คู่มือ Cyber security สำหรับประชาชน : อธิบายศัพท์

ได้รับหนังสือคู่มือแนวทางปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ภาคประชาชน
คือ “คู่มือ Cyber Security สำหรับประชาชน
โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ธันวาคม 2558 จำนวนพิมพ์ 7,500 เล่ม
มีแหล่งดาวน์โหลดหนังสือ
ที่ https://www.bodin.ac.th/home/2015/01/2941
หรือ http://www.ebooksdownloadfree.net/2015/09/cyber-security.html

cyber security สำหรับประชาชน
cyber security สำหรับประชาชน

ในบทที่ 9 หน้า 206 มีอธิบายคำศัพท์ ไว้ 28 คำ ดังนี้
1. เน็ต (Net) มาจากคำว่า อินเทอร์เน็ต (Internet) หมายถึง ระบบเครือข่าย ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก เมื่ออุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อเข้ามาใน ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็จะสามารถสื่อสารกันได้จากทุกมุมโลก ผ่านโปรแกรมหรือแอพต่างๆ 
2. เน็ตซิม (Net SIM) หมายถึง ซิม (SIM Card ของระบบโทรศัพท์มือถือ) ที่สมัครแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการ เมื่อนำมาใส่ในอุปกรณ์ก็จะเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ตได้แบบ 4G/3G/EDGE 
3. เน็ตมือถือ (Mobile Internet) หมายถึง การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ ไม่ว่าจะต่อผ่านเน็ตซิมหรือผ่าน Wi-Fi 
4. Data Roaming หมายถึง การใช้บริการอินเทอร์เน็ตข้ามเครือข่าย ซึ่งจะใช้เมื่อไปต่างประเทศ โดยมีค่าบริการแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและแต่ละผู้ให้บริการ ถ้าไปต่างประเทศแล้วไม่ต้องการใช้ก็ควรปิด Data Roaming ป้องกันการเสียเงินมหาศาลโดยไม่ตั้งใจ 
5. Mobile Internet Device (MID) หมายถึง อุปกรณ์พกพาที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เช่น  สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตต่าง ๆ 
6. อุปกรณ์พกพา (Mobile Device) หมายถึง อุปกรณ์ที่พกพาไปไหนมาไหนด้วยได้อย่างสะดวก เช่น โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต, นาฬิกาอัจฉริยะ เป็นต้น 
7. สมาร์ทโฟน (Smart phone) หมายถึง โทรศัพท์มือถือที่ทำได้มากกว่าโทรออกและรับสาย สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และติดตั้งแอพเพิ่ม เพื่อทำงานสารพัดรูปแบบได้  
8. แท็บเล็ต (Tablet) หมายถึง อุปกรณ์ที่คล้ายกับสมาร์ทโฟน แต่มีขนาดใหญ่กว่า บางรุ่นสามารถใส่ซิมเพื่อใช้งานโทรศัพท์ บางรุ่นใส่ซิมได้แต่ใช้งานโทรศัพท์ไม่ได้ก็มี บางรุ่นก็ไม่สามารถใส่ซิมได้เลย ต้องต่อเน็ตโดยผ่าน Wi-Fi เท่านั้น
9. เว็บ (Web) มาจากคำว่า เว็บไซต์ (Web site) ภายในเว็บไซต์จะประกอบด้วยหน้าเว็บเพจหลายหน้าที่มีข้อมูลต่าง ๆ การเข้าไปที่เว็บไซต์จะต้องระบุที่อยู่เว็บหรือ URL ให้ถูกต้องก่อน
10. ระบบปฏิบัติการ (Operating Systems หรือ OS) หรือเรียกว่า เฟิร์มแวร์ (Firmware) ในโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตจะมีระบบปฏิบัติการทำหน้าที่บริหาร จัดการ และควบคุมการทำงานของชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ในเครื่อง โดยจะติดต่อกับผู้ใช้ผ่านทางอินเทอร์เฟส (User Interface (UI) หน้าจอการทำงานที่ให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานเครื่องด้วย คำสั่งต่าง ๆ) ที่แตกต่างกันไปในเครื่องแต่ละรุ่น ที่นิยมใช้กันในอุปกรณ์พกพาก็ได้แก่ iOS จะใช้ใน iPhone/iPad ส่วน Android จะใช้ในอุปกรณ์ทั่วไป เช่น Samsung/HTC/LG เป็นต้น ส่วน Windows Phone จะใช้ใน NOKIA
