ระบบฐานข้อมูลข้อตกลงภาระงานคณาจารย์

23 ส.ค.53 ฟอร์มภาระงานรุ่นแรกใช้งานได้แล้ว พัฒนาผ่านโปรแกรม 3 ตัวหลัก ตามที่คุณธรณินทร์ ออกแบบไว้ คือ parakit.php parakit_add.php phptoword.php แล้วทำงานกับตารางข้อมูลอย่างน้อย 8 ตารางใหม่ มีเขตข้อมูลพื้นฐานประมาณ 2 ร้อยกว่าตัว โดยมี 1) parakit.php รับข้อมูลหรือนำข้อมูลที่เคยกรอกไว้ขึ้นมานำเสนอ โดยควบคุมด้วย javascript 2) phptoword.php ใช้รับค่าจากฟอร์มแปลงเป็น word สำหรับ print และเซ็นเสนอตามลำดับชั้น 3) parakit_add.php ถูก include ที่ส่วนหัวของ phptoword.php เพื่อเก็บข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ถูกจัดเก็บจะถูกดึงขึ้นมาแสดงใน parakit.php สำหรับการเข้าระบบครั้งต่อไป
งานที่ค้าง คือ แบบฟอร์มทั้งหมดเป็นรุ่นทดสอบ แบบฟอร์มล่าสุดผ่านการประชุมผู้บริหารวันนี้ และต้องปรับระบบฐานข้อมูล และโปรแกรมทั้งหมดใหม่ และนำเสนอวันต่อไปในที่ประชุมอาจารย์ สิ่งที่ต้องแก้ไขคือ  1) แก้ไขโครงสร้างแฟ้มในระบบฐานข้อมูลที่อนุมัติเย็นนี้ 2) แก้โปรแกรมที่มีการใช้ select, insert และ update ทั้งหมด 3) ปรับ javascript ให้ทำงานกับฟอร์มใหม่ที่จะพบในวันรุ่งขึ้น 4) แก้ปัญหาความเสถียรของระบบฐานข้อมูลที่ควรแก้ไขให้ทันการใช้งานจริง

ผลประเมินการอบรมการส่งข้อมูลระดับบุคคล 3 ตอนแรก

7 มิ.ย.53 ตามที่มีการอบรม การส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองระดับบุคคล วันนี้มีจัดอบรม 3 ตอน จำนวน 9, 2 และ 4 คน ในเวลา 11.00น.-12.00น. 13.00น.-14.00น. และ 14.00น.-15.00น. ตามลำดับ ใน 3 ตอนนี้มีบุคลากรเข้าอบรมรวมทั้งหมด 7 คน และเจ้าหน้าที่ 8 คน รวม 15 คน
     จากผลการประเมินความพึงพอใจจำแนกเป็น 8 ประเด็นพบว่า 1) ห้องฝึกอบรม มีความพึงพอใจระดับปานกลาง (X=3.4) 2) หัวข้ออบรม มีความพึงพอใจระดับมากที่สุด (X=4.4) 3) เอกสารประกอบการอบรม มีความพึงพอใจระดับมาก (X=3.87) 4) วิทยากรด้านประกันคุณภาพ มีความพึงพอใจระดับมากที่สุด (X=4.33) 5) วิทยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความพึงพอใจระดับมากที่สุด (X=4.27) 6) ระยะเวลา มีความพึงพอใจระดับมาก (X=4.2) 7) ที่อยู่เว็บเพจ มีความพึงพอใจระดับมากที่สุด (X=4.4) 8) เห็นด้วยที่มีการเชื่อมโยงข้อมูล มีความคิดเห็นระดับมากที่สุด (X=4.47)
+ http://www.thaiall.com/research/sar52/sar_53060708_person.xls

