thaiall logomy background
ราตรี ดวงไชย อาจารย์ โรงเรียนไหล่หินวิทยา
my town
วัดมิ่งเมืองมูล | วัดจองคา | วัดไชยมงคล | วัดไหล่หิน | มนู | ราตรี | ทรงศักดิ์ | สุดา | สุวรรณ | ไหล่หิน |


อ.ราตรี ดวงไชย
รอง.ผอ.โรงเรียนไหล่หินวิทยา
ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง
Clip VDO #1
Clip VDO #2
Blog
สารบัญ
+ รายงานโครงการวิจัย การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน ด้วยกิจกรรมโรงเรียนวิถีพุทธ ของโรงเรียนไหล่หินวิทยา
+ บทความ ประเด็นการงดเล่นการพนัน : ในงานศพ
+ บทความ กระบวนการจากโครงการวิจัยในบทบาทครูนักวิจัยชุมชน
+ บทความ บทส่งท้ายหนังสือเล่มเล็ก โครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพฯ
รายงานโครงการวิจัย การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน ด้วยกิจกรรมโรงเรียนวิถีพุทธ ของโรงเรียนไหล่หินวิทยา
ผู้รายงาน นางสาวราตรี ดวงไชย
ปีที่รายงาน 2550
บทคัดย่อ
การรายงานโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อ รายงานการดำเนินงานและผลของการดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน ด้วยกิจกรรมโรงเรียนวิถีพุทธ ของโรงเรียนไหล่หินวิทยา
ประชากรที่ใช้ในการรายงาน ได้แก่ ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน โรงเรียนไหล่หินวิทยา ในปีการศึกษา 2550 ทั้งหมด จำนวน 640 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการรายงานเป็นแบบสอบถามสำรวจรายการ(Check list) แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale)และคำถามปลายเปิด(Open Ended) การวิเคราะห์ข้อมูล โดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่า t-test
การดำเนินงาน ได้ดำเนินงานเป็นขั้นตอนตามหลักวงจร PDCA และการมีส่วนร่วม โดยการวางแผน การแต่งตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบที่ชัดเจน และได้จัดกิจกรรมตามแนวทางของโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งมีทั้งปฏิบัติทุกวัน ทุกสัปดาห์ และกิจกรรมสำคัญต่างๆ โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีการกำกับ ติดตามการดำเนินงานสรุปรายงานผลให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ
ผลของการดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน ด้วยกิจกรรมโรงเรียนวิถีพุทธ ที่ได้ดำเนินกิจกรรมที่ชัดเจน ต่อเนื่อง และมีการดูแลติดตาม ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ประเมินจากสถิติ พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์มีจำนวนลดลง นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น นักเรียนสามารถเข้าร่วมการแข่งขันทักษะวิชาการ ต่างๆและสามารถชนะการประกวดในแต่ละกลุ่มสาระวิชาได้
และจากการสำรวจความพึงพอใจต่อพฤติกรรมนักเรียนพบว่าก่อนดำเนินกิจกรรม ความพึงพอใจพฤติกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรมพื้นฐาน 8 ประการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ความขยัน ความประหยัด ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความสุภาพ ความสะอาด ความสามัคคี และความมีน้ำใจ ของนักเรียน ตามความคิดเห็นทั้งของครู ผู้ปกครองและนักเรียนอยู่ในระดับ ปานกลาง ถึง มาก และเมื่อได้นำกิจกรรมโรงเรียนวิถีพุทธมาจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน ความพึงพอใจของครู ผู้ปกครองและนักเรียน อยู่ในระดับมาก ถึง มากที่สุด

บทความ ประเด็นการงดเล่นการพนัน : ในงานศพ
การพนันมีหรือเกิดขึ้นในสังคม ในชุมชนมาช้านานจนไม่สามารถที่จะนำออกมาจากนิสัยของคนในชุมชนหรือสังคมได้ ซึ่งการพนันมีหลายรูปแบบ เช่น ลักษณะเป็นคำพูด "พนันกันได้เลย ฉันว่า..." พนันโดยมีวัสถุสิ่งของเป็นข้อแลกเปลี่ยนเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งแพ้ หรือการทำกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องตาม กฎเกณฑ์ กติกา ข้อตกลง จนแทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีการพนันก็ไม่สนุก
