วีดีโอบทเรียนจากการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น

วีดีโอนำเสนอกระบวนการวิจัย
วีดีโอนำเสนอกระบวนการวิจัย

7 ม.ค.52 ได้รับวีดีโอจาก กรและปราง จึง upload ภาพยนต์บทเรียนงานวิจัยจำนวน 2 เรื่องที่นักศึกษาทุน cbpus คือ กร กับปราง (www.ldy69.com) ได้ยกร่างขึ้นมาเพื่อ present ให้ตัวแทนชุมชนที่อยู่ในภาพยนต์ได้เห็นภาพร่วมที่ได้นำเสนอร่วมกัน และใช้สอบถามนักเรียนจากทั้ง 2 โรงเรียนคือ โรงเรียนบ้านไหล่หิน และโรงเรียนไหล่หินวิทยา ช่วงมกราคม 2553 ซึ่งจะได้ประสานกับ อาจารย์ราตรี ดวงไชย และอาจารย์สุดา แผ่นคำ ต่อไป ในระหว่างประสานกับพื้นที่ ได้ส่งภาพยนต์ไปเผยแพร่ใน youtube.com แต่เข้าไปได้เรื่องละประมาณ 70% ต่อเรื่อง เพราะ youtube.com จำกัดความยาวเรื่องละไม่เกิน 10 นาที แต่หนังทั้ง 2 เรื่องยาวเรื่องละ 14 นาที ก็คิดว่าเผยแพร่ให้ดูแบบเรียกน้ำย่อยไปก่อนครับ และที่ส่งเข้าไปก็ลดขนาดแฟ้มลง ที่ท่านเห็นจึงไม่เต็มเรื่อง และมีความละเอียดไม่สูงนัก
+ http://www.youtube.com/watch?v=brdqIYi1Gw4
http://www.youtube.com/watch?v=KX52y3QZilQ

เวทีวิจัยจากทุน CBPUS เกี่ยวกับสื่อขยายองค์ความรู้งานศพ

งานวิจัย cbpus นักศึกษา ม.โยนก ในเวทีบ้านไหล่หิน
งานวิจัย cbpus นักศึกษา ม.โยนก ในเวทีบ้านไหล่หิน

คืนวันศุกร์ที่ 20 พ.ย.52 นักศึกษามหาวิทยาลัยโยนก ได้แก่ นายกร ศิริพันธุ์ และ น.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม และ ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ ตามทุนวิจัยโครงการ “แนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ได้จัดเวทีวิจัย ณ ศาลาหมู่ 2 บ้านไหล่หิน มีตัวแทนชาวบ้านที่จะเป็นผู้แสดงและเคยเป็นนักวิจัยในโครงการ “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” จากทุน CBR มาพิจารณาวิเคราะห์ความสอดคล้องของโครงวีดีโอ และสคริปต์ร่วมกัน ก่อนดำเนินการถ่ายทำและตัดต่ออย่างเป็นระบบ ที่เป็นกิจกรรมที่ 5 ของโครงการจากทั้งหมด 8 กิจกรรมหลัก และเตรียมสำหรับการนำเสนอความก้าวหน้าต่อผู้ให้ทุน ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552 ณ สกว.ศูนย์ลำปาง
      วาระในเวทีประกอบด้วย 1)ทบทวนวัตถุประสงค์ และกิจกรรมโครงการ 2)นำเสนอการดำเนินการที่ผ่านมาของนักศึกษากับชุมชน 3)นำเสนอโครงวีดีโอ 2 เรื่องคือ “ประเด็นปัญหา การแก้ไข และผลที่ได้” และ “กระบวนการวิจัย” 4)พิจารณาปรับปรุงโครงวีดีโอ บทวิเคราะห์โครง สคริปต์บทพูด 5)นัดหมายเพื่อถ่ายทำวีดีโอแต่ละท่านตามแผนในสคริปต์บทพูด
     กว่าจะถึงวันนี้ นักศึกษาทำงานไปแล้วตามขั้นตอน ดังนี้ 1)เข้าไปศึกษาชุมชน เดินสำรวจหมู่บ้าน สำรวจแหล่งทุนชุมชน นอนวัด นอนบ้าน เข้าพบ ผู้นำชุมชน และพระสงฆ์ 2)ศึกษาวรรณกรรมจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่นประวัติชุมชน กระบวนการวิจัย และการจัดงานศพ 3)เข้าเรียนรู้งานศพในบ้านไหล่หิน 2 งาน 4)เข้าสัมภาษณ์และบันทึกวีดีโอการนำเสนอองค์ความรู้จากนักวิจัยโครงการ CBR 5)ฝึกตัดต่อวีดีโอต้นแบบที่บันทึกมาแล้ว 6)ยกร่างโครงวีดีโอทั้ง 2 เรื่อง คือ “ประเด็นปัญหา การแก้ไข และผลที่ได้” และ “กระบวนการวิจัย” 7)ยกร่างสคริปต์บทพูด 8)จัดทำบทวิเคราะห์ และปรับแก้ทั้งความสัมพันธ์ของบท จัดวางพระเอกนางเอกให้เหมาะ กับบทพูด จัดลำดับ แก้ไขประเด็นคำพูด 9)นำสคริปต์บทพูดเข้าเวทีพิจารณาอีกครั้ง 10)เรียบเรียงทั้งหมดเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.webprodee.com/research
+ ตากล้องวันนี้คือ นายสุทัศน์ หรือบอย เพื่อนของกรกับปรางที่รับอาสาบันทึกภาพ

