กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดในชุมชน

vj_suwant_a
สุวรรณ

       ชุมชนได้อะไรจากโครงการวิจัย  ในเชิงวิชาการชุมชนได้ความรู้พื้นฐาน  กับคำว่าวิจัย โดยพื้นฐานทางการศึกษาแล้ว ชุมชนมีระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน  ซึ่งมีกลุ่มคนจำนวนน้อยในชุมชนที่ผ่านระบบการศึกษาที่รู้จักคำว่าวิจัย  มีจำนวนมากที่ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยิน   และมีจำนวนหนึ่งที่เคยได้ยิน ได้อ่านแต่ไม่รู้ความหมายหรือรู้แต่ไม่ชัดเจน โครงการวิจัยจึงเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้และเกิดกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชน จึงทำให้ทุกคนในชุมชนหรือส่วนใหญ่ได้รู้จักคำว่าวิจัย คืออะไร     อีกคำหนึ่ง คือคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งเป็นคำที่ทุกคนได้ยิน ได้ฟัง ได้คุ้นเคยผ่านทางสื่อต่างๆ  แต่การที่จะรู้ความหมายอย่างถ่องแท้เพื่อนำไปสู่การปฎิบัตินั้นมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่คิดเพียงเรื่องเศรษฐกิจ การกิน การใช้ และการคิดถึงอาชีพที่เป็นภาคการเกษตรเท่านั้น  มองว่าเป็นเรื่องของส่วนตัวและครอบครัวเท่านั้น  ซึ่งที่แท้จริง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการหรือแนวทางในการดำเนินวิถีชีวิตของทุกกลุ่มอาชีพ  โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง  ครอบครัว  หน่วยงาน องค์กร  ชุมชนและสังคม  โครงการวิจัยจึงทำให้เกิดความชัดเจนในองค์ความรู้ กับคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับชุมชน  เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ ไปปฏิบัติที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคม
       ชุมชนได้เกิดกระบวนการอย่างน้อย  2 กระบวนการ คือ
       1. กระบวนการมีส่วนร่วม   การจัดการในงานศพมิใช่มีคนเพียง 2 –3 คน ที่จะดำเนินการได้และตัดสินใจให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองได้ทุกอย่าง  บางอย่าง บางประเด็น เป็นเงื่อนไข  เป็นกติกา เป็นประเพณี ของสังคมที่ต้องปฏิบัติ   โครงการวิจัย ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการใช้กระบวนการของเดรมมิ่ง ( P D C A )  โดยการคิดวางแผนร่วมกันเพื่อให้ได้ประเด็นปัญหาไปสู่การปฏิบัติจริง  มีการสำรวจตรวจสอบประเด็นปัญหาใดที่ไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ และนำผลนั้นมาประเมินเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป  การได้ประเด็นปัญหาของการจัดการงานศพที่มีอยู่มากมายที่มีผลกระทบต่อเจ้าภาพและชุมชนมาบริหารจัดการอย่างได้ผลจึงเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
      2. กระบวนการประชาธิปไตย  การจัดการงานศพเป็นรูปแบบที่จัดสืบต่อกันมาและมีปัญหามากมายที่ไม่มีใครมองหรือมีคนมองแต่มิได้นำเสนอสู่การแก้ไข  โครงการวิจัยทำให้ทุกคนมองถึงปัญหาและนำปัญหานั้นมาคิดพร้อมกับนำเสนออย่างมีเหตุผล  มีความขัดแย้งในเชิงเหตุผลของแต่ละบุคคล  ท้ายสุดเกิดการยอมรับในเหตุผลซึ่งกันและกันและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างลงตัว ทุกคนจึงเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามในกิจกรรมเดียวกัน
       รูปแบบการจัดงานศพ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่เป็นองค์ความรู้ของชุมชน การจัดการงานศพบางเรื่องเป็นความละเอียดอ่อน  เป็นกิจกรรมที่ไม่มีการวางแผนหรือเตรียมการไว้ล่วงหน้า จึงจำเป็นที่จะต้องบริหารและจัดการแบบเร่งด่วนและฉับพลัน  ซึ่งมีหลักหรือประเด็นที่เป็นกิจกรรมในการบริหารจัดการที่พอจะแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆอยู่  3 ประเด็น  คือ  พิธีกรรม   ความเชื่อ   และค่านิยม
       1. พิธีกรรม หรือพิธีการ  เป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมที่ต้องบริหารจัดการ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 พิธีใหญ่ คือ  พิธีทางศาสนา และพิธีทางสังคม
       พิธีทางศาสนา  เช่น การการนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ สวด  การจัดสำรับปัจจัย
       พิธีทางสังคม เช่น การเชิญแขกมาร่วมงาน  การบริการต้อนรับ  การจัดอาหารเลี้ยงดู  การจัดสถานที่ที่พักอาศัย การให้เกียรติผู้ร่วมงานเป็นตัวแทนในการวางผ้าบังสุกุลหรือถวายสำรับปัจจัยแด่พระสงฆ์ เป็นต้น
      2. ความเชื่อ   เป็นนามธรรมที่สามารถดำเนินการได้เป็นรูปธรรม  ความเชื่อเป็นกิจกรรมหรือวิธีการปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมา เช่น ความเชื่อเรื่องของวันดี วันเสีย  เป็นความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากคนรุ่นก่อน ไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนอย่างมีเหตุมีผลว่า ดีอย่างไร  เสียอย่างไร   เพียงแต่เชื่อและปฏิบัติต่อกันมาและเชื่อว่าหากฝืนปฏิบัติแล้วจะเกิดความไม่เป็นมงคล  ความวิบัติ ต่อครอบครัวหรือชุมชน   ตัวอย่างหรือสถิติของการไม่ปฏิบัติตามความเชื่อนั้นแล้วทำให้บังเกิดสิ่งที่ไม่ดีงามเกิดขึ้นต่อชุมชนและครอบครัว ก็ไม่มีความชัดเจน  ความเชื่อจึงเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามรุ่นต่อรุ่นมากกว่า  ผลกระทบของประเด็นนี้คือ การที่ต้องจัดเก็บศพไว้นานหลายวันด้วยข้อจำกัดของคำว่า วันดี วันเสีย
