ประชุมวิชาการด้านไอทีที่มหาสารคาม
 
# 143 ประชุมวิชาการด้านไอทีที่มหาสารคาม
30 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2551

    ปัจจุบันมีการตื่นตัวด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในทุกภาคส่วน และหัวหอกสำคัญที่ทำให้เกิดการตื่นตัวคือสถาบันการศึกษา สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา และหน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุนเพื่อการแข่งขันในภาคธุรกิจของประเทศ มีผลงานวิจัยเกิดขึ้นมากมายในทุกมหาวิทยาลัยที่พัฒนาโดยนักศึกษา อาจารย์ หรือเป็นโจทย์ที่มาจากภาคธุรกิจ มีเวทีให้นำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากมาย (IT = Information Technology) แต่ละเวทีเกิดจากความร่วมมือของหลายสถาบันทั้งจากในประเทศ และนอกประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำเสนอ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างเครือข่าย แบ่งปันประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะนำไปพัฒนา และแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานได้ต่อไป

    วันที่ 23 - 24 พฤษภาคม 2551 มีการประชุมวิชาการระดับชาติด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 4 โดยใช้ชื่อว่า NCCIT 2008 (The 4th National Conference on Computing and Information Technology) จัด ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม กล่าวเปิดงานโดย ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณธโสภณ ประธานกรรมการบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) โดยความร่วมมือของ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม มหาวิทยาลัยโยนก วิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ Oklahoma State University,USA Monash University,AU ส่วนหัวข้อพิเศษที่บรรยายโดยวิทยากรรับเชิญ 2 ท่านคือ Associate Professor Dr. Dursun Delen และดร.สุรัตน์ ดวงชาทม บรรยายในหัวข้อเหมืองข้อมูล (Data Mining) และหัวข้อการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการเรียนการสอนในสถานศึกษาได้อย่างชัดเจน

    ในการประชุมวิชาการครั้งนี้มีการส่งผลงานวิจัยเพื่อขอนำเสนอผลงานหลายร้อยเรื่อง แต่มีเพียง 150 เรื่องที่คณะกรรมการพิจารณาให้เข้าร่วมนำเสนอได้ ซึ่งแบ่งสาขาวิชาได้ดังนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาการคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ศึกษา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ สารสนเทศศาสตร์และการจัดการ เทคโนโลยีการศึกษาและการสื่อสารทางการศึกษา เทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลและเครือข่าย

    ชีวสารสนเทศ ซึ่งผู้เขียน และอาจารย์ทนงศักดิ์ เมืองฝั้นเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอครั้งนี้ด้วย การนำเสนอแต่ละโครงการมีลำดับหัวข้อได้แก่ ที่มาของโครงการ หลักการและเหตุผล สาระสำคัญวัตถุประสงค์ ตัวบ่งชี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับ แนวคิด ทฤษฎี เครื่องมือที่ใช้ เหตุผล วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ผลลัพธ์ ผลจากการทดสอบ ผลการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้งาน เป็นที่น่าเสียดายว่าเราเข้าฟังได้เพียงห้องเดียวจากทั้งหมด 10 ห้องที่มีการนำเสนอพร้อมกัน โครงการวิจัยแต่ละเรื่องล้วนมีประโยชน์ มีทฤษฎีอ้างอิงชัดเจน และสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การนำไปใช้ที่ต้องอาศัยเวลา งบประมาณ ทดลอง ทดสอบ และการขยายผลในแต่ละโครงการอย่างจริงจังต่อไป
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
144. ถูกลวงสองคนเพียงข้ามวัน
143. ประชุมวิชาการด้านไอทีที่มหาสารคาม
142. ไล่ตามสื่อเก็บข้อมูลไม่ทัน
141. เปิดวีดีโอจาก Youtube.com ไม่ได้
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com