เปิดโครงการวิจัยนักศึกษาที่บ้านไหล่หินในพื้นที่ครั้งแรก

เวทีสรุปโครงการ cbr และเปิด cbpus
เวทีสรุปโครงการ cbr และเปิด cbpus

2 – 4 ต.ค.52 นายกร กับน.ส.มะปราง พร้อมเพื่อนคือนายอั๋น และนายบอย เข้าเปิดตัวโครงการวิจัยที่รับทุน CBPUS เวลา 20.00น – 23.00น. ของศุกร์ที่ 2 ในเวทีนี้ที่มีโครงการวิจัยเชื่อมโยงกัน 3 โครงการ ซึ่งคืนแรกนอนกันที่วัดโดยพระครูดูแลพาสวดมนต์ค่ำ คืนนั้นก็พอถูไถไปได้อยู่ แต่คืนที่สอง ต้องไปนอนบ้านอ.เก๋ แล้วกรบอกว่ากลัวผีเข้าวัดได้ เนื่องจากดูภาพยนต์เรื่องทางห้าแพร่งมาก่อน อ.เก๋ ถึงกับอ้าปากค้าง (เล่าขวัญลูกศิษย์) ตะลึงว่าสมัยนี้ยังมีภาพยนต์หลอกเด็กจนเด็กเชื่อแบบนี้อยู่อีกหรือ ก็เป็นการเข้าพื้นที่ครั้งแรก ต้องใช้น้ำเย็นเข้าลูบกันก่อน ครั้งต่อไปก่อนปิดโครงการจะเกลี้ยกล่อมให้นอนวัดให้ได้ ไม่งั้นเสียชาติเกิดเป็นคนไอทีหมด วันรุ่งขึ้นและวันถัดไปเข้าสัมภาษณ์และบันทึกวีดีโอจากนักวิจัยชุมชนกว่า 10 ท่าน ได้พบผู้นำ นักเรียน และครูใหญ่ มีเรื่องเล่ากันมากมาย แต่ที่แน่ ๆ คือนอนตื่น 10 โมงเช้า เพราะอ.เก๋ ชวนเคลียร์ประเด็นเกือบตีสามทั้ง 2 คืน และคุยกันอีกยาวหลายต่อหลายรอบ
     ประเด็นการประชุมมี 3 โครงการ คือ สรุปปิดโครงการของผม มี 11 วาระดังนี้ 1)นำเสนอบทสรุปของโครงการด้วยกิจกรรมชวนทุกคนร่วมทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และการขยายผลทั้งองค์ความรู้ผ่านสื่อวีดีทัศน์ในรูปของโครงการวิจัยต่อยอด และความร่วมมือกับกลุ่มในชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาชุมชน โดยกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นคือการชวนทีมวิจัยเล่าเรื่องซึ่งมีประเด็นหลักดังนี้ 1)การเริ่มต้นของโครงการ 2)การได้มาของประเด็นปัญหา 3)นำเสนอปัญหาในฐานะแม่บ้าน 4)การรวมตัวของทีมต่างบทบาท 5)อุปสรรคในระยะแรก 6)การเข้ามาของเครื่องมือช่วยคลายปมปัญหา 7)ส่วนร่วมของนักเรียน 8)ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่สัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียน 9)พลังของทีมวิจัยร่วม 10)ผลของการศึกษาดูงาน 11)ความประทับใจของนักวิจัย 2)นายกร ศิริพันธุ์ และน.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม ในนามนักศึกษาทุนวิจัย CBPUS  นำเสนอโครงการวิจัยแนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” เพื่อต่อยอดขยายผลโครงการนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประเด็นข้อตกลงในการจัดการงานศพในบ้านไหล่หิน 2)เพื่อจัดทำสื่อวีดีโอเผยแพร่ประเด็นข้อตกลง และกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นตามโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน 3)พระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์  อิสฺสรธมฺโม ในนามประธานชมรมธรรมะสว่างใจ นำเสนอ “โครงการขยายแนวร่วม ร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืน บ้านไหล่หิน จ.ลำปาง” ที่ต้องอาศัยการรวมกลุ่มของทีมวิจัยที่เข้มแข็งมาเป็นกลไกขับเคลื่อนอีกแรกหนึ่ง แล้วอธิบายวัตถุประสงค์โครงการ ดังนี้ 1)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินมีคุณธรรมสามารถ ลด ละ เลิกสิ่งเสพติด และอบายมุข 2)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินได้พัฒนาไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” 3)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินมีครอบครัวอบอุ่น มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม
     ก่อนกลับนักศึกษาได้ไปลาพระครู ท่านก็ให้พร และชวนไปทำวีดีโอโครงการของท่าน ซึ่งจะมีเครือข่ายสานสัมพันธ์กับผู้นำทั้งในและนอกพื้นที่ สื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะเหล่าศิษย์ที่ท่านจะชวนไปรู้จักและไปเป็นเครือข่าย .. ผมยังนึกในใจว่าอยากกลับเป็นเด็กอีกครั้งจะได้มีโอกาสวิ่งเข้ามาชนแบบนี้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องลุ่นว่าศิษย์ของผมเห็นโอกาสเหล่านั้นอยู่ในทางเลือกของพวกเขาหรือไม่ ดังคำว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง .. คืนวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2552 ลูกศิษย์หลายคนจะไปเดินจงกลมรอบเจดีย์วัดไหล่หินลุ่ม และปีนดอยฮางศึกษาธรรมชาติ ศิษย์โยนกท่านใดสนใจติดต่อผมได้ แต่มีเงื่อนไขไม่รับคนกลัวผี

