กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจากเวที CBPUS

กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น

21 ก.พ.53 อาจารย์วิเชพ ใจบุญ รักษาการคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยโยนก ร่วม “เวทีสรุปบทเรียนการขยายผลกระบวนการใช้งานวิจัย ชุดโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (CBPUS) พื้นที่จังหวัดลำปาง”  ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารอาลัมพางค์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง โดยมีนักศึกษาของคณะฯ จำนวน 2 คนนำเสนอรายงานการวิจัยโครงการ “แนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน  ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง” ที่รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) ซึ่งผลการวิจัยได้วีดีทัศน์ในรูปซีดีภาพยนต์ 2 เรื่องคือ 1) รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และ 2) กระบวนการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพ ซึ่งนักศึกษาได้จัดทำซีดีเผยแพร่ให้กับผู้ร่วมเวทีในครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ กระบวนการและบทเรียนจากการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในบทบาทของนักศึกษา
+ http://www.youtube.com/watch?v=0FE19fyfrk4 วีดีโอ 9 นาที
+ http://www.thaiall.com/researchenlarge หน้าที่ 6 ล่าสุด

เกณฑ์สำหรับประเมินความพึงพอใจ

เกณฑ์การให้คะแนน และ เกณฑ์ประเมิน

18 ก.พ.53 มีกลุ่มเพื่อนจัดทำโครงการอบรม แล้วใช้แบบสอบถามประเมินความพึงพอใจโดยใช้ scale 5 ระดับ หรือที่เรียกว่าวัดเจตคติตามเทคนิคของของลิเคิร์ท (Likert technique) หรือ แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับของลิเคิร์ทสเกล สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ซึ่งมีเกณฑ์กำหนดไว้ 2 แบบคือ เกณฑ์การให้คะแนน และเกณฑ์การประเมิน (โดยนำระดับสูงสุดลบระดับต่ำสุดแล้วหารด้วยจำนวนช่วงที่ตั้งไว้) ซึ่งผลการใช้เกณฑ์ทั้งสองมีตัวอย่างการเขียน (อันที่จริงผมพบปัญหาในตัวอย่างนี้ แต่ไม่ได้แก้ไข .. ท่านมองเห็นหรือไม่ .. ผมเพียงแต่ถามนะครับ) ดังนี้ มีการจัดทำแบบสอบถามประเมินความพึงพอใจผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละครั้ง โดยใช้คำถามที่แบ่งระดับความพึงพอใจ ๕ ระดับ มีคำถามจำนวน ๘ คำถาม ดังนี้ ๑) ความเข้าใจก่อนเข้ารับการอบรม  ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง (X = ๓.๑๖ , S.D = ๑.๑๗)   ๒) ห้องอบรม ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (X = ๔.๐๔ , S.D = ๐.๖๕) ๓) วิทยากร ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X = ๔.๒๔ , S.D = ๐.๖๕)  ๔) หัวข้อการบรรยาย  ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X = ๔.๒๑ , S.D = ๐.๖๐)  ๕) ช่วงเวลาในการจัดกิจกรรม ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (X = ๓.๘๘ , S.D = ๐.๗๗)  ๖) สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์  ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X = ๔.๓๓, S.D =๐.๖๕)  ๗) ความเข้าใจหลังรับการอบรม ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X =๔.๓๑, S.D =๐.๖๙) ๘) ภาพรวมของโครงการ ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X = ๔.๓๓, S.D =๐.๖๑) โดยสรุปผลประเมินทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (X = ๔.๐๖ , S.D = ๐.๕๒)
+ http://sunee5.multiply.com/journal/item/2 รวมบทความวิจัย
+ http://en.wikipedia.org/wiki/Likert_scale
+ http://tulip.bu.ac.th/~wathna.s/reliability.htm วิเคราะห์ข้อสอบ

ความกว้างของอันตรภาคชั้น = คะแนนสูงสุด – ต่ำสุด หารด้วย จำนวนชั้น
Class Interval (ชัชวาลย์ เรืองประพันธ์, 2543,หน้า 30)
ชัชวาลย์ เรืองประพันธ์. (2543). สถิติพื้นฐานพร้อมตัวอย่างการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม Minitab SPSS และ SAS. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ชัชวาลย์ เรืองประพันธ์. (2539). สถิติพื้นฐาน . ขอนแก่น : โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
http://digi.library.tu.ac.th/thesis/sw/2680/13REFERENCES.pdf
http://pru3.pnru.ac.th/offi/graduate/upload-files/pictures/63/H_711_7586.pdf
http://prezi.com/p9x1rkhj_cej/presentation/

ลิเคิร์ทสเกล (Likert Scale) 5 ระดับ โดย เร็นสิส เอ. ลิเคิร์ท (Rensis A. Likert)
Likert, Rensis A. (1961). New Patterns of Management. New York: McGraw-Hill Book Company Inc.

สมการกำหนดกลุ่มตัวอย่าง
Yamane, Taro. (1967). Statistics: An Introductory Analysis.(2 ed.). New York: Harper and Row.

