AAR หลังประชุมกับ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ลำปาง

AAR หลังประชุมกับ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ลำปาง

AAR หลังประชุมกับ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ลำปาง
AAR หลังประชุมกับ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ลำปาง

17 ม.ค.57 ได้ประชุมร่วมกับเพื่อนในสถาบันต่าง ๆ
ที่มีประสบการณ์ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ณ ห้องประชุมอาคาร ดร.เทียม โชควัฒนา 9.00 – 14.30น.
เพื่อจัดประชุม 6 ปีวิชาการเพื่อท้องถิ่น นำทีมโดยคุณภัทรา มาน้อย
มีประเด็นพอที่จะประมวล ในส่วนของหน้าที่ที่ต้องไปทำต่อ ดังนี้
1. ประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักวิชาการในมหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุม
2. ทาบทามท่านอธิการกล่าวต้อนรับ และร่วมเสวนาเชิงนโยบาย
3. ประสานหานักศึกษา 6 คน ทำงานลงทะเบียน ช่วยงานหน้าเวที (สวย)
4. ประสาน อ.อัศนีย์ ณ น่าน ทำหน้าที่พิธีกรในงาน
5. ปรับแก้ poster และ อ.เชพ แก้ไวนิล ตามมติที่ประชุม
6. ประสานการบันทึกคลิ๊ปวีดีโอ เพื่อประชาสัมพันธ์
7. ประสานคณะต่าง ๆ นำเสนอผลงานที่เกี่ยวกับท้องถิ่น
– สาขาการจัดการ : ซางข้าวโพด
– สาขาวิชาภาษาอังกฤษ : อบรมภาษา
– สาขาวิชาสาธารณสุข : ทำงานในชุมชน
8. ประสานฝ่ายประชาสัมพันธ์จัดบูทนำเสนอหลักสูตร
9. ประสานคุณแอน จัดบูทจำหน่ายหนังสือ
10. ประสานผู้รับผิดชอบอาคาร เตรียมความพร้อมใช้สถานที่
11. สรุปกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจะทำภายในงาน ส่ง สกว.
12. รอประสานทำคลิ๊ป กับทีมของศูนย์ฯ
เรื่องบริการวิชาการรูปแบบใหม่ ว่าใหม่อย่างไร

กลุ่มเป้าหมาย คือ นักวิชาการ ผู้เกี่ยวข้อง และตัวแทนชุมชนที่สนใจ
ในการพัฒนาท้องถิ่นโดยใช้การวิจัย จากบทเรียน 6 ปี
ของการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในบทบาทของ ศูนย์ฯ ลำปาง
งานมีขึ้นในวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557

AAR = After Action Review

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.724680400879427.1073741872.506818005999002

เคลียร์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เว็บโปรซอฟท์

เว็บโปรซอฟท์ (webprosoft.net)
เว็บโปรซอฟท์ (webprosoft.net)

5 ก.พ.53 หกโมงเย็นถึงสามทุ่มไปคุยเรื่องการเขียนรายงานวิจัย และการนำเสนอโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่กรกับปรางรับทุน CBPUS และอยู่ในช่วงสุดท้ายของโครงการ มีกำหนดพบผู้ประสานงานวันที่ 16 ก.พ. และ 21 ก.พ.53 เพื่อส่งรายงานแล้วประชุมเตรียมพร้อมที่ศูนย์ฯ และนำเสนอที่ ณ ห้องประชุมอาคารอาลัมพาง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งนักศึกษาได้ประสานกับ อ.เกศริน อินเพลา และ อ.วิเชพ ใจบุญ ที่เป็นอาจารย์ผู้สอบโครงการไปร่วมกิจกรรมในเวทีนำเสนอผลการวิจัยแล้ว โดยประเด็นที่พูดคุยกันที่ร้านเว็บโปรซอฟท์กับนักศึกษา คือ การเขียนสรุปผล การเขียนบทคัดย่อ ปัญหาและข้อเสนอแนะ การเชื่อมโยงกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง แล้วเตรียมนำเสนอด้วย social map, mind map, การเผยแพร่วีดีโอ และการนำเสนอด้วยเว็บไซต์ เพื่อให้เห็นกระบวนการ กิจกรรม บทเรียน และผลการวิจัย
     สถานที่เคลียร์งานวิจัย คือบ้านกร ซึ่งเปิดเป็นร้านรับพัฒนาโปรแกรม มีชื่อร้านว่า เว็บโปรซอฟท์ (webprosoft.net และ goto69.com) ช่วงนี้ยังไม่เปิดเป็นทางการ เป็นร้านที่ดำเนินการกัน 2 คน แต่คิดว่าญาติของทั้งคู่คงช่วยเหลืออะไรได้ไม่น้อย เท่าที่ได้แลกเปลี่ยนกันก็พบว่านักศึกษามีพื้นฐานความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาแหล่งจำหน่ายคอมพิวเตอร์ราคาส่ง การเป็น domain reseller หรือการพัฒนาโปรแกรม ที่มีพื้นฐานที่ดีมาก ก็ต้องเป็นกำลังใจให้กับกิจการใหม่ที่จะก้าวหน้าต่อไป