       3. ค่านิยม   เป็นกิจกรรมที่ได้ประยุกต์หรือบูรณาการตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  เพียงมีใครได้คิดและทำเป็นแบบอย่างครั้งหนึ่งก็เกิดการปฏิบัติตามกัน  ซึ่งในอดีตไม่เคยมี  เช่น การจัดงานเลี้ยงแบบงานรื่นเริงหรืองานมงคล  มีดนตรี มีการจัดตั้งโต๊ะเลี้ยงสุราอาหาร การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ  การจัดให้มีปราสาทสวยงามราคาแพง เป็นต้น  ค่านิยมได้ก่อรูปแบบให้สังคมได้ชี้ถึงความเด่น ความด้อย ความมีศักยภาพหรือฐานะของเจ้าภาพ
       โครงการวิจัย รูปแบบการจัดการงานศพฯ  ได้อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนมาร่วมคิดและแก้ไขปัญหาที่ซ่อนบ่มอยู่ในการบริหารจัดการ โดยการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาบูรณาการประยุกต์ใช้ ให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน  โครงการได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง  รูปแบบ และพฤติกรรมสังคม สู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
       รูปแบบการจัดงานศพเป็นองค์ความรู้ในชุมชนที่มีกระบวนการ  เป็นองค์ความรู้ที่มีความยั่งยืน และจะมีพัฒนาการไปอย่างไม่จบสิ้น เป็นไปตามสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
       การจัดรูปแบบงานศพโดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน การนำประเด็นปัญหาที่เป็นผลกระทบมาสู่การแก้ไขและนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เป็นรูปแบบใหม่ในชุมชนที่ต้องปฏิบัติสืบไป
       ชุมชนได้นำประเด็นปัญหาที่มีทั้งความง่าย แลความยากในทางปฏิบัติมาจัดการได้อย่างลงตัวถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่ยิ่งของโครงการ  ประเด็นปัญหาที่มีความง่าย เช่น การเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน  เพียงชี้แจงเหตุผล ความเป็นมาให้กับชุมชนเข้าใจก็สามารถปฏิบัติได้ ประเด็นปัญหาที่มีความยาก เช่น เรื่องของวันดี วันเสีย ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมานานเป็นนามธรรมที่มีความละเอียดอ่อน  โดยนำเอาความหายนะ ภัยวิบัติ  ความไม่เป็นมงคล มากำหนดหากไม่ปฏิบัติตาม  ความยากอยู่ที่การเปลี่ยนความเชื่อโดยการหาเหตุผลมาหักล้าง ที่ทำให้ทุกคนยอมรับและพึงพอใจ
       การดำเนินงานตามโครงการวิจัยถือว่ามีความสำเร็จ บรรลุตามวัตถุประสงค์    ชุมชนได้อะไรมากมายจากการมีส่วนร่วมในโครงการนี้  โดยเฉพาะการได้มีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานที่เป็นวิถีชีวิตชุมชนแบบยั่งยืน  การได้สร้างพื้นฐานการเป็นนักวิจัยของคนในชุมชน  การสร้างความพร้อมให้ชุมชนที่จะมองปัญหาอื่นที่มีอยู่ในชุมชน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความภาคภูมิใจของคนในชุมชนที่โครงการได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการวิจัยท้องถิ่นดีเด่นระดับประเทศ  ความภาคภูมิใจของชาวบ้านไหล่หินอีกประการหนึ่งคือ การที่ได้มีส่วนร่วม หรือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างตัวแบบในการจัดงานศพที่สามารถขยายผลไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียงได้ปฏิบัติตาม  ต้องขอขอบคุณ สกว.ที่มอบโอกาสให้เกิดกระบวนการสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในชุมชน
        อีกโอกาสหนึ่งในระบบการศึกษาในสถานศึกษาที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ คือการนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในการจัดงานศพ มาจัดทำเป็นสาระหลักสูตรท้องถิ่น ให้บุตรหลานได้เกิดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการได้เห็นการปฏิบัติจริงของชุมชน ซึ่งมีเกือบทุกสาระอยู่ในองค์ความรู้นั้น
       ท้องถิ่น ชุมชน มีปัญหาซ่อนบ่มอยู่มากมาย ที่รอรับการแก้ไขและพัฒนา เพื่อสร้างความสงบสุขให้ชุมชน  เพียงแต่ว่าจะมีใครเสียสละเวลาและกล้าเป็นผู้นำในการมองปัญหานั้น ๆ แล้วสืบค้นเพื่อแก้ไข  โดยการอาศัยการสนับสนุน จาก สกว.ท้องถิ่น ที่พร้อมให้การสนับสนุน  ซึ่งถือว่า  สกว. มีส่วนช่วยสร้างและขัดเกลาสังคม  นำชุมชนให้เกิดการขับเคลื่อนตนเอง เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนา นำความสุข ความสงบสู่ชุมชนท้องถิ่นได้ตามสถานการณ์
โดย อ.สุวรรณ  เกษณา    ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสาด-ผึ้งนาเกลือ
http://www.thaiall.com/lovelampang/laihin_suwan.htm