น.ศ.เข้าเรียนรู้กิจกรรมงานศพในชุมชน

 

กร กับ ปราง ที่บ้านไหล่หิน
กร กับ ปราง ที่บ้านไหล่หิน

10-11 ต.ค.52 นักศึกษาโครงการ PDG52N0013 คือ นายกร ศิริพันธุ์ และน.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม เข้าพื้นที่บ้านไหล่หินครั้งที่ 2 เพื่อ 1)สัมภาษณ์ อ.สุวรรณ เกษณา อ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ และพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ เพิ่มเติมจากการเข้าพื ้นที่ครั้งแรก 2)เรียนรู้กระบวนการจัดการงานศพ 2 งานด้วยการเดินสำรวจ เก็บภาพ และร่วมกิจกรรมจูงศพในวันดา และวันเผา เพราะมีงานศพที่เผาวันเสาร์ และวันอาทิตย์วันละศพ โดยทั้ง 2 งานมีลักษณะแตกต่างกันเกี่ยวกับบทบาทของเจ้าภาพในชุมชน และมีประเด็นที่ทำให้ต้องพูดคุยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะวิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยช่วงเวลาที่ให้ความสำคัญคือช่วงเวลาของมนุษย์ยุคปัจจุบัน 3)พานักศึกษาไปเรียนรู้วัฒนธรรมบนดอยฮาง เพราะประเมินสมรรถภาพแล้วน่าจะไหว เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติ และความงดงามของศาสนา ได้พบกับถ้ำกลางดอย และสักการะเจดีย์ดอยฮางที่ยอดดอย
     แม้ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่พักในพื้นที่วิจัย แต่น.ศ.ก็ยังไม่สามารถค้างคืนที่วัดด้วยความสมัครใจ คาดว่าครั้งที่ 3 จะปรับตัวกันได้ มีแผนย้ายจากการพักบ้านอ.บุรินทร์ เป็นพักที่วัด การเข้าพื้นที่ครั้งต่อไปนอกจากจะเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมเสริมการยกร่าง story board แล้ว ยังกำหนดให้นักศึกษาตัดต่อวีดีโอลง VCD ชุดแรกให้เสร็จโดยใช้ข้อมูลวีดีโอของคนในชุมชนที่บันทึกไปนับสิบท่าน และเข้ามาทำความคุ้นเคยกับชุมชนด้วยการร่วมกิจกรรมกับวัดไหล่หินลุ่ม คือ เดินเวียนเทียนในวันศีล เพราะต่อไปต้องร่วมโครงการวิจัยกับพระครูฯ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานครั้งนี้ที่มีเครือข่ายร่วมกับชุมชน

