หนทางการเป็นมหาวิทยาลัยไซเบอร์

nelearning200913 ก.ย.52 งานสัมมนาวิชาการ National e-Learning Day 2009 : A Roadmap to Success in Becoming (World Class) Cyber Universities “หนทางสู่ความสำเร็จของการเป็นมหาวิทยาลัยไซเบอร์” วันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2552 จัดโดย สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ITSC) โดยมี Prof.Dr.Zoraini Wati Abas, Director, Institute of Quality, Research and Innovation (IQRI), Open University Malaysia, Kuala Lumpur, Malaysia. เป็น Key Note บรรยายผ่านโปรแกรม Skype ชั่วโมงครึ่ง
     กิจกรรมสำคัญ คือ การเสวนาวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศถึง 5 ท่าน ได้แก่ 1)ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการและประธานผู้บริหาร วิทยาลัยการศึกษาทางไกล อินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 2)ผศ.สุพรรณี สมบุณธรรม ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 3)รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่าย RSU Cyber University มหาวิทยาลัยรังสิต 4)ผศ.ดร.อนุชัย ธีระเรืองไชยศรี อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 5)ผศ.ดร.ฐาปนีย์ ธรรมเมธา อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี 6)รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา 
     จากงานประชุมวิชาการหนทางสู่ความสำเร็จของการเป็นมหาวิทยาลัยไซเบอร์” ณ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2552 มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนาหลายท่าน อาทิ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล จากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำเสนอประสบการณ์การเปิดหลักสูตรออนไลน์ที่เห็นพ้องต้องกันกับ ผศ.สุพรรณี สมบุญธรรม ผอ.โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (thaicyberu.go.th) ว่า การเปิดหลักสูตรออนไลน์ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ และแนวโน้มของหลักสูตรที่มีค่าลงทะเบียนต่ำมักมีอัตราการพ้นสภาพของนักศึกษาสูง แล้วหลักสูตรประเภท “เรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่” มักไม่ยั่งยืน
     การบรรยายผ่านโปรแกรม Skype โดย Prof.Dr.Zoraini Wati Abas จากมหาวิทยาลัยเปิดมาเลเซีย (OUM = Open University Malaysia) ท่านนำเสนอเครื่องมือสนับสนุนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า การเรียนรู้ผสม (Blended Learning) ซึ่งรวมการเรียนแบบพบปะหรือเข้ากลุ่ม (Face-to-Face) การเรียนผ่านสื่อออนไลน์ (Online Learning) และการเรียนแบบจัดการด้วยตนเอง (Self-Manage Learning) ซึ่งเครื่องมือที่ใช้เสริมการเรียนมีทั้งการส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เรียน การจัดทำบทเรียนที่เปิดเรียนได้จากโทรศัพท์เคลื่อนที่ การใช้สื่อผสม และสถานีวิทยุออนไลน์ โครงการของท่านเริ่มต้นเดือนมกราคม 2552 พบว่าอัตราการพ้นสภาพสูงถึง 25% ต่อภาคเรียน จากการคาดการณ์พบว่าจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาของหลักสูตรน่าจะประมาณ 20% เท่านั้น ส่วนในประเทศไทยมีหลายหลักสูตรที่เปิดสอนหลังจาก กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2548 อนุญาตให้สถาบันการศึกษาในไทยสามารถเปิดสอนแบบอีเลิร์นนิ่งได้ ซึ่งวิทยากรทุกท่านกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณภาพเทียบเท่าหรืออาจสูงกว่าการเรียนการสอนตามหลักสูตรปกติ
     มีการคาดการณ์ว่าในอนาคต มูลค่าของการเรียนการสอนออนไลน์จะเทียบเท่ากับภาคปกติ และจะมีมูลค่านำธุรกิจประเภทอื่นทั้งอีคอมเมิร์ส และอีเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ มีสิ่งสนับสนุนไปในทางเช่นนั้นทั้งจากการมีเครื่องมือสนับสนุนในอินเทอร์เน็ตมากมายอาทิ เครือข่ายสังคม ชีวิตที่สอง (เช่น SecondLife.com) ระบบรับส่งข้อความ และการยอมรับผู้สำเร็จการศึกษาผ่านระบบอีเลินนิ่งที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
แหล่งอ้างอิง
+ http://itsc.cmu.ac.th
+ http://www.itsc.cmu.ac.th/itsc2008/nelearningday/index.php
+ http://www.charm.au.edu/SCPaper/SCPaper.htm

