นำภาพถ่ายดาวเทียมมาพัฒนาประเทศ(244)

20 พ.ค.53 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงาน “การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 เพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนาจังหวัด ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยมีรายละเอียดข้อหนึ่งได้กำหนดว่าให้มีการมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบงานด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง (Provincial Chief Science Officer : PCSO) มีหน้าที่ผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธภาพ
     ผลพวงจากบันทึกข้อตกลงพบว่า กิจกรรมที่สามารถพัฒนาระบบสารสนเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมคือ การนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่ช่วยในการประมวลผลข้อมูล อ้างอิงข้อมูลจากจุดพิกัดทางภูมิศาสตร์ หาพื้นที่ทับซ้อนด้วยข้อมูลสารสนเทศหลายชั้น เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ ช่วยในการตัดสินใจวางแผนงานโครงการงบประมาณ และแผนพัฒนาจังหวัดที่จำแนกตามพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาคสนามจากเครื่องจีพีเอส (Global Positioning System : GPS) และเชื่อมโยงกับข้อมูลหลายภาคส่วน
     หน่วยงานหนึ่งที่มีข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมคือ สทอภ. หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (gistda.or.th) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มุ่งมั่นพัฒนาและใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรและภูมิสารสนเทศ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ดังนั้นหลายหน่วยงานจึงขอข้อมูลจากหน่วยงานนี้มาใช้พัฒนาประเทศ หรือพื้นที่ในความรับผิดชอบ ซึ่งมีเว็บไซต์นำเสนอบทเรียนการใช้ข้อมูลดาวเทียมกับสถานการณ์หลายเหตุการณ์ดังนี้ ภาวะน้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง ภาวะไฟป่า การเปลี่ยนแปลงลำน้ำโขง ธรณีพิบัติภัย สึนามิ พายุไซโคลนนาร์กีส ซึ่งมีรายชื่อหน่วยงานที่ขอรับบริการข้อมูลภาพดาวเทียมจาก สทอภ. อย่างต่อเนื่อง อีกหน่วยงานหนึ่ง คือ ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย (gisthai.org) เป็นอีกหน่วยงานที่เผยแพร่ข้อมูลการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล (Remote sensing) เพื่อการบริหารจัดการภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากดินถล่ม น้ำปนตะกอนบ่า น้ำหลาก และน้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคเหนือ

มองก้าวของระบบภูมิสารสนเทศ(243)

รศ.ดร.ดำรงค์ วัฒนา

14 พ.ค.53  มีโอกาสร่วมประชุมที่สำนักงานจังหวัด โดยมี รศ.ดร.ดำรงค์ วัฒนา จากสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) มาเสนอขอบเขตของงาน การพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศ หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS = Geographic Information System) เพื่อการวางแผนพัฒนาจังหวัด ทำให้ได้ความรู้ว่าประเทศของเราพัฒนาไปแล้วหลายก้าว ผู้บริหารจังหวัดมีนโยบายใช้ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารมาเชื่อมโยงกับระบบภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียม ช่วยให้การบริหารจัดการงบประมาณแต่ละโครงการลงในแต่ละพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงสารสนเทศที่เชื่อมโยงกับตัวบ่งชี้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานจำนวน 42 ตัว
            ระบบภูมิสารสนเทศแตกต่างกับ Google Map หรือ Google Earth เพราะบริการของ google.com เป็นข้อมูลทั่วไปที่ไม่มีสารสนเทศที่ออกแบบมาเฉพาะกลุ่มบุคคล ไม่มีความเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เป็นข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถเชื่อถือในข้อมูลพิกัด ไม่อาจควบคุมพิกัดและชั้นความลับของแต่ละสถานที่ แต่ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจจำเป็นต้องมีข้อมูลพิกัดของสถานที่ที่เชื่อถือได้ ควบคุมชั้นความลับได้ สามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลโครงการ งบประมาณ ปัญหาที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการร่วมกันกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
            ระบบแผนที่ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานกำหนดพิกัดของสถานที่ เช่น พื้นที่ป่า พื้นที่บ้าน พื้นที่น้ำ พื้นที่ทำกินที่ยังมีการทับซ้อนอยู่ระดับหนึ่ง เนื่องจากแต่ละหน่วยมีระบบฐานข้อมูลของตนเอง เมื่อนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกันก็จะพบปัญหาทับซ้อน หากหน่วยงานใดต้องการนำข้อมูลพิกัดแผนที่มาใช้แบบบูรณาการก็จะพบประเด็นความไม่ตรงกันในรายละเอียด แม้พิกัดระดับประเทศ เช่น ปราสาทเขาพระวิหารก็ยังไม่สามารถสรุปผลได้ แต่เชื่อได้ว่าถ้าหน่วยงานที่ดูแลสารสนเทศมาเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและยินดีปรับข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก็จะลดปัญหาความซ้ำซ้อนของข้อมูลได้ในอนาคตอย่างแน่นอน