อบรมการเขียนรายงานโครงการ cbpus

 

การอบรมเชิงปฏิบัติการ เขียนรายงานสรุป cbpus
การอบรมเชิงปฏิบัติการ เขียนรายงานสรุป cbpus

10 ม.ค.53 นายกร ศิริพันธุ์ นางสาวอรพรรณ สงเคราะห์ธรรม อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน พร้อมเพื่อนที่รับทุน cbpus ที่เชื่อมผ่านโหนด (node) ลำปาง ซึ่งดูแลโดย อ.ฉิ่ง ของราชภัฏเชียงใหม่ โดยมีนางสาวภัทรา มาน้อย เป็นผู้ประสานงานของโหนด ทำหน้าที่ดูแลผู้รับทุนจากกลุ่มต่าง ๆ อาทิ กลุ่มราชภัฏ กลุ่มราชมงคล กลุ่มมจร. กลุ่มโยนก วัตถุประสงค์การอบรมครั้งนี้ เพื่อให้การปิดโครงการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นไปตามกำหนดการ จึงต้องทำความเข้าใจ ติดตาม ซักซ้อม ลงมือเขียนรายงานให้ไปในทางเดียวกัน และส่งเอกสารทางการเงิน โดยนัดหมายนำเสนอสรุปโครงการแต่ละโครงการในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ราชภัฏลำปาง 
    นางสาวรัตติกร บุญมี ผู้บรรยายได้ให้แนวการเขียนรายงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นแก่นักวิจัยชุดนี้ โดยให้แนวการเขียนรายงานการวิจัยแบ่งเป็น 5 บท คือ 1) บทนำ 2) แนวคิดทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 3) วิธีการดำเนินงาน 4) ผลการดำเนินงานวิจัย 5) สรุปอภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ภาคผนวกมี 3 ส่วนคือ 1) บทความเผยแพร่ 2) ภาพกิจกรรม 3) ประวัตินักวิจัย .. แนวการทำงานของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น กับวิจัยเชิงวิชาการอาจแตกต่างกันบ้าง แต่ถ้าปรับให้การเขียนรายงานเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ คนที่มีเป้าหมายเพื่องานวิชาการก็จะนำไปใช้ในด้านวิชาการได้
+ http://thaiall.com/research/hidden/training_cbpus_report_530110.zip