เคลียร์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เว็บโปรซอฟท์

เว็บโปรซอฟท์ (webprosoft.net)
เว็บโปรซอฟท์ (webprosoft.net)

5 ก.พ.53 หกโมงเย็นถึงสามทุ่มไปคุยเรื่องการเขียนรายงานวิจัย และการนำเสนอโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่กรกับปรางรับทุน CBPUS และอยู่ในช่วงสุดท้ายของโครงการ มีกำหนดพบผู้ประสานงานวันที่ 16 ก.พ. และ 21 ก.พ.53 เพื่อส่งรายงานแล้วประชุมเตรียมพร้อมที่ศูนย์ฯ และนำเสนอที่ ณ ห้องประชุมอาคารอาลัมพาง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งนักศึกษาได้ประสานกับ อ.เกศริน อินเพลา และ อ.วิเชพ ใจบุญ ที่เป็นอาจารย์ผู้สอบโครงการไปร่วมกิจกรรมในเวทีนำเสนอผลการวิจัยแล้ว โดยประเด็นที่พูดคุยกันที่ร้านเว็บโปรซอฟท์กับนักศึกษา คือ การเขียนสรุปผล การเขียนบทคัดย่อ ปัญหาและข้อเสนอแนะ การเชื่อมโยงกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง แล้วเตรียมนำเสนอด้วย social map, mind map, การเผยแพร่วีดีโอ และการนำเสนอด้วยเว็บไซต์ เพื่อให้เห็นกระบวนการ กิจกรรม บทเรียน และผลการวิจัย
     สถานที่เคลียร์งานวิจัย คือบ้านกร ซึ่งเปิดเป็นร้านรับพัฒนาโปรแกรม มีชื่อร้านว่า เว็บโปรซอฟท์ (webprosoft.net และ goto69.com) ช่วงนี้ยังไม่เปิดเป็นทางการ เป็นร้านที่ดำเนินการกัน 2 คน แต่คิดว่าญาติของทั้งคู่คงช่วยเหลืออะไรได้ไม่น้อย เท่าที่ได้แลกเปลี่ยนกันก็พบว่านักศึกษามีพื้นฐานความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาแหล่งจำหน่ายคอมพิวเตอร์ราคาส่ง การเป็น domain reseller หรือการพัฒนาโปรแกรม ที่มีพื้นฐานที่ดีมาก ก็ต้องเป็นกำลังใจให้กับกิจการใหม่ที่จะก้าวหน้าต่อไป

