ผลดำเนินการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา

http://www.yonok.ac.th/grade

9 มิ.ย.53 กรณีศึกษาการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา ซึ่งเป็นแผนแรกที่ใช้กลไกของอาจารย์ผู้สอนเป็นสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา และใช้วิธีการติดตามจากอาจารย์ที่ปรึกษาเข้าไปเสริมกระบวนการในชั้นเรียน เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการเรียนการสอนตามปกติ โดยมี 5 กิจกรรมดังนี้
     1. ตรวจสอบข้อมูลและผลการเรียนของนักศึกษาเป็นรายบุคคลแล้วพบว่า นาย … รหัส … สาขา… มีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ แต่เรียนจนครบหลักสูตรแล้ว จึงจำเป็นต้องลงทะเบียนเพิ่มในภาคเรียนฤดูร้อน เพื่อให้มีผลการเรียนเฉลี่ยสูงกว่า 2.0
     2. ประมวลผลเพื่อหาผลการเรียนที่จะทำให้นักศึกษาสำเร็จการศึกษาได้ โดยใช้บริการประมวลผลจากระบบรายงานผลการเรียนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยโยนก ที่พัฒนาโดยงานทะเบียนและประมวลผลที่ http://www.yonok.ac.th/grade แล้วพบว่านักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนอีกอย่างน้อย 3 วิชา รวมกับวิชาโครงงานระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้อีก 1 วิชา เป็นทั้งหมด 4 วิชา โดยผลการเรียนควรได้เกรด A อย่างน้อยจำนวน 3 วิชาและ C+ จำนวน 1 วิชา ซึ่งศึกษาความเป็นไปได้แล้วพบว่ามี 3 วิชา คือ …  ส่วนวิชา … จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในภาคเรียนฤดูร้อนนี้ เนื่องจากเป็นวิชาที่ลงทะเบียนไว้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551
     3. การพัฒนานักศึกษาด้วยการติดตามจากอาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับการเข้าเรียน การส่งงาน และความคิดเห็นของผู้สอนแต่ละวิชา พบว่าในภาพรวมแล้วนักศึกษาเข้าเรียนทุกวิชาอย่างสม่ำเสมอ และตั้งใจเรียน ซึ่งมีข้อมูลจากอาจารย์ผู้สอนแต่ละท่านดังนี้  … ผู้สอนวิชา … ให้ข้อมูลว่านักศึกษาเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ และเชื่อว่าไม่มีปัญหาต่อผลการเรียน … ผู้สอนวิชา … ให้ข้อมูลว่านักศึกษาตั้งใจอ่านหนังสือ และพฤติกรรมในชั้นเรียนเป็นที่น่าพอใจ … ผู้สอนวิชา … ให้ข้อมูลว่าได้จัดการสอนและการประเมินผลของนักศึกษาคนนี้เป็นพิเศษ และกิจกรรมที่ผ่านมาผลการเรียนของนักศึกษาน่าจะได้ตามที่คาดไว้ ส่วน … ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิชา … ให้ข้อมูลว่านักศึกษามาพบอย่างสม่ำเสมอ และรายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาโปรแกรมอย่างต่อเนื่อง เป็นที่เชื่อได้ว่าผลการเรียนจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
     4. ก่อนสอบปลายภาคได้นัดให้นักศึกษามาพบ และทำความเข้าใจกับนักศึกษาว่าต้องตั้งใจอ่านหนังสือ แล้วให้นักศึกษารายงานปากเปล่าถึงกิจกรรม และการสรุปผลการเรียนที่ผ่านมา ซึ่งนักศึกษาสามารถอธิบายเนื้อหาวิชาแต่ละวิชาได้อย่างเข้าใจ และนำเสนองานในวิชาโครงงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผลการประเมินในเบื้องต้นเชื่อว่านักศึกษาจะได้ผลการเรียนสูง และได้สอบถามจากอาจารย์ผู้สอนแต่ละท่านก็พอใจในพฤติกรรมของนักศึกษาที่มีในชั้นเรียนในระดับสูง
     5. ผลการเรียนหลังสอบปลายภาค ประจำภาคเรียนฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552 พบว่านักศึกษามีผลการเรียนดังนี้ ในระดับ … จำนวน 4 วิชา ซึ่งผลการเรียนเฉลี่ยที่มีการประมวลผลโดยงานทะเบียนฯ เป็น … เป็นผลให้นักศึกษาสำเร็จการศึกษาด้วยระดับคะแนนที่สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ในหลักสูตร
+ takecare_sittikorn.doc

