ยินดีกับผู้ได้ปรับเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขกว่าแสนคน

blood donation
blood donation

ของขวัญปีใหม่! สธ.เตรียมบรรจุลูกจ้างชั่วคราว สธ.กว่า 1 แสนคนเตรียมเป็น พกส.

สธ.เตรียมมอบของขวัญปีใหม่ลูกจ้างชั่วคราว สธ. กว่า 1 แสนคน เป็นพนักงานกระทรวงฯ ได้เงินเดือนเพิ่ม สิทธิเท่าเทียมข้าราชการ มีโบนัส ลาศึกษาได้ ขอย้ายได้ ฯลฯ คาดประกาศใช้ ม.ค.56
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากำลังบุคลากรกระทรวงฯ ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานแก่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ รพ.สูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ และสมาชิกสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ว่า ในภาพรวมขณะนี้มีบุคลากรทั้งข้าราชการและลูกจ้างปฏิบัติงานในหน่วยบริการของกระทรวงฯ กว่า 10,000 แห่ง รวม 320,000 คน ได้แก่ ข้าราชการ 180,000 คน ที่เหลือ 140,000 คนเป็นลูกจ้างชั่วคราว ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ 21 สายงาน เช่น พยาบาลวิชาชีพ เภสัชกร นักจิตวิทยา นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักรังสีการแพทย์ นักการแพทย์แผนไทย ที่ปฏิบัติงานตั้งแต่ปี 2549-2555 รวม 30,188 คน ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.เห็นชอบการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่เป็นสายวิชาชีพ 21 สายงานของกระทรวงฯ โดยอนุมัติตำแหน่งข้าราชการให้กระทรวงฯ เพื่อบรรจุลูกจ้างดังกล่าวรวม 22,641 อัตรา ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วน ภายในระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2558 เฉลี่ยบรรจุปีละ 7,547 อัตรา ในปีงบประมาณ 2556 นี้ จะบรรจุทั้งหมด 8,446 อัตรา และปี 2557-2558 บรรจุปีละ 7,547 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนที่อยู่นอกเหนือ 21 สายงานวิชาชีพ และลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพที่ยังไม่ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งมีประมาณ 117,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงฯ เตรียมมาตรการรองรับเพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจและความมั่นคงในอาชีพ โดยจะรับเป็นพนักงานกระทรวงฯ หรือ พกส. ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับเสร็จแล้ว ฉบับที่ 1 ได้แก่ ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ….. ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารหลักเกณฑ์ต่างๆ 6 ชุด ได้แก่ 1.ชุดกำหนดประเภทตำแหน่งลักษณะงานและคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่มงาน 2.กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการสรรหาและการเลือกสรรพนักงานฯ 3.ชุดกำหนดค่าจ้างพนักงาน 4.ชุดสิทธิประโยชน์ 5.ชุดการประเมินผลการปฏิบัติงาน และ6.หลักเกณฑ์การลาออกจากการปฏิบัติงานระหว่างสัญญาจ้าง
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ฉบับที่ 2 คือ การปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบำรุงหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ขณะนี้เสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะได้รับการตอบกลับมาเร็วๆ นี้ หากได้รับเห็นชอบกลับมาจะเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข และปลัด สธ.ลงนามเพื่อประกาศใช้ต่อไป คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนมกราคม 2556 นี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ลูกจ้างกระทรวงฯ
ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. กล่าวว่า การเป็นพนักงานกระทรวงฯ ถือว่ามีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น อัตราเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า ได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่าข้าราชการ เช่น มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลาศึกษาต่อได้ มีการประเมินขึ้นเงินเดือน มีโบนัส ได้รับค่าจ้างระหว่างลา มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลางาน มีค่าใช้จ่ายเดินทาง ค่าเบี้ยประชุม เป็นต้น โดยพนักงานกระทรวงฯ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท 1.ประเภททั่วไป คือกลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานเป็นลักษณะงานประจำ ซึ่งเป็นภารกิจหลักและภารกิจทั่วไปของหน่วยบริการ ได้แก่ พนักงานกลุ่มเทคนิค เช่น พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าพนักงานเวชสถิติ เจ้าพนักงานสาธารณสุข นายช่างเทคนิค เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษา พนักงานเภสัชกรรม ช่างไฟฟ้า ช่างเหล็ก ช่างประปา เป็นต้น
กลุ่มบริการ เช่น เจ้าพนักงานธุรการ พนักงานเปล งานพัสดุ พนักงานช่วยการพยาบาล พนักงานประกอบอาหาร กลุ่มบริหารทั่วไปเช่น นักจัดการงานทั่วไป นักวิเคราะห์นโยบายและแผน นักวิขาการเงินบัญชี นักทรัพยากรบุคคล และกลุ่มวิชาชีพเฉพาะหรือกลุ่มที่ต้องปฏิบัติงานภายใต้พระราชบัญญัติวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช พยาบาลวิชาชีพ และ 2.ประเภทพิเศษ ซึ่งเป็นลักษณะงานที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถหรือความเชี่ยวชาญสูงมากเป็นพิเศษ เพื่อปฏิบัติงานที่มีความสำคัญและจำเป็นเฉพาะเรื่องของหน่วยบริการ
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000152162

ฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ ทรงเตือนภัยจุดธูป เสี่ยงมะเร็ง

incense
จุดธูปเสี่ยงมะเร็ง

21 ก.พ.54 ศาสตราจารย์ พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเอ่ย ขอร้องเลี่ยงจุดธูป (Incense Burning) บูชาพระ ทรงชี้เป็นต้นเหตุมะเร็งน่ากลัวมากกว่าควันพิษที่ออกมาจากรถยนต์ เป็นไลฟ์สไตล์  (Life Style) ที่ทำให้คนร่วงผล็อย ๆ ตายด้วยโรคมะเร็ง ทรงแนะให้จุดในที่อากาศถ่ายเท ไม่ใช่ห้องแอร์ ทรงเผยวัดให้ความร่วมมือดีมาก แนะจุดเทียนอย่างเดียว

ที่ห้องประชุมพิบูลสงคราม  รพ.ราชวิถี เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2554 ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จทรงเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ รพ.ราชวิถี ครั้งที่ 22 ประจำปี 2554 ในวาระครบรอบ 60 ปี รพ.ราชวิถี โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ พญ.วารุณี จินารัตน์ ผอ.รพ.ราชวิถี พร้อมแพทย์และข้าราชการกว่า 1,000 คน เฝ้ารับเสด็จ

ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงบรรยายปาฐกถาพิเศษ Oncology หรือการศึกษาและการรักษาด้านเนื้องอกของร่างกาย ความตอนหนึ่งว่า เรื่องที่อันตรายมากคือเรื่องของควันธูปซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ (Life Style) เป็นวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะคนสูงอายุ จะบอกให้เปลี่ยนหรือบอกไม่ให้ทำ บางครั้งก็เคยลองพูดบ้างแล้วก็โดนเถียงกลับมาว่ามันเป็นประเพณี ก็เลยกุมหัวแล้วถามผู้ใหญ่ท่านนั้นว่า แล้วจะเป็นประเพณีของคนไทยต่อไปด้วยหรือเปล่า ที่จะต้องร่วงผล็อย ๆ ตายด้วยโรคมะเร็ง (Cancer) เพราะว่าจริง ๆ แล้ว มันหลีกเลี่ยงได้หลายทาง เช่นว่า ถ้ายังอยากจะจุดอยู่ให้จุดในห้องที่มีอากาศถ่ายเทไปข้างนอกได้ ไม่ใช่มาจุดในห้องแอร์แล้วมานั่งสูดดมกันอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเลี่ยงได้เลยก็ควรเลี่ยง