ตัวเลือกมุมบนขวาของ facebook.com

25 เม.ย.53 มาวันนี้คงมีน้อยคนในประเทศไทยที่ไม่รู้จักเว็บไซต์ facebook.com เพราะกลุ่มคนเสื้อหลากสีใช้อ้างอิงว่าการรวมกลุ่มของพวกเขานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสารโดยใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคม เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจนพบว่าความเห็นตรงกันทางการเมืองและมีสมาชิกจำนวนมากพอ จึงได้นัดหมายออกรวมกันเพื่อแสดงพลังและแจ้งผ่านสื่อที่หลากหลาย อาทิ ทีวี หนังสือพิมพ์ หรือเว็บบอร์ด ทำให้ผู้คนทั่วประเทศได้รับรู้ถึงเป้าหมายของกลุ่ม ทั้งหมดก็มาจากความนิยมในเว็บไซต์ facebook.com การส่งข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้ผ่านเมนูด้านบนขวาของเว็บไซต์ มีตัวเลือกที่สำคัญ 2 ตัวเลือกคือหน้าแรก (Home) และข้อมูลส่วนตัว (Profile)
     ถ้าท่านเข้า facebook.com แล้วเขียนข้อความเพิ่มเป็นข่าวใหม่ในหน้าแรกจะมีผลให้ข้อความนั้นถูกเผยแพร่ไปในหน้าแรกของท่านและของเพื่อนทุกคนของท่าน แต่ถ้าเขียนข้อความใหม่ในหน้าข้อมูลส่วนตัวจะมีตัวเลือกแบบส่งไปทุกคน หรือส่งไปเฉพาะเพื่อนที่ระบุ ถ้าส่งข้อความไปถึงทุกคนจะแสดงผลในหน้าข้อมูลส่วนตัวของผู้เขียน แต่ไปแสดงในหน้าแรกของเพื่อนทุกคน สำหรับการส่งข้อความ ภาพถ่าย วีดีโอ หรือหัวข้อเว็บเพจเข้าไปยัง facebook.com จะเข้าไปยังข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่เขียนโดยอัตโนมัติ และไปยังหน้าแรกของเพื่อนทุกคน ข้อความที่ปรากฎในเว็บเพจทั้งสองข้างต้นถูกจำกัดจำนวนรายการและอายุในการแสดงผล ดังนั้นถ้าให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ส่งเข้าไปก็ไม่ควรใช้ facebook.com สำหรับวางเนื้อหาที่สำคัญ สำหรับผู้เขียนเลือกใช้บริการของ 4shared.com และ wordpress.com เป็นแหล่งเก็บข้อมูล ภาพ บทความ และใช้การแบ่งปันเนื้อหาส่งไปยังเว็บไซต์เครือข่ายสังคมหลายแห่งให้เพื่อนได้ทราบความเคลื่อนไหว ซึ่งบทความเหล่านั้นยังอยู่ที่เดียวกัน และสามารถปรับแก้ได้ตลอดเวลาตามต้องการ
     แม้ facebook.com จะมีบริการบางลักษณะที่อาจทดแทนบริการของเว็บไซต์อื่นได้ แต่การเป็นสมาชิกในหลายเว็บไซต์จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการสูญเสียสถานภาพการเป็นสมาชิก พร้อมกับสำรองข้อมูลไปพร้อมกัน เช่น วีดีโอที่จัดทำขึ้น สามารถส่งไปเก็บใน youtube.com 4shared.com และ facebook.com โดยเชื่อได้ว่าคงไม่มีเพื่อนทุกคนของเราตามไปเป็นสมาชิกในทุกระบบ ดังนั้นเพื่อนบางคนอาจเข้าถึงวีดีโอของเราจากแหล่งหนึ่ง ส่วนเพื่อนอีกคนก็จะสะดวกในการเข้าถึงอีกแหล่งหนึ่ง การเลือกใช้ประโยชน์จากบริการที่แตกต่างเป็นอีกประเด็นที่ต้องพิจารณา เพื่อให้ได้ประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ต่อตัวเราอย่างแท้จริง

