ร้อนระอุกว่าหมื่นปีก่อนถึง 80%

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาแกนน้ำแข็งเก็บข้อมูลอุณหภูมิโลกในอดีต (โอเรกอนสเตท)

ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

นักวิทยาศาสตร์เก็บข้อมูลแกนน้ำแข็งและตะกอนดิน จาก 73 แห่งทั่วโลก แล้วย้อนหาอุณหภูมิโลกไปจนถึงปลายยุคน้ำแข็ง ซึ่งผลการวิเคราะห์เผยว่า โลกเราทุกวันนี้ร้อนขึ้นจากเมื่อ 11,300 ปีก่อนถึง 70-80%

ข้อมูลดังกล่าวเป็นผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท (Oregon State University) และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สหรัฐฯ ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานลงวารสารไซน์ (Science) โดย EarthSky ได้รายงานเรื่องนี้และอ้างข้อมูลจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (NSF)

ฌอน มาร์คอตต์ (Shaun Marcott) จากโอเรกอนสเตท กล่าวว่า งานวิจัยเกี่ยวกับอุณหภูมิโลกที่ผ่านๆ มานั้น ส่วนใหญ่พิจารณาแค่ช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการย้อนหาอุณหภูมิโลกไปไกลถึงลายยุคน้ำแข็งนี้ เป็นการขยายให้เห็นสถานการณ์ที่กว้างขึ้น ซึ่งเราทราบว่าโลกทุกวันนี้ร้อนกว่าเมื่อ 2,000 ปีก่อน แต่ตอนนี้เราทราบด้วยว่าโลกยังร้อนกว่าเมื่อหมื่นปีก่อนมาก

ด้าน แคนแดซ เมเจอร์ (Candace Major) ผู้อำนวยการโครงการจากแผนกมหาสมุทรศาสตร์ ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ กล่าวว่าในช่วงร้อยปีที่ผ่านมานี้นับเป็นความวิปริตของอุณหภูมิโลกนับแต่ปลายยุคน้ำแข็ง

“งานวิจัยนี้เผยให้เห็นการเปลี่ยนของอุณหภูมิที่เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกับการเริ่มต้นปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วมากเมื่อเทียบกับช่วงประวัติศาสตร์โลกกว่า 11,000 ปีที่ผ่านมา” เมเจอร์กล่าว

สำหรับงานวิจัยนี้ได้ทุนสนับสนุนจากโครงการภูมิอากาศดึกดำบรรพ์ ของแผนกบรรยากาศและภูมิศาสตร์ ในมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ

ปีเตอร์ คลาร์ก (Peter Clark) นักบรรพชีวินวิทยาของโอเรกอนสเตทและเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัยในวารสารไซน์ กล่าวว่างานวิจัยอุณหภูมิโลกที่ผ่านมานั้นส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในระดับภูมิภาค และไม่ได้ลงไปในระดับโลก

คลาร์กกล่าวว่า การศึกษาเพียงบางส่วนของโลกนั้น มักจะได้รับกระทบจากภูมิอากาศระดับภูมิภาคด้วย อย่างปัจจัยเรื่องเอลนีโญและมรสุมต่างๆ เป็นต้น แต่ห่างรวบรวมข้อมูลจากจุดต่างๆ ทั่วโลก ก็จะเฉลี่ยเอาความแปรปรวนในระดับภูมิภาคออกไป และได้ภาพรวมของประวัติศาสตร์อุณหภูมิเฉลี่ยระดับโลก

นักวิจัยระบุว่า ที่ประวัติศาสตร์อุณหภูมิโลกเผยออกมาคือ เมื่อช่วง 5,000 ปีก่อนโลกเย็นกว่านี้ 1.3 องศาฟาห์เรนไฮต์ หรือ 0.7 องศาเซลเซียส และเมื่อ 100 ปีก่อน อุณหภูมิก็เพิ่มขึ้นมาประมาณ 1.3 องศาฟาห์เรนไฮต์ โดยพื้นที่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากทึ่สุดอยยู่ในซีกโลกเหนือ ที่มีแผ่นดินและประชากรมนุษย์อาศัยอยู่มากกว่าพื้นที่ในซีกโลกใต้

แบบจำลองภูมิอากาศคาดการณ์ว่า ก่อนสิ้นศตวรรษนี้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 2-11.5 องศาฟาห์เรนไฮต์ หรือ 1.1-6.3 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มมากแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณมากน้อยในการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ

สิ่งที่แย่ที่สุดของคาดการณ์จากแบบจำลองคือ ความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นนี้จะเพิ่มสูงกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ 11,300 ปีที่ผ่านมา มาร์คอตต์ ยังบอกอีกว่าปัจจัยเดียวที่ส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลกในช่วงหมื่นปีที่ผ่านมา คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ที่โลกได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์โดยสัมพันธ์กับตำแหน่งของโลกและดวงอาทิตย์ด้วย

ในเบื้องต้น ทีมวิจัยซึ่งยังประกอบด้วย เจเรมี ชากุน (Jeremy Shakun) จากฮาวาร์ด และ อลัน มิกซ์ (Alan Mix) จากโอเรกอนสเตท ได้ใช้ฟอสซิลจากแกนตะกอนในมหาสมุทร และบนบกเพื่อหาอุณหภูมิโลกตั้งแต่อดีต

คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพของฟอสซิล ทั้งชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตและองค์ประกอบเคมี และอัตราส่วนไอโซโทป เป็นบันทึกข้อมูลอุณหภูมิในอดีตที่ยอมรับได้ เมื่อเทียบกับสิ่งที่บันทึกข้อมูลในยุคปัจจุบัน

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจาก 73 แห่ง ได้เผยให้เห็นภาพใหญ่ของประวัติศาสตร์โลก และให้บริบทใหม่เกี่ยวกับการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

มาร์คอตต์กล่าวว่า ภูมิอากาศโลกนั้นซับซ้อนและตอบสนองต่อแรงขับที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์และการรับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทั้งสองปัจจัยเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ในช่วง 11,000 ปีที่ผ่านมา แต่ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจากการปลดปล่อยผ่านกิจกรรมของมนุษย์อย่างมากมายมหาศาล

“มันคือตัวแปรเดียวที่อธิบายได้ดีที่สุดถึงการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของอุณหภูมิโลก” มาร์คอตต์ชี้ต้นเหตุของอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นอย่างผิดปกติในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000029299

Leave a Reply