แผนที่สังคม (Social Mapping)

แผนที่สังคม
แผนที่สังคม

แผนที่สังคม (Social Mapping) คือ เครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยรูปแบบที่นำเสนอนี้ นำมาจากต้นแบบที่ออกแบบโดยคุณภัทรา มาน้อย ปกติแผนที่สังคมถูกใช้ทำแผนที่หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด อาจใช้ทำแผนที่แสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ของความรู้หรือทุนในชุมชน หรือใช้แจกแจงรายละเอียดตำแหน่งในชุมชนที่ต้องการใช้ประโยชน์ หรือประกอบการตัดสินใจ หรือเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน
ซึ่งแผนภาพนี้เขียนจากการประยุกต์ข้อมูลตามโครงวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพ บ้านไหล่หินฯ เพื่อนำเสนอด้วยแผนภูมิที่พี่เลี้ยงโครงการได้แนะนำให้ใช้แสดง ความสัมพันธ์ของ คน ความรู้ สารสนเทศ และการเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้นจากโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น
http://www.thaiall.com/research/method_cbr.ppt
http://www.thaiall.com/research/manoi.htm

การพัฒนาชุมชนผ่านบทบาทพระสงษ์

clipboard1เปิดประชุม 2 ทุ่มตรงในอังคารที่ 12 พ.ค.52 พระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ เชิญชวน ผู้นำจากบ้านหมู่ 2 และหมู่ 6 ตำบลไหล่หิน ทั้งกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอสม. กลุ่มผู้สูงอายุ ครูจาก 2 โรงเรียน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และอาจารย์มหาวิทยาลัย อาทิ อ.ธวัชชัย แสนชมพู อ.อัศนีย์ ณ น่าน มีผู้ร่วมประชุมมากกว่า 50 คน มารับนโยบาย หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ รับทราบแผนการดำเนินงานโครงการ และกำหนดการ เพราะโครงการจะได้รับอนุมัติ 1มิ.ย.52 – 31พ.ค.53 ได้ชมวีดีโอบทเรียนการพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ โครงการนี้ได้รับอนุมัติจาก สสส. มีชื่อโครงการคือ “โครงการร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานที่ยั่งยืน” ผ่าน “กลุ่มธรรมะสว่างใจบ้านไหล่หิน” ที่พระครูเป็นประธานกลุ่ม ที่ทำการตั้งอยู่ที่วัดชัยมงคลธรรมวราราม โครงการที่มีการนำเสนอว่าจะดำเนินการโดยสรุปมี 8 โครงการคือ 1) ลดรายจ่าย อาทิ ปลูกผักปลอดสาร และบัญชีครัวเรือน 2) แยกขยะ 3) อบรมคุณธรรม 4) กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ 5) ครอบครัวอบอุ่นกิจกรรมวันอาทิตย์ 6) ออกกำลัง และกินเพื่อสุขภาพ 7) ปลูกจิตสำนักรักบ้านเกิด 8) พัฒนากลุ่มอาชีพ ซึ่งทุกโครงการเกิดจากการที่ท่านวิเคราะห์ SWOT ของวัด และชุมชน โดยสอดรับกับข้อสรุปวัตถุประสงค์ 3 ข้อของโครงการ คือ 1) สร้างเสริมสุขภาพและพึ่งตนเอง 2) มีคุณธรรม ลด ละ เลิกสิ่งเสพติด 3) มีครอบครัวอบอุ่น มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ใช้เวลาประชุมตั้งแต่ 20.00น. ถึง 22.15น. กว่าผมจะขับรถถึงบ้านก็ 23.00น. พอดี
http://www.thaihealth.or.th/node/7061