โครงการค่ายเรียนรู้คุณธรรมนำชีวิตพอเพียง 2552

นิเทศ นักศึกษา
นิเทศ นักศึกษา

7 ก.ย.52 วันนี้ 18.00 -20.00 น. ณ ห้อง 1203 และวันเสาร์ที่หมู่บ้าน ตัวแทนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วม โครงการค่ายเรียนรู้คุณธรรมนำชีวิตพอเพียง ปี 2552 โดยบูรณาการร่วมกับ โครงการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขตามแนวทางของมหาวิทยาลัยโยนก (จากมติของคณะกรรมการโครงการฯ มีผลให้ตัดสินใจเลือกหมู่บ้านท่ากลาง-ท่าใต้ ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นพื้นที่เป้าหมาย ตามรายงานการประชุมการลงพื้นที่หมู่บ้านโครงการพัฒนาหมู่บ้านฯ ครั้งที่ 3/2552)
     ตามที่ได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์นิเทศกรอบการเรียนรู้ที่ 1 คือ วัฒนธรรมหรือแบบแผนการใช้ชีวิต จากทั้งหมด 7 กรอบได้แก่ 1)วัฒนธรรมหรือแบบแผนการใช้ชีวิต 2)เศรษฐกิจชุมชนอย่างพึ่งตนเอง 3)การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของชุมชน 4)วิถีประชาธิปไตยในชุมชน 5)การสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน 6)การสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชน 7)ปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน ก็ด้วยการแนะนำ ควบคุมดูแลกิจกรรมอย่างเป็นระบบ โดย อ.ธวัชชัย แสนชมพู และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน ทำให้ผมมีโอกาสทำงานนี้ และลงพื้นที่ในวันและเวลาดังกล่าว
     การให้คำแนะนำนักศึกษา มีโอกาสใช้หลักการจากเวทีฯ ที่ อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ จัดเวทีให้มีการวิพากษ์รายงานการประเมินตนเองระดับมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 1-2 ก.ย.52 โดยมีผู้นำวิพากษ์คือ ผศ.ดร.จินดา งามสุทธิ ซึ่งท่านแสดงทัศนะด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานานบนความเข้าใจ ใช้หลักการวิพากษ์ที่ตั้งบนความสมเหตุสมผล ตามหลักฐาน ถูกต้องตามหลักวิชา และชี้แจงให้เห็นประเด็นได้อย่างกระจ่างชัดยิ่ง ผมจึงนำหลักการวิพากษ์ไปใช้กับนักศึกษาโครงการดังกล่าว .. เป็นครั้งแรกของผม

