ไล่ตามสื่อเก็บข้อมูลไม่ทัน
 
# 142 ไล่ตามสื่อเก็บข้อมูลไม่ทัน
23 มิถุนายน - 29 มิถุนายน 2551

    ในอดีตเราใช้เทปกระดาษ (Paper Tape) เทปแม่เหล็ก (Magnetic Tape) หรือดิสก์แม่เหล็ก (Magnetic Disk) เก็บข้อมูลดิจิทอล (Digital Data) สำหรับประมวลผลในเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้วจะเห็นหนังทีวีที่ซุปเปอร์ฮีโร่ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดจากนอกโลก โดยมีอุปกรณ์ หน่วยสนับสนุน หรือหุ่นยนต์ที่ทันสมัยคอยให้ความช่วยเหลือ สื่อเก็บข้อมูลที่ใช้ประกอบการถ่ายทำในสมัยนั้นมักเป็นเทปแม่เหล็ก และเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีหลอดไฟสีต่าง ๆ เพื่อแสดงสถานะการทำงานเต็มไปหมด ขนาดก็ใหญ่โตไม่เหมือนเครื่องปาร์มท๊อป (Palmtop) ในปัจจุบันที่มีขนาดเท่าฝ่ามือ แต่ที่มีความสามารถสูงกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ในอดีตหลายเท่า อุปกรณ์ในหนังทีวีสมัยนั้นเป็นสิ่งที่เหนือจินตนาการของมนุษย์ เพราะบางหมู่บ้านเริ่มมีไฟฟ้าให้ใช้ไม่ถึงปี เริ่มมีทีวีเครื่องแรกในหมู่บ้าน ไม่มีใครเข้าใจว่าเครื่องคอมพิวเตอร์มีส่วนประกอบสำคัญหลายส่วน อาทิ หน่วยรับข้อมูล (Input Unit) หน่วยแสดงผล(Output Unit) หน่วยความจำ (Memory Unit) และหน่วยประมวลผล(Process Unit)

    ประมาณปี 2530 แผ่นดิสก์ขนาด 5.25 นิ้วเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เป็นสื่อเก็บข้อมูลภายนอกที่พกพาได้สะดวก ราคาไม่แพง แต่เก็บข้อมูลได้เพียง 360 กิโลไบท์ ทำให้บางโปรแกรมต้องใช้แผ่นดิสก์เก็ตพร้อมกัน 2 แผ่น ในเวลาต่อมาเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ไม่มีช่องใส่แผ่นดิสก์แบบนั้นแต่เปลี่ยนไปเป็นแผ่นดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว และอีกไม่นานก็ไม่มีช่องใส่แผ่นดิสก์ให้เห็นอีกต่อไป สื่อเก็บข้อมูลภายนอกที่เข้ามาแทนที่คือ แผ่นซีดี แผ่นดีวีดี และการ์ดเก็บข้อมูล ปัจจุบันแผ่นซีดีมิใช่ทางเลือกแรกสำหรับเก็บข้อมูลอีกต่อไป เพราะการ์ดเก็บข้อมูล (Memory Card) ที่ขนาดเล็กกว่า บรรจุข้อมูลได้มากกว่า พบพาไปมาสะดวก อ่านเขียนได้ง่าย และรับส่งข้อมูลได้เร็วกว่า จึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

    วันนี้คงบอกไม่ได้ว่าสื่อเก็บข้อมูลแบบใดจะเป็นมาตรฐานในอนาคต ชาวลำปางหลายท่านมีกล้องดิจิทอลที่ใช้เมมโมรี่สติ๊ก (Memory Strick) และเครื่องโทรศัพท์ก็จะมีสื่อเก็บข้อมูลแบบเอสดี (Secure Digital (SD) Memory Card) เมื่อกล้องตัวเก่าชำรุดก็ต้องซื้อกล้องตัวใหม่ซึ่งมีหน่วยความจำให้เลือกทั้งแบบฮาร์ดดิสก์ (Harddisk) เทป (Tape) หรือแบบซีเอฟ (Compact Flash (CF) Memory Card) การอ่านข้อมูลจากหน่วยความจำที่ใช้ในอุปกรณ์โดยตรงจำเป็นต้องมีเครื่องอ่านสื่อเก็บข้อมูล ผู้ใช้จึงต้องเลือกซื้อเครื่องอ่านสื่อ (Media Reader) ให้ตรงกับสื่อที่มีอยู่ ถ้าวันนี้ฟันธงลงไปว่าจะเป็นสาวกของสื่อแบบใด วันพรุ่งนี้อาจมีสื่อแบบใหม่ที่ดีกว่า เร็วกว่า เล็กกว่า และมาพร้อมกับอุปกรณ์ที่เราต้องซื้อ แล้วเราก็ต้องซื้อเครื่องอ่านสื่อตัวใหม่เพื่อไล่ตามเทคโนโลยี ตราบใดที่เรายังตกเป็นทาสของความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด ยกเว้นว่าเราจะหยุดความต้องการด้วยตัวของเราเองเท่านั้น
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
143. ประชุมวิชาการด้านไอทีที่มหาสารคาม
142. ไล่ตามสื่อเก็บข้อมูลไม่ทัน
141. เปิดวีดีโอจาก Youtube.com ไม่ได้
140. กำแพงไฟป้องกันไม่ได้ทุกอย่าง
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com