ร่วมเวทีวิจัยที่ศูนย์ประสานงานกับ อ.อัศนีย์ ณ น่าน

ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

วันที่ 10 พฤษภาคม 2552 9.00 – 16.00 น.
                     ร่วมแลกเปลี่ยนกับการนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการวิจัย “กระบวนการสร้างการเรียนรู้ตำนานมูลศาสนาฉบับวัดบ้านเอื้อม ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง” นำเสนอโดยทีมวิจัย 3 ท่าน คือ พระอธิการสวัสดิ์ โสตฺถิโก เจ้าอาวาสวัดบ้านเอื้อม พระสุริยา วัดยางอ้อยเหนือ และ อาจารย์เกษวรี  สว่างวงศ์ ซึ่งทุกท่านนำเสนอที่มา กิจกรรม บทเรียน ปัญหา และการขยับต่อในช่วงต่อไปได้อย่างชัดเจน ตำนานมูลศาสนาของวัดบ้านเอื้อมที่เลือกมาแปลครั้งนี้ มีต้นฉบับขนาด 48 หน้าปั๊ปสา โดยมีแผนแปลออกมา 4 รุ่นคือ 1) ภาษาล้านนา 2) ภาษาปริวรรต 3) ภาษาคำเมือง 4) ภาษาไทย ได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องการจัดทำหรือการนำพจนานุกรมภาษาล้านนามาใช้ในโครงการ นอกเหนือจากที่โครงการได้จัดทำแบบฝึกหัดที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของอาจารย์อัศนีย์ ณ น่าน ว่าน่าจะนำวรรณกรรมอ้างอิงในพื้นที่อื่นมาใช้ประโยชน์ หลังเสร็จการประชุมคุณภัทรา มาน้อย เฉลยว่าทีมนี้ได้มีการใช้ Social Mapping ทำให้สามารถนำเสนอได้อย่างเป็นลำดับเริ่มจากนำเสนอเรื่องคนและความรู้ (Social) ข้อมูล (Map) และกิจกรรม (Ing)
                      ร่วมแลกเปลี่ยนกับการนำเสนอโครงการใหม่ของเยาวชนโรงเรียนพัฒนาสังคม คุณกมลธสรณ์ ยอดกำลัง นำเยาวชนของอำเภอห้างฉัตรมานำเสนอ เยาวชนอธิบายได้ชัดเจนกันทุกคน ผมมีโอกาสนำเสนอว่าน่าจะหาชื่อโครงการมาเป็นธง วัตถุประสงค์ สรรหาคนที่เข้ามามีบทบาท ประเด็น และกิจกรรม โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือการหาชื่อโครงการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ทีมเยาวชนที่มานำเสนอมีความเข้าใจกิจกรรมที่ทำอยู่ในโรงเรียนพอสมควร จึงเสนอชื่อโครงการว่า “รูปแบบโรงเรียนต้นแบบเชิงบูรณาการบ้าน วัด โรงเรียน” แต่หลังจากแลกเปลี่ยนร่วมกันในเวที ได้มีข้อสังเกตว่าเยาวชนอายุประมาณ 10 – 15 ปี น่าจะมีขอบเขตไม่กว้างหรือลึกเกินไปนัก จึงเสนอชื่อโครงการใหม่ว่า “แนวทางการพัฒนาเยาวชนโรงเรียนพัฒนาสังคม” เพราะที่มากันครั้งนี้เนื่องจากเกาะกลุ่มจากการใช้โรงเรียนพัฒนาสังคมเป็นฐาน และที่เสนอไปก็เพื่อให้มีการนำไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในพื้นที่ใหม่ ก่อนที่จะกลับมานำเสนอในเวที เพื่อทบทวนและร่วมให้ความเห็นกันอีกครั้ง

การประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

  

กสท.ลำปาง
กสท.ลำปาง

          บ่ายวันหนึ่งผู้เขียนไปนิเทศนักศึกษาฝึกงาน คือการตรวจเยี่ยมนักศึกษาและผู้ประกอบการที่รับนักศึกษาเข้าไปฝึกปฏิบัติงานหลังจากศึกษาเล่าเรียนจนมีความรู้ติดตัวไปส่วนหนึ่ง จากการฝึกงานจะทำให้พวกเขาได้สัมผัสกับงานจริง และฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น หลังฝึกงานต้องนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์และเพื่อน ก่อให้เกิดการจัดการความรู้ระหว่างนักศึกษา และอาจารย์ สำหรับอาจารย์จะพิจารณานำประเด็นที่ได้เรียนรู้ไปปรับหลักสูตรเพื่อบ่มเพาะนักศึกษาให้เหมาะกับความต้องการของผู้ประกอบการ นำไปจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อเติมเต็มศักยภาพของนักศึกษาที่ยังมีเวลาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยหลังกลับจากการฝึกงาน

            บ่ายวันนั้นได้เข้าไปที่บริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด พบกับณพิมพ์ศิริ จันทรราช สำนักงานบริการลูกค้า และุณวสุพล พวงสุวรรณ ู้ดูแลงาน CAT2Call & e-Auction ซึ่งดูแลลูกศิษย์ และนำออกไปทำงานนอกสำนักงานหลายครั้ง จึงได้รู้ว่าส่วนราชการในปัจจุบันนำารประมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ไปใช้อย่างจริงจังตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อความสะดวก โปร่งใส ใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่า โดยกสท.ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์จากกระทรวงการคลัง ตั้งแต่มกราคม 2549
                         บริษัทจะนำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปติดตั้งในที่ทำการของส่วนราชการ สำหรับการคัดเลือกผู้เสนอราคา (Bidder) แบบ Real Time โดยเปิดให้เสนอราคาได้ทั้งแบบประมูลซื้อ และประมูลขายตามแต่กรณี ในช่วงเวลาที่นัดหมายผู้เสนอราคาสามารถส่งราคาของตนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากที่ใดก็ได้เข้าไปยังเครื่องบริการที่ตั้งอยู่ในสำนักงานใหญ่ของ กสท. ส่วนคณะกรรมการจะเลือกผู้ชนะการประมูลที่เสนอราคาที่ดีที่สุดผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ที่กสท.จัดเตรียมไว้ และประกาศผลอย่างรวดเร็วผ่านเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง คือ gprocument.go.th นี่เป็นวัตกรรมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร และประเทศชาติ เป็นตัวอย่างการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตแบบภาครัฐถึงภาคธุรกิจ (G-to-B) ที่จำกัดวงการใช้บริการเพียงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องบนระบบความปลอดภัยที่เหมาะสม หากนักศึกษาฝึกงานเข้าใจในระบบและกลไกก็สามารถนำหลักการไปปรับใช้กับธุรกรรมในลักษณะใดก็ย่อมได้ กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่นักศึกษาฝึกงานได้รับประสบการณ์และนำกลับไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยจนเกิดการพัฒนาคนแบบต่อยอดต่อไป (http://www.gprocument.go.th)

ความหมายของการจัดการความรู้

 

ระดับของความรู้
ระดับของความรู้

การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคล หรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด โดยที่ความรู้มี 2 ประเภท คือ 1)  ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาติญาณของแต่ละบุคคลในการทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรได้โดยง่าย เช่น ทักษะในการทำงาน งานฝีมือ หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ บางครั้ง จึงเรียกว่าเป็นความรู้แบบนามธรรม   2)  ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี คู่มือต่าง ๆ และบางครั้งเรียกว่าเป็นความรู้แบบรูปธรรม
       นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความหมายของคำว่า “การจัดการความรู้” ไว้ว่า สำหรับนักปฏิบัติ การจัดการความรู้ คือ เครื่องมือ เพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการไปพร้อมกัน ได้แก่ 1) บรรลุเป้าหมายของงาน 2) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน 3) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปเป็นองค์กรเรียนรู้ และ 4) บรรลุความเป็นชุมชน เป็นหมู่คณะ ความเอื้ออาทรระหว่างกันในที่ทำงาน
เรียบเรียงไว้ที่ http://www.thaiall.com/km/indexo.html

วันวุ่นในวันแรงงาน 2552 (8)

เช้ามาก็ลืมตาในโรงพยาบาล เพราะไม่นอนเฝ้าคุณแม่ที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง ห้อง 508 ตึกเมตตา ท่านต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนตาจากอาการต้อกระจก ไม่ทันส่งท่านเข้าห้องผ่าตัดก็ต้องรีบออกไปรับลูก ๆ ไปโรงเรียน เพื่อไปรับเงินช่วยเหลือการศึกษาของลูกที่รัฐอุดหนุนคนละ 550 บาท รับแล้วก็ซื้อสมุด ก็ถึงกับอึ้งเพราะสมุดอย่างเดียวก็คนละ 500 เศษแล้ว ยังไม่ทันซื้อชุด หรือหนังสือเลย กลับมาโรงพยาบาลคุณแม่ก็ยังไม่ออกจากห้องผ่าตัด ก็มีโทรศัพท์แจ้งปัญหา mail server เต็ม ก็ไปหาร้านเน็ตข้างโรงพยาบาล เพื่อ connect ผ่าน putty เข้าไปลบ Trash ของสมาชิก ที่ไม่เคยลบ mail หรือล้างถังขยะ ก็ปกติของระบบที่ไม่จำกัดจำนวนอีเมลของสมาชิก ย่อมเต็มอยู่เนือง ๆ กลับมาห้องผู้ป่วยก็พบคุณแม่กลับมาแล้ว อาการท่านไม่น่าเป็นห่วง กินได้ พูดได้ มีความสุขดี เพราะนี่ข้างที่สอง แต่ช่วงบ่ายท้องผมเสียเล็กน้อย เพราะดื่มกาแฟที่เข้มข้นจากร้านสะดวกซื้อในโรงพยาบาล  พอ 18.30 ก็ไปขึ้นรถที่มหาวิทยาลัย ไปประชุมโครงการหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขที่บูรณาการร่วมกัน ลุงล้วนในฐานะสารวัตรกำนัน เสียค่าโทรศัพท์ติดต่อผมเข้ามาตั้งหลายครั้ง ก็เกรงใจท่านมาก  เพราะประสานเรื่องผู้เข้าประชุม เรื่องฝนตกหนัก และขอรายละเอียดเพิ่มเติม เมื่อทีมของมหาวิทยาลัย เข้าไปก็แลกเปลี่ยนกันเรียบร้อยด้วยดี กำนันกิจชนะชัย ปะละ กับผู้ใหญ่เพิ่มศักดิ์ จินะการ ให้การต้อนรับด้วยดี พระครูก็ร่วมประชุมด้วยท่านอธิบายเรื่อง SWOT โดยละเอียดครับ เลิกประชุมกว่า 22.00 น. ก่อนกลับบ้านแวะ 7-Eleven ซื้อขนมปังแก้หิว แล้วไปนั่งหน้าเครื่องคอมฯ ยกร่างบทความที่ 189 และ 190 พร้อมค้นข้อมูลข่าวก็ไปพบข่าว ดาราสาวเกาหลีผูกคอตาย น้อยใจหลุดแคสติ้ง เธอชื่อ เซียง-ยอน ดาราสาวชาวเกาหลีใต้ วัย 26 ปี อีกเรื่องที่คาใจคือ วันนี้มิใช่วันหยุดของมหาวิทยาลัย ถ้าที่ทำงานเปิดเมื่อไรก็จะไปเขียนใบลาย้อนหลังตามระเบียบครับ .. แล้วพบกันใหม่วันแรงงานปีหน้า
http://www.thiswomen.com/News1/id3568.aspx