แฟชันสัตว์เลี้ยงในเว็บไซต์เครือข่ายสังคม (240)

เกมที่ต้องดูแล ต้องใส่ใจ ให้ความรัก ปล่อยปะละเลยก็จะเสียหาย

22 เม.ย.53 ปีพ.ศ.2539 บริษัทบันได คือ ผู้ทำธุรกิจด้านของเล่นในประเทศญี่ปุ่นได้เปิดตัว ทามาก็อต (Tamagotchi) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์มีชีวิตอยู่ในโลกไซเบอร์จนเป็นแฟชันที่ฮิตไปทั่วโลก ผู้คิดค้นคือ อากิ มาอิตะ (Aki Maita) โดยมีแรงบันดาลใจมาจากความฝันจะมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงา แต่สภาพสังคมที่ไม่เอื้อต่อการมีสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่น จึงเป็นที่มาของการให้กำเนิดสัตว์เลี้ยงเสมือนจริงที่ผู้เลี้ยงต้องเอาใจใส่ดูแลเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงที่มีชีวิต หากปล่อยปะละเลยก็จะทำให้สัตว์เลี้ยงป่วยและตายในที่สุด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการในวงการธุรกิจของเล่นลักษณะนี้เรื่อยมา
            การมีสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นทามาก๊อต หรือสัตว์มีชีวิตมักช่วยเติมเต็มชีวิตของมนุษย์ที่โหยหาความรัก การเป็นผู้ดูแล หรือถูกดูแล ต้องเอาใจใส่และได้รับรักตอบ การมีสัตว์เลี้ยงมักเป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่ยังไม่มีคู่ครอง ยังไม่มีคู่สมรส หรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแลใกล้ชิด แต่สำหรับครอบครัวใหญ่ที่สมาชิกทุกคนมีงานทำล้นมือ มีคนรักมากมายมักไม่เหลือเวลาให้กับสัตว์เลี้ยง เพราะการมีสัตว์เลี้ยงย่อมเป็นภาระในการเตรียมอาหาร ทำความสะอาด และการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน แม้จะคุยกับสัตว์ไม่รู้เรื่องก็มักจะให้เวลาซึ่งกันและกันอย่างมีความสุขในมุมโปรดของตน เช่น ปลา นก สุนัข แมว กระต่าย หรือหนู
            มีเกมแบบที่ต้องให้ความเอาใจใส่คล้ายทามาก๊อตใน facebook.com เช่น เกมทำฟาร์ม  (Farm) หรือ เกมเลี้ยงสัตว์ (Pet) ที่เพื่อนของผู้เขียนหลายคนติดเกมเหล่านี้ มักต้องเข้าไปดูแลฟาร์ม รดน้ำพรวนดินเสมือนเป็นบ้านของตนอย่างมีความสุขกับบ้านในแบบที่ตนใฝ่ฝัน เพื่อนบางคนก็ใส่ใจกับสัตว์เลี้ยงเสมือนจริง เพราะอยู่ในชุมชนเมืองหรือห้องเช่ามักไม่สามารถมีสัตว์เลี้ยงได้จริง เพื่อนบางคนก็เล่นเกมลักษณะอื่นที่มีการสื่อสารกับเพื่อนใหม่ในสังคมใหม่ มีเรื่องใหม่เข้ามาเสมอซึ่งเปิดโอกาสเติมเต็มให้กับชีวิต ซึ่งเชื่อได้ว่าการเข้าไปยังเว็บไซต์เครือข่ายสังคมอาจทำให้การเข้าสังคมใหม่ในโลกเสมือนจริงได้สิ่งที่คาดหวัง เพราะบางคนอาจไม่สมหวังกับสังคมที่ตนดำรงอยู่ในชีวิตจริง บางคนอาจเบื่อกับการเมืองบ้านเราแล้วไปหาหมู่บ้านใหม่และเพื่อนใหม่ในโลกไซเบอร์ก็ได้

