อาจารย์มหาวิทยาลัย .. ลูกเมียน้อยในกระทรวงศึกษาธิการ

อาจารย์มหาวิทยาลัย กับครูประถม
อาจารย์มหาวิทยาลัย กับครูประถม

มติชนรายวัน 4 ธ.ค.55
โดย สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354609254&grpid&catid=02&subcatid=0207

เกือบทุกครั้งที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด รัฐมนตรีที่เป็นเป้าหมายจะต้องถูกปรับ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาแล้ว 52 คน ในขณะที่มีนายกรัฐมนตรี 28 คน

ผู้บริหารประเทศ มักจะพูดเสมอว่า กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญ แต่ในความเป็นจริงมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกระทรวงนี้เท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ กระทรวงมหาดไทย คมนาคม เกษตรและสหกรณ์ และพาณิชย์ มากกว่า

ในอดีตกระทรวงศึกษาธิการถูกมองว่าเป็นกระทรวงเกรดซี แต่ปัจจุบันปรับขึ้นมาเป็นกระทรวงเกรดบี เหตุที่ปรับก็เพราะกระทรวงนี้มีบุคลากรและงบประมาณมาก เป็นฐานเสียงสำคัญของนักการเมือง

การปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ผ่านมาก็เช่นกัน กระทรวงที่หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกปรับก็คือกระทรวงศึกษาธิการอีกเช่นเคย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันชื่อพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการชื่อเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ซึ่งเคยเป็นเบอร์หนึ่งของกระทรวงมหาดไทย

รัฐมนตรีทั้งสองท่านไม่เคยเป็นครูหรือทำงานด้านการศึกษามาก่อน แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญก็คือท่านทั้งสองตั้งใจจะมาอยู่กระทรวงนี้จริงแค่ไหน ท่านมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและแก้ปัญหาการศึกษาของชาติจริงจังมากน้อยเพียงใด หรือมาเพื่อเป็นที่พักพิงชั่วคราวเพื่อรอข้ามไปอยู่กระทรวงอื่น

สิ่งหนึ่งที่อยากจะขอฝากรัฐมนตรีว่าการ (คุณพงศ์เทพ) ก็คือขอให้ช่วยดูแลอาจารย์มหาวิทยาลัยบ้าง อย่าให้อาจารย์มหาวิทยาลัยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจนลาออกไปขายเต้าฮวยกันหมด

ท่านรัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยได้เงินเดือนน้อยกว่าครูประถม พูดไปก็แทบไม่มีใครเชื่อ แต่ความจริงเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ครูประถมได้เงินเดือนมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย 8% ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2553 มาถึงวันนี้ก็กว่า 2 ปีแล้ว

คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ซึ่งดูแลอาจารย์มหาวิทยาลัยยังสบายดีอยู่หรือ ท่านปล่อยให้เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมานานกว่า 2 ปีได้อย่างไร ท่านไม่คิดจะดำเนินการแก้ไขอะไรเพื่อพิทักษ์สิทธิของอาจารย์มหาวิทยาลัยบ้างเลยหรือ

อีกเรื่องหนึ่งที่ครูประถม/มัธยมสังกัด สพฐ.ก้าวล้ำอาจารย์มหาวิทยาลัยไปอีกก้าวหนึ่ง ก็คือเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎ กคศ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือขั้นต่ำกว่า หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ (ฉบับที่) พ.ศ…………ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างกฎ กคศ. ฉบับดังกล่าวเสร็จแล้ว รอ ศธ.แจ้งยืนยัน และจะได้นำเรื่องนี้แจ้งให้ ครม.รับทราบเพื่อรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สาระสำคัญของร่างกฎ กคศ.ดังกล่าวก็คือ ข้าราชการครูที่ได้รับเงินเดือนอันดับ คศ.2 ในขั้นสูงสุด สามารถเลื่อนอันดับเงินเดือนไปที่ คศ.3 ได้เลย จากเดิมการจะเลื่อนอันดับเงินเดือนแต่ละ คศ.ได้จะต้องผ่านการเลื่อนและประเมินวิทยฐานะตามที่กำหนดไว้เท่านั้น