ตานก๋วยฉลาก

รวมภาพจากประเพณี ตานก๋วยฉลาก
รวมภาพจากประเพณี ตานก๋วยฉลาก

12 ก.ย.52 ได้จัดก๋วยและฉลากไปทานที่วัดไหล่หินหลวง ถึงญาติสนิทผู้ล่วงลับ 3 ท่าน คือ ตาแสน ยายแก้ว และยายนี เป็นประเพณีที่ทำกันทุกปีในบ้านไหล่หิน ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยมีเพื่อนบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียง มาร่วมตานกันทุกปี ประเพณีนี้เรียกว่า “ตานก๋วยฉลาก” โดยชาวบ้านเช่น ครอบครัวของผม จะดาครัว หรือเตรียมก๋วย สมัยก่อนใช้ไม้ไผ่สานเป็นก๋วยหรือภาชนะใส่ของ แล้วใช้ใส่ข้าวของเครื่องใช้ อาหารคาวหวานใส่ลงไป ผู้ล่วงลับจะได้พกพาไปไหนได้สะดวก ปัจจุบันเห็นใช้ตะกร้าพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ บางคนก็ยังใช้ไม้ไผ่มาสานเป็นภาชนะสำหรับใส่ของตาน อาจใช้ย่าม กะละมังก็ทำได้ สำหรับของที่ตาน หรืออุทิศไปให้ผู้ล่วงลับอาจมีบ้านจำลอง เตียง หงส์จำลอง นกจำลอง หรืออะไรต่อมิอะไรตามจิตศรัทธา เป็นของตาน
     ช่วงเช้าไปถึงวัดก็จะเอาฉลาก หรือเส้นไปลงทะเบียนกับกรรมการวัด เพื่อจัดสรรมอบให้พระสงฆ์ หรือเณรที่มาจากวัดใกล้เคียงรวมกว่า 100 รูป และผู้เกี่ยวข้อง เพราะมีเส้นในปีนี้กว่า 4000 เส้น ก็คือของตาน 4000 ชุดจากหลายร้อยครอบครัว สำหรับพระที่ได้รับเส้นหรือฉลากมา อาจมอบให้กรรมการวัดไปตามหา แล้วนำมาจัดสรรในภายหลัง มีความเชื่อว่าถ้าของตานชุดใดถูกรับไปก่อน หมายถึงผู้ล่วงลับมารับส่วนบุญไปเร็ว ชุดใดออกช้า แสดงว่ายังไม่มารับ แต่สุดท้ายก็ได้ตานทุกชุด ต่างกันเพียงแต่ว่าจะหมดช้าหรือหมดเร็ว แต่ละครอบครัวจะเตรียมก๋วยไว้หลายชุด บางบ้านมากกว่า 10 ชุด เพราะมีญาติที่ล่วงลับไปแล้วหลายคน
     เมื่อผมไปถึงวัดก็พบคุณทรงศักดิ์ แก้วมูล ในฐานะกรรมการวัดที่มีบทบาทสำคัญในการจัดงานนี้ จึงขอถ่ายภาพท่านมาเขียน blog และนานนานครั้งผมจะได้มีโอกาสไปร่วมงาน เพราะถ้าวันงานตรงกับวันทำงานก็จะมอบให้ญาติท่านอื่นไปทำหน้าที่ ครอบครัวผมมีคนมารับตานเร็ว กลับถึงบ้านประมาณ 12.30 น. ออกบ้านกันแต่เช้าตั้งแต่ 09.00 น. เพราะมีพิธีทางศาสนาในศาลา ที่กระทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ก็ต้องลุ่นว่าปีต่อไปจะนำลูก ๆ ไปร่วมกิจกรรมนี้ได้อีกหรือไม่ ก็ภวนาให้เป็นวันหยุด .. จะได้ไปร่วมตานอีก

ความเปลี่ยนแปลง

ทรงศักดิ์
ทรงศักดิ์

     “การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชุมชนนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เวลา แล้วใครจะทำ และทำเพื่อใคร”  เป็นประโยคที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้นก่อนทำการวิจัยในพื้นที่ เกิดอะไรบางสิ่งบางอย่างในพื้นที่ก่อนงานวิจัยจะเริ่ม คำถาม คำนินทา คำเตือน คำบอกเล่า ล้วนเป็นคำที่มีความหมายและมีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจของชุมชนและเป็นคำที่เกิดขึ้นก่อนงานวิจัยจะเริ่ม 