วีดีโอคลิ๊ปหลักฐานจากผู้หวังดี (239)

16 เม.ย.53 พบข่าวเหตุการณ์วุ่นวายของบ้านเมืองทางทีวี มีฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ประท้วงที่เรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน อีกฝ่ายคือรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารบ้านเมือง เหตุการณ์ทำนองนี้พบเห็นได้จากข่าวต่างประเทศ เพราะมิได้มีเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีความขัดแย้งในเรื่องของอำนาจ การเอาแพ้เอาชนะด้วยการชุมนุมประท้วงมักใช้สิ่งที่เป็นสาธารณะมาเป็นตัวประกัน และปราศรัยขอความเห็นชอบจากประชาชนเพื่อใช้ต่อรองกับรัฐบาล เช่น ถนน สถานที่ราชการ สนามบิน หรือศูนย์ธุรกิจของประเทศ ในหลายประเทศใช้วิธีการสลายการชุมนุมหากการเรียกร้องนั้นไม่อาจหาข้อยุติร่วมได้ ซึ่งข้อเท็จจริงและการรับรู้ของประชาชนอาจคลาดเคลื่อนไปตามทัศนคติของผู้นำเสนอ เพราะเรื่องเดียวกันอาจมีความหมายแตกต่างเมื่อนำเสนอโดยรัฐบาลหรือผู้ประท้วง
     โลกของเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าไประดับหนึ่ง ประชาชนที่มีกำลังซื้อมักมีโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือกล้องดิจิทอลติดตัวที่พร้อมถ่ายวีดีโอคลิ๊ป เมื่อมีเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของตน เช่น ความสุข ความแปลก ความวุ่นวาย เหตุจลาจล ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ ผู้อยู่ในเหตุการณ์มักใช้อุปกรณ์บันทึกวีดีโอมาใช้บันทึกไว้ และส่งเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต เช่น youtube.com facebook.com หรือ 4shared.com ซึ่งผู้เยี่ยมชมวีดีโอสามารถคัดลอกเรื่องที่ตนสนใจไปเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือนำไปเผยแพร่ต่อ
     สงครามสร้างความชอบธรรมหลังเหตุจลาจลของแต่ละฝ่าย เริ่มมีการใช้สื่อวีดีโอที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ สิ่งที่ได้มาคือสื่อวีดีโอจากประชาชนที่ร่วมในเหตุการณ์ และนำมาใช้เป็นหลักฐานเล่าความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น การเผยแพร่วีดีโอมิได้ส่งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ส่งเข้าเว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่มีผู้ชมได้ทั่วโลก ผู้ชมสามารถคัดลอกไปเผยแพร่หรือตีความใหม่ได้ พบว่าเรื่องเดียวกันหากอธิบายโดยฝ่ายหนึ่งก็จะเป็นเรื่องหนึ่ง แต่อธิบายโดยอีกฝ่ายก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การใช้วิจารณญาณในการรับรู้ข่าวสารจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีฐานคิดบนความสมเหตุสมผล เพื่อให้ได้ความเข้าใจที่ตนเองยอมรับไปเป็นฐานคิดสำหรับกำหนดแนวปฏิบัติของตนให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป