รักใครหลงอะไร ไปตั้งแฟนคลับได้นะ

7 ก.ย.64 เห็นนิสิตรหัส 64 ทั้งพยาบาล เทคนิคการแพทย์ และทันตแพทย์ ที่ส่งผลงานจากที่ได้รับมอบหมาย มีคุณภาพที่สะท้อนถึงความตั้งใจ เขียนบล็อกเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ชีวิต การทำกิจกรรม และประสบการณ์ เล่าเหตุการณ์ก่อนจะมาถึงวันนี้ให้ได้อ่านมาก รู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นเป็นไปอย่างมีความสุข และความหวัง ทำให้ผมในฐานะผู้อ่านรู้สึกเหมือน 18 อีกครั้ง ประกอบกับวันนี้เคลียร์ปัญหา และเงื่อนไขหลายอย่างเกี่ยวกับการสร้างแอปพลิเคชัน บนสมาร์ทโฟน จึงมองหาช่องทางที่เป็นไปได้ เช่น การสร้างโปรแกรมต้นแบบจากข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อใช้เป็นแนวทางก้าวต่อไปในการสร้างแอป

ถือเป็นแอปแรกที่อยากสร้างที่ไม่ได้เกิดจากงานในปีนี้ คือแอปแฟนคลับ เพราะใกล้ตัว และมีข้อมูลอยู่มาก นั่นคือการเป็นแฟนคลับมหาวิทยาลัยเนชั่น เดิมผมเป็นแฟนคลับไอดอลญี่ปุ่น เกาหลี จีน หรือจะฝั่งตะวันตกทั้งอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศษ หนัง เพลง การ์ตูน และหนังสือก็เป็นแฟนเช่นกัน แต่ก็ไกลตัวเกินไป เลือกใกล้ ๆ ก็เลือกที่ทำงานนี่เลย เพราะไปทำงานทุกวัน มีเรื่องราวให้เล่าได้ เลือกภาพมาจัดกิจกรรม น่าจะพัฒนาขึ้นเป็นแอปแฟนคลับได้ เริ่มต้นก็ใช้ webpage มาสร้าง prototype ที่จำลองคล้ายกับหลักการของ webview component ที่ใช้บน react native ด้วยเวลาที่จำกัด จึงเลือกสร้างไว้ 4 เพจ คือ ประวัติ ภาพสวย บทความของท่านอธิการ และคลิปวิดีโอ เนื่องจากข้อมูลที่เคยสะสมไว้มีพร้อม จึงดำเนินการได้เร็ว ปรับโค้ดไม่มาก ด้วย template เดียวกัน สรุปว่าต่อจากนี้ก็ต้องนึกฝันกันต่อไปว่าจะเอาอะไรมาใส่ในแอพ ก่อน build เป็น version 1 ขึ้น google play store กันต่อไป

http://www.thaiall.com/ntufan

ตัวแบบปัจจัยความสำเร็จสหกิจศึกษา

http://sphotos-d.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-prn1/154460_564684576879011_543953131_n.jpg
ตัวแบบปัจจัยความสำเร็จสหกิจศึกษา

จากบทความ เรื่อง การพัฒนาตัวแบบปัจจัยความสำเร็จสหกิจศึกษาแบบมีส่วนร่วม (Key Success Factors Participative Co-op Education Development Model) โดย วันชาติ นภาศรี ธวัชชัย แสนชมภู สิริรัตน์ เลิศมีมงคลชัย
เสนอว่า ตัวแบบ 12 ปัจจัยความสำเร็จสหกิจศึกษาแบบมีส่วนร่วม มีดังนี้
1. การสนับสนุนของผู้บริหารระดับสูง (Top Management Support)
2. การมีความรู้ ความเข้าใจในพันธกิจสหกิจศึกษา (Co-op Mission)
3. การจัดโครงสร้างงาน ระบบ & กลไก (Organization Management)
4. การจัดการความรู้สหกิจศึกษา (Co–op Knowledge Management)
5. การจัดทำแผนกลยุทธ์/คู่มือการปฏิบัติงาน (Co-op Schedule/Strategy Plan)
6. การสร้างการยอมรับ เห็นคุณค่า และประโยชน์ร่วมกัน (Stakeholder Acceptance)
7. การปรึกษาหารือ การให้คำแนะนำ การนิเทศ  (Consultation)
8. การติดต่อสื่อสาร การประสานงาน (Communication)
9. การจัดการทรัพยากร  (Resource Management)
10. เครือข่ายความร่วมมือ (Net Working)
11. การแก้ไขปัญหา และอุปสรรคที่เหนือความคาดหมาย (Troubleshooting)
12. การติดตามประเมินผล และการรับรู้ข้อมูลป้อนกลับ  (Monitoring Evaluation & Feedback)

