ร่วมเวทีวิจัยที่ศูนย์ประสานงานกับ อ.อัศนีย์ ณ น่าน

ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

วันที่ 10 พฤษภาคม 2552 9.00 – 16.00 น.
                     ร่วมแลกเปลี่ยนกับการนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการวิจัย “กระบวนการสร้างการเรียนรู้ตำนานมูลศาสนาฉบับวัดบ้านเอื้อม ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง” นำเสนอโดยทีมวิจัย 3 ท่าน คือ พระอธิการสวัสดิ์ โสตฺถิโก เจ้าอาวาสวัดบ้านเอื้อม พระสุริยา วัดยางอ้อยเหนือ และ อาจารย์เกษวรี  สว่างวงศ์ ซึ่งทุกท่านนำเสนอที่มา กิจกรรม บทเรียน ปัญหา และการขยับต่อในช่วงต่อไปได้อย่างชัดเจน ตำนานมูลศาสนาของวัดบ้านเอื้อมที่เลือกมาแปลครั้งนี้ มีต้นฉบับขนาด 48 หน้าปั๊ปสา โดยมีแผนแปลออกมา 4 รุ่นคือ 1) ภาษาล้านนา 2) ภาษาปริวรรต 3) ภาษาคำเมือง 4) ภาษาไทย ได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องการจัดทำหรือการนำพจนานุกรมภาษาล้านนามาใช้ในโครงการ นอกเหนือจากที่โครงการได้จัดทำแบบฝึกหัดที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของอาจารย์อัศนีย์ ณ น่าน ว่าน่าจะนำวรรณกรรมอ้างอิงในพื้นที่อื่นมาใช้ประโยชน์ หลังเสร็จการประชุมคุณภัทรา มาน้อย เฉลยว่าทีมนี้ได้มีการใช้ Social Mapping ทำให้สามารถนำเสนอได้อย่างเป็นลำดับเริ่มจากนำเสนอเรื่องคนและความรู้ (Social) ข้อมูล (Map) และกิจกรรม (Ing)
                      ร่วมแลกเปลี่ยนกับการนำเสนอโครงการใหม่ของเยาวชนโรงเรียนพัฒนาสังคม คุณกมลธสรณ์ ยอดกำลัง นำเยาวชนของอำเภอห้างฉัตรมานำเสนอ เยาวชนอธิบายได้ชัดเจนกันทุกคน ผมมีโอกาสนำเสนอว่าน่าจะหาชื่อโครงการมาเป็นธง วัตถุประสงค์ สรรหาคนที่เข้ามามีบทบาท ประเด็น และกิจกรรม โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือการหาชื่อโครงการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ทีมเยาวชนที่มานำเสนอมีความเข้าใจกิจกรรมที่ทำอยู่ในโรงเรียนพอสมควร จึงเสนอชื่อโครงการว่า “รูปแบบโรงเรียนต้นแบบเชิงบูรณาการบ้าน วัด โรงเรียน” แต่หลังจากแลกเปลี่ยนร่วมกันในเวที ได้มีข้อสังเกตว่าเยาวชนอายุประมาณ 10 – 15 ปี น่าจะมีขอบเขตไม่กว้างหรือลึกเกินไปนัก จึงเสนอชื่อโครงการใหม่ว่า “แนวทางการพัฒนาเยาวชนโรงเรียนพัฒนาสังคม” เพราะที่มากันครั้งนี้เนื่องจากเกาะกลุ่มจากการใช้โรงเรียนพัฒนาสังคมเป็นฐาน และที่เสนอไปก็เพื่อให้มีการนำไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในพื้นที่ใหม่ ก่อนที่จะกลับมานำเสนอในเวที เพื่อทบทวนและร่วมให้ความเห็นกันอีกครั้ง