“จริง ๆ แล้วที่ข้าพเจ้าทำงานมามีโอกาสได้พูดกับพระหลายวัด และพระท่านร่วมมือดีมาก เดี๋ยวนี้เวลามีคนไปบูชาพระท่านบอกว่าจุดเทียนเฉย ๆ นะไม่ต้องจุดธูป จริง ๆ เทียนก็มีสารพวกนี้ออกมาเหมือนกันจากการเผาไหม้ แต่เมื่อเทียบกันแล้วเป็นส่วนน้อยมาก ส่วนธูปมันมากจนน่ากลัว น่ากลัวมากกว่าควันพิษที่ออกมาจากรถยนต์เสียอีก เพราะฉะนั้นอยากจะขอร้องทุกท่านในที่นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าส่วนใหญ่ก็เป็นแพทย์กันทั้งนั้น แพทย์ก็มีหน้าที่ต้องดูแลสุขภาพของคน เพราะฉะนั้นเชื่อว่าแพทย์ทุกคนก็คงคิดเหมือนข้าพเจ้า คือ ไม่อยากเห็นคนไข้เป็นมะเร็ง เห็นแล้วมันเศร้าใจจริง ๆ และท่านที่เป็นผู้ใหญ่ ในที่นี้ก็มีผู้ใหญ่ที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนด้วยการตัดสินใจของท่าน หรือ ด้วยการแนะนำของท่านในเพื่อนนักการเมืองด้วยกัน หรือผู้ปกครองระดับปกครองด้วยกันก็คิดว่าท่านจะสามารถช่วยได้มาก” ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงกล่าว

ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  ทรงกล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องควันของไอเสียก็คงต้องแก้ไขในเรื่องของระบบจราจร ซึ่งกรณีนี้ข้าพเจ้าไม่เชี่ยวชาญ แต่เรื่องควันธูปขอร้องกันหน่อยว่า จุดให้น้อยลง หรือจุดในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ก็จะลดเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงลงได้เยอะ และอีกแง่หนึ่งคือว่า ที่จะช่วยให้คนเข้าใจขึ้นคือต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลการวิจัยโดยใช้ภาษาง่าย ๆ ว่ามันอันตรายเพราะอะไรและอันตรายเกิดขึ้นอย่างไร ข้าพเจ้าทำงานอยู่ทางนี้ก็มี รพ.มะเร็ง จริง ๆ ข้าพเจ้าคิดว่าจะทำเหมือนกัน น่าจะทำเป็นแผ่นพับแจกก็ได้ หรือไม่ก็ทำเป็นฝึกอบรมสำหรับคนทั่วไปใครสนใจให้มาฝึกอบรมว่า คนเราทำไมถึงได้เป็นมะเร็ง ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกระดับทุกชนชั้นของคนรู้จักแล้วทั้งนั้นแล้วก็รู้ว่า เป็นโรคที่ทรมาน

ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬา ภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงกล่าวอีกว่า จริง ๆ ถ้ามองในแง่ของรัฐบาล มะเร็งเป็นโรคที่รัฐบาลขาดทุน เพราะการรักษาคนไข้มะเร็งต่อ 1 คนต่อปี ค่าใช้จ่ายอย่างต่ำ 1 ล้านบาทต่อคน เพราะฉะนั้นถ้าคนเป็นมะเร็งยิ่งมากรัฐบาลยิ่งย่ำแย่ เพราะฉะนั้นถ้าอะไรที่จะเรียกว่าตัดวงจรนี้ได้ไม่ให้เกิดเป็นมะเร็ง ตัดวงจรตรงอัตราความเสี่ยงออก หรือให้น้อยลง น้อยที่สุด เปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดเป็นมะเร็งมันก็จะน้อยลงตามไปด้วย

“ในฐานะที่ข้าพเจ้าก็แก่แล้ว ไม่ใช่เด็กแล้ว เนื่องจากเป็นผู้น้อยและมีท่านผู้ใหญ่อยู่ในที่นี่หลายท่าน ก็ขอไหว้ ขอความกรุณา ทุกคนช่วยกันหน่อยนะคะเรื่องโรคมะเร็ง” ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังการพูดจบ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงยกพระหัตถ์ไหว้ ขอร้องทุกคน โดยที่ประชุมได้ปรบมือเสียงดังกึกก้องนานหลายนาที

http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/20863
http://www.zone-it.com/184550
http://th.88db.com/Help/Question/3988/