แนวความคิดทางการบริหารของ ฮาร์โรลด์ ดี คูนซ์ (Harold D. Koontz)

principles of management
Principles of Management

การบริหารเป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการรวมตัวกันของมนุษย์ ในขณะที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มนั้น จำเป็นที่มนุษย์ต้องพยายามหาแนวทางหรือวิธีการควบคุมดูแลกันเองภายในกลุ่มให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งตอบสนองความต้องการของตนเอง ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องทำความรู้จักกับคำว่า “การบริหาร” เพื่อควบคุมดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยอดีต มีความพยายามแสวงหาวิธีการในการบริหารให้ได้ผลตามที่ตนเอง กลุ่ม หรือองค์กรต้องการ การบริหารจึงเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม เช่น การบริหารบุคคล การบริหารองค์กร และการบริหารประเทศ สำหรับแนวความคิดและทฤษฎีทางการบริหารในสมัยใหม่ที่เริ่มมีการศึกษาอย่างจริงจังนั้น เริ่มขึ้นเมื่อราวหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง โดยแนวความคิดที่เป็นจุดเริ่มของการศึกษาทางการบริหารยุคใหม่ ได้แก่ แนวความคิดของ Frederick W. Taylor ซึ่งนำเอาหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ในการบริหาร โดยเสนอแนวความคิด วิทยาศาสตร์การจัดการ (Scientific Management) ขึ้น และทำให้การศึกษาการบริหารมีการศึกษากันอย่างจริงจัง และมีการพัฒนาต่อเนื่องกันมาโดยตลอด พัฒนาการของแนวความคิดและทฤษฎีการบริหารจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง และเทคโนโลยี การนำแนวความคิดและทฤษฎีการบริหารมาใช้ในการบริหารงานนั้น จะแตกต่างกันออกไปตามแนวทางหรือความสนใจของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือผู้บริหารองค์กร

การบริหารองค์กรในทางวิชาการ เสนอว่า ควรดำเนินการเป็นกระบวนการ คือ ทำไปตามลำดับขั้นตอนต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีการขาดตอน การจำแนกขั้นตอนการบริหารที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ได้แก่ แนวความคิดทางการบริหารของ ฮาร์โรลด์ ดี คูนซ์ (Harold D. Koontz) ได้กำหนดกระบวนการบริหารไว้เป็น 5 ประการ คือ การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing) การเจ้าหน้าที่ (Staffing) การอำนวยการ  (Directing) และการควบคุมงาน (Controlling) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. การวางแผน (Planning)
เป็นกระบวนการในการกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ นโยบาย โครงสร้าง และวิธีการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุผลในอนาคต ทั้งนี้ผู้บริหารต้องมีความสามารถในการพยากรณ์เหตุการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งต้องมีการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการคาดคะเนผลที่จะได้รับ ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

2. การจัดองค์กร (Organizing)
เป็นการกำหนดรูปแบบโครงสร้างขององค์กร  จัดระบบ ระเบียบการทำงานขององค์กร เพื่อให้เกิดความสะดวกในการมอบหมายงาน หรือการสั่งการ มีการกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละส่วนงานอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานที่ซ้ำซ้อน

3. การจัดคนเข้าทำงาน (Staffing)
การจัดคนเข้าทำงาน หรือการบริหารงานบุคคล เป็นการจัดการเกี่ยวกับบุคคล นับตั้งแต่การสรรหา คัดเลือกบุคคลเข้าปฏิบัติงาน การดูแลบำรุงรักษา การแต่งตั้ง โยกย้าย การพัฒนา จนกระทั่งพ้นไปจากการปฏิบัติงาน นับว่าเป็นกระบวนการบริหารจัดการทั้งหมดเกี่ยวกับคน หรือ บุคลากร ที่จะสามารถปฏิบัติงานให้กับองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

4. การอำนวยการ (Directing)
การอำนวยการ หรือการสั่งการ เป็นภาระหน้าที่ของผู้บริหารในการใช้ความสามารถชักจูงบุคลากรให้ ปฏิบัติงานและมีความกระตือรือร้นในการที่จะทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้องค์กรสามารถทำงานบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องมีภาวะผู้นำ  มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และใช้ศิลปะในการบังคับบัญชา

5. การควบคุม (Controlling)
การควบคุม เป็นการติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติงานของบุคคลในองค์กรเพื่อให้งานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปฏิบัติงานตามหน้าที่ได้รับมอบหมายหรือหน้าที่ที่กำหนดไว้หรือไม่ การทำงานเป็นไปตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนดหรือไม่ มีข้อบกพร่องอย่างไรเพื่อนำไปสู่การทำการแก้ไข การควบคุมอาจตรวจสอบจากการใช้งบประมาณ การตรวจงาน  การรายงานผลการปฏิบัติงาน หรือการประเมินผลการปฏิบัติงาน

เรียบเรียงโดย ปฏิญญา ธรรมเมือง



หนังสือ Principles of management , Fourth Edition
หน้า 3 พูดถึง Process of Managment โดย Harold D. Koontz
+ https://books.google.co.th/books?id=trMz8Jy89C8C
+ https://en.wikipedia.org/wiki/Harold_Koontz
+ http://hacha555.blogspot.com/2013/07/harold-koonz.html

Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

I am Lecturer, Developer, Researcher, Columnist, Writer, Photographer, and Webmaster - L@mpang man

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.