ความเร็วที่ไม่มีวันพอ (itinlife297)

3bb
3bb

9 ก.ค.54 ราวปีพ.ศ.2539 มีโอกาสเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็ม (Modem) ซึ่งเป็นอุปกรณ์แปลงสัญญาณระหว่างสัญญาณอนาล็อกในสายโทรศัพท์พื้นฐานและสัญญาณดิจิทอลในเครื่องคอมพิวเตอร์ ในตอนนั้นอุปกรณ์มีความเร็ว 14.4 Kbps โดยใช้โปรแกรม NCSA Mosaic หรือ Netscape browser สำหรับสืบค้นข้อมูล และเว็บไซต์ยอดนิยมที่ทุกคนตอบตรงกันคือ yahoo.com ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งในฐานะเว็บท่า (Portal Website) เริ่มต้นราวปีพ.ศ.2538 พัฒนาโดย เจอร์รี่ หยาง (Jerry Yang) และ เดวิด ฟิโล (David Filo) นักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

อีกไม่กี่ปีต่อมาก็มีการพัฒนาโมเด็มให้มีความเร็ว 28.8 Kbps ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม ทำให้สามารถดาวน์โหลดภาพ ข้อมูล คลิ๊ปวีดีโอ และโปรแกรมได้เร็วขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์เริ่มพัฒนาให้รองรับการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมดีขึ้น และโมเด็มความเร็ว 56 Kbps ก็ถือกำเนิด และถูกยอมรับให้เป็นมาตรฐานสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับความเร็ว 56 Kbps นั้นเทียบได้กับความเร็วในการดาวน์โหลดภาพขนาด 100 KB ใช้เวลา 15 วินาที หรือ 1 นาทีดาวน์โหลดภาพได้ 4 ภาพ ซึ่งในอดีตภาพดิจิทอลมักมีขนาดไม่ใหญ่ และผู้พัฒนาทราบข้อจำกัดนี้ จึงไม่ใช้สื่อดิจิทอลที่มีขนาดใหญ่เกินจำเป็น มิเช่นนั้นผู้สืบค้นข้อมูลอาจอดทนรอไม่ได้ แล้วเปลี่ยนใจไปเข้าเว็บไซต์อื่นแทน แต่เมื่อค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่ำลง อุปกรณ์ถูกพัฒนาควบคู่กัน ทำให้ผู้สืบค้นข้อมูลได้รับบริการความเร็วสูงที่ขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากบ้านผ่าน ADSL Modem ที่ทำได้ง่าย และเชื่อมต่อได้พร้อมกันหลายคน

ความต้องการของมนุษย์มีไม่สิ้นสุดฉันใด การพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อตอบความต้องการก็จะต้องดำเนินต่อไปฉันนั้น ในปีพ.ศ.2554 มีการประชาสัมพันธ์ Broadband internet ของ 3BB ว่าให้บริการเชื่อมต่อความเร็วดาวน์โหลด 9 Mbps และอัพโหลด 1 Mbps มีค่าใช้จ่ายเพียง 900 บาท เมื่อเปรียบเทียบความเร็วของอุปกรณ์สองยุค  พบว่า ปัจจุบันบริการ ADSL มีความเร็วสูงกว่าโมเด็ม 14.4 Kbps ถึง 640 เท่า เมื่อเปรียบเทียบเวลาในการดาวน์โหลดข้อมูลผ่าน ADSL ที่ต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้โมเด็มจะต้องรอถึง 26 วันทีเดียว อาจสรุปได้ว่าอินเทอร์เน็ตก็เปรียบเสมือนแก้วสารพัดนึก ต้องการอะไรก็เข้าอินเทอร์เน็ต คิดดีก็ได้ดี แต่ถ้าคิดไม่ดี หรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางไม่สุจริต ก็อาจเป็นผลร้ายต่อตนเอง ดังนั้นการจะใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตก็ต้องมีการยับยั้งชั่งใจและพิจารณาให้ถี่ถ้วน

ฮอทสพอทที่นครลำปาง (itinlife286)

3bb hotspot
3bb hotspot

เทศบาลนครลำปาง จังหวัดลำปาง ร่วมกับ 3BB Broadband จัดงานเปิดวายฟายซิตี้ (Wi-Fi City) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2554 โดยบริษัทที่มีความร่วมมือกับเทศบาลนครลำปางได้ติดตั้งฮอทสพอท (Hotspot) ให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายในพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 10 พื้นที่ และจะขยายพื้นที่ที่ติดตั้ง Access Point เพิ่มเติมต่อไป ซึ่งฮอทสพอทหมายถึงจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายในพื้นที่สาธารณะ การที่ทั้งเมืองมีฮอทสพอทย่อมอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และประชาชนสามารถเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตได้โดยสะดวก

อุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Access Point) แต่ละตัวมีความสามารถรับการเชื่อมต่อจากเครื่องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือไอแพด มีพื้นที่ครอบคลุมรัศมีประมาณ 100 เมตร ถ้าอยู่ห่างออกไป 300 เมตรอาจตรวจพบสัญญาณจากฮอทสพอท แต่คุณภาพของสัญญาณอาจไม่ดีพอที่จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ให้บริการเปิดให้ผู้ใช้ทดลองใช้ฟรี 20 นาที โดยส่งคำขอทดลองใช้ได้ผ่านโทรศัพท์มือหรืออีเมล ถ้าพึงพอใจในคุณภาพของสัญญาณก็สามารถซื้อบริการทั้งแบบ Prepaid หรือรายเดือนได้ ซึ่งแพคเกจรายเดือนราคา 100 บาทสามารถใช้บริการวายฟายได้ไม่จำกัดชั่วโมง และใช้ได้กับ 3BB Hotspot ทั่วประเทศไทย

บริการนี้อาจเป็นทางเลือกใหม่ของชาวลำปางที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายเป็นประจำ เพราะบริการ ADSL ตามบ้าน หรือ Internet SIM ใน Air Card ล้วนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า หากต้องการลดค่าใช้จ่ายก็อาจเปลี่ยนมาใช้บริการ Wi-Fi Hotspot แต่คุณภาพของอุปกรณ์เพื่อบริการในพื้นที่สาธารณะย่อมต่างกับบริการสำหรับ บุคคล ถ้าใช้บริการฮอทสพอทในร้านกาแฟพร้อมกัน 20 คนย่อมได้รับความเร็วที่ถูกปันส่วนตามการใช้งาน การใช้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบใดย่อมต้องพิจารณาเลือกผู้ให้บริการ ที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งาน และฮอทสพอทเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ

http://www.3bbhotspot.com/home/index.php