การจัดการแฟ้มดิจิทอลในองค์กรขนาดเล็ก (2)

File Management
File Management

ระบบนี้พัฒนาด้วยภาษา PHP เป็นแฟ้มเพียงแฟ้มเดียวแต่ช่วยในการจัดการแฟ้มดิจิทอลออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นความสามารถเล็ก ๆ แต่ช่วยประสานกลไกการจัดการข้อมูลเพื่อสนับสนุนระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร (ในกรณีที่ยังไม่มีระบบใดดีกว่านี้) โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อให้การสร้างงานเขียนเพียงครั้งเดียว แต่ถูกนำไปใช้ได้หลายครั้ง 2) เพื่อให้งานที่เขียนขึ้นถูกนำไปใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ เช่น KM, SAR, SRR 3) เพื่อสร้างระบบสำรองข้อมูลผ่านเครือข่ายการเผยแพร่ข้อมูล 4) เพื่อให้ใช้แฟ้มงานได้อย่างปลอดภัย สำหรับรายละเอียดการใช้งานระบบมีเงื่อนไขสนับสนุนดังนี้  1) เข้าจัดการแฟ้ม ต้องมี กุญแจ A  2) เข้าเปิดดูข้อมูล ดูรายชื่อแฟ้มต้องมี กุญแจ U 3 ) สามารถติดกุญแจเฉพาะแฟ้มที่สำคัญ ต้องมี กุญแจ Z  4) เผยแพร่แฟ้มออกไปได้ง่าย ในแหล่งที่ต้องการ อย่างเป็นสากล
http://www.thaiall.com/ppt/file_manage_01.ppt
http://www.yonok.ac.th/doc/burin/file_manage_01.ppt
http://www.thaiall.com/perlphpasp/source.pl?9102

ชาวตำบลไหล่หินประกาศยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงคุมคชจ.งานศพ (7)

      ชาวตำบลไหล่หิน 6 หมู่บ้าน ประกาศเจตนารมณ์ลดเหล้าในงานศพ พร้อมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ออก 18 มาตรการ ควบคุมค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพื่อลดภาระเจ้าภาพ ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาปากท้องเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือเมื่อครอบครัวใดมีคนตาย จะต้องจัดการงานศพ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าภาพไม่ได้มีการตระเตรียมสำรองเงินไว้ล่วงหน้าเหมือนงานบุญ หรืองานมงคล โดยจากการศึกษาข้อมูลระหว่างปี 2533-2550 พบว่าชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 6 เสียชีวิตเฉลี่ย 19 คน/ปี และค่าใช้จ่ายในงานศพอยู่ที่ 13,000-17,000 บาท/วัน ดังนั้นถ้าเก็บศพไว้ 5-7 วัน จะมีค่าใช้จ่ายร่วม 100,000 บาท
       ซึ่งเมื่อศึกษารูปแบบงานศพในอดีต ก็พบว่าประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา เมื่อบ้านไหนมีผู้เสียชีวิตจะห่อผ้ามัดด้วยเชือกเงื่อนตอกงูลืน แล้วนำใส่แคร่ไม้ไผ่ไปทำพิธีเผาหรือฝังอย่างเร็วที่สุด ไม่มีการเก็บศพข้ามคืนข้ามวันรอคนมาร่วมพิธีอย่างในปัจจุบัน และถ้าไม่ใช่ขุนนาง จะไม่ใช้ล้อเข็นศพไปทำพิธีที่สุสาน ปราสาทก็มีเฉพาะชนชั้นเจ้านายเท่านั้น แต่ค่านิยมที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับวัตถุมากขึ้น มีการสร้างปราสาทให้กับญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับ เพราะเชื่อว่าปราสาทเหล่านี้จะเป็นที่อยู่ของผู้ล่วงลับหลังความตาย ทั้งยังเชื่อว่างานศพที่ใหญ่โตแสดงถึงหน้าตาของเจ้าภาพ
ทรงศักดิ์
ทรงศักดิ์