เตรียม ทบทวน นำเสนอ ติดตามผลการปรับปรุงกับน.ศ.วิจัยท้องถิ่น

4 วันของนักศึกษาโยนกที่รับทุน cbpus
4 วันของนักศึกษาโยนกที่รับทุน cbpus

มี 4 กิจกรรมที่น.ศ. cbpus ทำในช่วงนี้ เพราะนอกจากจะต้องทำงานกับ สกว. แล้ว ยังต้องเตรียมความพร้อมนำเสนองานวิจัยท้องถิ่นกับ อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.เกศริน อินเพลา ในอีก 3 เดือนข้างหน้าไปพร้อมกัน แต่งานสำคัญเร่งด่วนคือรายงานความก้าวหน้ารอบ 3  เดือนที่ผ่านมา ณ มจร.บุญวาทย์ ลำปาง
     22 พ.ย.52 เตรียมเอกสารที่จะนำเสนอในเวทีสกว.ลำปาง กรกับปราง นำฟอร์มที่ต้องส่ง และกิจกรรมทั้งหมดที่เคยทำ มาทบทวน ซึ่งวันนี้ผมสะดวกในทุ่งนา เพราะอยู่ในช่วงเกี่ยวข้าว มีประเด็นพูดคุยคือ 1)ผลการประชุมกับชุมชน และการทำงานที่ผ่านมา 2)จำนวนฟอร์ม การให้รายละเอียดในแต่ละฟอร์มที่สกว. กำหนดมา 3)ขอบเขตข้อมูลที่จะนำเสนอในแต่ละฟอร์ม 4)ทบทวนกิจกรรมวิจัยตามแผน 5)กำหนดตารางเข้าเก็บงานในพื้นที่ไปพร้อมกับทำเอกสารเสนอสกว.
     26 พ.ย.52 ทบทวนเพื่อเตรียมรายงานความก้าวหน้าด้วย powerpoint มีประเด็นพูดคุยคือ 1)ประเด็นปัญหาจากการจัดทำเอกสารอย่างรีบเร่งและต้องส่งให้ผู้วิพากษ์โดยเร็ว จึงไม่ได้ทบทวนอีกครั้งในทีมวิจัยของเรา 2)ทบทวนกิจกรรมทีละประเด็น เพื่อทำความเข้าใจสำหรับนำเสนอในเวทีมจร. 3)กำหนดกรอบ powerpoint ที่จะนำเสนอ ทีละ slide ในแต่ละกลุ่มประเด็น
     28 พ.ย.52 นำเสนอต่อผู้วิพากษ์ ในครั้งนี้มี อ.มหาวิทยาลัยโยนกร่วมเป็นผู้วิพากษ์ 2 คนคือ อ.กฤตภาส เสมอพิทักษ์ และอ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์  ผลการวิพากษ์ผ่านไปด้วยความราบรื่น เพราะเตรียมรายละเอียดของกิจกรรมชัดเจนที่จะทำให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือ 1)เอกสารควรมีรายละเอียดตรงกับกิจกรรมที่ทำจริงมากกว่านี้ การเข้าพบชุมชนมากกว่า 10 ครั้งไม่พบการอธิบายรายละเอียดกิจกรรมย่อยในกิจกรรมหลัก ถ้ามีรายละเอียดก็จะทำให้เข้าใจการทำงาน และสัมพันธ์กับภาพกิจกรรมที่นำเสนอ 2)ข้อความในเอกสารขาดการตรวจสอบอยู่มาก ต้องปรับปรุงเป็นรุ่นต่อ ๆ ไปให้สมบูรณ์ 3)ขาดการอธิบายกระบวนการที่ได้มาซึ่ง 3.1)ทำไมต้องใช้ซีดีสองแผ่น 3.2)story board 3.3)script 3.4)บทวิเคราะห์ script 4)งานที่ทำมี 2 มาตรฐานคือ 4.1)นำเสนอต่อสกว. ตามกิจกรรทั้ง 8 ที่วางแผนไว้ 4.2)แต่ทั้ง 8 กิจกรรมไม่มีส่วนที่ต้องเตรียมนำเสนอต่อกรรมการ ได้แก่ อ.วิเชพ ใจบุญ และอ.เกศริน อินเพลา ที่ต้องแสดงขอบเขต นโยบาย โครงสร้างข้อมูล และตัวอย่างจอภาพ เป็นอย่างน้อย (วันนี้อยู่เป็นผู้วิพากษ์ได้ครึ่งวันเพราะไปร่วมงานรับปริญญาน้องสาวที่เชียงใหม่กับครอบครัว)
     5 ธ.ค.52 ติดตามผลการปรับปรุงและตารางกิจกรรมในหมู่บ้าน 1)จดโดเมนเนมโครงการคือ ldy69.com ซึ่งใช้เงินส่วนตัวของนักศึกษา เพื่อเตรียมนำเสนอต่อกรรมการผู้สอบในมหาวิทยาลัย 2)ถ่ายวีดีโอนักวิจัยเพิ่มเติมที่บ้านอาจารย์นักวิจัย ซึ่งมีปัญหาเรื่องเสียงรบกวน และการจำบท 3)วิพากษ์วีดีโอชุดจริงทั้งหมดที่เก็บมา เพื่อวางแผนเข้าเก็บวีดีโอที่ต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนวิธีการ 4)ทบทวนกิจกรรม และนัดหมายตามงานครั้งต่อไปวันที่ 12 ธ.ค.52
+ http://www.thaiall.com/research/cbpus52/student_report_3m.zip (14 MB รวม doc+ppt)