  “ทำไปทำไม ของมันดีอยู่แล้ว”
  “เป็นใครมาจากไหน ถึงได้กล้าทำในสิ่งที่เขาไม่ทำกัน”
  “อย่าทำเลย เดี๋ยวมันจะขึด”
  “เมื่อทำไปแล้ว ได้อะไรขึ้นมา ชาวบ้านได้อะไร”
  “สูทำไปทำไม ไผเป็นคนบอกให้สูทำ”

     คำถามต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่มีข่าวการทำวิจัยเรื่องงานศพในบ้านไหล่หิน การทำงานเริ่มระมัดระวังมากขึ้น เริ่มหันมาพูดคุยกันในกลุ่มนักวิจัยชาวบ้านถี่ขึ้น นักวิจัยต่างคนต่างให้ข้อคิดเห็นต่างกันออกไป เป็นกระจกซึ่งกันและกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างการทำงาน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงในตัวนักวิจัย เริ่มมีการไตร่ตรองความคิดของตนเองและเพื่อนร่วมงานอย่างละเอียด ประเด็นนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากตัวนักวิจัยต้องการที่จะให้งานที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของชุมชน เพราะฉะนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางสิ่งบางอย่างในชุมชน การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักวิจัยท้องถิ่นที่มีต่อชุมชนและรูปแบบงานวิจัยนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปตามรูปแบบที่เกิดขึ้น เพราะผลที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นเรื่องที่ชุมชนจะกล่าวว่านักวิจัยของบ้านไหล่หินเป็นผู้นำทางความคิด หรือ “เป๋นเก๊าตางกำกึด” และนี่เป็นสิ่งที่นักวิจัยท้องถิ่นต้องยอมรับ
        หากกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในงานวิจัยท้องถิ่นโดยนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หิน หมู่ 2 ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง แล้วนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลนั่นคือ นักวิจัย และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากชุมชน และที่สำคัญเกิดความเปลี่ยนแปลงกับชุมชนโดยรอบ ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดและสามารถสัมผัสได้ อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า นักวิจัยของบ้านไหล่หินเกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด เปลี่ยนแปลงการทำงาน ประเด็นนี้ส่งผลให้เกิดการยอมรับนักวิจัยในชุมชนขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการทำงานของนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หินทำงานกันเป็นทีม ทำให้การยอมรับกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในงานวิจัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ชาวบ้านเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างจากนักวิจัยท้องถิ่นบ้าง แต่ความคิดของชาวบ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นการแตกแยกในกลุ่มของชาวบ้านกันเอง แต่กลับเป็นผลดีต่อกระบวนการงานวิจัยที่กำลังลงมือกันอยู่ เป็นกระจกส่องการทำงานโดยคนในชุมชน เกิดสัมพันธภาพที่ดีในกลุ่มนักวิจัยและชาวบ้านที่เข้าร่วมเวที เสียงหัวเราะเริ่มเสียงดังขึ้น การแสดงความคิดเห็นในเวทีเริ่มมีสีสัน ข้อเสนอแนะมีมากขึ้น
       สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านมีความเข้าใจในกระบวนการงานวิจัยมากขึ้น กอปรกับชุมชนไหล่หินเป็นชุมชนที่มีการทำวิจัยในชุมชนค่อนข้างมาก ทำให้การดำเนินกิจกรรมระหว่างงานวิจัยนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในเวทีงานวิจัยแล้วผลของความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเปลี่ยนแปลงในชุมชนในช่วงเวลาปกติ และในช่วงที่มีงานศพในหมู่บ้าน ขั้นตอนและกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนไหล่หินนั้นเป็นกระบวนการที่มีทั้งการขับเคลื่อนโดยนักวิจัยและการขับเคลื่อนโดยคนในชุมชน ซึ่งเราต้องยอมรับว่าในบางครั้งของห้วงเวลาที่ดำเนินงานวิจัย บางเรื่องเป็นเรื่องที่นักวิจัยไม่สามารถถามต่อชุมชนได้ เนื่องจากว่าบางสิ่งบางอย่างในงานวิจัยเป็นเรื่องของจารีตประเพณี เป็นเรื่องของความเชื่อที่มีมานาน เพราะฉะนั้นประเด็นนี้คนที่ขับเคลื่อนเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือคนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยทำให้ประเด็นคำถามที่ทีมนักวิจัยต้องการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเวทีประชาคม เป็นการพูดคุยผ่านกระบวนการประชาคมในหมู่บ้านและการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในงานศพที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งในหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเริ่มมีการพูดคุยในงานศพก็นำมาพูดคุยให้ข้อเสนอแนะในเวที โดยเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวที่มีการพูดคุยกันมานานก่อนงานวิจัยจะเริ่มขึ้นและเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างงานวิจัย ทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีการบ่มมานาน การพูดคุย การเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เคยปิดกั้นทางความคิดของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับจารีตถูกเปิดเผย ถูกพูดถึง ทำให้จารีตประเพณีหรือฮีตถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพูดคุย ปัดฝุ่นกันอีกครั้งว่า เป็นฮีตเดิมฮีตเก่าฮีตแก่หรือไม่อย่างไร ใช้เหตุและผลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการชำระฮีตในชุมชน ทำให้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นทิศทางของความคิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในชุมชน จนนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดขึ้นตามการชำระฮีต โดยยังยึดหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสั่งสอนของบรรพบุรุษในชุมชน ทั้งนี้เป็นการเดินทางสายกลางทางความคิดระหว่างนักวิจัยในหมู่บ้าน ผู้สูงอายุ เยาวชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในชุมชนเกิดขึ้นท่ามกลางมวลชนหลายหมู่เหล่าที่เห็นพ้องในแนวทางการดำเนินงานโครงการวิจัยการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านไหล่หิน หมู่ 2 และ หมู่ 6 ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและสัมพันธภาพในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด เกิดการยอมรับทางความคิด และการยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น
              จากความเปลี่ยนแปลงในทั้งสองหมู่บ้านทำให้ชุมชนรอบข้างเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกระบวนการงานวิจัยที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านดำเนินการกันอยู่ มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงไม่สนับสนุน เหมือนลักษณะในครั้งแรกที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หิน แต่กระนั้นก็ตามการกล่าวขานก็เป็นเพียงการกล่าวขานเล่าเรื่องราวเท่านั้น ความกระจ่างชัดในวัตถุประสงค์ของงงานวิจัยยังไม่แผ่คลุมในระดับตำบลหรือชุมชนรอบข้างแต่อย่างใด   