อุปสรรคของการพัฒนาคณาจารย์สถาบันอุดมศึกษาเอกชน

3 ก.ย.52 นางขนิษฐา ทรงจักรแก้ว ส่งแบบสอบถามชุดที่ 1 เรื่อง แนวความคิดต่อสาเหตุที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนา คณาจารย์สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ท่านเป็นนิสิตดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอุดมศึกษา ภาควิชา นโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแบบสอบถามชุดนี้ถามถึง แนวคิด ทัศนะ หรือมโนทัศน์เกี่ยวกับ สาเหตุที่เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาคณาจารย์ ที่เกิดจากตัวอาจารย์ และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ผมก็ให้ทัศนะตามคำถามนำเรื่องอุปสรรค์ต่อการพัฒนาคณาจารย์ ไปว่า  1)ค่านิยมที่ไม่มีความทะเยอทะยานของมนุษย์ในการไม่วางแผน บั้นปลายของชีวิตให้ชัดเจน ยังกิน ยังดื่ม ยังเสพ อย่างไม่สมเหตุ สมผล 2)ค่านิยมที่ต้องการสิ่งจูงใจสูงมากกว่าการกระทำ ด้วยพื้นฐานของ กิเลสที่เรียกว่าความโลภ และความไม่รู้จักพอประมาณ ทำให้มนุษย์ มองประโยชน์ส่วนตนมาก่อนประโยชน์ส่วนรวม 3)ค่านิยมขาดอุดมการณ์ในสายอาชีพ หรือขาดศรัทธาในการทำดีตามสายอาชีพอย่างมุ่งมั่น 4)สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องหาเลี้ยงตนเอง ไม่มีเงินอุดหนุนรายหัว จึงต้องใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ตามแผน และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน 5)สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลตามบริบทของการเป็นเอกชน
     เอกสารแนบของท่านให้คำนิยามศัพท์มา 6 คำ คือ 1)การพัฒนาคณาจารย์ หมายถึง การดำเนินการหรือการสนับสนุน ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในด้านการกำหนดเป้าหมาย แผนงาน นโยบาย ระบบและกลไกการบริหารจัดการ การบริหารทรัพยากร บุคคล การพัฒนาสภาพแวดล้อมอุดมศึกษา หรือกิจกรรมใด ๆ ทั้งที่ เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่จะเอื้ออำนวยหรือสร้างเสริมให้ คณาจารย์มีการเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิด ค่านิยม พฤติกรรม ใน การพัฒนาศักยภาพตนเอง การพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาผลผลิตบัณฑิต การพัฒนาผลผลิตงานวิจัย และการพัฒนาผลผลิตงานวิชาการ ให้ไปสู่ความมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศในระบบการประกันคุณภาพทางการศึกษา 2)การพัฒนาศักยภาพตนเองของคณาจารย์ หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบัน ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์มีความประสงค์ และมุ่งหน้าดำเนินการศึกษาต่อในระดับคุณวุฒิที่สูงขึ้น รวมทั้งการสร้างผลงานทางวิชาการที่สามารถทำให้คณาจารย์ได้รับตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นเป็นลำดับ 3)การพัฒนาการเรียนการสอน หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจของผู้เรียน โดยใช้เทคนิคการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และอุปกรณ์การสอนหลากหลายมีการประเมินผลการเรียนการสอนตามสภาพจริง และใช้ผลการประเมินในการพัฒนาผู้เรียน 4)การพัฒนาผลผลิตบัณฑิต หมายถึง ผลการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันฯ ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถในการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น มีทักษะและภูมิปัญญาในงานอาชีพ มีจิตสำนึก และภูมิธรรมในฐานะพลเมืองดีของสังคมไทย และสังคมโลก 5)การพัฒนาผลงานวิจัย หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันฯ ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถในการผลิตงาน วิจัย และงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสูง ได้รับทุนวิจัย สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ หรือนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ 6)การพัฒนาผลงานบริการวิชาการ หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันฯ ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถในการผลิตงานบริการวิชาการและวิชาชีพที่เป็นประโยชน์เป็นที่พึ่งและเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการและวิชาชีพ เสริมสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งของสังคม ชุมชน ประเทศชาติ และนานาชาติ
+ เป็นเรื่องดี ๆ ที่ผ่านมาในชีวิต จึงบันทึกไว้ครับ

การแข่งขันสารานุกรมไทย

แข่งขัน สารานุกรมไทย จัดโดย ไลออนฯ
แข่งขัน สารานุกรมไทย จัดโดย ไลออนฯ

31 ส.ค.52 เพื่อนในมหาวิทยาลัย ร่วมจัดสอบ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับ เยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ สโมสรไลออนส์สากล ภาค 310-เอ 1 ประเทศไทย ดำเนินการร่วม กับหลายหน่วยงาน เป็นการจัดให้มีการแข่งขันตอบคำถาม ในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ครั้งที่ 15 กลุ่มภาคเหนือ ลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร มีคำถาม 100 ข้อ ให้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ในวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2552 โดยมีหัวเรือใหญ่ของโครงการ คือ ไลออนเบญจมาศ พาณิชพันธ์ ประธานการแข่งขันสารานุกรมไทยฯ ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร
     เพื่อน ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงานและควบคุมเวลาการแข่ง ขัน ประกอบด้วย อ.ใหญ่ อ.แหม่ม อ.แนน อ.กิ๊ก อ.สันติ อ.บอย อ.โก อ.เอก อ.วราภรณ์(แนน) อ.อ้อม และ อ.วันชาติ
+ kanchanapisek.or.th

ประเมินคุณภาพ กับระบบและกลไก

 
kington business school
kington business school

28 ส.ค.52 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับการประเมินคุณภาพการศึกษา การดำเนินงานในปีการศึกษา 2551 เมื่อวัน 19 และ 20 สิงหาคม 2552 กรรมการประเมินนำโดย รศ.ปราโมทย์ ทิพย์ดวงตา อ.คนึงสุข นันทชมภู และ คุณอังคณา เนตรรัศมี มีข้อเสนอแนะมากมาย โดยเฉพาะเรื่องระบบและกลไก ที่กรรมการให้ข้อเสนอแนะว่าต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องมีแผน ความหมายของ ระบบ คือ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ที่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง  เพื่อให้ได้ผลออกมาตามที่ต้องการ  ส่วนกลไก คือ สิ่งที่ทำให้ระบบมีการขับเคลื่อน หรือดำเนินอยู่ได้ โดยมีการจัดสรรทรัพยากร  มีการจัดองค์กร หน่วยงาน หรือกลุ่มบุคคลให้เป็นผู้ดำเนินงาน  สรุปผลการประเมินในปีนี้ต่างกับปี 2551 ที่เกิดการจัดกการความรู้ในการนำเสนอผลการประเมินอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีท่านอธิการเป็นประธานรับฟังผลการประเมินร่วมกับคณะ และมีหลายคณะวิชาเข้าร่วมรับฟัง  เพื่อให้เกิดบทเรียนในการทำงาน และนำไปสู่การพัฒนาเป็นลำดับต่อไป
     ขอเล่าประสบการณ์ ก่อนรับการประเมิน เรื่องระบบและกลไก ที่ผมมีโอกาสประชุมกับทีมพัฒนาหลักสูตร  เมื่อวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2552 เป็นหลักสูตรร่วมของโยนกกับ Kington Business School, Pattaya  โดยตัวแทนของ KBS คือ ดร.นิมิตร ใคร้วานิช ก่อนการประชุม ผมได้รับมอบหมายให้เขียน ระบบการลงทะเบียนออนไลน์ โดยมีโจทย์ว่า “นักเรียนต้องผ่าน KBS เรียบร้อยแล้ว จึงจะลงทะเบียนออนไลน์ได้” แม้จะขัดกับความรู้สึกและทฤษฏี แต่ผมก็ยกร่างระบบหรือกระบวนการไว้ดังนี้ 1)นักเรียนสมัครเรียนกับ KBS แล้วได้เอกสาร ข้อมูลจนครบ 2)นักเรียนเปิดเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยโยนกแล้วกรอกข้อมูล 3)นักเรียนได้ข้อมูลจากเว็บไซต์ เกี่ยวกับวิชา ตารางเรียน ยอดเงิน วิธีการชำระเงิน และขั้นตอนอีกครั้ง 4)นักเรียนไปชำระเงิน อาจเป็นตู้เอทีเอ็ม หรือโอนเงินผ่านธนาคาร หรือวิธีอื่นใด 5)นำหลักฐานการโอนเงินมาส่งข้อมูลเข้าอินเทอร์เน็ตให้สถาบันรับทราบ 6)สถาบันส่งข้อมูลกลับไปให้นักเรียนทางอีเมล หรือนักเรียนกลับมาตรวจสอบสถานะอีกครั้ง  7)นักเรียนเข้าเรียนตามวิชาที่กำหนดในตารางเรียน
     เมื่อมีการประชุมพิจารณายกร่างระบบดังกล่าว คุณเรณู อินทะวงศ์ ได้ชวนแลกเปลี่ยนว่า ในศูนย์ต่าง ๆ ของเราใช้ระบบ one stop service คือ มีระบบที่จบภายในศูนย์  สะดวก รวดเร็ว ควบคุมได้ ผ่านกลไกของผู้ดูแล และระบบเอกสารที่มีขั้นตอนชัดเจนตรวจสอบได้ ซึ่ง ดร.นิมิตร ก็เห็นด้วย และเลือกแบบ one stop service แทนการเพิ่มไอทีมาเป็นภาระแก่นักศึกษา เมื่อผ่านขั้นตอนการลงทะเบียนและชำระเงินเรียบร้อยก็ส่งเอกสาร และโอนเงินเข้าสถาบัน  เพื่อตรวจสอบตามระบบและกลไกที่มีในสำนักทะเบียน สำนักวิชาการ และสำนักการเงิน ในการดำเนินการ .. ต่อจากนี้ก็คาดว่า จะมีคนยกร่างระบบและกลไกที่เหมาะสมเป็นลายลักษณ์อักษร  แต่หากจะให้ผมช่วยยกร่างให้ก็ยินดี เพียงแต่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องกำหนดให้ผมว่าอะไรเป็นอะไรในรายละเอียดทั้งหมดเท่านั้นเอง