เวทีวิจัยจากทุน CBPUS เกี่ยวกับสื่อขยายองค์ความรู้งานศพ

งานวิจัย cbpus นักศึกษา ม.โยนก ในเวทีบ้านไหล่หิน
งานวิจัย cbpus นักศึกษา ม.โยนก ในเวทีบ้านไหล่หิน

คืนวันศุกร์ที่ 20 พ.ย.52 นักศึกษามหาวิทยาลัยโยนก ได้แก่ นายกร ศิริพันธุ์ และ น.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม และ ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ ตามทุนวิจัยโครงการ “แนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ได้จัดเวทีวิจัย ณ ศาลาหมู่ 2 บ้านไหล่หิน มีตัวแทนชาวบ้านที่จะเป็นผู้แสดงและเคยเป็นนักวิจัยในโครงการ “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” จากทุน CBR มาพิจารณาวิเคราะห์ความสอดคล้องของโครงวีดีโอ และสคริปต์ร่วมกัน ก่อนดำเนินการถ่ายทำและตัดต่ออย่างเป็นระบบ ที่เป็นกิจกรรมที่ 5 ของโครงการจากทั้งหมด 8 กิจกรรมหลัก และเตรียมสำหรับการนำเสนอความก้าวหน้าต่อผู้ให้ทุน ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552 ณ สกว.ศูนย์ลำปาง
      วาระในเวทีประกอบด้วย 1)ทบทวนวัตถุประสงค์ และกิจกรรมโครงการ 2)นำเสนอการดำเนินการที่ผ่านมาของนักศึกษากับชุมชน 3)นำเสนอโครงวีดีโอ 2 เรื่องคือ “ประเด็นปัญหา การแก้ไข และผลที่ได้” และ “กระบวนการวิจัย” 4)พิจารณาปรับปรุงโครงวีดีโอ บทวิเคราะห์โครง สคริปต์บทพูด 5)นัดหมายเพื่อถ่ายทำวีดีโอแต่ละท่านตามแผนในสคริปต์บทพูด
     กว่าจะถึงวันนี้ นักศึกษาทำงานไปแล้วตามขั้นตอน ดังนี้ 1)เข้าไปศึกษาชุมชน เดินสำรวจหมู่บ้าน สำรวจแหล่งทุนชุมชน นอนวัด นอนบ้าน เข้าพบ ผู้นำชุมชน และพระสงฆ์ 2)ศึกษาวรรณกรรมจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่นประวัติชุมชน กระบวนการวิจัย และการจัดงานศพ 3)เข้าเรียนรู้งานศพในบ้านไหล่หิน 2 งาน 4)เข้าสัมภาษณ์และบันทึกวีดีโอการนำเสนอองค์ความรู้จากนักวิจัยโครงการ CBR 5)ฝึกตัดต่อวีดีโอต้นแบบที่บันทึกมาแล้ว 6)ยกร่างโครงวีดีโอทั้ง 2 เรื่อง คือ “ประเด็นปัญหา การแก้ไข และผลที่ได้” และ “กระบวนการวิจัย” 7)ยกร่างสคริปต์บทพูด 8)จัดทำบทวิเคราะห์ และปรับแก้ทั้งความสัมพันธ์ของบท จัดวางพระเอกนางเอกให้เหมาะ กับบทพูด จัดลำดับ แก้ไขประเด็นคำพูด 9)นำสคริปต์บทพูดเข้าเวทีพิจารณาอีกครั้ง 10)เรียบเรียงทั้งหมดเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.webprodee.com/research
+ ตากล้องวันนี้คือ นายสุทัศน์ หรือบอย เพื่อนของกรกับปรางที่รับอาสาบันทึกภาพ

