thaiall logomy background
การรักษาพยาบาลโรค thairheumatology80
my town
โรคภัยไข้เจ็บ | การปฐมพยาบาล | อาหารที่ต้องพึงระวัง | ผู้สูงอายุ
?>
♥ โรคข้อเสื่อม
เป็นความผิดปกติของข้อที่พบได้บ่อยในช่วงเข้าสู่วัยกลางคนและพบได้เพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะของโรคเกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายลงอย่างช้าๆจนเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของข้อ ซึ่งได้แก่ มีน้ำสะสมในข้อเพิ่มขึ้น กระดูกงอกผิดปกติ กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อหย่อนยาน การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดดังกล่าวจะทำให้เคลื่อนไหวข้อได้จำกัดรวมทั้งทำให้เกิดอาการปวดและบวมที่ข้อได้
โรคข้อเสื่อมพบบ่อยในตำแหน่งของข้อที่ต้องรับน้ำหนักมากเช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง เป็นต้น ข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมมักทำให้เกิดความรำคาญเนื่องจากจะทำให้มีอาการปวดหรือไม่สบายข้อเมื่อต้องยืนหรือเดิน ในขณะที่ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อมจะเป็นเหตุให้ปวดหลังและปวดต้นคอหรือคอแข็งตึงได้ แม้ว่าข้อเสื่อมจะพบในข้อที่ต้องรับน้ำหนัก แต่ก็สามารถพบที่ข้อต่างๆทั่วร่างกายได้โดยเฉพาะข้อที่เคยได้รับการบาดเจ็บ มีการติดเชื้อ หรือเคยมีข้ออักเสบนำมาก่อน สำหรับผู้ป่วยข้อนิ้วมือเสื่อมจะมีอาการปวด ชา หรือแข็งตึงขยับนิ้วลำบาก และตรวจพบก้อนหรือปุ่มกระดูกโตขึ้นที่บริเวณข้อนิ้วมือด้วย
ส่วนใหญ่อาการปวดของโรคข้อเสื่อมมักเกิดในระหว่างที่มีการใช้งานของข้อและจะดีขึ้นเมื่อได้พัก อาจมีอาการฝืดตึงข้อช่วงสั้นๆไม่นานเกินกว่าครึ่งชั่วโมงในช่วงเช้าหลังตื่นนอนหรือภายหลังอยู่ในอิริยาบถท่าใดท่าหนึ่งนานๆเช่น หลังจากขับรถ เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมที่มีอาการรุนแรงมากก็อาจมีอาการปวดข้ออย่างมากและรุนแรงเมื่อใช้งาน รวมทั้งขาดความมั่นคงหรือเสถียรภาพของข้อได้

โรคข้อเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร
ตามปกติภายในข้อประกอบไปด้วยเยื่อบุข้อ น้ำไขข้อ และกระดูกอ่อนผิวข้อ กระดูกอ่อนผิวข้อจะทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวดูดซับแรงกดภายในข้อและป้องกันมิให้กระดูกที่อยู่ภายใต้กระดูกอ่อนกระแทกกับกระดูกอีกฝั่ง หากกระดูกอ่อนผิวข้อเหล่านี้ถูกทำลายไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตามน้ำหนักหรือแรงกดที่กระทำกับข้อ ก็จะส่งผลให้กระดูกใต้ต่อกระดูกอ่อนผิวข้อสัมผัสกัน กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อถูกยืดเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดตามมา ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย แต่ปัจจัยที่น่าจะมีส่วนร่วมทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายได้แก่

  1. น้ำหนักตัว การที่มีน้ำหนักตัวมากจะส่งผลให้เกิดแรงกดภายในข้อที่รับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  2. กิจกรรมบางอย่างที่ส่งผลให้ข้อต้องรับแรงกดมากจนเกินไปเช่น การนั่งคุกเข่า หรือนั่งพับเพียบ
  3. ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติข้อและกระดูกอ่อนผิวข้ออ่อนแอ
  4. อายุ อายุมากมีโอกาสพบโรคข้อเสื่อมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน เนื่องจากผู้สูงอายุบางรายก็ไม่พบโรคข้อเสื่อม
ใครมีโอกาสเป็นโรคข้อเสื่อมได้บ้าง
จริงๆแล้วโรคข้อเสื่อมสามารถพบได้ทุกวัย แต่พบในผู้สูงอายุได้บ่อยกว่ามาก จากการศึกษาพบว่าผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี ตรวจพบลักษณะข้อเสื่อมจากภาพถ่ายรังสีได้ร้อยละ 70 แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีอาการผิดปกติ โรคข้อเสื่อมพบในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชายโดยเฉพาะข้อเข่าเสื่อมและข้อนิ้วมือเสื่อม
โรคข้อเสื่อมจะวินิจฉัยได้อย่างไร
ผู้ที่สงสัยว่าน่าจะเป็นโรคข้อเสื่อมคือผู้ที่มีอาการปวดข้อในขณะที่มีการใช้งาน แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายพบปุ่มกระดูกบริเวณข้อ ข้อบวมขึ้น มีเสียงลั่นในข้อเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อ กล้ามเนื้อรอบข้อลีบหรืออ่อนแรง และข้อขาดความมั่นคง โดยภาพถ่ายรังสีที่ผิดปกติจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น อย่างไรก็ตามบางรายมีความจำเป็นต้องตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยแยกว่าไม่ได้เป็นโรคอื่นๆ
โรคข้อเสื่อมรักษาอย่างไร