ระบบการปรับปรุงรายงานขาดลาสายออนไลน์

22 ม.ค.53 วัตถุประสงค์ของระบบคือ ปรับปรุงข้อมูลที่ใช้รายงานจำนวนวันและชั่วโมง ที่บุคลากร ขาด ลา และสาย ให้บริการแก่บุคลากร หัวหน้างาน และผู้บริหาร ให้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่สรุปภาพรวมของแต่ละเดือน กลไกที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามระบบ คือ บุคากรที่หัวหน้างานทรัพยากรบุคคลมอบหมายให้ดำเนินการมีหน้าที่ดำเนินการทุกสิ้นเดือน และทำไปพร้อมกับการจัดทำรายงานการขาดลาสายของบุคลากรเสนอต่อผู้บริหาร
     มีขั้นตอนดังนี้ ๑) จัดทำรายงานการขาดลาสายของบุคลากรเสนอต่อผู้บริหาร แล้วบันทึกข้อมูลด้วย MS Excel ๒) เปิดแฟ้มข้อมูลต้นแบบ ๔ แฟ้มในเครื่องของตนเอง คือ ๒.๑ แฟ้มข้อมูลบุคลากร (empl.csv) ๒.๒ แฟ้มข้อมูลการขาดลาของเจ้าหน้าที่ (leavework_officer.csv) ๒.๓ แฟ้มข้อมูลการขาดลาของพนักงาน (leavework_empl.csv) ๒.๔ แฟ้มข้อมูลการขาดลาของอาจารย์ (leavework_ajarn.csv) แล้วปรับปรุงข้อมูลด้วยการเพิ่มข้อมูลเดือนใหม่ หรือเพิ่มลบบุคลากร ๓) เข้าสู่ระบบ e-document ของมหาวิทยาลัยในห้อง person ๔) upload แฟ้มทั้ง ๔ ที่มีรูปแบบเป็น CSV ๕) เข้าระบบอินทราเน็ตตรวจสอบการปรับปรุงว่ามีการรายงานข้อมูลการขาดลาสายถูกต้องหรือไม่ ๖) แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ

ระบบหรือขั้นตอนการปรับปรุงผลการเรียนออนไลน์

ตัวย่างแฟ้ม csv ที่เปิดด้วย excel

22 ม.ค.53 นำขั้นตอนเดิมที่เผยแพร่เมื่อ 25 พ.ย.2552 มาปรับปรุง และประชาสัมพันธ์ให้เกิดการคิดต่อในการเขียนระบบและขั้นตอนของงานหน่วยอื่นต่อไป โดยมีรายละเอียดใหม่ดังนี้ วัตถุประสงค์ของระบบคือ ปรับปรุงข้อมูลผลการเรียนของนักศึกษา ที่ให้บริการแก่นักศึกษาตรวจผลการเรียนด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ให้เป็นข้อมูลล่าสุดหลังจากคณะวิชาส่งผลการเรียนทุกสิ้นภาคการศึกษา กลไกที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามระบบ คือ บุคลากรที่หัวหน้างานทะเบียนมอบหมายให้ดำเนินการมีหน้าที่ดำเนินการทุกสิ้นภาคการศึกษา และหลังเปิดภาคเรียนไปแล้วประมาณ ๓ สัปดาห์
     มีขั้นตอนดังนี้ ๑) งานทะเบียนรับผลการเรียนจากอาจารย์ผู้สอนในแต่ละคณะวิชา ๒) ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แล้วกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล ๓) เลือกส่งออกข้อมูลที่จำเป็นไปเป็นแฟ้มข้อมูลเฉพาะเรื่อง ได้แก่ แฟ้มผลการเรียน แฟ้มอาจารย์ และแฟ้มวิชา ให้อยู่ในแฟ้มที่มีรูปแบบเป็น CSV ๔) เข้าสู่ระบบ e-document ของมหาวิทยาลัยในห้อง grade ๕) upload แฟ้มผลการเรียนเฉพาะเรื่องที่มีรูปแบบเป็น CSV สำหรับแฟ้มผลการเรียนให้แยกเป็นภาคเรียนละ ๑ แฟ้ม ๖) สั่งปรับปรุงข้อมูลในเครื่อง yn1 โดยใช้ข้อมูลจากเครื่อง it ให้มีข้อมูลตรงกัน โดยมีตัวอย่าง URL ดังนี้ http://yn1.yonok.ac.th/grade/_regist20083.php ๗) ตรวจสอบผลการปรับปรุงว่านักศึกษาได้ข้อมูลผลการเรียนล่าสุดของตนหรือไม่ จาก URL ดังนี้ http://www.yonok.ac.th/grade ๘) ประชาสัมพันธ์ให้คณะวิชา และนักศึกษาได้รับทราบ

ชื่นชมคุณธรณินทร์(แบงค์) ผู้สรุปรายงานการประเมินฯ

สรุปผลประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ DB
สรุปผลประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ DB