การเชื่อมโยงระหว่างชุมชน อาจารย์ และนักศึกษา

ชุมชน อาจารย์ และนักศึกษา

23 ม.ค.53 องค์ความรู้ในชุมชนมีซ่อนบ่มอยู่มากมาย และหลากหลายสาขาวิชา สิ่งเหล่านั้นเริ่มถูกยกระดับคุณค่าหลังจากมีการพัฒนาชุมชนเมืองเพียงด้านเดียวมาระยะหนึ่ง โดยปล่อยปะละเลยคุณค่าของชุมชนชนบท ทิ้งไว้แต่คำร่ำลือถึงความศิวิไลที่ทุกคนต่างโหยหา แต่ขาดการดำเนินการเพื่อรักษาสิ่งเหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีคำถามว่าใครจะเข้าไปเป็นกลไกในการพัฒนา รักษา และมีกระบวนการอย่างไร ให้เกิดการทำนุบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรม และองค์ความรู้ของชุมชนให้ดำรงอยู่ต่อไป เพื่อให้เยาวชนและชุมชนเองได้ชื่นชมตราบนานเท่านาน
      การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และองค์ความรู้ของชุมชนต้องเริ่มต้นจากการเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่โดยชุมชน ดังคำว่ามีหนึ่งสมอง สองมือกับหนึ่งใจย่อมทำกิจการงานทุกอย่างได้สำเร็จ ดังนั้นชุมชนต้องมีใจรักที่จะรักษาและชื่นชมสิ่งที่มีอยู่เป็นทุนเดิม องค์ความรู้ที่เปรียบได้กับสมองของชุมชน ซึ่งปัจจุบันมักรู้จักกันในนามของปราชญ์ชาวบ้านที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ให้เกิดการสืบทอดเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากจำนวนปราชญ์ชาวบ้านเริ่มลดลงตามข้อจำกัดเรื่องอายุ แล้วกระบวนการหรือกลไกหรือมือที่จะเข้ามาทำให้ใจและสมองเชื่อมโยงด้วยความเข้มแข็งและขยายผลให้เกิดการยอมรับสืบทอด บอกต่อ แล้วเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นของการพัฒนาชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน ชุมชนข้างเคียง และสถาบันการศึกษาให้ความตระหนักและขยายการมีส่วนร่วมทั้งด้านนโยบาย งบประมาณ และกระบวนการเข้าสู่ชุมชนอย่างชัดเจน เพราะเป็นทางออกของการอยู่รอดในสังคมโลกร่วมกันอย่างมีความสุข
      นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Policy) ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดใหม่ ก็คือการส่งเสริมให้คนไทยคิดใหม่ทำใหม่อย่างสร้างสรรค์ การทำให้สังคมชุมชนฐานรากของมนุษย์มีความเข้มแข็งย่อมส่งผลต่อความเข้มแข็งของสังคมเมืองและสังคมโลกเป็นลูกโซ่ มีความคิดใหม่มากมายที่มีต้นกำเนิดจากในชุมชน แล้วต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืนโดยเกิดจากการมุ่งมั่นของคนในชุมชนร่วมกับการหนุนเสริมจากภายนอกให้เกิดการคิดต่อจนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจจนหลายชุมชนสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขบนความพอเพียง ดังนั้นคำว่าความพอเพียงจึงเป็นหนึ่งในคำสำคัญที่ชุมชนต้องเข้าใจและสอดรับกับหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ที่จะใช้เป็นฐานคิดในการดำรงชีวิต การบริหารจัดการ และการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นทางสายกลางที่สอดรับกับ 3 เรื่องคือ  ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
      ปัจจุบันสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ให้การสนับสนุนบุคลากรในสถาบันการศึกษาได้เข้าไปบูรณาการองค์ความรู้ที่มีอยู่ระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน ทำให้ชุมชนและสถาบันการศึกษาเกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ ทั้งชุมชนเกิดความเข้าใจในกระบวนการทำงานอย่างมีขั้นตอน ส่วนอาจารย์ในสถาบันการศึกษาก็จะได้เข้าใจองค์ความรู้และธรรมชาติของชุมชน ได้นำสิ่งที่ได้ไปปรับการเรียนการสอนแล้วเกิดการแลกเปลี่ยนในสถาบันการศึกษา ทำให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการของชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learning Exchange) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่คือวัตถุประสงค์หนึ่งของการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research: CBR) ที่เปิดให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยได้ลงไปทำงานในชุมชนที่ตนเองรักและต้องการพัฒนาโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและองค์ความรู้ในสาขาวิชาของตน
      เมื่ออาจารย์จากมหาวิทยาลัยเริ่มเข้าใจในชุมชนผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น แล้วนำประสบการณ์ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนอาจารย์ และนักศึกษาในชั้นเรียน ประกอบกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเปิดให้ทุนสนับสนุนนักศึกษา (Community-Based Projects for Undergraduate Student : CBPUS) ได้ทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับวิชาโครงงานที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา ทำให้มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเข้าไปเรียนรู้ชุมชนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนโดยใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือ ผ่านการหนุนเสริมอย่างจริงจังของอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นนวัตกรรมในการเรียนการสอน การวิจัย และการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกัน สิ่งที่นักศึกษาได้รับคือการเรียนรู้ชุมชนผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการวิจัยร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริงเป็นระยะเวลาหนึ่งร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา และศูนย์ประสานงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
      ผลของงานวิจัยเกิดผลในหลายมิติทั้งการเรียนรู้ชุมชนโดยนักศึกษา ประสบการณ์ในการพัฒนาการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา มิติใหม่ของการวิจัยที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และการพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการวิจัยผ่านบทบาทของสถาบันการศึกษา ทั้งหมดคือการเชื่อมโยงของการพัฒนาชุมชนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของปราชญ์ชาวบ้าน การพัฒนานักศึกษาซึ่งเป็นเยาวชนได้เข้าเรียนรู้ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนาการเรียนการสอนมิติใหม่ในสถาบันการศึกษา และการพัฒนากระบวนการพัฒนาชุมชนฐานรากเชิงบูรณาการอย่างแท้จริง
โดย อาจารย์ที่ชักชวนนักศึกษาเข้าทำงานวิจัยในบ้านไหล่หิน
+ บทความจาก http://www.thaiall.com/research

การบูรณาการวิชาโครงงานกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

15 ม.ค.53  บทความเผยแพร่เสนอลงใน นิตยสาร Eduzones ฉบับพิเศษ มหาวิทยาลัยโยนก เขียนโดย นายกร ศิริพันธุ์ และน.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม แล้วส่งให้  คุณศักดิ์รพี วดีศิริศักดิ์ บก. Eduzones Journal ซึ่งมีอาจารย์ผู้สอบโครงงานคือ อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.เกศรินทร์ อินเพลา ได้รับทราบความก้าวหน้าของการทำโครงงาน
    