        ด้านนายทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธานสภา อบต.ไหล่หิน ในฐานะรองหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงวิธีการจัดการว่าหลังจากทราบข้อมูลแล้ว มีการทำประชาคมหมู่บ้าน ดึงทุกภาคส่วน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนหน่วยงาน องค์กรที่อยู่ในพื้นที่เข้าร่วม และได้ประชามติเป็นประเด็นการจัดการงานศพทั้งหมด 16 ประเด็น แยกเป็นด้านการจัดการ 9 ข้อ และด้านความเชื่อ 7 ข้อ ตามลำดับ ได้แก่ 1.การควบคุมไม่ให้อาหารรั่วไหล ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาอาหารมีปริมาณไม่เพียงพอกับแขก เพราะมีบางคนแอบตักออกไป ในลักษณะจิ้นลอดฮั้ว ชุมชนจึงเห็นพ้องว่าต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ส่งเสริมพฤติกรรมเช่นนั้นต่อไป 2.ใช้เครื่องปรุงพอประมาณ เนื่องจาการซื้อเครื่องปรุงแบบไม่วางแผนล่วงหน้า ทำให้มีปัญหาทั้งขาดและเหลืออยู่เสมอ 3.ลดน้ำอัดลมเป็นน้ำเปล่า ตามหลักความสมเหตุสมผลว่าน้ำหวานเจือสีอัดแก๊ซ มีผลเสียต่อสุขภาพ 4.ลดอาหารว่าง เช่น เม็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน ขนมปังปี๊บ ข้าวต้ม กระเพาะปลา หรือกาแฟรอบดึก ซึ่งล้วนเป็นภาระของเจ้าภาพที่ต้องจัดหาตามแบบอย่างค่านิยมในเมือง 5.เตรียมเมี่ยงอย่างพอประมาณ เพราะความนิยมในการอมเมี่ยงลดลง แต่ผู้สูงอายุยังช่วยกันห่อเมี่ยงในงานศพตามปกติ ทำให้เหลือทิ้งอยู่เสมอ 6.ลดสุรา จากที่เคยตั้งโต๊ะทุกวัน เหลือเพียงบางวัน เช่น วันเก็บเต้นท์เก็บครัว เพื่อแทนคำขอบคุณผู้มาช่วยลงแรง 7.งดเล่นการพนัน 8.งดจ้างวงดนตรีสากล หรือวงลูกทุ่ง โดยส่งเสริมให้ใช้เทปหรือซีดีแทน 9.ใช้ดอกไม้แห้งในหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพในชุมชน 10.ใช้โครงปราสาทถาวร ไม่ต้องซื้อปราสาทใหม่ทั้งหลังแล้วนำไปเผา เพียงแต่หากระดาษสีสวยงามติดตามโครงปราสาทที่มีอยู่ หรืออาจซื้อผ้าเต้นท์ไปขึงเป็นยอดปราสาท แล้วบริจาคให้เป็นสาธารณประโยชน์ดีกว่านำปราสาทไปเผาทิ้ง 11.ยืมโลงทองที่สวยงาม มาครอบโลงจริง 12.เก็บศพประมาณ 4-5 คืน ซึ่งผู้สูงอายุในชุมชนได้ร่วมกันหารือ จนมีมติลดจำนวนวันที่ไม่สมควรทำพิธีเผาศพให้เหลือเพียง 2 วัน คือวัน 9 ค่ำ และวันศุกร์ที่ตรงกับ 15 ค่ำ ส่วนเจ้าภาพที่ไม่เชื่อเรื่องวันเสีย จะเผาศพวันใดก็สามารถทำได้ 13.จัดผ้าบังสุกุลอย่างพอประมาณ 14.งดการจุดพลุและบั้งไฟ 15.ควรเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน จากธรรมเนียมปฏิบัติที่เพื่อนบ้านนำสำรับหรือสังฆทานไปร่วมทำบุญถวายแด่พระสงฆ์ แต่จำนวนสำรับมักมากกว่าจำนวนพระสงฆ์หลายเท่า ซ้ำปัจจัยที่บรรจุในสำรับไม่สดใหม่ หากเปลี่ยนจากสำรับเป็นเงิน ก็จะทำให้เจ้าภาพมีเงินเหลือไว้ทำบุญและง่ายต่อการจัดการ 16.ควรให้เงินสดแทนพวงหรีด เพราะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าภาพมากกว่า
         “ปรากฏว่าเมื่อนำมาทดลองใช้ใน 2 หมู่บ้าน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงมีการขยายผลไปสู่อีก 4 หมู่บ้านที่เหลือ และเกิดประเด็นเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ 1.งดชิงโชคจากโปรยทานด้วยลูกอมหรือเงินเหรียญ 2.ควรเผาศพในเมรุ 3.งดจุดธูปในบ้าน เพราะควันจากธูปก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การจุดในที่โล่ง หรือจุดแต่น้อย จึงเป็นข้อเสนอที่นำมาให้เจ้าภาพพิจารณา” รองหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว
        และเป็นที่มาของการรวมตัวกันในระดับตำบล ทั้ง 6 หมู่บ้าน ที่ศาลาวัดไหล่หินหลวง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการจัดงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางสภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หิน ไว้เป็นหลักฐาน
        ด้านนายชนะเกียรติ เจริญราช นายอำเภอเกาะคา ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว ย้ำว่า การประกาศเจตนารมณ์ของชาว ต.ไหล่หิน ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก เพราะเป็นทางเลือกที่ช่วยลดปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับเจ้าภาพได้อย่างชัดเจน จึงขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ และในอนาคตอันใกล้ จะพยายามนำรูปแบบและวิธีการไปขยายผล เพื่อขับเคลื่อนสู่ระดับอำเภอต่อไป
หัวข้อเดิม ชาวตำบลไหล่หิน ประกาศยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ควบคุมค่าใช้จ่ายในงานศพ
จาก http://talk.mthai.com/topic/55481 (saichol)