เช่นเดียวกันผู้ที่ได้รับเงินเดือนขั้นสูงสุดของ คศ.3 จะเลื่อนไปรับเงินเดือนในอันดับ คศ.4 และผู้ที่ได้รับเงินเดือนขั้นสูงสุดของ คศ.4 ก็จะได้เลื่อนไปรับเงินเดือนในอันดับ คศ.5 ซึ่งเป็นการเลื่อนโดยอัตโนมัติไม่ต้องทำผลงานใด ๆ ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ 1 เมษายน 2554

สิ่งนี้ต้องขอชื่นชม กคศ. (คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) ด้วยความจริงใจ เพราะเป็นการดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับครูสังกัด สพฐ. ทำให้ครูมีขวัญกำลังใจในการทำงาน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้คนเก่งหันมาเป็นครูมากขึ้น

ข้าราชการพลเรือนก็มี ก.พ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) คอยดูแลและพิทักษ์สิทธิของข้าราชการ เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา ก.พ.ได้ปรับเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบไปประมาณ 8% แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้รับอานิสงส์นี้แต่อย่างไร เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ข้าราชการพลเรือน

อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมี กกอ.(คณะกรรมการการอุดมศึกษา) เป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของอาจารย์มหาวิทยาลัย

แต่ที่ผ่านมา กกอ. แทบจะไม่เคยทำหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิของอาจารย์มหาวิทยาลัยเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเดือนที่ยังน้อยกว่าครูประถมถึง 8% หรือเรื่องเงินเดือนของครูสังกัด สพฐ.ที่สามารถไหลข้ามแท่งได้

นั่นคือหากอาจารย์มหาวิทยาลัยมีเงินเดือนตัน (ขั้นสูงสุด) อยู่ในแท่งเงินเดือนใดก็ยังไม่สามารถไหลข้ามแท่งได้ เช่น เงินเดือนตันในแท่งผู้ช่วยศาสตราจารย์จะไม่สามารถเลื่อนไหลไปรับเงินเดือนในแท่งรองศาสตราจารย์ได้

ท่านคิดว่าอย่างนี้มันยุติธรรมสำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือ กกอ. เคยคิดจะทำอะไรเพื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยบ้างไหม ถ้ายังคิดไม่ออกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร อยากแนะนำให้ไปลอกของ กคศ. และไม่ควรออกมาแก้ตัวว่ากำลังดำเนินการอยู่ เพราะเรื่องเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยน้อยกว่าครูประถม 8% ก็ยังไม่เห็นได้ดำเนินการอะไรเลย

จริง ๆ แล้วสถาบันอุดมศึกษาควรจะเป็นผู้นำในเรื่องนี้เสียด้วยซ้ำ แต่กลับกลายเป็นว่าสถาบันอุดมศึกษาจะต้องคอยวิ่งไล่ตามก้นครูประถมอยู่ร่ำไป

เรื่องน่าเศร้าที่ไม่อยากพูดอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องโบนัสสำหรับข้าราชการ จริงๆ แล้วไม่อยากให้เรียกว่าเงินโบนัส แต่อยากให้เรียกว่าเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้มากกว่า

ท่านทราบไหมว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยระดับรองศาสตราจารย์ (ซี 9 เดิม) ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดี ได้รับเงินโบนัสปีละประมาณ 3,000- บาท (สามพันบาทถ้วน) เฉลี่ยแล้วปีหนึ่งได้รับโบนัสไม่ถึง 2 วัน ในขณะที่ครูประถมสังกัดเทศบาล หรือ อบต.บางแห่งได้รับโบนัสกันปีละ 2 เดือน ส่วนพนักงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทหลายแห่งรับโบนัสกันปีละ 2 เดือน 3 เดือนบ้าง บางแห่งสูงถึง 9 เดือนก็มี แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับโบนัสเพียง 2 วัน แล้วอย่างนี้ยังจะให้เรียกว่าโบนัสอีกหรือ

หรือจะให้อาจารย์มหาวิทยาลัยย้ายไปสังกัด กคศ. เพื่อว่าต่อไปอาจารย์มหาวิทยาลัยจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้นและมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับครูประถมกันเสียที

มีเรื่องน่าสนใจอื่น ๆ อาทิ

อันดับการศึกษาของไทยในเวทีโลกยังไม่สุดท้ายซะทีเดียว .. 37 จาก 40

English Proficiency Index เมื่อปี 2554 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 42 จากทั้งหมด 44 ประเทศ และปี 2555 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 53 จากทั้งหมด 54 ประเทศ

ผลการจัดอันดับในสื่อ (itinlife 367)

Leave a Reply