จากการลงทะเบียนเรียนในวิชา โครงงานระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ (CPIS 412) ซึ่งเป็นการเรียนที่เน้นการศึกษาค้นคว้า ศึกษาความต้องการขององค์กรทางธุรกิจ ทดลองปฏิบัติด้วยตนเองแล้วพัฒนาเป็นโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ตอบความต้องการขององค์กร ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่มีโอกาสสัมผัสหรือทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ต่อมาอาจารย์ในคณะได้นำประสบการณ์ในการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาชวนให้แลกเปลี่ยนในชั้นเรียน จึงเกิดความสนใจในโครงการหนึ่ง คือ โครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง
     เมื่อตัดสินใจเลือกทำงานวิจัยเพื่อชุมชนเป็นโครงงานจบตามหลักสูตร จึงเข้าไปศึกษาชุมชนบ้านไหล่หิน เพื่อเขียนข้อเสนอโครงการแล้วพบว่ามีประเด็นและลักษณะของชุมชนเหมาะสมกับงานนี้ เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร คือ บ้านไหล่หิน หมู่ 2  และบ้านไหล่หินตะวันตกหมู่ 6  ประชากรส่วนใหญ่เป็นไทยพุทธที่ศรัทธาในวัดไทย   2   วัด  ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันคือ  วัดเสลารัตนปัพพะตาราม (วัดไหล่หินหลวง) และวัดชัยมงคลธรรมวราราม ในด้านสถานศึกษามีโรงเรียนบ้านไหล่หินเปิดสอนในระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับประถมศึกษา และโรงเรียนไหล่หินวิทยาเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งวัดและโรงเรียนตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน  คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยู่กันอย่างเกื้อกูลเสมือนญาติพี่น้อง และมีความสามัคคี เมื่อมีงานที่เป็นงานส่วนรวม เช่น งานขึ้นบ้านใหม่  งานแต่งงาน หรืองานศพ  จะมีชาวบ้านไปร่วมงานจำนวนมาก แล้วเจ้าภาพจะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี  ทั้งด้านสถานที่  ด้านอาหาร และการต้อนรับ  เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานมีความพึงพอใจในทุกด้านเเท่าเจ้าภาพจะจัดหาให้ได้
     จากสภาพเศรษฐกิจ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาความยากจนเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ เมื่อครอบครัวใดมีคนเสียชีวิตจะต้องจัดงานศพ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าภาพไม่ได้มีการตระเตรียมเงินไว้ล่วงหน้าเหมือนงานบุญหรืองานมงคล ด้วยค่านิยมที่หลั่งไหล่เข้าสู่ชุมชน คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับวัตถุมากขึ้นและเชื่อว่าการจัดงานศพที่ใหญ่โตแสดงถึงความมีหน้ามีตาของเจ้าภาพ ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เจ้าภาพต้องแบกรับ โดยละลายพฤติกรรมทางสังคมที่เป็นตัวบ่มเพาะชุมชนที่อยู่อย่างเกื้อกูลและความพอเพียงให้จางหายไป
     ต้นปีพ.ศ.2550 ผู้นำหลากหลายบทบาทในหมู่บ้านทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนผู้นำองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ได้รวมตัวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในงานศพที่สูงขึ้นตามการบริโภควัฒนธรรมที่สวนทางกับกระแสเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กระบวนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมาเป็นเครื่องมือ โดยขอรับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)  ภายใต้โครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง”  หลังจากการดำเนินงานโครงการสิ้นสุดลงทีมวิจัยได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า การขยายผลประเด็นการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนโดยใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือนั้น ยังขาดการนำเสนอที่เป็นรูปธรรม และเข้าใจง่าย
     จึงมีแนวคิดที่จะจัดทำสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผล แต่เนื่องจากทีมวิจัยชาวบ้านมีข้อจำกัดในการพัฒนาสื่อด้วยตนเอง ดังนั้นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ ได้แก่ นายกร ศิริพันธุ์  และ น.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม ได้อาสาเข้าเติมเต็มต่อยอดงานวิจัยเดิมให้มีความสมบูรณ์ โดยเน้นไปที่การจัดทำสื่อขยายผลองค์ความรู้ จึงขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีควบคู่กับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสร้างเครื่องมือนำเสนอบทเรียนจากโครงการที่มีผลชัดเจนด้วยสื่อวีดีทัศน์เกี่ยวกับประเด็นข้อตกลงในการจัดการงานศพ และกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น แล้วขยายผลสู่โรงเรียนเป้าหมายในชุมชน
     โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้รับอนุมัติ คือ เรื่อง “แนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” เลขที่โครงการ PDG52N0013 มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อคือ 1)เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการหาประเด็นข้อตกลงในการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง  2) เพื่อจัดทำสื่อวีดีโอเผยแพร่ประเด็นข้อตกลง และกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง  3) เพื่อศึกษาทิศทาง หรือแนวโน้มในการขยายผลการนำสื่อวีดีโอที่จัดทำไปใช้ในกลุ่มเป้าหมาย
     กระบวนการทำงานมีขั้นตอนดังนี้ นักศึกษาเข้าเก็บรวบรวมข้อมูล สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง เรียนรู้ชุมชน รวมถึงการเรียนรู้เรื่องการจัดงานศพในหมู่บ้าน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ในการจัดทำโครงเรื่อง (Story Board) แล้วบันทึกวีดีโอของคนในชุมชนตัดต่อเป็นสื่อวีดีทัศน์เผยแพร่ประเด็นข้อตกลง และกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งจากการเข้าทำงานในชุมชน พบว่า ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและทุกคนที่เข้าร่วมโครงการมีความสุข เนื่องจากเป็นโครงการมีประโยชน์ต่อชุมชน สามารถเชื่อมโยงผู้คนหลากหลายบทบาทให้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งการทำงานอย่างมีส่วนร่วมทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกที่คนในชุมชนจะใช้ประสบการณ์ที่ได้รับไปเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาอื่นได้อย่างมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการต่อไป 
     หลังจัดทำสื่อวีดีทัศน์สำเร็จได้นำไปทดลองฉายให้กับคนในชุมชน ในโรงเรียนบ้านไหล่หิน และในโรงเรียนไหล่หินวิทยา พบว่านักเรียนมีความเข้าใจและสนใจที่จะเรียนรู้ทั้งรูปแบบในการจัดการงานศพที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงสรุปได้ว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นโครงการนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยนำข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบและกระบวนการวิจัยไปจัดทำสื่อได้อย่างถูกต้องในรูปสื่อวีดีทัศน์ที่เข้าใจง่าย เผยแพร่ง่าย ใช้ขยายผลเข้าไปในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายได้ตามความมุ่งหวัง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนมีจิตสำนึกสาธารณะมีความรักชุมชนอย่างเข้าใจและร่วมกันพัฒนาชุมชนของตนให้ยั่งยืนสืบไป
+ http://blog.eduzones.com/magazine/
+ http://www.thaiall.com/research/vdo_aricle_yookmag.doc

อบรมการเขียนรายงานโครงการ cbpus

 

การอบรมเชิงปฏิบัติการ เขียนรายงานสรุป cbpus
การอบรมเชิงปฏิบัติการ เขียนรายงานสรุป cbpus

10 ม.ค.53 นายกร ศิริพันธุ์ นางสาวอรพรรณ สงเคราะห์ธรรม อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน พร้อมเพื่อนที่รับทุน cbpus ที่เชื่อมผ่านโหนด (node) ลำปาง ซึ่งดูแลโดย อ.ฉิ่ง ของราชภัฏเชียงใหม่ โดยมีนางสาวภัทรา มาน้อย เป็นผู้ประสานงานของโหนด ทำหน้าที่ดูแลผู้รับทุนจากกลุ่มต่าง ๆ อาทิ กลุ่มราชภัฏ กลุ่มราชมงคล กลุ่มมจร. กลุ่มโยนก วัตถุประสงค์การอบรมครั้งนี้ เพื่อให้การปิดโครงการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นไปตามกำหนดการ จึงต้องทำความเข้าใจ ติดตาม ซักซ้อม ลงมือเขียนรายงานให้ไปในทางเดียวกัน และส่งเอกสารทางการเงิน โดยนัดหมายนำเสนอสรุปโครงการแต่ละโครงการในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ราชภัฏลำปาง 
    นางสาวรัตติกร บุญมี ผู้บรรยายได้ให้แนวการเขียนรายงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นแก่นักวิจัยชุดนี้ โดยให้แนวการเขียนรายงานการวิจัยแบ่งเป็น 5 บท คือ 1) บทนำ 2) แนวคิดทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 3) วิธีการดำเนินงาน 4) ผลการดำเนินงานวิจัย 5) สรุปอภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ภาคผนวกมี 3 ส่วนคือ 1) บทความเผยแพร่ 2) ภาพกิจกรรม 3) ประวัตินักวิจัย .. แนวการทำงานของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น กับวิจัยเชิงวิชาการอาจแตกต่างกันบ้าง แต่ถ้าปรับให้การเขียนรายงานเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ คนที่มีเป้าหมายเพื่องานวิชาการก็จะนำไปใช้ในด้านวิชาการได้
+ http://thaiall.com/research/hidden/training_cbpus_report_530110.zip

อภิปรายผลการวิจัย การศึกษาการประยุกต์ไอทีสำหรับผู้บริหาร

เหตุเกิดในต่างประเทศ
เหตุเกิดในต่างประเทศ

2 ม.ค.53 มีโอกาสช่วย ยกร่างอภิปรายผลการวิจัย ของกลุ่มเพื่อนที่ศึกษาการใช้ไอทีของผู้บริหารในองค์กรหนึ่ง เมื่ออ่านรายละเอียดในรายงานแล้ว ทำให้เข้าใจว่าการดำเนินงานและผลการวิจัยเป็นอย่างไร แต่ก็เขียนได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะไม่ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวิพากษ์ว่าสิ่งที่ผมยกร่างขึ้นมานั้น  ทีมวิจัยทั้ง ๓ ท่านที่ศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเห็นตรงหรือไม่ แต่นี่เป็นเพียงการยกร่างของการอภิปรายผล ที่หวังจะให้เกิดการพัฒนา และนำไปต่อยอดต่อไป จะปรับเปลี่ยนประการใดก็สุดแล้วแต่ทีมวิจัยท่าน
     โดยมีประเด็นอภิปรายแบ่งเป็น ๔ เรื่อง ดังนี้ ๑. ผู้บริหารสามารถใช้งานโปรแกรมสำนักงานในกลุ่มของไมโครซอฟท์ เพื่อพิมพ์เอกสาร ตารางคำนวณ และงานนำเสนอมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการเรียนการสอน และงานบริหารในองค์กร แล้วยังสามารถสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และสื่อสารด้วยอีเมลได้ ๒. ผู้บริหารเห็นความสำคัญจากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากโปรแกรมสำเร็จรูป และมองไปที่ภาพรวมของเทคโนโลยี แต่การระบุปัญหาส่วนใหญ่เน้นไปที่ปัญหาด้านอุปกรณ์มากกว่าปัญหาด้านสารสนเทศที่มาจากระบบฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งไม่พบการชี้ชัดที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาจากการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานให้บรรลุสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ขององค์กร ๓. ผู้บริหารยังใช้งานโปรแกรมประยุกต์หรือระบบฐานข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจในรูปของสถิติยังไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจตามความต้องการของผู้บริหาร และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้บริหารที่จะทำความเข้าใจในประโยชน์ของระบบฐานข้อมูลแต่ละระบบ เพื่อให้ผู้บริหารสามารถกำหนดความต้องการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน ๔. ผู้บริหารไม่ต้องการพัฒนาตนเองในการใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งโปรแกรมสำเร็จรูปโดยทั่วไปไม่ช่วยสนับสนุนการใช้ระบบเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหารที่ชัดเจน โดยวัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ให้น้ำหนักของการศึกษาวิจัยเพื่อวางแผนการจัดอบรมและจัดหลักสูตรด้านไอทีให้กับผู้บริหารโดยให้ความสำคัญกับโปรแกรมสำเร็จรูปโดยทั่วไป มากกว่าการศึกษาความต้องการของผู้บริหารที่ต้องการเติมเต็ม แล้วนำไปช่วยให้การตัดสินใจที่นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร

ปิดร่างรายงานการวิจัย sar51 แล้ว

หน้าจอโปรแกรม การประเมินตนเอง 2550 - 2551
หน้าจอโปรแกรม การประเมินตนเอง 2550 - 2551

16 ธ.ค.52 วันนี้ผมปิดร่างรายงานการวิจัย “พัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ปีการศึกษา 2551 กรณีศึกษามหาวิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง” จากการส่งร่างให้ทีมวิจัยทั้ง 8 คนตรวจสอบก็ดำเนินการไปแล้ว ต่อจากนี้จะประสานส่งรายงานตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะมีกลไกดังนี้ 1) ส่งให้คณบดีพิจารณา 2) คณะกรรมการวิจัยในคณะ 3) สถาบันวิจัย 4) คณะกรรมการของสถาบันวิจัย 5) เวทีวิจัยของมหาวิทยาลัย 6) ท่านอธิการ ถ้าผ่านกลไกนี้ก็จะปิดงบถ่ายเอกสารของโครงการ แล้ววางแผนรวมทีมวิจัยโครงการต่อยอดกับข้อมูลปี 2552 เพื่อขยายให้ถึงระดับบุคคล ซึ่งมีความเป็นไปได้ด้วย 2 ปัจจัย คือ ท่านอธิการสนับสนุน และบุคลากรมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากการอบรมในเดือนที่ผ่านมา โดยบทคัดย่อมีดังนี้
      งานวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโปรแกรมระบบฐานข้อมูลให้หน่วยงานจัดเก็บข้อมูลการประเมินตนเอง และเพื่อให้ผู้ประเมินตรวจสอบหลักฐานเพื่อการประกันคุณภาพด้วยความพอใจ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยโยนก กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาใช้วิธีเลือกแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 2 กลุ่ม รวม 13 คน คือ ผู้ประเมินคุณภาพการศึกษา 7 คน ตัวแทนคณะวิชาและสาขาวิชา 6 คน เครื่องมือที่ใช้พัฒนาระบบคือเครื่องบริการไอไอเอส ตัวแปลภาษาพีเอชพี  เอแจ็กซ์ และระบบฐานข้อมูลไมโครซอฟท์แอคเซส ใช้แบบประเมินความพึอพอใจหลังการอบรมใช้งานโปรแกรม และหลังการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับสถาบันเสร็จสิ้น โดยลักษณะคำตอบเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ งานที่พัฒนาขึ้นสามารถเลือกข้อมูลปีการศึกษา 2550 หรือ 2551 แบ่งเป็นระบบย่อยที่สำคัญ 6 ระบบ ประกอบด้วย 1) ระบบเข้าใช้งานของผู้ใช้  2) ระบบนำแฟ้มข้อมูลเข้าตามเกณฑ์มาตรฐาน  3) ระบบบันทึกรายละเอียดตามตัวบ่งชี้ 4) ระบบจัดการข้อมูลพื้นฐาน 5) ระบบปรับปรุง  และ 6) ระบบรายงานผลประเมินความพึงพอใจต่อการใช้งานโปรแกรมของหน่วยงานโดยรวมอยู่ระดับมาก (X = 3.71 , S.D = 1.16) และผลการประเมินความพึงพอใจต่อการใช้งานโปรแกรมของผู้ประเมินโดยรวมอยู่ระดับปานกลาง (X = 3.24, S.D = 1.11) ซึ่งสรุปได้ว่าระบบที่พัฒนาขึ้นยังไม่ตอบสนองความพึงพอใจต่อผู้ใช้ทั้ง 2 กลุ่มในระดับมาก
     The objective of this operational research was to develop the self assessment system to serve the satisfaction of users and assessors. This system used the case study of YONOK University.  The data sampling is divided into 2 groups consisting of 7 assessors and 6 faculties. The system development tools were Internet Information Server, PHP Interpreter, AJAX and Microsoft Access Database. 5-scale rating questionnaire was collected to evaluate system performance after finishing training and evaluation of the system. This system could be surve to database of 2550 and 2551.  There are 6 sub-systems: user’s login, documents upload, indicator update management, and common data set management, data updating and reporting system. The evaluation result of user’s satisfaction was high (a mean of 3.71 and standard deviation of 1.16). The evaluation result of assessor’s satisfaction was also moderate (a mean of 3.24 and standard deviation of 1.11). It is concluded that the system performance was not satisfy to both group in high level.
+ http://www.thaiall.com/research/sar51/fullpaper_sar51_521216.zip  500 KB
ถ้าท่านใดอ่านแล้วมีข้อเสนอแนะ แจ้งได้ครับ เพราะยังไม่ปิดงบถ่ายเอกสาร เป็นเพียงร่างรายงาน

ผลวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนจากการประเมิน .. ออกแล้ว

วิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนใน 3 ตารางแรก
วิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนใน 3 ตารางแรก

13 ธ.ค.52 วันนี้ช่วงกลางวันมีภารกิจวิพากษ์แผนพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งวัน โดยมี อ.วิเชพ ใจบุญ เป็นผู้ดำเนินการ และมี อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ เป็นผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะ เมื่อกลับบ้านก็หายจากอาการทอนซิลอักเสบพอดี จึงนำข้อมูลผลการประเมินคุณภาพภายใน ที่เกิดขึ้นในปลายเดือนสิงหาคม 2552 ที่มาจากผู้ประเมินภายในของแต่ละคณะ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างผลการประเมินตนเอง และผลการประเมินของผู้ประเมิน ระหว่างปีการศึกษา 2550 และ 2551 ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งผลของความคลาดเคลื่อนสูงเกินกว่าที่คาดไว้มาก ทำใจเขียนส่วนอภิปรายผล หรือสรุปผลต่อไม่ได้ และคิดว่าคืนนี้ผมคงมีเรื่องอะไรให้นอนคิดมากมายกว่าทุกวัน
     ตารางที่ 1 จำแนกตามจำนวนคะแนนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนจากผลต่างการประเมินตนเองและของผู้ประเมินในปีการศึกษา 2551 พบว่า ผลรวมจำนวนตัวบ่งชี้จากทุกคณะ ที่ผลประเมินตนเองตรงกับผลของผู้ประเมินมีเพียง 58.55% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 1 คะแนนมี 22.22% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 2 คะแนนมี 14.96% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 3 คะแนนมี 4.27% ซึ่งผลในตารางที่ 1 ไม่เห็นอะไรที่ชัดเจนนัก นอกจากตกใจที่เห็นผลประเมินเกือบครึ่งหนึ่งมีความคลาดเคลื่อน และพบว่าคณะของผมมีจำนวนตัวบ่งชี้คลาดเคลื่อนมากที่สุดคือ 20 ตัวบ่งชี้ แต่คณะบริหารคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดคือ 10 ตัวบ่งชี้
     ตารางที่ 2 จำแนกตามจำนวนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนเปรียบเทียบปีการศึกษา 2550 และ 2551 พบว่า ไม่มีคณะใดเลยที่มีความคลาดเคลื่อนลดลงจากปี 2550 ทั้งที่ได้มีการนำเสนอรายงานความคลาดเคลื่อนไปใน การประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 22 /2552 วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2552 วาระ 4.3 โดยมีตัวแทนนักวิจัยร่วมประชุมครั้งนี้ 4 ท่านได้แก่ อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ อ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ อ.วันชาติ นภาศรี และ อ.คนึงสุข นันทชมภู โดย อ.วันชาติ นภาศรี เป็นตัวแทนทีมวิจัยจัดทำข้อเสนอแนะไว้ในรายงานจำนวน 3 ข้อ คือ 1)เร่งพัฒนาศักยภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร การเรียนการสอน การบริการวิชาการ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษา และการวิจัย 2)กำหนดนิยามปฏิบัติการในรายตัวบ่งชี้ที่ยังมีความสับสน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน 3)จัดทำคำอธิบายว่าตัวบ่งชี้ใดใช้หลักฐานอะไรบ้าง และจัดให้มีการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรทุกคน นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลับมาหาสิ่งที่พบในตารางที่ 2 คือ คณะของผมติดอันดับหนึ่งในการที่มีจำนวนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 15 ตัวบ่งชี้ ส่วนคณะที่จำนวนตัวบ่งชี้คลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดมีคณะบริหารกับคณะสังคม คือ 1 ตัวบ่งชี้
     ตารางที่ 3 จำแนกตามคะแนนที่คลาดเคลื่อนเปรียบเทียบปีการศึกษา 2550 และ 2551 พบว่า คณะของผมยังเป็นเบอร์ 1 คือ คะแนนคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นอีก 22 คะแนน โดยคณะสังคมคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดคือ 3 คะแนน รองลงมาคือคณะบริหาร 5 คะแนน ทั้ง 3 ตารางนี้ได้เปรียบเทียบในระดับคณะ ยังไม่เปรียบเทียบในระดับตัวบ่งชี้ ว่าองค์ประกอบใด หรือตัวบ่งชี้ใด มีความผิดปกติบ้าง แต่เท่าที่คาดการณ์ก็เชื่อได้ว่าความคลาดเคลื่อนกระจายอยู่ในทุกตัวบ่งชี้อย่างแน่นอน แต่จะมีตัวใดสูงเป็นพิเศษคงต้องใช้เวลาทำ pivot table อีกครั้ง
     จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ผมมีแผนส่งข้อมูลดิบให้แต่ละคณะและทีมวิจัยได้ตรวจสอบ ก่อนดำเนินการเขียนรายงานสรุปผล และอภิปรายผลรายงานการวิจัยต่อไป ซึ่งส่วนของการวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนเป็นเพียงผลการวิจัยที่เพิ่มเติมจากวัตถุประสงค์หลัก แต่นี่คืองานวิจัยสถาบันที่พบว่าระหว่างการวิจัยได้พบประเด็นที่จะเสริมการพัฒนามหาวิทยาลัยได้ และสนับสนุนให้การดำเนินงานวิจัยบรรลุตามวัตถุประสงค์ สิ่งที่ต้องการค้นหาเป็นหลัก คือความพึงพอใจต่อการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองที่พัฒนาขึ้น ซึ่งผลของความคลาดเคลื่อนและความพึงพอใจสอดคล้องกัน คือ ระดับความพึงพอใจเป็นไปในทางเดียวกับความคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย และจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ได้
+ http://www.yonok.ac.th/sar/nsar51.php

ยกร่าง การอภิปรายผล รายงานวิจัย sar51

sar518 ธ.ค.52 ยกร่าง การอภิปรายผล ซึ่งยังขาดผลประเมินคณะ ปีการศึกษา 2551 เพื่อใช้วิเคราะห์ความเบี่ยงเบนเปรียบเทียบปี 50 และ 51 ในขั้นตอนที่เหลือ และยังไม่เสนอให้ทีมวิจัย ซึ่งประกอบด้วย อ.วันชาติ  นภาศรี อ.ศศิวิมล  แรงสิงห์ อ.อาภาพร ยกโต อ.อัศนีย์  ณ น่าน อ.คนึงสุข  นันทชมภู อ.สุรพงษ์  วงค์เหลือง นางเจนจิรา เชิงดี และ นางสาวเพชรี  สุวรรณเลิศ
     จากผลการวิจัยมีประเด็นที่น่าสนใจนำมาอภิปายผล ดังนี้ 1) ผลสำรวจความพึงพอใจต่อการอบรมการใช้งานโปรแกรมตั้งแต่ครั้งแรกไปถึงครั้งที่สี่มีแนวโน้มค่าเฉลี่ยความพึงพอใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่ลดเพียงเล็กน้อยสำหรับครั้งที่สี่ คือ 3.86, 3.93 4.18 และ 4.10 โดยทั้ง 4 ครั้งมีระดับความพึงพอใจเท่ากันคือระดับมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เข้ารับการอบรมที่เป็นตัวแทนจากคณะวิชามีความพึงพอใจ ยอมรับ และเข้าใจการใช้งานระบบนี้ 2) หน่วยงานระดับคณะวิชายังใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองเพียง 80% และมีคณะที่ส่งมอบรหัสผ่านให้กับผู้ประเมินเพียง 60% แต่ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (X = 3.71 , S.D = 1.16) ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าทั้งระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง และกลไกที่สนับสนุนให้คณะวิชาใช้งานระบบยังต้องมีการปรับปรุง 3) ผู้ประเมินได้ใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองทุกคน แต่ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้ประเมินโดยรวมอยู่ระดับปานกลาง (X = 3.24 , S.D = 1.11) ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าหน่วยงานระดับคณะวิชาส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองยังไม่สมบูรณ์ เป็นเหตุให้ผู้ประเมินเข้าตรวจสอบหลักฐานเอกสารผ่านระบบออนไลน์แล้วไม่พบหลักฐานดังกล่าว จึงทำให้ผลการประเมินความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง
     ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา คือ 1) ผู้บริหาร และสำนักประกันคุณภาพควรผลักดันให้หน่วยงานระดับคณะวิชาใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง และมีกลไกในการกำกับดูแลการใช้งานระบบดังกล่าวที่ชัดเจน 2) การใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองควรเปิดให้อาจารย์ได้เข้าไปใช้งาน และเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับคณะวิชา แล้วรวมเป็นข้อมูลของมหาวิทยาลัยในที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ทุกคนได้มีส่วนร่วมในกลไกการประกันคุณภาพแบบบูรณาการอย่างแท้จริง
     ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป คือ 1) ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองในมหาวิทยาลัยควรรองรับการใช้งานตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับคณะวิชา และระดับมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนการเชื่อมโยงแฟ้มดิจิทอลออนไลน์ทั้งกับระบบฐานข้อมูลภายใน และภายนอก 2) ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองควรมีฟังก์ชันเผยแพร่รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ผ่านการประเมินโดยผู้ประเมินแล้ว สู่สาธารณชนผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย
+ http://www.yonok.ac.th/sar