25 ธ.ค.52 วันนี้มีโอกาสตรวจรายงานประเมินประสิทธิภาพและประเมินความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูลที่ คุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ ปลุกปล้ำกับระบบฐานข้อมูล 19 ระบบที่มีเจ้าของระบบใน 11 หน่วยงาน และอนุกรรมการอีกมากกว่าสิบท่าน ซึ่งเป็นโครงการที่บูรณาการร่วมกับทุกคณะวิชา โดยผลการประเมินจะถูกอ้างอิงโดยคณะวิชา และมหาวิทยาลัย ที่จะใช้เป็นหลักฐานในตัวบ่งชี้ ๗.๕ ศักยภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร การเรียนการสอน และการวิจัย ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ถ้าไม่ได้คุณแบงค์ช่วยประสานหน่วยงานแบบถึงลูกถึงคนในครั้งนี้ ไม่ได้คุณอนุชิต ยอดใจยา และคุณอรรถชัย เตชะสาย ในฐานะผู้พัฒนาที่มุ่งมั่นทุ่มเทและกระตือรือร้นในการเข้าประเมินหน่วยงาน ถ้าไม่ได้ อ.เกศริน อินเพลา อ.วิเชพ ใจบุญ อ.ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น หัวหอกทะลวงฟันเข้าตรวจสอบหลักฐานเอกสารด้วยองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว .. รายงานฉบับแรกนี้คงไม่สำเร็จลงด้วยดี หรืออาจได้รายงานไม่ทันกับการประเมินที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้
      ระบบฐานข้อมูลที่เข้ารับการประเมินครั้งแรกนี้มีจำนวนมาก แต่ถ้ามองตามตัวหนังสือในคู่มือประกันคุณภาพฯ ก็จะพบว่ามีระบบฐานข้อมูลที่ถูกพาดพิงจำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มการบริหารจัดการ ประกอบด้วย 1) ระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียน 2) ระบบฐานข้อมูลรับชำระเงิน 3) ระบบฐานข้อมูลงบประมาณ 4) ระบบฐานข้อมูลเงินเดือน กลุ่มการเรียนการสอน ประกอบด้วย 5) ระบบฐานข้อมูลประเมินการสอนออนไลน์ 6) ระบบฐานข้อมูลรายงานผลการเรียนออนไลน์ 7) ระบบฐานข้อมูลอีเลินนิ่ง กลุ่มการวิจัย ประกอบด้วย 8) ระบบฐานข้อมูลวิจัย
     ถ้างานนี้มีความดีความชอบที่จะให้ใครก็ขอให้กับผู้ที่ถูกเอ่ยนามทั้งหมดข้างต้น ยกเว้นผมที่ไม่ควรได้อะไรทั้งสิ้น เพราะผมเป็นเพียงคนที่นั่งบ่นไปวัน ๆ เขียนอะไรเรื่อยเปื่อยไปนาทีต่อนาที ไม่เหมือนคนทำงานข้างต้น ที่มีผลงานในรูปกิจกรรมชัดเจน .. ผมขอยืนยันในบันทึกนี้