จุดเทียนชัยถวายพระพร

พระราชินี
พระราชินี

12 ส.ค.52 อีกครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรแด่สมเด็จพระราชินีของไทย โดยมีอาจารย์ธวัชชัย แสนชมพูเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยโยนกเป็นผู้วางพานพุ่ม บนเวที ณ สวนสาธารณเขลางค์นคร จังหวัดลำปาง ได้ร้องเพลงเทอดพระเกียรติ 2 เพลงอย่างมีความสุข และจุดพลุมากกว่า 10 ลูก ควันจากการจุดพลุปกคลุมไปทั่วบริเวณ เริ่มพิธีทั่วประเทศพร้อมกัน 19.09น. เสร็จพิธีประมาณ 19.30น. ไชโยไชโยไชโย จากนั้นก็นำเทียนไปปักรอบบริเวณ แล้วแยกย้ายกันเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน
     มหาวิทยาลัยของเรามีตัวแทนทั้งอาจารย์ และนักศึกษาจากคณะต่าง ๆ ไปร่วมเทอดพระเกียรติกันคับคลั่ง รวมกว่า 50 คน อาทิ อ.ศรีศุกร์ อ.กิ๊ก อ.อ้อม อ.ศิริรัตน์ อ.แดน อ.โก อ.เอก อ.สุพจน์ อ.บุรินทร์ เป็นต้น เจ้าหน้าที่หลายท่าน อาทิ พี่ปุ๊ก น้องเอ็ม พี่นาย พี่นิเวศน์ ส่วนนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไปร่วมงานนี้นำโดย น.ส.โสภาวรรณ ฟูวุฒิ

วิเคราะห์รายงานการประชุมผู้บริหารตามตัวบ่งชี้ลง excel

saradmin28 ก.ค.52 ได้รับมอบหมายจาก อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ ให้อ่านรายงานการประชุมผู้บริหาร ตั้งแต่ครั้งที่ 16/2551 ถึง 42/2551 ระหว่าง 6 พ.ค.51 ถึง 30 ธ.ค. 2551 เพื่อสรุปว่าการประชุมวาระใดเกี่ยวข้องกับทั้ง 39 ตัวบ่งชี้ใน 9 องค์ประกอบ ของสกอ.บ้าง จากการอ่านที่ไม่ละเอียดมากนัก พบ 74 วาระจากทั้ง 27 รายงานการประชุม ซึ่งสามารถนำรายงานดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานในการประกันคุณภาพการศึกษา เหตุที่ผมไม่นำวาระออกมาทุกวาระ เพราะบางองค์ประกอบมีการกล่าวถึงบ่อยครั้ง เช่น ศิลปวัฒนธรรมมีถึง 8 ครั้ง การบริหารความเสี่ยงมีถึง 9 ครั้ง ทำให้ในช่วงหลังจะไม่ทุกวาระทั้งหมดมาเป็นหลักฐาน เพราะเห็นว่ามีการนำมาพิจารณาต่อเนื่อง สำหรับเอกสารที่ได้มาเป็นเพียงของครึ่งปีการศึกษาแรก หากจะให้วิเคราะห์ต่อไปจะต้องใช้จากแฟ้มเอกสารดิจิทอลที่ได้รับมาผ่านอีเมลแต่ละสัปดาห์ หากการตรวจสอบ เอกสารที่ผ่านมามีครบตัวบ่งชี้แล้ว ก็น่าจะหยุดสำหรับการวิเคราะห์เอกสารดิจิทอลที่เหลือ ซึ่งผลการวิเคราะห์นำเสนอไว้ในแฟ้ม excel โดยใช้ pivot table ช่วยในการทำ cross tab ซึ่งได้ผลดังตัวอย่างที่นำเสนอนี้

