านอธิการลงนามในใบประกาศนียบัตรคัดเลือกผู้พัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้อีเลินนิ่ง ก็มีคุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ ช่วยทำใบประกาศสำหรับผู้ถูกคัดเลือก 4 ท่าน และดำเนินการจนสำเร็จ 2) สรุปเอกสารเตรียมจัดอบรมอีเลินนิ่ง โดยมีเอกสารของ อ.ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น เข้ามารวมเป็นเอกสารครบชุด แล้วมอบให้ คุณศิริพร ยาสมุทร ช่วยเตรียมทั้งเอกสาร และอาหารสำหรับอบรมวันรุ่งขึ้น 3) ไปตรวจเอกสารมาตรฐานที่ 3 บริการวิชาการ ในคณะบริหารธุรกิจ และคณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ร่วมกับคุณลักขณา 4) ประชุมติดตามการดำเนินการมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ร่วมกับ ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ในกลุ่มงานวิชาการที่ผมดูแลงานด้านไอทีว่าทิศทางควรเป็นอย่างไร 5) ไปซ่อมและให้คำปรึกษาปัญหาเครื่องพิมพ์ของผู้บริหารท่านหนึ่งหลังสระว่ายน้ำช่วงเที่ยงวัน 6) ก่อนบ่ายโมงจัดทำเอกสารงบประมาณของงานเทคโนโลยีเสนอฝ่ายงบประมาณ 7) บ่ายโมงทราบว่าประชุม KM ต้องเลื่อน จึงไปสอนหนังสือตามปกติ โดยไม่ใช้เทคนิคมอบงานให้เรียนรู้ด้วยตนเองตามแผนที่กำหนดไว้ 8 ) บ่ายสามโมงร่วมเป็นกรรมการสอบกับ อ.เกศริน อินเพลา แทนหัวหน้า ในการสอบหัวข้อของนักศึกษา ที่ชื่อ นฤมล 9) ตั้งแต่ทุ่มจัดทำซีดี 30 แผ่นเตรียมให้อาจารย์ที่ร่วมอบรม e-learning วันรุ่งขึ้น 10) ระหว่างรอเขียน CD 30 แผ่นก็มานั่งเขียน blog นี่หละครับ
     สิ่งที่เตรียมในซีดี คือ 1) โปรแกรม thaiabc สำหรับจำลอง webserver ที่บริการ moodle แบบ noinstall 2) เอกสารสอน moodle ทั้งในฐานะนักเรียน และครู 3) เอกสารสอน e-learning โดย รศ.ดร.มนต์ชัย เทียนทอง 4) เอกสารกรอบ TQF และตัวอย่าง มคอ.3  5) โปรแกรมมัลติมีเดียสำหรับจัดทำ Learning Object อาจใช้ exe หรือ reload หรือ flip หรือ fpf ก็เชื่อได้ว่าอาจารย์ทุกท่านที่ได้ซีดีจะนำประสบการณ์ไปพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้อีเลินนิ่งอย่างสร้างสรรค์
+ http://www.thaiabc.com
+ http://www.thaiall.com/e-learning/moodle.htm