การเชื่อมโยงระหว่างชุมชน อาจารย์ และนักศึกษา

ชุมชน อาจารย์ และนักศึกษา

23 ม.ค.53 องค์ความรู้ในชุมชนมีซ่อนบ่มอยู่มากมาย และหลากหลายสาขาวิชา สิ่งเหล่านั้นเริ่มถูกยกระดับคุณค่าหลังจากมีการพัฒนาชุมชนเมืองเพียงด้านเดียวมาระยะหนึ่ง โดยปล่อยปะละเลยคุณค่าของชุมชนชนบท ทิ้งไว้แต่คำร่ำลือถึงความศิวิไลที่ทุกคนต่างโหยหา แต่ขาดการดำเนินการเพื่อรักษาสิ่งเหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีคำถามว่าใครจะเข้าไปเป็นกลไกในการพัฒนา รักษา และมีกระบวนการอย่างไร ให้เกิดการทำนุบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรม และองค์ความรู้ของชุมชนให้ดำรงอยู่ต่อไป เพื่อให้เยาวชนและชุมชนเองได้ชื่นชมตราบนานเท่านาน
      การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และองค์ความรู้ของชุมชนต้องเริ่มต้นจากการเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่โดยชุมชน ดังคำว่ามีหนึ่งสมอง สองมือกับหนึ่งใจย่อมทำกิจการงานทุกอย่างได้สำเร็จ ดังนั้นชุมชนต้องมีใจรักที่จะรักษาและชื่นชมสิ่งที่มีอยู่เป็นทุนเดิม องค์ความรู้ที่เปรียบได้กับสมองของชุมชน ซึ่งปัจจุบันมักรู้จักกันในนามของปราชญ์ชาวบ้านที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ให้เกิดการสืบทอดเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากจำนวนปราชญ์ชาวบ้านเริ่มลดลงตามข้อจำกัดเรื่องอายุ แล้วกระบวนการหรือกลไกหรือมือที่จะเข้ามาทำให้ใจและสมองเชื่อมโยงด้วยความเข้มแข็งและขยายผลให้เกิดการยอมรับสืบทอด บอกต่อ แล้วเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นของการพัฒนาชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน ชุมชนข้างเคียง และสถาบันการศึกษาให้ความตระหนักและขยายการมีส่วนร่วมทั้งด้านนโยบาย งบประมาณ และกระบวนการเข้าสู่ชุมชนอย่างชัดเจน เพราะเป็นทางออกของการอยู่รอดในสังคมโลกร่วมกันอย่างมีความสุข
      นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Policy) ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดใหม่ ก็คือการส่งเสริมให้คนไทยคิดใหม่ทำใหม่อย่างสร้างสรรค์ การทำให้สังคมชุมชนฐานรากของมนุษย์มีความเข้มแข็งย่อมส่งผลต่อความเข้มแข็งของสังคมเมืองและสังคมโลกเป็นลูกโซ่ มีความคิดใหม่มากมายที่มีต้นกำเนิดจากในชุมชน แล้วต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืนโดยเกิดจากการมุ่งมั่นของคนในชุมชนร่วมกับการหนุนเสริมจากภายนอกให้เกิดการคิดต่อจนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจจนหลายชุมชนสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขบนความพอเพียง ดังนั้นคำว่าความพอเพียงจึงเป็นหนึ่งในคำสำคัญที่ชุมชนต้องเข้าใจและสอดรับกับหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ที่จะใช้เป็นฐานคิดในการดำรงชีวิต การบริหารจัดการ และการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นทางสายกลางที่สอดรับกับ 3 เรื่องคือ  ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
      ปัจจุบันสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ให้การสนับสนุนบุคลากรในสถาบันการศึกษาได้เข้าไปบูรณาการองค์ความรู้ที่มีอยู่ระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน ทำให้ชุมชนและสถาบันการศึกษาเกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ ทั้งชุมชนเกิดความเข้าใจในกระบวนการทำงานอย่างมีขั้นตอน ส่วนอาจารย์ในสถาบันการศึกษาก็จะได้เข้าใจองค์ความรู้และธรรมชาติของชุมชน ได้นำสิ่งที่ได้ไปปรับการเรียนการสอนแล้วเกิดการแลกเปลี่ยนในสถาบันการศึกษา ทำให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการของชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learning Exchange) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่คือวัตถุประสงค์หนึ่งของการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research: CBR) ที่เปิดให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยได้ลงไปทำงานในชุมชนที่ตนเองรักและต้องการพัฒนาโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและองค์ความรู้ในสาขาวิชาของตน
      เมื่ออาจารย์จากมหาวิทยาลัยเริ่มเข้าใจในชุมชนผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น แล้วนำประสบการณ์ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนอาจารย์ และนักศึกษาในชั้นเรียน ประกอบกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเปิดให้ทุนสนับสนุนนักศึกษา (Community-Based Projects for Undergraduate Student : CBPUS) ได้ทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับวิชาโครงงานที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา ทำให้มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเข้าไปเรียนรู้ชุมชนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนโดยใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือ ผ่านการหนุนเสริมอย่างจริงจังของอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นนวัตกรรมในการเรียนการสอน การวิจัย และการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกัน สิ่งที่นักศึกษาได้รับคือการเรียนรู้ชุมชนผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการวิจัยร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริงเป็นระยะเวลาหนึ่งร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา และศูนย์ประสานงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
      ผลของงานวิจัยเกิดผลในหลายมิติทั้งการเรียนรู้ชุมชนโดยนักศึกษา ประสบการณ์ในการพัฒนาการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา มิติใหม่ของการวิจัยที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และการพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการวิจัยผ่านบทบาทของสถาบันการศึกษา ทั้งหมดคือการเชื่อมโยงของการพัฒนาชุมชนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของปราชญ์ชาวบ้าน การพัฒนานักศึกษาซึ่งเป็นเยาวชนได้เข้าเรียนรู้ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนาการเรียนการสอนมิติใหม่ในสถาบันการศึกษา และการพัฒนากระบวนการพัฒนาชุมชนฐานรากเชิงบูรณาการอย่างแท้จริง
โดย อาจารย์ที่ชักชวนนักศึกษาเข้าทำงานวิจัยในบ้านไหล่หิน
+ บทความจาก http://www.thaiall.com/research