11. แอพ (App) มาจากคำว่า แอพพลิเคชั่น (Application) ทำหน้าที่แบบเดียวกับโปรแกรมบนเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่แอพพลิเคชั่นนี้จะใช้เรียกโปรแกรมที่ทำงานบนอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ ในระบบปฏิบัติการ iOS, Android, Windows Phone, Symbian รวมถึงโปรแกรมบางประเภทของเครื่องที่ใช้ Windows 8 หรือเครื่องแมคของ Apple ด้วย
12. โพสต์ (Post) หมายถึง การเขียนข้อความ ใส่รูปภาพ คลิปวิดีโอ หรืออื่น ๆ ไว้บนอินเทอร์เน็ต ให้ผู้อื่นได้รับรู้
13. แชท (Chat) หมายถึง การพูดคุยสนทนากันบนอินเทอร์เน็ตผ่านโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ
14. ออนไลน์ (Online) หมายถึง การกระทำต่าง ๆ ที่ทำผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น เกมออนไลน์หมายถึงเกมที่เล่นผ่านอินเทอร์เน็ต
15. เมล์ (Mail) มาจากคำว่า อีเมล์ (Electronic Mail) เป็นการส่งจดหมายถึงกันบนอินเทอร์เน็ต โดยผู้ส่งและผู้รับจะต้องมีอีเมล์แอดเดรสสำหรับติดต่อกัน
16. โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) หมายถึง สังคมออนไลน์ที่ผู้คนมารวมตัวกันบนอินเทอร์เน็ตผ่านโปรแกรมหรือแอพต่าง ๆ เช่น Facebook, Twitter, Instragram
17. คลาวด์ (Cloud) หมายถึง เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก จะให้พื้นที่กับผู้ใช้เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้บนเน็ต แล้วดึงมาใช้งานได้ในทุกอุปกรณ์และทุกเวลา
18. แบ็คอัพ (Backup) หมายถึง การบันทึกข้อมูลต่าง ๆ โดยการเก็บสำรองไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือบนอินเทอร์เน็ต (Cloud)
19. รีสโตร์ (Restore) หมายถึง การนำข้อมูลที่แบ็คอัพไว้มาใส่ในอุปกรณ์ให้ใช้งานต่อได้อย่างรวดเร็ว
20. แฮก (Hack) หมายถึง การเจาะระบบ หรือหลอกลวงด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ แล้วนำไปใช้กระทำการต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ของแฮกเกอร์ (Hacker ผู้เจาะระบบ)
21. ไวรัส (Virus) หมายถึง โปรแกรมที่เข้ามาทํางาน เพื่อสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ และมักแพร่กระจายต่อเพื่อส่งผลกระทบในวงกว้าง
22. โทรจัน (Trojan) หมายถึง โปรแกรมหรือแอพมุ่งร้ายโดยหลอกให้เจ้าของติดตั้ง แล้วลับหลังคอยดักจับข้อมูลหรือทำลายข้อมูลเครื่อง
23. มัลแวร์ (Malware) หมายถึง โปรแกรมที่มีจุดประสงค์ร้ายต่อเครื่อง ไม่ว่าจะแอบแฝงเข้ามาด้วยวิธีไหนหรือมีการทำงานอย่างไร
24. ฟิชชิ่ง (Phishing) หมายถึง การหลอกโดยใช้เหยื่อล่อ (เปรียบกับการตกปลา (Fishing)) ให้ไปที่หน้าเว็บปลอมแล้วกรอกชื่อและรหัสผ่านของบริการต่างๆ แล้วดักจับเอาไป
25. ฟาร์มมิ่ง (Pharming) หมายถึง การที่แฮกเกอร์โจมตีเซิร์ฟเวอร์ของเว็บหรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยเปลี่ยนค่าที่เซิร์ฟเวอร์ให้ส่งผู้ที่เข้าเว็บนั้นด้วย URL ปกติไปยังหน้าเว็บปลอม
26. ไอจูน (iTunes) หมายถึง โปรแกรมที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ iOS เพื่อซิงค์ข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงแบ็คอัพและรีสโตร์ข้อมูลด้วย
27. เจลเบรค (Jailbreak) หมายถึง การดัดแปลงระบบปฏิบัติการ iOS เพื่อติดตั้งแอพที่ไม่มีใน App Store หรือแอพเสียเงินให้ใช้ได้แบบฟรี เปลี่ยนธีม (หน้าตาการใช้งาน) หรือทำเพื่อเก็บค่าเฉพาะสำหรับดาวน์เกรดเวอร์ชั่นของระบบปฏิบัติการ
28. รูท (Root) หมายถึง การดัดแปลงระบบปฏิบัติการ Android เพื่อติดตั้งแอพที่ไม่มีใน Play Store หรือเปลี่ยนธีม เป็นต้น

นิยามศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูล

13 ธ.ค.52 ปีการศึกษานี้เริ่มการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล ซึ่งหลายท่านไม่ทราบนิยามศัพท์ของคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำ นิยามศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูล โดยรับความอนุเคราะห์เรียบเรียงจาก อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.เกศริน อินเทลา  และเผยแพร่ให้ทุกคณะ และหน่วยงานได้รับทราบผ่านบันทึก งทส. ๔๑/๒๕๕๒ โดยมีรายละเอียดดังนี้
     ๑. ระบบฐานข้อมูล (Database System) คือ การรวมและจัดเก็บข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันเข้าด้วยกัน (Integration) โดยมีการจัดกลุ่มข้อมูลให้อยู่ในรูปตาราง (Grouping) ที่สามารถเชื่อมโยงตารางทั้งหมดเข้าหากัน(Sharing) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ (Non Redundancy) ไม่มีความขัดแย้งของข้อมูล (Inconsistency) และมีความคงสภาพของข้อมูล (Integrity)
     ๒. ข้อมูล (Data) คือ ค่าของความจริงที่ปรากฏขึ้น โดยค่าความจริงที่ได้จะนำมาจัดการ ปรับแต่งหรือประมวลผล เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ
     ๓. สารสนเทศ (Information) คือ กลุ่มของข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลตามกฎเกณฑ์ เพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นมีความหมายและมีประโยชน์ตามความต้องการของผู้ใช้
     ๔. ระบบ (System) คือ สิ่งที่ประกอบขึ้นมาจากหน่วยย่อยหรือองค์ประกอบย่อย ที่มีความสัมพันธ์และทำหน้าที่ร่วมกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
    ๕. ระบบ (System) มีความหมายอธิบายในคู่มือของ สกอ. (พ.ค.52) หน้า 222
ระบบ (System) ประกอบด้วย 1)วัตถุประสงค์ (Objective) 2)ปัจจัยนำเข้า (Input) 3)กระบวนการ (Process) และ 4)ผลผลิต (Output) แต่ในการประเมินตามคู่มือของ สกอ. คำว่าระบบ จะเน้นที่กระบวนการ หมายถึง ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลออกมาตามที่ต้องการ ขั้นตอนการปฏิบัติงานจะปรากฎให้ทราบโดยทั่วกันไม่ว่าจะในรูปของเอกสารหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการอื่น ๆ
     ๖. ระบบและกลไก มีความหมายอธิบายในคู่มือของ สกอ. (พ.ค.52) หน้า 162
     ระบบและกลไก คือ ขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยบุคลากร ทรัพยากร กฎเกณฑ์ มาตรการ แนวปฏิบัติ และปัจจัยต่าง ๆ เป็นกลไกให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย

เรียบเรียงโดย อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี