ความเปลี่ยนแปลง

ทรงศักดิ์
ทรงศักดิ์

     “การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชุมชนนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เวลา แล้วใครจะทำ และทำเพื่อใคร”  เป็นประโยคที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้นก่อนทำการวิจัยในพื้นที่ เกิดอะไรบางสิ่งบางอย่างในพื้นที่ก่อนงานวิจัยจะเริ่ม คำถาม คำนินทา คำเตือน คำบอกเล่า ล้วนเป็นคำที่มีความหมายและมีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจของชุมชนและเป็นคำที่เกิดขึ้นก่อนงานวิจัยจะเริ่ม 

  “ทำไปทำไม ของมันดีอยู่แล้ว”
  “เป็นใครมาจากไหน ถึงได้กล้าทำในสิ่งที่เขาไม่ทำกัน”
  “อย่าทำเลย เดี๋ยวมันจะขึด”
  “เมื่อทำไปแล้ว ได้อะไรขึ้นมา ชาวบ้านได้อะไร”
  “สูทำไปทำไม ไผเป็นคนบอกให้สูทำ”

     คำถามต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่มีข่าวการทำวิจัยเรื่องงานศพในบ้านไหล่หิน การทำงานเริ่มระมัดระวังมากขึ้น เริ่มหันมาพูดคุยกันในกลุ่มนักวิจัยชาวบ้านถี่ขึ้น นักวิจัยต่างคนต่างให้ข้อคิดเห็นต่างกันออกไป เป็นกระจกซึ่งกันและกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างการทำงาน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงในตัวนักวิจัย เริ่มมีการไตร่ตรองความคิดของตนเองและเพื่อนร่วมงานอย่างละเอียด ประเด็นนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากตัวนักวิจัยต้องการที่จะให้งานที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของชุมชน เพราะฉะนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางสิ่งบางอย่างในชุมชน การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักวิจัยท้องถิ่นที่มีต่อชุมชนและรูปแบบงานวิจัยนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปตามรูปแบบที่เกิดขึ้น เพราะผลที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นเรื่องที่ชุมชนจะกล่าวว่านักวิจัยของบ้านไหล่หินเป็นผู้นำทางความคิด หรือ “เป๋นเก๊าตางกำกึด” และนี่เป็นสิ่งที่นักวิจัยท้องถิ่นต้องยอมรับ
        หากกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในงานวิจัยท้องถิ่นโดยนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หิน หมู่ 2 ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง แล้วนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลนั่นคือ นักวิจัย และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากชุมชน และที่สำคัญเกิดความเปลี่ยนแปลงกับชุมชนโดยรอบ ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดและสามารถสัมผัสได้ อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า นักวิจัยของบ้านไหล่หินเกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด เปลี่ยนแปลงการทำงาน ประเด็นนี้ส่งผลให้เกิดการยอมรับนักวิจัยในชุมชนขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการทำงานของนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หินทำงานกันเป็นทีม ทำให้การยอมรับกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในงานวิจัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ชาวบ้านเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างจากนักวิจัยท้องถิ่นบ้าง แต่ความคิดของชาวบ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นการแตกแยกในกลุ่มของชาวบ้านกันเอง แต่กลับเป็นผลดีต่อกระบวนการงานวิจัยที่กำลังลงมือกันอยู่ เป็นกระจกส่องการทำงานโดยคนในชุมชน เกิดสัมพันธภาพที่ดีในกลุ่มนักวิจัยและชาวบ้านที่เข้าร่วมเวที เสียงหัวเราะเริ่มเสียงดังขึ้น การแสดงความคิดเห็นในเวทีเริ่มมีสีสัน ข้อเสนอแนะมีมากขึ้น
       สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านมีความเข้าใจในกระบวนการงานวิจัยมากขึ้น กอปรกับชุมชนไหล่หินเป็นชุมชนที่มีการทำวิจัยในชุมชนค่อนข้างมาก ทำให้การดำเนินกิจกรรมระหว่างงานวิจัยนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในเวทีงานวิจัยแล้วผลของความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเปลี่ยนแปลงในชุมชนในช่วงเวลาปกติ และในช่วงที่มีงานศพในหมู่บ้าน ขั้นตอนและกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนไหล่หินนั้นเป็นกระบวนการที่มีทั้งการขับเคลื่อนโดยนักวิจัยและการขับเคลื่อนโดยคนในชุมชน ซึ่งเราต้องยอมรับว่าในบางครั้งของห้วงเวลาที่ดำเนินงานวิจัย บางเรื่องเป็นเรื่องที่นักวิจัยไม่สามารถถามต่อชุมชนได้ เนื่องจากว่าบางสิ่งบางอย่างในงานวิจัยเป็นเรื่องของจารีตประเพณี เป็นเรื่องของความเชื่อที่มีมานาน เพราะฉะนั้นประเด็นนี้คนที่ขับเคลื่อนเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือคนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยทำให้ประเด็นคำถามที่ทีมนักวิจัยต้องการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเวทีประชาคม เป็นการพูดคุยผ่านกระบวนการประชาคมในหมู่บ้านและการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในงานศพที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งในหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเริ่มมีการพูดคุยในงานศพก็นำมาพูดคุยให้ข้อเสนอแนะในเวที โดยเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวที่มีการพูดคุยกันมานานก่อนงานวิจัยจะเริ่มขึ้นและเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างงานวิจัย ทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีการบ่มมานาน การพูดคุย การเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เคยปิดกั้นทางความคิดของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับจารีตถูกเปิดเผย ถูกพูดถึง ทำให้จารีตประเพณีหรือฮีตถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพูดคุย ปัดฝุ่นกันอีกครั้งว่า เป็นฮีตเดิมฮีตเก่าฮีตแก่หรือไม่อย่างไร ใช้เหตุและผลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการชำระฮีตในชุมชน ทำให้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นทิศทางของความคิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในชุมชน จนนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดขึ้นตามการชำระฮีต โดยยังยึดหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสั่งสอนของบรรพบุรุษในชุมชน ทั้งนี้เป็นการเดินทางสายกลางทางความคิดระหว่างนักวิจัยในหมู่บ้าน ผู้สูงอายุ เยาวชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในชุมชนเกิดขึ้นท่ามกลางมวลชนหลายหมู่เหล่าที่เห็นพ้องในแนวทางการดำเนินงานโครงการวิจัยการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านไหล่หิน หมู่ 2 และ หมู่ 6 ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและสัมพันธภาพในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด เกิดการยอมรับทางความคิด และการยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น
              จากความเปลี่ยนแปลงในทั้งสองหมู่บ้านทำให้ชุมชนรอบข้างเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกระบวนการงานวิจัยที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านดำเนินการกันอยู่ มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงไม่สนับสนุน เหมือนลักษณะในครั้งแรกที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หิน แต่กระนั้นก็ตามการกล่าวขานก็เป็นเพียงการกล่าวขานเล่าเรื่องราวเท่านั้น ความกระจ่างชัดในวัตถุประสงค์ของงงานวิจัยยังไม่แผ่คลุมในระดับตำบลหรือชุมชนรอบข้างแต่อย่างใด   

“หมู่บ้านท่านทำแบบใด ผมอยากมีแนวทาง
เหมือนบ้านท่านบ้าง หากมีเวลาผมขอเชิญมา
พูดคุยกับชาวบ้านตอนประชุมหมู่บ้านด้วยนะ” 

       เสียงของผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหนึ่งบอกกล่าวแบบเชิญชวนหนึ่งในทีมวิจัยของเราเข้าไปพูดคุยในประเด็นที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังดำเนินการและปฏิบัติกันอยู่ ตรงนี้เป็นการชั่งคิดของชุมชนรอบข้างถึงแนวทางที่เกิดขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนรอบข้างที่ตอบรับกระบวนการงานวิจัยที่เกิดขึ้น เป็นการส่งไม้ต่อที่ไม่ต้องออกแรงกันมากนัก เกิดแนวร่วมแบบไม่เป็นทางการเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ไม่นาน เกิดแรงสนับสนุนจากภายนอกชุมชนเข้ามาเป็นระยะ ๆ จนในที่สุดกระบวนการและขั้นตอนที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หินก็สามารถหยิบยกในรูปแบบการดำเนินงานไปใช้กับชุมชนรอบข้างในตำบลไหล่หินได้เป็นอย่างดี จะแตกต่างตรงที่แนวทางและรูปแบบของแต่ละหมู่บ้านที่ไม่เหมือนกัน แต่กระบวนการที่นำไปใช้เป็นการถอดบทเรียนที่ชาวบ้านสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนทางความคิด บทเรียนทางการปฏิบัติ ทำให้เห็นว่าในเมื่อสิ่งที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังทำอยู่นั้น เกิดผลดี ผลสัมฤทธิ์ที่มีคุณค่า หมู่บ้านหรือชุมชนรอบข้างเกิดความต้องการที่จะใช้กระบวนการของงานวิจัยเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชุมชนของตน
        จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตัวบุคคลไปถึงระดับหมู่บ้านจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับตำบลนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้แนวความคิดที่อยู่ภายใต้กระบวนการงานวิจัยท้องถิ่นของชาวบ้านไหล่หินที่กล้าเปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงชุมชนจนนำไปสู่รูปแบบการจัดงานศพที่เกิดขึ้นจากเวทีประชาคม เกิดจากบทเรียนที่ถอดด้ามมาจากชุมชนรอบข้าง ทั้งนี้ผู้เขียนที่เป็นหนึ่งในทีมวิจัยชาวบ้าน เห็นว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกระบวนการงานวิจัยที่สอนให้ชาวบ้านได้รู้จักระบบการคิดที่มีเหตุผลและเป็นขั้นตอนอย่างยั่งยืนบนฐานความคิดของตนเองและชุมชน

Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

I am Lecturer, Developer, Researcher, Columnist, Writer, Photographer, and Webmaster - L@mpang man

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.