สำหรับการเล่นการพนันในงานศพนั้นเท่าที่ได้สอบถามจากผู้สูงอายุ และการแสดงความคิดเห็นของทีมผู้วิจัย การเล่นพนันในงานศพนั้นเป็นการเล่นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีคนอยู่ร่วมในงานศพตลอดทั้งคืน บ้านที่ที่มีงานศพ จะได้ไม่น่ากลัว วังเวง หรือเงียบเหงา และเพื่อไม่ให้ง่วงนอน จึงหากิจกรรมมาเล่นกัน แต่ถ้าเล่นธรรมดาก็ไม่เกิดความสนุกสนานจึงต้องมีการพนันขันต่อ ใครแพ้เสียอะไร ใครชนะได้อะไร จึงต้องกลายเป็นว่าทุกงานศพต้องมีเล่นการพนัน ใครอยากเล่นการพนันต้องนัดพบกันที่งานศพจนจะกลายเป็นวิถีชีวิต จากเริ่มแรกที่เล่นกันเพื่อสนุกสนานกลายเป็นเล่นเพื่อจะได้เงิน
ในการทำวิจัยการจัดงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านไหล่หิน ที่ได้
ร่วมกันทำวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เงินในการจัดงานศพให้พอประมาณ มีเหตุมีผลในการใช้จ่ายเงินในงานศพ โดยที่เจ้าภาพหรือผู้จัดงานศพและผู้ร่วมงานศพไม่เกิดความเดือดร้อน และการเล่นพนันในงานศพถ้าดูผิวเผินก็เหมือนกับว่าเจ้าภาพไม่เดือดร้อนอะไร ผู้ที่เดือดร้อน คือผู้เล่น ในการทำวิจัยในเรื่องนี้จากการพูดคุย การใช้แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ จากชาวบ้าน สรุปผลได้ว่าชาวบ้านต้องการให้งดเล่นการพนัน เหตุผลคือ
1. การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถ้าถูกตำรวจจับนอกจากผู้เล่นเดือดร้อน แล้วเจ้าภาพต้องพลอยเดือดร้อนด้วยเนื่องจากให้สถานที่เป็นที่เล่นการพนัน
2. เป็นการส่งเสริมการเล่นพนัน ทำให้เกิดการมอมเมา กลายเป็นคนติดการพนัน ซึ่งต่อไปอาจจะสร้างปัญหาให้กับคนในหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียง เช่นการลักขโมย เป็นต้น
3. เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับเด็กและเยาวชน อาจทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการเลียนแบบได้
4. ทำให้เจ้าภาพไม่ได้รับการพักผ่อนนอนหลับเนื่องจากบางครั้งต้องคอยดูแล หรืออยู่ร่วมกับผู้เล่นการพนัน
5. ไม่เป็นการส่งเสริมการดำรงชีวิตของชาวบ้านที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
จากการประชาพิจารณ์จากชาวบ้านที่เป็นตัวแทนของครอบครัวทั้งหมดทุกคนเห็นด้วยที่งดเล่นการพนันในงานศพเพราะมองไม่เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นว่ามีอะไรมากมาย และขณะนี้การวิจัยอยุ่ในช่วงระยะที่ 2 จากการได้ร่วมงานศพในหมู่บ้านปัจจุบันก็ จะเห็นเจ้าภาพ ปิดประกาศ ห้ามเล่นการพนัน ถ้ามีคนเล่นเจ้าจะไม่รับผิดชอบ และเห็นว่ามีการยอมรับประเด็นการงดเล่นการพนัน ในงานศพมากขึ้นเพราะไม่มีใครเล่นการพนัน และถือได้ว่าการดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้ผลที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถที่กล่าวได้ว่าประเด็นต่างๆที่ได้สรุปผลจากการดำเนินงานวิจัยเป็นประเด็นที่คนในหมู่บ้านยอมรับและพยายามที่จะปฏิบัติตาม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยการจัดงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตรงกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม สภาพการดำรงชิวิตในปัจจุบันที่จะอยู่อย่างฟุ้มเฟือย ไม่มีเหตุผลในการใช้จ่ายไม่ได้ และคิดว่าการวิจัยในเรื่องนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อหมู่บ้านไหล่หินแล้ว คิดว่าคงเป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้านหรือตำบลอื่นที่ต้องการ การจัดงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต่อไป

บทความ กระบวนการจากโครงการวิจัยในบทบาทครูนักวิจัยชุมชน
ปรับปรุง 2552-05-16
หลังจากร่วมงานกับทีมวิจัยชุมชน แล้วได้เห็นกระบวนการทำงานที่ให้คนในชุมชนค่อย ๆ ซึมซับ ตระหนึกถึงคำว่า "พอเพียง" และมีความเข้าใจในการที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ตามวิถีของคนในชุมชน ที่คนในชุมชนเห็นร่วมกันว่าปัจจุบันเป็นไปอย่างไม่ประหยัด ไม่พอดีพองาม คือ การจัดงานศพ ซึ่งกระบวนการทำงานเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับงานวิจัยครั้งนี้ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วม จึงนำเสนอบทสรุปกระบวนการจากการร่วมงานโครงการวิจัย มีประเด็นที่สำคัญดังนี้
1. การประชุมที่เน้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้แสดงความคิดเห็น ร่วมสรุปและวิเคราะห์ร่วมกันในหลายรูปแบบ หลายระดับ อาทิ ประชุมนักวิจัย ประชุมนักวิจัยร่วม ประชุมผู้แทนชาวบ้าน และประชุมชาวบ้านทั้งหมดทีละหมู่บ้าน การประชุมแต่ละครั้งเป็นการรับฟังความคิดเห็น และสรุปประเด็นต่าง ๆ เมื่อเป็นความคิดเห็นที่เกิดจากการมีส่วนร่วม ทำให้แน่ใจได้ว่าจะเป็นมติที่ยอมรับร่วมกัน และไม่เกิดความขัดแย้งตามมาในภายหลัง การประชุมมีปฏิทินการทำงานของแต่ละเวทีชัดเจนก่อนนำไปสู่เวทีสรุปผลในที่สุด
2. การเชิญภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือผู้สูงอายุมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ให้ข้อคิดเห็นเป็นวิธีที่ทำให้เวทีแสดงความคิดเห็นมีความเข้าใจตรงกัน เกิดการยอมรับ คล้อยตาม เช่นการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การเล่าวิวัฒนาการเรื่องการจัดการงานศพที่มีแนวโน้มไปในทางที่จะฟุ่มเฟือยมากขึ้น เมื่อร่วมกันวิพากษ์ พินิจพิเคราะห์ร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลและประสบการณ์การจัดการงานศพในอดีตมาแลกเปลี่ยนในเวที จึงเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
3. การศึกษาดูงานทำให้ผู้แทน หรือผู้นำในชุมชนได้ไปแลกเปลี่ยน ได้เห็นบทเรียนของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง เข้าใจเหตุของการเปลี่ยนแปลงค่านิคม ความเชื่อ พิธีกรรม ทำให้มีความกล้าในการรื้อสาง และ เปลี่ยนแปลงกิจกรรมบางอย่างที่มุ่งยกระดับครัวเรือนและชุมชนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
4. การมีส่วนร่วมเป็นวิธีที่นักวิจัยหลัก และนักวิจัยร่วมใช้หลักประชาธิปไตย การทำงานทุกขั้นตอนได้นำชุมชนเข้ามาให้ข้อเสนอแนะ และร่วมวางแผน เปิดเวทีให้เกิดการมีส่วนร่วมเริ่มจากกลุ่มเล็ก ขยายไปทั้งหมู่บ้าน และขยายไปทั้งตำบล เป็นการทำงานที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากระดับผู้นำชุมชนไปถึงระดับครัวเรือนอย่างชัดเจน
5. การประชาสัมพันธ์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในระหว่างการทำงาน ไปถึงเวทีสรุปผล ที่นำเสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเด็นการงด การลดหรือการปรับเปลี่ยน เป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และนำไปใช้ในหมู่บ้านอื่น พื้นที่อื่น ในขอบเขตของโครงการที่ทีมวิจัยหลักได้วางแผนนั้น ได้ขยายพื้นที่ครอบครุมไปทั้งตำบล และการประชาสัมพันธ์จะไปไกลกว่าด้วยสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อเอกสาร ป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อวิทยุชุมชน
ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมในการดำเนินการ ได้เห็น ได้มีส่วนร่วมและอยู่ในขั้นตอนการทำงานที่เป็นกระบวนการที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้กับการบริหารงานโรงเรียนไหล่หินวิทยาได้ และคิดว่าผลของการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญ เรียนรู้วิธีการ และนำประเด็นไปปฏิบัติสืบต่ออย่างยั่งยืน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติสืบทอดกันต่อไป
+ http://www.thaiall.com/blog/ratee/255/

บทความ บทส่งท้ายหนังสือเล่มเล็ก โครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพฯ
ปรับปรุง 2552-10-03
บ้านไหล่หิน เป็นหมู่บ้านที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน ศูนย์รวมจิตใจของชุมชน คือวัดเสลารัตนปัพพตารามหรือที่เรียกกันทั่วๆไป คือ วัดไหล่หินหลวง และหลวงพ่อเกสรปันโย ซึ่งท่านได้มรณภาพไปนานแล้ว มีแต่สถานที่ที่ประดิษฐ์รูปท่านชาวบ้านเรียกว่า กู่ ให้ชาวบ้านได้สักการะบูชา โดยลักษณะของคนในชุมชนแล้วจะมีความรัก ความสามัคคี เกื้อหนุนช่วยเหลือกันและกัน มีจิตใจที่โอบอ้อมอารี มีนิสัยรักสงบ ด้วยพื้นฐานลักษณะนิสัยของชาวบ้านที่มีลักษณะเช่นนี้จึงทำให้ เมื่อมีกิจกรรมหรือมีงานที่เป็นงานส่วนรวม เช่นงานวันสำคัญต่างๆ หรือมีงานที่คนในหมู่บ้านจัดขึ้น เช่นงานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน และงานศพ เป็นต้น จะมีชาวบ้านร่วมงานอย่างมากมาย และผู้จัดหรือเจ้าภาพจะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งด้านสถานที่ ด้านอาหาร เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานเกิดความสะดวกสบาย รับประทานอาหารจนอิ่ม ดังนั้นเจ้าภาพจะจัดอาหารเผื่อไว้เนื่องจากกลัวไม่พอเลี้ยงผู้มาร่วมงาน ซึ่งก็รวมถึงการจัดงานศพด้วย
บ้านไหล่หินเมื่อมีคนตายจะเก็บศพไว้หลายวัน เนื่องจากความเชื่อเรื่องวันที่ไม่เหมาะสมที่จะเผา กลัวว่าเมื่อเผาวันที่ไม่ดีหรือที่ชาวบ้านรียกว่าวันเสีย ก็จะมีคนตายตามอีกหลายๆคน จากการที่ต้องเก็บศพไว้หลายๆวันจึงทำให้สิ้นเปลืองละเสียเวลามาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การนำวิธีการวิจัยการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในหมู่บ้านไหล่หินโดยการนำ ของผู้ช่วยศาสตราจารย์บุรินทร์ รุจจนพันธ์ จากมหาวิทยาลัยโยนก และมีนักวิจัยที่เป็นคนในหมู่บ้านร่วมในการวิจัย โดยได้ใช้เวลาวิจัยประมาณ 1 ปี การวิจัยครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ ชาวบ้านมีข้อปฏิบัติ หรือ ข้อตกลงร่วมกันในการจัดงานศพ โดยมีทั้งหมด 16 ข้อ เช่น การลดเหล้า การลดอาหารว่าง การงดเล่นการพนัน งดจุดพลุและบั้งไฟ การใช้ดอกไม้แห้งในหมู่บ้าน การงดจ้างวงดนตรี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ชาวบ้านเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการสิ้นเปลือง ทำให้ผู้จัดงานศพต้องเพิ่มภาระการจ่ายมากขึ้น จากการดำเนินการตามกระบวนการวิจัยนี้สามารถเปลี่ยนทัศนคติ ความคิดเห็น เปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนค่านิยม วัฒนธรรมประเพณีบางอย่างของชาวบ้านได้ เนื่องจาก ทีมวิจัยใช้หลักการมีส่วนร่วม คือ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้คนในชุมชนได้ตระหนักเห็นความสำคัญ ความจำเป็นหรือผลเสียในการจัดงานศพที่ได้ปฏิบัติกันมา จากกลุ่มเล็กขยายให้เป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ใช้หลักประชาธิปไตย คือการเสนอความคิดเห็น การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และการยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ใช้หลักการได้เห็นหรือปฏิบัติจริง เช่นการนำชาวบ้านไปศึกษาดูงาน ชาวบ้านได้เห็นการจัดงานศพแบบประหยัด ซึ่งไม่มีผลเสียต่อชาวบ้านในชุมชนแต่อย่างใด และขณะที่ดำเนินการวิจัยก็ได้ทดลองจัดงานศพ ตามข้อตกลงหรือข้อปฏิบัติ ผลปรากฏว่ารายจ่ายลดลง ปัจจุบันชาวบ้านบ้านไหล่หินยอมรับและปฏิบัติตามข้อตกลงในการจัดงานศพที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
จากผลของการวิจัยนี้ ถ้าคนรุ่นต่อๆไปได้เข้าใจ และ ปฏิบัติตามสืบทอดหรือขยายต่อไปยังชุมชน หมู่บ้านอื่นก็ถือได้ว่างานวิจัยประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง ที่คนได้เห็นความสำคัญของการดำเนินวิถีชีวิต ตามสภาพบริบทของตน มีการกิน อยู่ อย่างพอเพียง ซึ่งนอกจากจะทำให้ครอบครัวอยู่อย่างมีความสุขแล้ว ชุมชน สังคม ก็จะมีความสุขด้วยเช่นกัน
rspsocial
Thaiall.com