“หมู่บ้านท่านทำแบบใด ผมอยากมีแนวทาง
เหมือนบ้านท่านบ้าง หากมีเวลาผมขอเชิญมา
พูดคุยกับชาวบ้านตอนประชุมหมู่บ้านด้วยนะ” 

       เสียงของผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหนึ่งบอกกล่าวแบบเชิญชวนหนึ่งในทีมวิจัยของเราเข้าไปพูดคุยในประเด็นที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังดำเนินการและปฏิบัติกันอยู่ ตรงนี้เป็นการชั่งคิดของชุมชนรอบข้างถึงแนวทางที่เกิดขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนรอบข้างที่ตอบรับกระบวนการงานวิจัยที่เกิดขึ้น เป็นการส่งไม้ต่อที่ไม่ต้องออกแรงกันมากนัก เกิดแนวร่วมแบบไม่เป็นทางการเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ไม่นาน เกิดแรงสนับสนุนจากภายนอกชุมชนเข้ามาเป็นระยะ ๆ จนในที่สุดกระบวนการและขั้นตอนที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หินก็สามารถหยิบยกในรูปแบบการดำเนินงานไปใช้กับชุมชนรอบข้างในตำบลไหล่หินได้เป็นอย่างดี จะแตกต่างตรงที่แนวทางและรูปแบบของแต่ละหมู่บ้านที่ไม่เหมือนกัน แต่กระบวนการที่นำไปใช้เป็นการถอดบทเรียนที่ชาวบ้านสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนทางความคิด บทเรียนทางการปฏิบัติ ทำให้เห็นว่าในเมื่อสิ่งที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังทำอยู่นั้น เกิดผลดี ผลสัมฤทธิ์ที่มีคุณค่า หมู่บ้านหรือชุมชนรอบข้างเกิดความต้องการที่จะใช้กระบวนการของงานวิจัยเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชุมชนของตน
        จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตัวบุคคลไปถึงระดับหมู่บ้านจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับตำบลนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้แนวความคิดที่อยู่ภายใต้กระบวนการงานวิจัยท้องถิ่นของชาวบ้านไหล่หินที่กล้าเปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงชุมชนจนนำไปสู่รูปแบบการจัดงานศพที่เกิดขึ้นจากเวทีประชาคม เกิดจากบทเรียนที่ถอดด้ามมาจากชุมชนรอบข้าง ทั้งนี้ผู้เขียนที่เป็นหนึ่งในทีมวิจัยชาวบ้าน เห็นว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกระบวนการงานวิจัยที่สอนให้ชาวบ้านได้รู้จักระบบการคิดที่มีเหตุผลและเป็นขั้นตอนอย่างยั่งยืนบนฐานความคิดของตนเองและชุมชน