ประเมิน effi, secu, sati ไปใกล้เสร็จ .. สังหรว่ามีปัญหา

21 ธ.ค.52 มีการประเมิน 3 ประเภท ขณะนี้เหลือการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ ที่เลยเวลาที่หน่วยงานส่งแบบประเมินมาให้ผมแล้ว 4 วัน และผมหาแบบสอบถามของหน่วยงานหนึ่งไม่พบ สังหรใจว่าได้แบบสอบถามไม่ครบร้อยเปอร์เซ็น ทำปีแรกจะพลาดบ้างก็ไม่น่าแปลก เป็นความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่งของผม แต่ชีวิตยังไม่สิ้นก็ต้องสู้กันต่อไปและยอมรับความล้มเหลวในครั้งนี้ พรุ่งนี้จะโทรตาม และตามหาเอกสารที่ยังไม่ครบ ส่วนประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยน่าจะจบแล้ว เหลือความพึงพอใจมาเติมรายงานให้ครบการประเมิน 3 ประเภทเท่านั้น
      ร่างบทสรุป : ปีการศึกษานี้เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยโยนกจัดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยโยนกที่มาจากการตัวแทนคณะวิชา และหน่วยงานเจ้าของระบบฐานข้อมูล รวมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูลในภาพรวม โดยภารกิจหนึ่ง คือ การประเมินประสิทธิภาพและประเมินความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูล และประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล ซึ่งสอดรับกับการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ใน องค์ประกอบที่ 7 การบริหารและการจัดการ ตัวบ่งชี้ที่ 7.5  ศักยภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร การเรียนการสอน และการวิจัย
     มีระบบฐานข้อมูลที่เข้ารับการประเมินทั้งหมดจำนวน 19 ระบบ ดังนี้  1) ระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียน 2) ระบบฐานข้อมูลรับชำระเงิน 3) ระบบฐานข้อมูลประเมินการสอนออนไลน์  4) ระบบฐานข้อมูลรายงานผลการเรียนออนไลน์ 5) ระบบฐานข้อมูลอีเลินนิ่ง 6) ระบบฐานข้อมูลผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ 7) ระบบฐานข้อมูลการจัดการความรู้ 8) ระบบเว็บบอร์ด 9) ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง 10) ระบบห้องภาพกิจกรรมโยนก 11) ระบบฐานข้อมูลบุคลากร 12) ระบบบริหารจัดการเว็บไซต์ 13) ระบบฐานข้อมูลบัญชี 14) ระบบฐานข้อมูลบันทึกการใช้โทรศัพท์ 15) ระบบแฟ้มดิจิทอลออนไลน์ 16) ระบบฐานข้อมูลจัดซื้อ 17) ระบบฐานข้อมูลห้องสมุด 18) ระบบฐานข้อมูลงบประมาณ 19) ระบบฐานข้อมูลเงินเดือน
     ผลการประเมินประสิทธิภาพระบบฐาน ซึ่งดำเนินการประเมินโดยอนุกรรมการที่รับผิดชอบในแต่ละระบบฐานข้อมูลประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้พัฒนา และตัวแทนคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูล ซึ่งมีผลการประเมินมีคะแนนเพียง 3 ระดับ พบว่า มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 1 จำนวน 7 ระบบคิดเป็นร้อยละ 36.84  มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 2 จำนวน 6 ระบบคิดเป็นร้อยละ 31.58 และมีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 3 จำนวน 6 ระบบคิดเป็นร้อยละ 31.58   
     ผลการประเมินความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูล ซึ่งดำเนินการเช่นเดียวกับการประเมินประสิทธิภาพ และมีคะแนนเพียง 3 ระดับเช่นกัน พบว่า ไม่มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ในระดับที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 0  มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 2 จำนวน 2 ระบบคิดเป็นร้อยละ 10.53 และมีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 3 จำนวน 17 ระบบคิดเป็นร้อยละ 89.47 
     ระบบและกลไกการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัย มีดังนี้ 1) แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยโยนก 2) คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ ผู้พัฒนา และตัวแทนคณะกรรมการ เป็นคณะอนุกรรมการเข้าประเมินระบบฐานข้อมูลแต่ละระบบ 3) ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลฯ เตรียมความพร้อมในการเข้าประเมิน 4) ผู้พัฒนาประสาน และนัดหมายทุกฝ่าย เพื่อเข้าประเมินกับเจ้าของระบบฐานข้อมูล 5) เข้าประเมินโดยตรวจสอบเอกสารหลักฐานในหน่วยงานเจ้าของระบบฐานข้อมูล 6) ส่งร่างผลการประเมินให้เจ้าของระบบฐานข้อมูลตรวจสอบก่อนจัดทำรายงาน 7) รวบรวมผลการประเมิน และจัดทำสรุปผลการประเมินโดยคณะกรรมการฯ 8) เผยแพร่รายงานผล
? สองภาพนี้สัมพันธ์กันอย่างใรใน creative campus .. ก็ถามตามกระแสครับ

นิยามศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูล

13 ธ.ค.52 ปีการศึกษานี้เริ่มการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล ซึ่งหลายท่านไม่ทราบนิยามศัพท์ของคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำ นิยามศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูล โดยรับความอนุเคราะห์เรียบเรียงจาก อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.เกศริน อินเทลา  และเผยแพร่ให้ทุกคณะ และหน่วยงานได้รับทราบผ่านบันทึก งทส. ๔๑/๒๕๕๒ โดยมีรายละเอียดดังนี้
     ๑. ระบบฐานข้อมูล (Database System) คือ การรวมและจัดเก็บข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันเข้าด้วยกัน (Integration) โดยมีการจัดกลุ่มข้อมูลให้อยู่ในรูปตาราง (Grouping) ที่สามารถเชื่อมโยงตารางทั้งหมดเข้าหากัน(Sharing) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ (Non Redundancy) ไม่มีความขัดแย้งของข้อมูล (Inconsistency) และมีความคงสภาพของข้อมูล (Integrity)
     ๒. ข้อมูล (Data) คือ ค่าของความจริงที่ปรากฏขึ้น โดยค่าความจริงที่ได้จะนำมาจัดการ ปรับแต่งหรือประมวลผล เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ
     ๓. สารสนเทศ (Information) คือ กลุ่มของข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลตามกฎเกณฑ์ เพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นมีความหมายและมีประโยชน์ตามความต้องการของผู้ใช้
     ๔. ระบบ (System) คือ สิ่งที่ประกอบขึ้นมาจากหน่วยย่อยหรือองค์ประกอบย่อย ที่มีความสัมพันธ์และทำหน้าที่ร่วมกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
    ๕. ระบบ (System) มีความหมายอธิบายในคู่มือของ สกอ. (พ.ค.52) หน้า 222
ระบบ (System) ประกอบด้วย 1)วัตถุประสงค์ (Objective) 2)ปัจจัยนำเข้า (Input) 3)กระบวนการ (Process) และ 4)ผลผลิต (Output) แต่ในการประเมินตามคู่มือของ สกอ. คำว่าระบบ จะเน้นที่กระบวนการ หมายถึง ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลออกมาตามที่ต้องการ ขั้นตอนการปฏิบัติงานจะปรากฎให้ทราบโดยทั่วกันไม่ว่าจะในรูปของเอกสารหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการอื่น ๆ
     ๖. ระบบและกลไก มีความหมายอธิบายในคู่มือของ สกอ. (พ.ค.52) หน้า 162
     ระบบและกลไก คือ ขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยบุคลากร ทรัพยากร กฎเกณฑ์ มาตรการ แนวปฏิบัติ และปัจจัยต่าง ๆ เป็นกลไกให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย

เรียบเรียงโดย อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วิพากษ์ระบบอินทราเน็ต(1)

19 พ.ย.52 คุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ ได้พัฒนาระบบอินทราเน็ต พยายามเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยเปิดให้มีการวิพากษ์ภายในสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย คุณอรรถชัย เตชะสาย และ คุณอนุชิต ยอดใจยา โดยเริ่มจาก 1)ระบบฐานข้อมูลบุคลากรเป็นระบบฐาน ที่เปิดให้บุคลากรเข้าไปจัดการข้อมูลของตน 2)ระบบสารสนเทศบุคลากร ที่อ่านตรงมาจากระบบฐานข้อมูลบุคลากร ให้บุคคลทั่วไป หรือนักศึกษา ได้เข้าค้นข้อมูลตั้งแต่รายชื่อผู้บริหาร คณะวิชา ไปถึงข้อมูลบุคคล ที่สามารถเชื่อมตรงกับเว็บไซต์คณะวิชา 3)รายชื่อเว็บไซต์อีเลินนิ่ง รายชื่อบทความ รายชื่องานวิจัย รายชื่อเว็บบล็อก หรือรายชื่อระบบแฟ้มเอกสาร ที่แสดงในภาพรวมขององค์กร ผ่านการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่เชื่อมโยงใช้ร่วมกัน โดยกำหนดให้นำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลฯ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 เวลา 13.00น. – 14.30น. นี่เป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญของการระบบฐานข้อมูลในมหาวิทยาลัย