บ้านสามขา (6)

นักวิจัยบ้านไหล่หินไปดูงานบ้านสามขา
นักวิจัยบ้านไหล่หินไปดูงานบ้านสามขา

ถอดบทเรียนเพื่อใช้อ้างอิงเกี่ยวกับบ้านสามขา
      ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ได้นำเสนอการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ผู้นำชุมชนและเยาวชนร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนตลอดหลายปีที่ผ่านมาและมีความต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้ เรื่องราวทั้งหมดถูกเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “บ้านสามขาชุมชนแห่งการเรียนรู้” ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร บันทึกการพัฒนาชุมชนครั้งนี้เริ่มต้นในปีพ.ศ.2544 โดยเริ่มต้นจากการฝึกอบรมครูของชุมชนในการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) แล้วตามด้วยการจัดค่ายอบรมคอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชนและผู้ปกครองของหมู่บ้าน
        ปีพ.ศ.2544 มูลนิธิศึกษาพัฒน์บริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ และมูลนิธิไทยคมได้ติดตั้งอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมให้ที่โรงเรียนบ้านสามขา เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ชุมชนบ้านสามขาที่ดูแลโดยเยาวชนในหมู่บ้าน จัดกิจกรรมอบรมการใช้ การซ่อมบำรุง การพัฒนาเว็บไซต์ การสืบค้นข้อมูล และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชน จากการนำทฤษฏีการสร้างสรรค์ด้วยปัญญาไปใช้ในชุมชนร่วมกับใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือได้นำไปสู่ “ความรู้และปัญญา” ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาหลายประการระหว่างปีพ.ศ.2544 – 2546 ได้แก่ 1) วิเคราะห์ปัญหาหนี้สิน และแก้ไขด้วยการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย 2) พัฒนาทักษะของเยาวชนด้วยการจัดค่ายการบ้าน ค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายคอมพิวเตอร์ 3) สืบสานภาษาท้องถิ่นด้วยการจัดค่ายภาษาล้านนาที่สอนโดยผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ที่นำไปสู่การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นภาษาล้านนาในโรงเรียน และศึกษาเรื่องสมุนไพรจนพัฒนาไปเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 4) จัดตั้งธนาคารสมองเพื่อให้ผู้ที่ทำประโยชน์ต่อชุมชนกู้เงินไปลงทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 5) ค่ายวิปัสสนาที่เน้นการฝึกสมาธิให้มีสติและรู้จักตนเองให้ดีขึ้น 6) โครงการพัฒนากิจการร้านค้าชุมชน 7) เรียนรู้การบริหารจัดการที่พักในชุมชน และโครงการที่พักแรมระยะยาว (Long Stay) 8) เรียนรู้การจัดการแหล่งน้ำ 9) โครงการจัดการข้อมูลข่าวสาร และโครงการพัฒนาวิทยุชุมชนโดยเยาวชน
      องค์ประกอบหนึ่งของความสำเร็จคือความมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนของชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งบทเรียนของการพัฒนาที่ท่านเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญ คือ อาจารย์ศรีนวล วงศ์ตระกูล เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงองค์กรภายนอกเข้ากับโรงเรียนและเยาวชนจนสามารถมีศูนย์คอมพิวเตอร์ชุมชนบ้านสามขา คุณนารี อินทร์มาปัน (น้าติ๋ม) คือตัวอย่างผู้เรียนรู้การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบริหารจัดการร้านค้าชุมชน ผู้ใหญ่จำนงค์ จันทร์จอม เป็นผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ทันสมัยว่า “เด็กรุ่นใหม่จะต้องทำนาได้และใช้คอมพิวเตอร์เป็น” และสนับสนุนให้มีบริการอินเทอร์เน็ตในหมู่บ้าน จ.ส.อ.ชัย วงศ์ตระกูล ดูแลการก่อสร้างอาคารติ๊บปาละเป็นลองสเตย์บ้านสามขาเพื่อบริการนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาดูงาน พ่อหนานทองสุข  วงศ์ษากัน อดีตเจ้าอาวาสวัดสามขาและเชี่ยวชาญภาษาล้านนา ยินดีสอนภาษาล้านนาให้เยาวชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คุณชาญ  อุทธิยะ นำชาวบ้านแก้ปัญหาหนี้สินโดยใช้กระบวนการวิจัยเรื่องรูปแบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินของทั้งชุมชน และเป็นแกนนำจัดตั้งสถาบันแสนผญาในเวลาต่อมา
http://www.ru.ac.th/tambon/mooban/bansamka01.htm
http://www.thaienergynews.com/ArticleShowDetail.asp?ObjectID=6
http://www.thaiall.com/itinlife/article.php?id=207&title=samkha