กำหนดโครงเรื่อง VDO กันใหม่

home01

23 ต.ค.52 กรกับมะปราง พบอ.ที่ปรึกษา ช่วงบ่ายวันหยุดรวม 4 ชั่วโมง มีกิจกรรมดังนี้ 1)ศึกษา vdo ในพื้นที่วิจัยและภาพที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ในการทำงาน 2)ศึกษา vdo ในพื้นที่อื่น เป็นการทบทวนวรรณกรรมทั้งกระบวนการ และเทคนิก 3)พิจารณา script ที่แต่ละคนเตรียมมา แต่พบว่าขาดโครงเรื่องที่ชัดเจน 4)ยกร่างโครงเรื่อง และมอบหมายงานไปเขียน script กันต่อ นัดหมายต่อไป เป็นเย็น 29 ต.ค.52
     ทุนที่นักศึกษามีก่อนเขียน script ตามโครงเรื่อง 2 เรื่อง 1) ประเด็นปัญหา การแก้ไข และผลที่ได้ 2)กระบวนการวิจัย ต่อไป คือ 1)เข้าใจในชุมชนผ่านการสัมภาษณ์และเข้าไปใช้ชีวิต 2)เข้าใจกระบวนการจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนและเข้าเวทีวิจัย 3)มีประสบการณ์จากการอ่านรายงาน ศึกษาจากภาพถ่าย และวีดีโอทั้งในและนอกโครงการ 4)ลองผิดลองถูก ฝึกฝนในการยกร่าง script และตัดต่อวีดีโอมาแล้วระดับหนึ่ง 5)บันทึกกิจกรรม เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในรายงานเสนอ CBPUS เมื่อต้องปิดโครงการ
+ http://www.thaiall.com/research/vdo_structure.doc
+ http://www.webprodee.com ของ นายกร

น.ศ.CBPUS เข้าเรียนรู้ชุมชนครั้งที่ 3 และเวที สกว.

ห้องบัวตอง ราชภัฎลำปาง
ห้องบัวตอง ราชภัฎลำปาง

15 ต.ค.52 กร กับ มะปราง ร่วมเวทีสรุปบทเรียนปี 2552 สกว.ลำปาง ร่วมกับ อ.วิเชพ อ.กฤตภาศ อ.อ้อม อ.เอ อ.เก๋ และอ.แต วันที่ 15 ต.ค.52 ณ ห้องบัวตอง ราชภัฎลำปาง จัดโดย นางสาวภัทรา มาน้อย โดยมี ผศ.เล็ก แสงมีอานุภาพ ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน “ฮู้แฮง แป๋งฮ่อม ต้อมกำกึ๊ด” เพื่อเปิดเวทีแบ่งปันประสบการณ์ที่นักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ มานำเสนอในประเด็นที่สัมพันธ์กับการศึกษา และมีนักวิชาการมาให้คำแนะนำ เป็นแนวทางพัฒนาต่อไป จนเลยเวลาไปนิดหน่อย
     ก่อนเข้าเวทีนี้ นักศึกษาทั้ง 2 คนข้างต้น และนายสุทัศน์ ได้ลงพื้นที่ครั้งที่ 3 วันที่ 11-12 ต.ค.52 เพื่อเก็บข้อมูลวีดีโอเพิ่ม นำเสนอวีดีโอต้นแบบ และโฮมเพจของโครงการ ต่ออ.บุรินทร์ ซึ่งมีกิจกรรม และประเด็นในการแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาที่สำคัญ คือ 1)การทบทวนโครงเรื่องของ VDO 2 เรื่อง 2)การยกร่าง Script สำหรับจัดทำวีดีโอรวม 3 ชั่วโมง 3)ตกเย็นวิพากษ์วีดีโอ และ 4)โฮมเพจต้นแบบ 5)วันที่สองเข้าสัมภาษณ์นักวิจัยในพื้นที่อีกครั้งก่อนกลับลำปาง

เปิดโครงการวิจัยนักศึกษาที่บ้านไหล่หินในพื้นที่ครั้งแรก

เวทีสรุปโครงการ cbr และเปิด cbpus
เวทีสรุปโครงการ cbr และเปิด cbpus

2 – 4 ต.ค.52 นายกร กับน.ส.มะปราง พร้อมเพื่อนคือนายอั๋น และนายบอย เข้าเปิดตัวโครงการวิจัยที่รับทุน CBPUS เวลา 20.00น – 23.00น. ของศุกร์ที่ 2 ในเวทีนี้ที่มีโครงการวิจัยเชื่อมโยงกัน 3 โครงการ ซึ่งคืนแรกนอนกันที่วัดโดยพระครูดูแลพาสวดมนต์ค่ำ คืนนั้นก็พอถูไถไปได้อยู่ แต่คืนที่สอง ต้องไปนอนบ้านอ.เก๋ แล้วกรบอกว่ากลัวผีเข้าวัดได้ เนื่องจากดูภาพยนต์เรื่องทางห้าแพร่งมาก่อน อ.เก๋ ถึงกับอ้าปากค้าง (เล่าขวัญลูกศิษย์) ตะลึงว่าสมัยนี้ยังมีภาพยนต์หลอกเด็กจนเด็กเชื่อแบบนี้อยู่อีกหรือ ก็เป็นการเข้าพื้นที่ครั้งแรก ต้องใช้น้ำเย็นเข้าลูบกันก่อน ครั้งต่อไปก่อนปิดโครงการจะเกลี้ยกล่อมให้นอนวัดให้ได้ ไม่งั้นเสียชาติเกิดเป็นคนไอทีหมด วันรุ่งขึ้นและวันถัดไปเข้าสัมภาษณ์และบันทึกวีดีโอจากนักวิจัยชุมชนกว่า 10 ท่าน ได้พบผู้นำ นักเรียน และครูใหญ่ มีเรื่องเล่ากันมากมาย แต่ที่แน่ ๆ คือนอนตื่น 10 โมงเช้า เพราะอ.เก๋ ชวนเคลียร์ประเด็นเกือบตีสามทั้ง 2 คืน และคุยกันอีกยาวหลายต่อหลายรอบ
     ประเด็นการประชุมมี 3 โครงการ คือ สรุปปิดโครงการของผม มี 11 วาระดังนี้ 1)นำเสนอบทสรุปของโครงการด้วยกิจกรรมชวนทุกคนร่วมทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และการขยายผลทั้งองค์ความรู้ผ่านสื่อวีดีทัศน์ในรูปของโครงการวิจัยต่อยอด และความร่วมมือกับกลุ่มในชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาชุมชน โดยกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นคือการชวนทีมวิจัยเล่าเรื่องซึ่งมีประเด็นหลักดังนี้ 1)การเริ่มต้นของโครงการ 2)การได้มาของประเด็นปัญหา 3)นำเสนอปัญหาในฐานะแม่บ้าน 4)การรวมตัวของทีมต่างบทบาท 5)อุปสรรคในระยะแรก 6)การเข้ามาของเครื่องมือช่วยคลายปมปัญหา 7)ส่วนร่วมของนักเรียน 8)ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่สัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียน 9)พลังของทีมวิจัยร่วม 10)ผลของการศึกษาดูงาน 11)ความประทับใจของนักวิจัย 2)นายกร ศิริพันธุ์ และน.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม ในนามนักศึกษาทุนวิจัย CBPUS  นำเสนอโครงการวิจัยแนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” เพื่อต่อยอดขยายผลโครงการนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประเด็นข้อตกลงในการจัดการงานศพในบ้านไหล่หิน 2)เพื่อจัดทำสื่อวีดีโอเผยแพร่ประเด็นข้อตกลง และกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นตามโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน 3)พระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์  อิสฺสรธมฺโม ในนามประธานชมรมธรรมะสว่างใจ นำเสนอ “โครงการขยายแนวร่วม ร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืน บ้านไหล่หิน จ.ลำปาง” ที่ต้องอาศัยการรวมกลุ่มของทีมวิจัยที่เข้มแข็งมาเป็นกลไกขับเคลื่อนอีกแรกหนึ่ง แล้วอธิบายวัตถุประสงค์โครงการ ดังนี้ 1)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินมีคุณธรรมสามารถ ลด ละ เลิกสิ่งเสพติด และอบายมุข 2)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินได้พัฒนาไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” 3)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินมีครอบครัวอบอุ่น มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม
     ก่อนกลับนักศึกษาได้ไปลาพระครู ท่านก็ให้พร และชวนไปทำวีดีโอโครงการของท่าน ซึ่งจะมีเครือข่ายสานสัมพันธ์กับผู้นำทั้งในและนอกพื้นที่ สื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะเหล่าศิษย์ที่ท่านจะชวนไปรู้จักและไปเป็นเครือข่าย .. ผมยังนึกในใจว่าอยากกลับเป็นเด็กอีกครั้งจะได้มีโอกาสวิ่งเข้ามาชนแบบนี้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องลุ่นว่าศิษย์ของผมเห็นโอกาสเหล่านั้นอยู่ในทางเลือกของพวกเขาหรือไม่ ดังคำว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง .. คืนวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2552 ลูกศิษย์หลายคนจะไปเดินจงกลมรอบเจดีย์วัดไหล่หินลุ่ม และปีนดอยฮางศึกษาธรรมชาติ ศิษย์โยนกท่านใดสนใจติดต่อผมได้ แต่มีเงื่อนไขไม่รับคนกลัวผี