วีดีโอคลิ๊ปหลักฐานจากผู้หวังดี (239)

16 เม.ย.53 พบข่าวเหตุการณ์วุ่นวายของบ้านเมืองทางทีวี มีฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ประท้วงที่เรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน อีกฝ่ายคือรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารบ้านเมือง เหตุการณ์ทำนองนี้พบเห็นได้จากข่าวต่างประเทศ เพราะมิได้มีเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีความขัดแย้งในเรื่องของอำนาจ การเอาแพ้เอาชนะด้วยการชุมนุมประท้วงมักใช้สิ่งที่เป็นสาธารณะมาเป็นตัวประกัน และปราศรัยขอความเห็นชอบจากประชาชนเพื่อใช้ต่อรองกับรัฐบาล เช่น ถนน สถานที่ราชการ สนามบิน หรือศูนย์ธุรกิจของประเทศ ในหลายประเทศใช้วิธีการสลายการชุมนุมหากการเรียกร้องนั้นไม่อาจหาข้อยุติร่วมได้ ซึ่งข้อเท็จจริงและการรับรู้ของประชาชนอาจคลาดเคลื่อนไปตามทัศนคติของผู้นำเสนอ เพราะเรื่องเดียวกันอาจมีความหมายแตกต่างเมื่อนำเสนอโดยรัฐบาลหรือผู้ประท้วง
     โลกของเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าไประดับหนึ่ง ประชาชนที่มีกำลังซื้อมักมีโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือกล้องดิจิทอลติดตัวที่พร้อมถ่ายวีดีโอคลิ๊ป เมื่อมีเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของตน เช่น ความสุข ความแปลก ความวุ่นวาย เหตุจลาจล ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ ผู้อยู่ในเหตุการณ์มักใช้อุปกรณ์บันทึกวีดีโอมาใช้บันทึกไว้ และส่งเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต เช่น youtube.com facebook.com หรือ 4shared.com ซึ่งผู้เยี่ยมชมวีดีโอสามารถคัดลอกเรื่องที่ตนสนใจไปเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือนำไปเผยแพร่ต่อ
     สงครามสร้างความชอบธรรมหลังเหตุจลาจลของแต่ละฝ่าย เริ่มมีการใช้สื่อวีดีโอที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ สิ่งที่ได้มาคือสื่อวีดีโอจากประชาชนที่ร่วมในเหตุการณ์ และนำมาใช้เป็นหลักฐานเล่าความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น การเผยแพร่วีดีโอมิได้ส่งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ส่งเข้าเว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่มีผู้ชมได้ทั่วโลก ผู้ชมสามารถคัดลอกไปเผยแพร่หรือตีความใหม่ได้ พบว่าเรื่องเดียวกันหากอธิบายโดยฝ่ายหนึ่งก็จะเป็นเรื่องหนึ่ง แต่อธิบายโดยอีกฝ่ายก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การใช้วิจารณญาณในการรับรู้ข่าวสารจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีฐานคิดบนความสมเหตุสมผล เพื่อให้ได้ความเข้าใจที่ตนเองยอมรับไปเป็นฐานคิดสำหรับกำหนดแนวปฏิบัติของตนให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป

Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

I am Lecturer, Developer, Researcher, Columnist, Writer, Photographer, and Webmaster - L@mpang man

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.