ชวนเที่ยว 5 วัดกับชุมชนวิถีไทยพุทธตำบลไหล่หิน

ภาพไหล่หิน
ภาพไหล่หิน

เช้าวันเสาร์ ถึงสถานีรถไฟหรือรถทัวร์ อำเภอเมือง ลำปาง แล้วเดินทาง 30 กิโลเมตรไปตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เข้าไหล่หินแวะกาดเช้าในบ้านไหล่หิน ซื้อกับข้าวท้องถิ่นเป็นอาหารมื้อเช้า เข้าพักบ้านพ่อหลวงแม่หลวงในหมู่บ้านในบ้านที่สะดวก ไปสักการะ วัดไหล่หินหลวงและพิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง เดิมชมแนวต้นยางริมแม่น้ำยาวเก็บภาพประทับใจ  ทางก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารตามสั่งในหมู่บ้านเป็นอาหารกลางวัน แล้วขับจักรยานชมทุ่งริมแม่น้ำยาวไปบ้านมะกอกนาบัว บ่ายแก่ ๆ ไปกาดแลงบ้านหนองหล่ายแล้วซื้ออาหารเย็นมาทำกิน กลับมาพักผ่อนทานข้าวเย็นในที่บ้านที่พัก ตกค่ำไปสวดมนต์ทำวัตรเย็นกับพระครูวัดชัยมงคลธรรมวราราม  เริ่มเช้าวันอาทิตย์หาอาหารเช้าในกาดเช้าไหล่หิน จากนั้นก็ออกเดินทางนำผู้ที่แข็งแรงไปขึ้นดอยฮางเป็นดอยหินปูนมี พระธาตุอยู่บนยอดดอย และมีถ้ำพระอยู่กลางดอยระหว่างทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุ ลงจากดอยพาไปแช่น้ำพุร้อน ทานข้าวเที่ยงบนแพ ที่บ้านโป่งร้อน แล้วไปไหว้พระที่ วัดสันตินิคม (สันป่าสัก) เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดลำปาง  แห่งที่ 1 (สังกัดธรรมยุต) ออกจากตำบลไหล่หินแวะสักการะ วัดพระธาตุลำปางหลวง  ก่อนส่งที่สถานีขนส่งในอำเภอเมืองลำปาง  .. ก็เพียงแต่คิดจะชวนคนไทยมาเที่ยวที่ตำบลไหล่หิน มีค่าที่พักให้พ่อหลวงแม่หลวงเจ้าของบ้าน 500 บาท กับค่าเดินทางอีก 1000 บาท กับค่าจัดการประสานงานวันละ 1000 บาท และอื่นอีก 500 บาท ก็น่าจะ เหมาะกับคนในชุมชน

วันวุ่นในวันแรงงาน 2552 (8)

เช้ามาก็ลืมตาในโรงพยาบาล เพราะไม่นอนเฝ้าคุณแม่ที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง ห้อง 508 ตึกเมตตา ท่านต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนตาจากอาการต้อกระจก ไม่ทันส่งท่านเข้าห้องผ่าตัดก็ต้องรีบออกไปรับลูก ๆ ไปโรงเรียน เพื่อไปรับเงินช่วยเหลือการศึกษาของลูกที่รัฐอุดหนุนคนละ 550 บาท รับแล้วก็ซื้อสมุด ก็ถึงกับอึ้งเพราะสมุดอย่างเดียวก็คนละ 500 เศษแล้ว ยังไม่ทันซื้อชุด หรือหนังสือเลย กลับมาโรงพยาบาลคุณแม่ก็ยังไม่ออกจากห้องผ่าตัด ก็มีโทรศัพท์แจ้งปัญหา mail server เต็ม ก็ไปหาร้านเน็ตข้างโรงพยาบาล เพื่อ connect ผ่าน putty เข้าไปลบ Trash ของสมาชิก ที่ไม่เคยลบ mail หรือล้างถังขยะ ก็ปกติของระบบที่ไม่จำกัดจำนวนอีเมลของสมาชิก ย่อมเต็มอยู่เนือง ๆ กลับมาห้องผู้ป่วยก็พบคุณแม่กลับมาแล้ว อาการท่านไม่น่าเป็นห่วง กินได้ พูดได้ มีความสุขดี เพราะนี่ข้างที่สอง แต่ช่วงบ่ายท้องผมเสียเล็กน้อย เพราะดื่มกาแฟที่เข้มข้นจากร้านสะดวกซื้อในโรงพยาบาล  พอ 18.30 ก็ไปขึ้นรถที่มหาวิทยาลัย ไปประชุมโครงการหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขที่บูรณาการร่วมกัน ลุงล้วนในฐานะสารวัตรกำนัน เสียค่าโทรศัพท์ติดต่อผมเข้ามาตั้งหลายครั้ง ก็เกรงใจท่านมาก  เพราะประสานเรื่องผู้เข้าประชุม เรื่องฝนตกหนัก และขอรายละเอียดเพิ่มเติม เมื่อทีมของมหาวิทยาลัย เข้าไปก็แลกเปลี่ยนกันเรียบร้อยด้วยดี กำนันกิจชนะชัย ปะละ กับผู้ใหญ่เพิ่มศักดิ์ จินะการ ให้การต้อนรับด้วยดี พระครูก็ร่วมประชุมด้วยท่านอธิบายเรื่อง SWOT โดยละเอียดครับ เลิกประชุมกว่า 22.00 น. ก่อนกลับบ้านแวะ 7-Eleven ซื้อขนมปังแก้หิว แล้วไปนั่งหน้าเครื่องคอมฯ ยกร่างบทความที่ 189 และ 190 พร้อมค้นข้อมูลข่าวก็ไปพบข่าว ดาราสาวเกาหลีผูกคอตาย น้อยใจหลุดแคสติ้ง เธอชื่อ เซียง-ยอน ดาราสาวชาวเกาหลีใต้ วัย 26 ปี อีกเรื่องที่คาใจคือ วันนี้มิใช่วันหยุดของมหาวิทยาลัย ถ้าที่ทำงานเปิดเมื่อไรก็จะไปเขียนใบลาย้อนหลังตามระเบียบครับ .. แล้วพบกันใหม่วันแรงงานปีหน้า
http://www.thiswomen.com/News1/id3568.aspx

เป็นตากล้องเก็บภาพประเพณีสงกรานต์ไหล่หิน (5)

ประเพณีสงกรานต์ตำบลไหลหิน
ประเพณีสงกรานต์ตำบลไหลหิน

มีโอกาสเข้าร่วมงาน “ประเพณีสงกรานต์ตำบลไหล่หิน และปีใหม่เมืองวัดไหล่หินหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ประจำปี 2552” เมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2552 ได้เดินถ่ายภาพตั้งแต่ก่อนเริ่มขบวนจนเสร็จพิธีเกือบ 4 ชั่วโมง เลือกภาพมาได้ 96 ภาพ แล้วบีบให้เหลือขนาด 1024 * 768 pixels เพื่อเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต แต่ภาพขนาดเต็มได้คัดลอกลง CD-ROM จะมอบให้กับผู้นำในตำบลท่านละแผ่นรวม 7 แผ่น ภาพแบ่งเป็น 4 เหตุการณ์ คือ 1)ก่อนและหลังเดินขบวน 2) ในเวทีเปิดปิดงาน 3) ในวัดไหล่หินหลวง 4) งานวัดบริเวณรอบวัด งานนี้ได้รับเกียรติจากท่านพินิจ จันทรสุรินทร์ มาเป็นประธานเปิดงาน แล้วกล่าวต้อนรับโดยนายบดินทร์  เครือนพรัตน์ ปลัดอาวุโสอำเภอเกาะคา และรายงานโดย ด.ต.กิจชนะชัย ปะละ กำนันตำบลไหล่หิน ข้างวัดไหล่หินมีมหรสพ เช่น ซอคำเมือง ดนตรีสากล มวยไทย บ้านบอล และกิจกรรมอีกมากมาย ซึ่งงานครั้งนี้มีงบประมาณสนับสนุน 150,000 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลไหล่หิน มี นายนเรศ ดวงไชย นายก อบต. และ นายทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธาน อบต. มาร่วมให้การต้อนรับผู้มีเกียรติ ภาพทั้งหมดได้เผยแพร่ภาพใน http://www.thaiall.com/lovelampang/nw/index.php?key=%BB%C3%D0%E0%BE%B3%D5%CA%A7%A1%C3%D2%B9%B5%EC