แล้วมีข้อเสนอแนะ การนำไปประยุกต์ใช้กับสถาบันอุดมศึกษา ว่าควรพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันของตนเอง วิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT Analysis) เพื่อประเมินศักยภาพ ความพร้อมตามองค์ประกอบ เงื่อนไข คุณลักษณะของตัวชี้วัดความสำเร็จสหกิจศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรผู้ใช้บัณฑิต และนักศึกษา
2. ดำเนินการจัดการความรู้สหกิจศึกษา ปรัชญา แนวคิดพื้นฐาน หลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการดำเนินงาน ระบบและกลไกการประสานงาน จัดทำเป็น “คู่มือการจัดการศึกษาระบบสหกิจศึกษา” และการจัดการความรู้ในระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ (Internet) ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามบริบทของสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ
3. จัดอบรม สัมมนาความรู้ ความเข้าใจ เตรียมความพร้อม ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสหกิจศึกษาให้บุคลากร อาจารย์/เจ้าหน้าที่ นักศึกษา องค์กรผู้ใช้บัณฑิต และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ
4. ขยายเครือข่ายองค์กรผู้ใช้บัณฑิต การรับรู้เห็นคุณค่า คุณประโยชน์ของคณาจารย์ในทุกหลักสูตร การขยายหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนสหกิจศึกษา เพื่อรองรับนักศึกษาสหกิจศึกษา อย่างต่อเนื่อง
5. การบริหารจัดการตาม “ตัวแบบ 12 ปัจจัยความสำเร็จสหกิจศึกษาแบบมีส่วนร่วม”


http://www.facebook.com/media/set/?set=a.564684180212384.139685.506818005999002

http://www.scribd.com/doc/118643661/

ระบบการปรับปรุงรายงานขาดลาสายออนไลน์

22 ม.ค.53 วัตถุประสงค์ของระบบคือ ปรับปรุงข้อมูลที่ใช้รายงานจำนวนวันและชั่วโมง ที่บุคลากร ขาด ลา และสาย ให้บริการแก่บุคลากร หัวหน้างาน และผู้บริหาร ให้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่สรุปภาพรวมของแต่ละเดือน กลไกที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามระบบ คือ บุคากรที่หัวหน้างานทรัพยากรบุคคลมอบหมายให้ดำเนินการมีหน้าที่ดำเนินการทุกสิ้นเดือน และทำไปพร้อมกับการจัดทำรายงานการขาดลาสายของบุคลากรเสนอต่อผู้บริหาร
     มีขั้นตอนดังนี้ ๑) จัดทำรายงานการขาดลาสายของบุคลากรเสนอต่อผู้บริหาร แล้วบันทึกข้อมูลด้วย MS Excel ๒) เปิดแฟ้มข้อมูลต้นแบบ ๔ แฟ้มในเครื่องของตนเอง คือ ๒.๑ แฟ้มข้อมูลบุคลากร (empl.csv) ๒.๒ แฟ้มข้อมูลการขาดลาของเจ้าหน้าที่ (leavework_officer.csv) ๒.๓ แฟ้มข้อมูลการขาดลาของพนักงาน (leavework_empl.csv) ๒.๔ แฟ้มข้อมูลการขาดลาของอาจารย์ (leavework_ajarn.csv) แล้วปรับปรุงข้อมูลด้วยการเพิ่มข้อมูลเดือนใหม่ หรือเพิ่มลบบุคลากร ๓) เข้าสู่ระบบ e-document ของมหาวิทยาลัยในห้อง person ๔) upload แฟ้มทั้ง ๔ ที่มีรูปแบบเป็น CSV ๕) เข้าระบบอินทราเน็ตตรวจสอบการปรับปรุงว่ามีการรายงานข้อมูลการขาดลาสายถูกต้องหรือไม่ ๖) แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ

ระบบหรือขั้นตอนการปรับปรุงผลการเรียนออนไลน์

ตัวย่างแฟ้ม csv ที่เปิดด้วย excel

22 ม.ค.53 นำขั้นตอนเดิมที่เผยแพร่เมื่อ 25 พ.ย.2552 มาปรับปรุง และประชาสัมพันธ์ให้เกิดการคิดต่อในการเขียนระบบและขั้นตอนของงานหน่วยอื่นต่อไป โดยมีรายละเอียดใหม่ดังนี้ วัตถุประสงค์ของระบบคือ ปรับปรุงข้อมูลผลการเรียนของนักศึกษา ที่ให้บริการแก่นักศึกษาตรวจผลการเรียนด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ให้เป็นข้อมูลล่าสุดหลังจากคณะวิชาส่งผลการเรียนทุกสิ้นภาคการศึกษา กลไกที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามระบบ คือ บุคลากรที่หัวหน้างานทะเบียนมอบหมายให้ดำเนินการมีหน้าที่ดำเนินการทุกสิ้นภาคการศึกษา และหลังเปิดภาคเรียนไปแล้วประมาณ ๓ สัปดาห์
     มีขั้นตอนดังนี้ ๑) งานทะเบียนรับผลการเรียนจากอาจารย์ผู้สอนในแต่ละคณะวิชา ๒) ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แล้วกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล ๓) เลือกส่งออกข้อมูลที่จำเป็นไปเป็นแฟ้มข้อมูลเฉพาะเรื่อง ได้แก่ แฟ้มผลการเรียน แฟ้มอาจารย์ และแฟ้มวิชา ให้อยู่ในแฟ้มที่มีรูปแบบเป็น CSV ๔) เข้าสู่ระบบ e-document ของมหาวิทยาลัยในห้อง grade ๕) upload แฟ้มผลการเรียนเฉพาะเรื่องที่มีรูปแบบเป็น CSV สำหรับแฟ้มผลการเรียนให้แยกเป็นภาคเรียนละ ๑ แฟ้ม ๖) สั่งปรับปรุงข้อมูลในเครื่อง yn1 โดยใช้ข้อมูลจากเครื่อง it ให้มีข้อมูลตรงกัน โดยมีตัวอย่าง URL ดังนี้ http://yn1.yonok.ac.th/grade/_regist20083.php ๗) ตรวจสอบผลการปรับปรุงว่านักศึกษาได้ข้อมูลผลการเรียนล่าสุดของตนหรือไม่ จาก URL ดังนี้ http://www.yonok.ac.th/grade ๘) ประชาสัมพันธ์ให้คณะวิชา และนักศึกษาได้รับทราบ

นิยามศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูล

13 ธ.ค.52 ปีการศึกษานี้เริ่มการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล ซึ่งหลายท่านไม่ทราบนิยามศัพท์ของคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำ นิยามศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูล โดยรับความอนุเคราะห์เรียบเรียงจาก อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.เกศริน อินเทลา  และเผยแพร่ให้ทุกคณะ และหน่วยงานได้รับทราบผ่านบันทึก งทส. ๔๑/๒๕๕๒ โดยมีรายละเอียดดังนี้
     ๑. ระบบฐานข้อมูล (Database System) คือ การรวมและจัดเก็บข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันเข้าด้วยกัน (Integration) โดยมีการจัดกลุ่มข้อมูลให้อยู่ในรูปตาราง (Grouping) ที่สามารถเชื่อมโยงตารางทั้งหมดเข้าหากัน(Sharing) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ (Non Redundancy) ไม่มีความขัดแย้งของข้อมูล (Inconsistency) และมีความคงสภาพของข้อมูล (Integrity)
     ๒. ข้อมูล (Data) คือ ค่าของความจริงที่ปรากฏขึ้น โดยค่าความจริงที่ได้จะนำมาจัดการ ปรับแต่งหรือประมวลผล เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ
     ๓. สารสนเทศ (Information) คือ กลุ่มของข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลตามกฎเกณฑ์ เพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นมีความหมายและมีประโยชน์ตามความต้องการของผู้ใช้
     ๔. ระบบ (System) คือ สิ่งที่ประกอบขึ้นมาจากหน่วยย่อยหรือองค์ประกอบย่อย ที่มีความสัมพันธ์และทำหน้าที่ร่วมกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
    ๕. ระบบ (System) มีความหมายอธิบายในคู่มือของ สกอ. (พ.ค.52) หน้า 222
ระบบ (System) ประกอบด้วย 1)วัตถุประสงค์ (Objective) 2)ปัจจัยนำเข้า (Input) 3)กระบวนการ (Process) และ 4)ผลผลิต (Output) แต่ในการประเมินตามคู่มือของ สกอ. คำว่าระบบ จะเน้นที่กระบวนการ หมายถึง ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลออกมาตามที่ต้องการ ขั้นตอนการปฏิบัติงานจะปรากฎให้ทราบโดยทั่วกันไม่ว่าจะในรูปของเอกสารหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการอื่น ๆ
     ๖. ระบบและกลไก มีความหมายอธิบายในคู่มือของ สกอ. (พ.ค.52) หน้า 162
     ระบบและกลไก คือ ขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยบุคลากร ทรัพยากร กฎเกณฑ์ มาตรการ แนวปฏิบัติ และปัจจัยต่าง ๆ เป็นกลไกให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย

เรียบเรียงโดย อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี