สรุปกระบวนการที่สำคัญในฐานะครูนักวิจัยชุมชน

อ.ราตรี
อ.ราตรี

        หลังจากร่วมงานกับทีมวิจัยชุมชน แล้วได้เห็นกระบวนการทำงานที่ให้คนในชุมชนค่อย ๆ ซึมซับ ตระหนึกถึงคำว่า “พอเพียง” และมีความเข้าใจในการที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ตามวิถีของคนในชุมชน ที่คนในชุมชนเห็นร่วมกันว่าปัจจุบันเป็นไปอย่างไม่ประหยัด ไม่พอดีพองาม คือ การจัดงานศพ ซึ่งกระบวนการทำงานเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับงานวิจัยครั้งนี้ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วม จึงนำเสนอบทสรุปกระบวนการจากการร่วมงานโครงการวิจัย มีประเด็นที่สำคัญดังนี้
  1. การประชุมที่เน้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้แสดงความคิดเห็น ร่วมสรุปและวิเคราะห์ร่วมกันในหลายรูปแบบ หลายระดับ อาทิ ประชุมนักวิจัย ประชุมนักวิจัยร่วม ประชุมผู้แทนชาวบ้าน และประชุมชาวบ้านทั้งหมดทีละหมู่บ้าน การประชุมแต่ละครั้งเป็นการรับฟังความคิดเห็น และสรุปประเด็นต่าง ๆ เมื่อเป็นความคิดเห็นที่เกิดจากการมีส่วนร่วม ทำให้แน่ใจได้ว่าจะเป็นมติที่ยอมรับร่วมกัน และไม่เกิดความขัดแย้งตามมาในภายหลัง การประชุมมีปฏิทินการทำงานของแต่ละเวทีชัดเจนก่อนนำไปสู่เวทีสรุปผลในที่สุด
  2. การเชิญภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือผู้สูงอายุมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ให้ข้อคิดเห็นเป็นวิธีที่ทำให้เวทีแสดงความคิดเห็นมีความเข้าใจตรงกัน เกิดการยอมรับ คล้อยตาม เช่นการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การเล่าวิวัฒนาการเรื่องการจัดการงานศพที่มีแนวโน้มไปในทางที่จะฟุ่มเฟือยมากขึ้น เมื่อร่วมกันวิพากษ์ พินิจพิเคราะห์ร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลและประสบการณ์การจัดการงานศพในอดีตมาแลกเปลี่ยนในเวที จึงเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
  3. การศึกษาดูงานทำให้ผู้แทน หรือผู้นำในชุมชนได้ไปแลกเปลี่ยน ได้เห็นบทเรียนของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง เข้าใจเหตุของการเปลี่ยนแปลงค่านิคม ความเชื่อ พิธีกรรม ทำให้มีความกล้าในการรื้อสาง และ เปลี่ยนแปลงกิจกรรมบางอย่างที่มุ่งยกระดับครัวเรือนและชุมชนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
  4. การมีส่วนร่วมเป็นวิธีที่นักวิจัยหลัก และนักวิจัยร่วมใช้หลักประชาธิปไตย การทำงานทุกขั้นตอนได้นำชุมชนเข้ามาให้ข้อเสนอแนะ และร่วมวางแผน เปิดเวทีให้เกิดการมีส่วนร่วมเริ่มจากกลุ่มเล็ก ขยายไปทั้งหมู่บ้าน และขยายไปทั้งตำบล เป็นการทำงานที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากระดับผู้นำชุมชนไปถึงระดับครัวเรือนอย่างชัดเจน
  5. การประชาสัมพันธ์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในระหว่างการทำงาน ไปถึงเวทีสรุปผล ที่นำเสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเด็นการงด การลดหรือการปรับเปลี่ยน เป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และนำไปใช้ในหมู่บ้านอื่น พื้นที่อื่น ในขอบเขตของโครงการที่ทีมวิจัยหลักได้วางแผนนั้น ได้ขยายพื้นที่ครอบครุมไปทั้งตำบล และการประชาสัมพันธ์จะไปไกลกว่าด้วยสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อเอกสาร ป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อวิทยุชุมชน
  ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมในการดำเนินการ ได้เห็น ได้มีส่วนร่วมและอยู่ในขั้นตอนการทำงานที่เป็นกระบวนการที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้กับการบริหารงานโรงเรียนไหล่หินวิทยาได้ และคิดว่าผลของการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญ เรียนรู้วิธีการ และนำประเด็นไปปฏิบัติสืบต่ออย่างยั่งยืน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติสืบทอดกันต่อไป
โดย อ.ราตรี ดวงไชย รองผู้อำนวยการโรงเรียนไหล่หินวิทยา
http://www.thaiall.com/lovelampang/laihin_ratee.htm

Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

I am Lecturer, Developer, Researcher, Columnist, Writer, Photographer, and Webmaster - L@mpang man

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.