พบข้อผิดพลาดสู่การแก้ไขโปรแกรมด้านการประกันคุณภาพฯ

23 ก.ค.52 วันนี้ได้รับแจ้งว่าพบข้อผิดพลาด จาก คุณเจนจิรา เชิงดี (น้องแนน ทีมวิจัยฯ) เกี่ยวกับระบบการประกันคุณภาพ 2 ระบบคือ 1. ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง (ออนไลน์) พบข้อผิดพลาด  2 จุด คือ 1)ใน ส.2 ตารางสรุปผลการประเมินตนเองตามองค์ประกอบคุณภาพ คือ สมการที่ต้องใช้คะแนนประเมินตนเองไม่ครบ 9 ตัวบ่งชี้ในองค์ประกอบที่ 7 เมื่อปรับสมการ ทบทวน และตรวจสอบทั้ง 4 ส. ก็พบว่าถูกต้อง 2)การปัดเศษที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของ สกอ. ว่าให้ปัดทศนิยมตำแหน่งที่ 3 ขึ้นได้ แต่ระบบไม่ได้ปัดเศษให้ กลับปัดทศนิยมตำแหน่งที่ 3 หายไปอัตโนมัติ จึงดำเนินการแก้ไข  2. ระบบคำนวณใน Excel พบข้อผิดพลาด 1 จุด คือ ส.3  ตารางสรุปผลการประเมินตนเองตามมาตรฐานการอุดมศึกษา มาตรฐาน 2ข ส่วนของปัจจัยนำเข้า ระบุตัวบ่งชี้ 5 ตัว แต่นำมาคำนวณเพียง 4 ตัวตกตัวช่งชี้ 2.6 ไป ก็
     ต้องขอบคุณ น้องเจนจิรา ที่เป็นผู้เตรียมข้อมูลเสร็จก่อนใคร เข้าใช้ระบบท่านแรก และ เข้าใจข้อมูลเป็นอย่างดี จนให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง จนผู้พัฒนาสามารถพบปัญหาจากทั้ง 2 ระบบ และทำให้การนำไปใช้โดยหน่วยงานอื่นเป็นไปอย่างถูกต้อง

นำเสนองานวิจัยในเวทีของ กศน.

ภาพเป็นข่าวส่งลง นสพ.ฅนเมืองเหนือ
ภาพเป็นข่าวส่งลง นสพ.ฅนเมืองเหนือ

ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยโยนก นำเสนอโครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ในงานการประชุมสัมนางานวิจัย “โครงการวิจัยพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปีงบประมาณ 2552”  ณ โรงแรมแกรนด์ เดอ วิลล์ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ยิ่ง กีรติบูรณะ และ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ เป็นผู้วิพากษ์การนำเสนอโครงการวิจัย ระหว่าง 29-30 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา

     ภาพ ผอ.อวิรุทธิ์  ภักดีสุวรรณ (มุมล่างซ้าย) จากจังหวัดมหาสารคาม ท่านเป็นผู้นำเสนอโครงการ “รูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข บ้านเหล่าน้อย หมู่ที่ 10 ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม” ท่านกรุณาสลับกับผมถ่ายภาพในฐานะผู้นำเสนอ และผมได้รับความอนุเคราะห์แฟ้มรายงานโครงการจากท่าน มาเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการวางแผน และดำเนินการจัดทำโครงการหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขในลำปาง ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้คัดลอกให้กับผู้เกี่ยวข้องไป 4 ท่านแล้ว คือ อ.ชิน อ.วันชาติ อ.ศรีศุกร์ และอ.ออย เท่าที่ได้ฟังการนำเสนอก็พบว่า กศน.มีจุดแข็งในการทำหัวข้อนี้ชัดเจนจากการเข้าไปคลุกคลี และได้รับการยอมรับจากชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

รายงานการทำงานต่อคณบดีฯ 4/2552

แห่เทียนพรรษา
แห่เทียนพรรษา

3 ก.ค.52 1)นำเสนองานวิจัยงานศพฯ กทม. ที่ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ชวนไปนำเสนอในเวทีนำเสนองานวิจัย ของกศน.2009 ให้กับผู้บริหารกศน.จากทุกภาคได้ร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 180 ท่าน เพราะท่านได้ฟัง อ.ราตรี ดวงไชย ทีมวิจัยของผมนำเสนอในเวทียุทธศาสตร์การศึกษาของสกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่บ้านเสานัก (ครั้งนั้นผมไปนำเสนองานวิจัยฐานข้อมูลการประเมินตนเองที่ มจพ.) ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม แบบ PAR = Participatory Action Research หรือ CBR=Community-Based Research แล้วผมได้มีโอกาสพบกับผอ.ของมหาสารคาม ซึ่งท่านนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยใช้เรียนรู้เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านในลำปาง แล้วผมได้คัดลอกรายงานทั้งเล่มให้กับ อ.ศรีศุกร์ นิลกรรณ์ อ.วันชาติ นภาศรี อ.ชินพันธ์ และน้องออย ผมว่ารายงานฉบับนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้ผมนึกถึงจุดแข็งที่ กศน.มีในบทบาทที่ใกล้ชิดชุมชนและมีเครื่องมือในการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขอย่างชัดเจน นี่เป็น output จากการที่อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ อนุญาตให้ผมได้ไปนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ 2) งานแข่งฟ้อนเล็บเป็นส่วนหนึ่งของงานแห่เทียนปีนี้ ผมร่วมเป็นกำลังใจในฐานะคณะวิทย์ใน งานประกวดฟ้อนเล็บของนักศึกษามหาวิทยาลัยของเรา ที่สวนเขลางค์ในเย็นวันพฤหัสบดีที่ 2  ก.ค.52 ซึ่งทีมของเราพลาดรางวัลด้านการฟ้อนเล็บไปอย่างน่าเสียดาย ข้อสังเกตที่พบคือ 2.1) ช่างฟ้อนมีมากกว่าคนดูอย่างเห็นได้ชัด แต่ละกลุ่มที่ส่งช่างฟ้อนเข้าประกวดมีกำลังใจตามมาด้วย ไม่มาก อย่างของมหาวิทยาลัยเรามีเพียงผมกับน้องเอ็มและพี่บุญมีเท่านั้น และไม่ต่างกับทีมอื่น  2.2)ส่วนผู้จัดงาน คือเทศบาลนครลำปางก็จะมีกรรมการ 2.3)ผู้ที่มาออกกำลังกายมากมายใน สวนก็ให้ความสนใจกับการรำครั้งนี้น้อยมาก สังเกตุได้จากจำนวนคนดูที่รายล้อมแทบไม่มี 2.4)ช่างฟ้อนที่มาแข่งก็มิได้สนใจการร่ายรำของคู่แข่ง ถ้าไม่ไปซ้อมของตนเอง ก็นั่งรอเวลา ส่วนกลุ่มที่รำเสร็จก่อนก็จะกลับกันก่อนหลังแข่งเสร็จเป็นส่วนใหญ่ 2.5)ความเห็นเรื่องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมคงพูดได้แต่คำว่าน่าเป็นห่วง และอยู่ในวิกฤตขาลงอย่างชัดเจน ในสังคมวัตถุนิยม 3)งานแห่เทียนเริ่มตั้งแต่ 7.00น. อ.ศรีศุกร์ นิลกรรณ์ติดต่อรถขนทหารจากค่ายสุรศักดิ์มนตรีเป็นการด่วนเมื่อวาน แล้วผมก็เซ็นบันทึกออกของคณะวิทย์ฯ ขออนุมัติท่านอธิการเมื่อวานเย็นในฐานะผู้ดูแลการเดินทางของนักศึกษา ว่าขออนุมัติวงเงินค่าน้ำมันกับค่าเบี้ยในกรอบ 700 บาท ก็เกือบมีปัญหาเรื่องการเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้าง เพราะคุณเปรมจิตติดต่อเช่ารถบัสไม่ทันด้วยเวลาที่กระชั้นชิดเช่นนั้น สรุปว่าเช้ามาก็จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงกับค่าน้ำมันรวม 500 บาท ให้กับทหารท่านไป จากเดิมตั้งงบเช้ารถปรับอากาศ 2000 บาท ล้อหมุน 7.15น. มีทั้งหมด 43 คนในนั้นเป็นบุคลากร 10 คน นายกเทศบาลนครลำปางกล่าวรายงาน 8.00น. แล้วผู้ว่าก็กล่าวเปิด ขบวนเลื่อน 9.00น. ถึงวัดบุญวาทย์ 10.00น. ไปทำบุญถวายเทียนวัดพระบาทผู้บริหารไปกันหลายท่าน อาทิ คณบดีคณะสังคมฯ คณบดีคณะบริหาร ผช.ฝ่ายกิจการนักศึกษา เสร็จพิธีประมาณ 11.00น. ทุกอย่างเรียบร้อยดียกเว้นตัวผมดูโทรมไปนิด เพราะเดินไปกับรถขบวนเหมือนนักศึกษาและเพื่อนร่วมงานที่ไปด้วยกันท่ามกลางแดดร้อน