เป้าหมายของการรักษาคือ ลดอาการปวดและรักษาการทำงานของข้อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ การรักษาจึงไม่เพียงแค่ให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดเท่านั้น แต่จะต้องรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย สำหรับผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมรุนแรงการรักษาด้วยการผ่าตัดจะมีบทบาทสำคัญเพื่อทำให้การทำงานของข้อดีขึ้นได้
    การทำกายภาพบำบัด
    การรักษาที่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้อเสื่อมได้แก่ การออกกำลังกายโดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อ การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง และการใช้ความร้อน สำหรับการบำบัดด้วยการทำสปา การนวด หรือการฝังเข็มนั้นพบว่าช่วยบรรเทาอาการปวดในระยะสั้นๆ แต่ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้อเสื่อม
    การรักษาทางยา
    ในปัจจุบันมียาที่ใช้รักษาโรคข้อเสื่อมหลายรูปแบบ ทั้งชนิดทาภายนอก ฉีดเข้าข้อและรับประทาน ยาทาภายนอกได้แก่ เจลที่ทำจากส่วนประกอบของพริกหรือ capsaicin gel ยารับประทานได้แก่ ยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดและลดอาการข้อบวม สำหรับอาการปวดที่รุนแรงอาจต้องพึ่งยาบรรเทาอาการปวดกลุ่มอนุพันธ์ของมอร์ฟีน สำหรับการฉีดยาสเตียรอยด์หรือน้ำไขข้อเทียม (hyaluronic acid) นั้นจะมีประโยชน์ในโรคข้อเสื่อมบางชนิดและในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
    การผ่าตัด
    แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมในผู้ที่มีการทำลายของข้ออย่างมากหรือมีการสูญเสียการทำงานของข้อแล้วเท่านั้น
    สำหรับอาหารเสริมที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมซึ่งมีอยู่หลายประเภทนั้น ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาว จากการศึกษาโดยสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health) พบว่าการให้ chondroitin sulfate หรือ glucosamine sulfate มีส่วนช่วยรักษาโรคข้อเสื่อมในผู้ที่มีปัญหาปวดข้อปานกลางถึงรุนแรง แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดถึงความปลอดภัยและปฏิกิริยากับยาอื่น ดังนั้นผู้ที่ต้องการใช้สารดังกล่าวร่วมกับยาที่เคยรับประทานอยู่เดิมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
จะดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคข้อเสื่อมได้อย่างไร
โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมสามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมขึ้นได้ เช่น การปรับเตียงให้สูงขึ้น เปลี่ยนจากส้วมซึมชนิดนั่งยองๆเป็นชักโครกแทน เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการทำให้ข้อบาดเจ็บซ้ำๆหรือการกระทบกระแทกต่อข้อ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะมีส่วนช่วยทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อแข็งแรงขึ้น การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาจะมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีรูปร่างอ้วนการลดน้ำหนักลงจะช่วยลดอาการปวดและชะลอการทำลายข้อลงได้
ข้อควรจำ
  1. โรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด
  2. โรคข้อเสื่อมสามารถพบร่วมกับโรคข้ออักเสบอื่นได้
  3. ผู้ที่สงสัยเป็นโรคข้อเสื่อมควรได้รับการประเมินจากแพทย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและคงการทำงานของข้อ
  4. ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่พิสูจน์ว่าสามารถทำให้ข้อเสื่อมหายขาดหรือทำให้ข้อกลับคืนสู่สภาพปกติได้ คงต่อรอการศึกษาต่อไป
ข้อมูลจาก : http://www.thairheumatology.org/people01.php?id=80
ข้อมูลนี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้น
ควรพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป
ก่อนหน้า : อาการปวดเข่า
tools
ความหมายของสุขภาพ
Health Meaning
สุขภาพ เป็นการกล่าวถึงลักษณะของการไม่เป็นโรค สุขภาพเป็นความสมบูรณ์ของคนใน 4 มิติ คือ 1) ร่างกาย 2) จิตใจ 3) สังคม และ 4) วิญญาณ (ปัญญา) หากสมบูรณ์อย่างสมดุลแล้ว ก็เรียกว่า สุขภาวะ ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก
สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ และสังคม รวมทั้งการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางใจ สุขภาพที่ดีมีส่วนทำให้ชีวิตของเรามีความสุข
สุขภาพ หมายถึง ระดับของประสิทธิภาพเชิงการทำงาน หรือเชิงเมตาบอลิกของสิ่งมีชีวิต และตามนิยามขององค์การอนามัยโลก หมายถึง สภาวะอันสมบูรณ์ของภาวะทางกาย จิต จิตวิญญาณ และสังคมของบุคคล อันมิได้หมายถึง ความปราศจากโรคหรือความบกพร่องเพียงอย่างเดียว (wiki)
Thaiall Products :: HTML Validity :: CSS Validity :: CheckLink :: DeadLink :: PageSpeed :: Keyword Position :: Google :: Truehits
Thaiall.com