ระบบและกลไก ประเมินระบบฐานข้อมูล 3 ด้าน

14 พ.ย.52 คำว่าระบบในความหมายด้านการประกันคุณภาพ ได้รับคำอธิบายอย่างมุ่งมั่นตั้งใจอยู่บ่อยครั้งจาก อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ ผอ.สำนักประกันคุณภาพ พบว่ามีตัวบ่งชี้หนึ่งที่ต้องมีการประเมินอย่างน้อย 3 ด้าน ผมจึงใช้ความรู้ที่ได้มาจากท่าน มายกร่างระบบสำหรับงานนี้ ซึ่งมีอยู่ 9 ข้อ และมี กลไกแรก คือคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูล กลไกที่สอง คือตัวแทนอาจารย์คณะวิทย์ฯ ได้แก่ อ.วิเชพ ใจบุญ อ.เกศริน  อินเพลา อ.ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น มาเป็นผู้เชี่ยวชาญ กลไกที่สาม คือผู้พัฒนาได้แก่ นายอนุชิต ยอดใจยา และนายธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ และ กระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการ มีอีก 4 ขั้นตอน คือ 1)หนังสือขอตัวแทนจากหน่วยงาน 2)ทบทวนรายชื่อคณะกรรมการ 3)ขออนุมัติท่านอธิการ 4)ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการ
     ระบบการประเมินฯ มีขั้นตอนดังนี้ 1)ขออนุมัติโครงการ “ประเมินประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูล และความพึงพอใจของผู้ใช้ฐานข้อมูล2)มีกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่มาจากเกี่ยว ข้องทุกด้าน 3)ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยโยนก 4)แจ้งให้กับเจ้าของระบบฐานข้อมูลทราบและเตรียมรับการประเมินใน ๓ ด้าน 5)ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อพิจารณาแบบประเมิน และกำหนดสายการประเมิน 6)ดำเนินการประเมินทั้ง ๓ ด้าน 7)รายงานผลการประเมินต่อเจ้าของระบบฐานข้อมูลและเปิดให้มีการส่งหลักฐานเพิ่มเติม 8)ประชุมพิจารณาผลการประเมินโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมและเจ้าของระบบฐานข้อมูล เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาต่อไป 9)จัดทำรายงานสรุปผล ซึ่งระบบฯนี้ได้ส่งให้เจ้าของระบบฐานข้อมูลทราบตามขั้นตอนที่ 4 แล้ว ส่วนคณะกรรมการจะทำงานหลังประกาศฯ ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ .. บางขั้นตอนยังไม่เรียบร้อย แต่งานต้องเดินต่อไป

วิพากษ์ระบบฐานข้อมูลครั้งแรก

20 ต.ค.52 ในรอบ 21 ปี วันนี้เป็นวันแรกที่นำระบบฐานข้อมูล 21 ระบบ มาเปิดเผยในห้องประชุมของมหาวิทยาลัยที่มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 45 ท่าน คุณอนุชิต ยอดใจยา ช่วยบันทึกเสียงลง MP3 เพื่อให้ผมเปิดฟังที่บ้านและจัดทำรายงานได้ ขั้นตอนเปลี่ยนจาก 1)หน่วยงานนำเสนอ 2)คณะแยกกลุ่ม 3)คณะให้ข้อเสนอแนะ 4)หน่วยงานสรุป เป็น 1)หน่วยงานนำเสนอ 2)คณะให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งจบไปทีละระบบ ทำให้เวลา 3 ชั่วโมง สามารถเปิดเวทีแลกเปลี่ยนทั้ง 21 ระบบในเวลาที่กำหนด
     คะแนนประเมินความพึงพอใจจากการประชุมน่าจะต่ำมาก ไม่น่าเกิน 4 จากคะแนน 5 ระดับ ถ้าวัดเฉพาะความพึงพอใจต่อโครงการเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จ โครงการนี้คงสอบตกเป็นแน่ เพราะ 1)หน่วยงานก็ได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นงานหนักอึ้ง 2)คณะก็มารับทราบว่ามีระบบมากมายที่ตนต้องใช้งาน 3)ทีมพัฒนาซึ่งมีโปรแกรมเมอร์ของสำนักไอที 1 คน โปรแกรมเมอร์ของสำนักทะเบียน 1 คน และโปรแกรมเมอร์อาสาสมัคร 3 คน ก็มีงานต้องพัฒนาและเชื่อมระบบทั้งหมดเป็นเครือข่ายเดียวกัน มีประเด็นมากมายยังไม่ clear เช่น 1)การจัดการความรู้มี series อย่างไร คณะได้รับโจทย์ว่าต้องกำหนดหัวข้อการจัดการความรู้ 2)ต้องกลับไปเขียนนโยบายด้านต่าง ๆ .. ถ้ามีใครประเมินว่าพอใจการประชุมครั้งนี้ก็คงบอกว่าแปลกหละครับ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกินคาดเลยแม้แต่น้อย .. ในโลกแห่งความเป็นจริง
     หรือคิดแบบไม่เข้าข้างตนเอง คือผมพูดไม่รู้เรื่อง ดูแลให้ทุกคนพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง ทำให้ทุกคนไม่พอใจในโครงการนี้ .. ก็เป็นไปได้ .. แต่ถ้าจะทำให้คนในมหาวิทยาลัยเข้าใจกัน เข้าใจระบบของกันและกัน ที่สำคัญเข้าใจงานของหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบ ตามแผนที่ อ.อติชาต วางไว้ก่อนเดินทางไกล ผมก็ยินดีกับผลการประเมินความพึงพอใจข้างต้น