ขโมยไฟฟ้าขององค์กรใช้ส่วนตัว

phone charger

27 เม.ย.53 มีเพื่อนตำหนิผู้เขียนว่า การทำชั่วนั้นลบล้างด้วยความดีไม่ได้ ครั้งหนึ่งผู้เขียนลืมชาร์จไฟฟ้าเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงนำไปชาร์จต่อที่ทำงาน เพราะคิดว่านักศึกษาอาจโทรศัพท์เข้ามาติดต่อ แต่มีเสียงเข้าหูว่า “คุณกำลังขโมยไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยใช้ โทษขโมยมีผลเป็นความผิดทางวินัย” แต่ผมก็โต้กลับไปว่า “นิดหน่อยคงไม่เป็นไรมั้ง” .. แต่จะน้อยหรือจะมาก ก็เป็นความผิดทางวินัยเช่นกัน คำว่าขโมยนั้นมีความผิดระบุในทุกองค์กร มักมีโทษสูงสุดถึงขั้นไล่ออก แต่ผมก็แก้ตัวไปน้ำขุ่น ๆ ว่าก็มีโทรศัพท์เพื่อใช้ทำงานในองค์กรนั่นหละ แล้วเขาก็ย้อนกลับมาว่า “แล้วไหนล่ะหลักฐาน” ..
     แต่ผมยั้งคิดได้ว่าการโต้กลับไปเรื่องลายลักษณ์อักษรคงไม่ใช่ทางออกที่ดี .. เพราะความจริงก็คือความจริง ที่ผมแอบใช้ไฟฟ้าขององค์กรชาร์จโทรศัพท์มือถือ ไม่สำคัญว่าจะทำเพื่ออะไร จะมีฐานะในองค์กรเป็นใครก็คงไม่มีสิทธิขโมยของมาใช้ส่วนตัว ดังคำว่าขุนนางทำผิด มีโทษเท่าสามัญชน .. ต่อให้เป็นประธานาธิบดีทำผิด สำหรับผมแล้วก็คงไม่ต่างกับสามัญชน .. ตั้งแต่นั้น ผมก็จะไม่นำโทรศัพท์ไปชาร์จที่มหาวิทยาลัยอีก เพราะเป็นความผิดที่ต้องรู้จักการละอายแก่ใจ ดังคำว่ามีหิริโอตัปปะ .. ก็เรียนมาซะสูงแล้วไม่ใช้ความรู้ก็เสียสิครับ
+ ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ .. ก็ผมคนไทยนี่ครับ
+ ขอให้รู้ว่าอย่างไร .. ผมก็เข้าข้างคนไทย

ผลพิจารณาบทความ NCCIT10 ครั้งที่ 1

บทความวิชาการ

27 เม.ย.53 ทราบผลการประกาศบทความที่ผ่านการพิจารณาครั้งที่ 1 สำหรับเข้าร่วมนำเสนอใน The 6th National Conference on Computing and Information Technology and The 10 th International Conference on Innovative Internet Community Systems ระหว่าง 3-5 มิถุนายน 2553 ณ โรงแรมอีสติน มักกะสัน กรุงเทพฯ ซึ่งมีบทความผ่านครั้งที่ 1 จำนวน 27 จากมากกว่า 200 บทความ ซึ่งบทความที่ อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อ.วันชาติ นภาศรี คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน สำนักประกันคุณภาพการศึกษา ส่งไปนำเสนอนั้น คือ “A Development of Self Assessment Report Database: A Case study of Yonok University in Lampang Provinceผ่านการพิจารณาในครั้งที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ก็ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ทุกท่านในรายชื่อผู้เสนอบทความลำดับที่ 6 (ตามแฟ้มแนบ)
     สำหรับบทความที่ไ ม่ปรากฎในประกาศผลการพิจารณาอย่างเป็นทางครั้งที่ 1 เนื่องจากบทความยังไ ม่ได้ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยและเป็นไปตามรูปแบบของงานประชุม ให้เจ้าของความทำการแก้ไข พร้อมส่งกลับภายในวันที่ 28 เมษายน 2553 หรือรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณกาญจนา และคุณวัชรีวรรณ โทร.02-913-2500 ต่อ 2703 Note – Some papers do not appear in the preliminary decisions, because the authors have not made changes to the papers according to the reviewers’ comments, and/or the papers are not in the correct NCCIT’10 format The authors must correct the format and return the paper by 28th April 2010. Contact: Khun Kanchana or Khun Watchareewan Tel.02-913-2500 # 2703
+ http://www.thaiall.com/research/nccit10/nccit10_accept1.pdf
+ http://www.nccit.net
+ http://www.thaiall.com/project/nccit07.htm