แนวความคิดทางการบริหารของ ฮาร์โรลด์ ดี คูนซ์ (Harold D. Koontz)

principles of management
Principles of Management

การบริหารเป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการรวมตัวกันของมนุษย์ ในขณะที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มนั้น จำเป็นที่มนุษย์ต้องพยายามหาแนวทางหรือวิธีการควบคุมดูแลกันเองภายในกลุ่มให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งตอบสนองความต้องการของตนเอง ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องทำความรู้จักกับคำว่า “การบริหาร” เพื่อควบคุมดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยอดีต มีความพยายามแสวงหาวิธีการในการบริหารให้ได้ผลตามที่ตนเอง กลุ่ม หรือองค์กรต้องการ การบริหารจึงเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม เช่น การบริหารบุคคล การบริหารองค์กร และการบริหารประเทศ สำหรับแนวความคิดและทฤษฎีทางการบริหารในสมัยใหม่ที่เริ่มมีการศึกษาอย่างจริงจังนั้น เริ่มขึ้นเมื่อราวหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง โดยแนวความคิดที่เป็นจุดเริ่มของการศึกษาทางการบริหารยุคใหม่ ได้แก่ แนวความคิดของ Frederick W. Taylor ซึ่งนำเอาหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ในการบริหาร โดยเสนอแนวความคิด วิทยาศาสตร์การจัดการ (Scientific Management) ขึ้น และทำให้การศึกษาการบริหารมีการศึกษากันอย่างจริงจัง และมีการพัฒนาต่อเนื่องกันมาโดยตลอด พัฒนาการของแนวความคิดและทฤษฎีการบริหารจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง และเทคโนโลยี การนำแนวความคิดและทฤษฎีการบริหารมาใช้ในการบริหารงานนั้น จะแตกต่างกันออกไปตามแนวทางหรือความสนใจของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือผู้บริหารองค์กร

การบริหารองค์กรในทางวิชาการ เสนอว่า ควรดำเนินการเป็นกระบวนการ คือ ทำไปตามลำดับขั้นตอนต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีการขาดตอน การจำแนกขั้นตอนการบริหารที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ได้แก่ แนวความคิดทางการบริหารของ ฮาร์โรลด์ ดี คูนซ์ (Harold D. Koontz) ได้กำหนดกระบวนการบริหารไว้เป็น 5 ประการ คือ การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing) การเจ้าหน้าที่ (Staffing) การอำนวยการ  (Directing) และการควบคุมงาน (Controlling) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. การวางแผน (Planning)
เป็นกระบวนการในการกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ นโยบาย โครงสร้าง และวิธีการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุผลในอนาคต ทั้งนี้ผู้บริหารต้องมีความสามารถในการพยากรณ์เหตุการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งต้องมีการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการคาดคะเนผลที่จะได้รับ ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

2. การจัดองค์กร (Organizing)
เป็นการกำหนดรูปแบบโครงสร้างขององค์กร  จัดระบบ ระเบียบการทำงานขององค์กร เพื่อให้เกิดความสะดวกในการมอบหมายงาน หรือการสั่งการ มีการกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละส่วนงานอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานที่ซ้ำซ้อน

3. การจัดคนเข้าทำงาน (Staffing)
การจัดคนเข้าทำงาน หรือการบริหารงานบุคคล เป็นการจัดการเกี่ยวกับบุคคล นับตั้งแต่การสรรหา คัดเลือกบุคคลเข้าปฏิบัติงาน การดูแลบำรุงรักษา การแต่งตั้ง โยกย้าย การพัฒนา จนกระทั่งพ้นไปจากการปฏิบัติงาน นับว่าเป็นกระบวนการบริหารจัดการทั้งหมดเกี่ยวกับคน หรือ บุคลากร ที่จะสามารถปฏิบัติงานให้กับองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

4. การอำนวยการ (Directing)
การอำนวยการ หรือการสั่งการ เป็นภาระหน้าที่ของผู้บริหารในการใช้ความสามารถชักจูงบุคลากรให้ ปฏิบัติงานและมีความกระตือรือร้นในการที่จะทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้องค์กรสามารถทำงานบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องมีภาวะผู้นำ  มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และใช้ศิลปะในการบังคับบัญชา

5. การควบคุม (Controlling)
การควบคุม เป็นการติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติงานของบุคคลในองค์กรเพื่อให้งานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปฏิบัติงานตามหน้าที่ได้รับมอบหมายหรือหน้าที่ที่กำหนดไว้หรือไม่ การทำงานเป็นไปตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนดหรือไม่ มีข้อบกพร่องอย่างไรเพื่อนำไปสู่การทำการแก้ไข การควบคุมอาจตรวจสอบจากการใช้งบประมาณ การตรวจงาน  การรายงานผลการปฏิบัติงาน หรือการประเมินผลการปฏิบัติงาน

เรียบเรียงโดย ปฏิญญา ธรรมเมือง



หนังสือ Principles of management , Fourth Edition
หน้า 3 พูดถึง Process of Managment โดย Harold D. Koontz
+ https://books.google.co.th/books?id=trMz8Jy89C8C
+ https://en.wikipedia.org/wiki/Harold_Koontz
+ http://hacha555.blogspot.com/2013/07/harold-koonz.html

เอาอนาคตของประเทศมาเป็นตัวประกัน .. มักสำเร็จ

5 เม.ย.53 ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีใครหาอะไรมาเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้ได้สิ่งที่ต้องการ ตัวอย่างมีให้เห็นบ่อยมากในประเทศไทย แม้ในองค์กรบางแห่งก็มีอยู่เสมอ ที่ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของในองค์กรของตน เช่น 1) การบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ 2) การบอกว่าคนนั้นก็ยังไม่ทำจึงเป็นความชอบธรรมที่ตนไม่ทำบ้าง 3) การบอกว่าไม่ใช่เรื่องของเรา 4) การบอกว่าอย่าไปช่วยใครให้เห็นแก่ตัวไว้ก่อน 5) การบอกว่าก็เขาไม่มาบอก 6) การบอกว่ายังไม่ถึงเวลา 7) การบอกว่าอย่าไปยุ่ง 8 ) การบอกว่าเขาทำมาอย่างนั้นจงทำต่อไปทำเหมือนกันไปดีเอง .. คงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่กลายพันธุ์มาจากลิงได้ไม่นาน คนบางคนจึงพัฒนาไปได้ไม่ไกลนัก มองไปไม่พ้นเงาตนเองสักที ดังนั้นเราจึงเห็นคนที่มีการศึกษา แต่จิตใจไม่พัฒนา บางคนจิตใจดีงามแต่ขาดการศึกษาเป็นฐานความรู้ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล คนบางคนถูกความโลภ โกรธ หลง ชี้นำพฤติกรรมไปในทางใดทางหนึ่งก็มีตัวอย่างมากมายเกินกว่าจะยกตัวอย่าง .. เราท่านก็รู้เห็นเป็นใจกันอยู่ .. สรุปตรงนี้ว่าผมบ่นเรื่องการเมืองไทย .. แล้วอย่าถามผมว่าคิดอย่างไร เพราะคำตอบผมรุนแรงมากที่เห็นพฤติกรรมมนุษย์เป็นเช่นนี้ และที่สำคัญผมก็เป็นมนุษย์

ลุแก่อำนาจ

ภาพยนต์เรื่องนี้เป็นการแย่งชิงอำนาจในครอบครัว

28 ม.ค.53 ลุแก่อำนาจเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วไป เป็นรูปแบบชีวิตที่พบเห็นได้บ่อยในตำรวจยศสูง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้อำนวยการ ผู้มีฐานะดีมาก มักเป็นผู้ใช้อำนาจเกินบทบาทที่ควรเป็น เป็นพฤติกรรมที่ขาดความสมเหตุสมผล
เช่น ไม่รู้จักประมาณตน ไม่เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ชอบการถูกยกยอปอปั้น พอใจที่มีคนหมอบคลานเข้าไปเยี่ยงทาส ขึ้นเสียงต่อเพื่อนมนุษย์อย่างเคยชิน ชักสีหน้าไม่เลือกที่เลือกเวลา ใช้อำนาจที่มีโดยมิชอบ เป็นรูปแบบชีวิตที่พบเห็นได้บ่อยในภาพยนตร์อาจมีมากกว่า 80% และ มากกว่า 90% ที่คนกลุ่มนี้จะล้มเหลวตามบทบาท ที่ได้รับในภาพยนตร์ แต่ในชีวิตจริงคนเหล่านี้คิดว่าตนทำถูกต้องเหมือนในภาพยนตร์เปี๊ยบ .. แบบดื้อตาใส
    
ในชีวิตจริงเราจะพบเห็นพฤติกรรมแบบนี้ได้ไม่บ่อยนัก อาจเป็นเพราะมนุษย์เคยชินกับรูปแบบชีวิตของคนที่ลุแก่อำนาจ หรือมีพฤติกรรมไม่สมเหตุสมผลในภาพยนตร์หลายพันเรื่องหรือละครทีวี หากมีใครไปพบว่าใครสักคนทำตัวเป็นแม่ปูจนลูกปูไม่อยากอยู่ใกล้ เป็นแม่ปูที่ไม่มีความสมเหตุสมผลแล้วมาเล่าให้ผมฟัง ผมก็มองเป็นเรื่องปกติ แต่คนทั่วไปที่คาดหวังความสมเหตุสมผลจากแม่ปูก็จะเป็นเดือนเป็นร้อน .. ผมก็อุทานในใจว่า คนเคยกินข้าวก็ต้องกินข้าววันยันค่ำ หรือ คนเคยกินขนมปังก็ต้องกินขนมปัง หรือ คนเคยกินข้างเที่ยงก็ต้องกินข้างเที่ยงไปชั่วชีวิต .. แพ้ภัยตนเองเป็นคำกล่าวที่พบได้บ่อยในชีวิตจริง แบบไม่ต้องรอให้ถึงชาติหน้า เช่น กินเหล้าเมาแฟนก็ทิ้ง ซื้อหวยไม่ถูกก็ต้องเสียเงิน กินหมูกะทะก็จะเป็นมะเร็ง เป็นต้น ถ้ามีแม่ปูลุแก่อำนาจก็จะไม่มีลูกปูตัวใดเดินตามยกเว้นอยู่ในภาวะจำยอมเหมือนกบในกระทะ พอไม่มีหนักเข้าก็จะลือหึ่งกันไปทั้งชายหาด .. ก็เป็นนิทานสอนเด็กเรื่องลูกปูกับแม่ปูในชายหาดบางแสน .. ที่ผมจะเอาไปเล่าให้เพื่อนอาจารย์ฟัง แลกกับนิทานเรื่องตัดต้นไม้เพราะหวังเบียดบังชีวิตนกบนต้นไม้ของท่าน