thaiall logomy background

"จริต" ของคน กับพฤติกรรมในองค์กร โดย ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์

my town
กฤษฎา ตันเปาว์ | จริยธรรมสำหรับผู้บริหาร | วิจัยคืออะไร | ศูนย์สอบ | KM | SWOT | คำสำคัญ
เลือกบทความ

8. "จริต" ของคน กับพฤติกรรมในองค์กร

คนเรามี "พฤติกรรม" เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไป เพราะอะไร?
พื้นฐานของคนเรา ที่จะเป็นตัวตน มีการคิดอ่าน และ มีพฤติกรรมแสดงออก มีพื้นฐานที่มาจาก 2 ส่วน 1) กรรมพันธุ์ (Heredity) ซึ่งถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ตามสายเลือดจากบรรพบุรุษ และ ส่งถึงตนผ่าน ยีน (Gene) และ โครโมโซม (Chromosome) ที่จะทำให้มี "ลักษณะเด่น" หรือ "ลักษณะด้อย" ในเรื่องต่าง ๆ และ ยังนับรวมถึง การเลี้ยงดูของครอบครัวมาอีกด้วย ซึ่งจะสะท้อนตัวตน เช่น สติปัญญา ความเฉลียวฉลาด การควบคุมอารมณ์ บุคลิกภาพ (มีผลมากตั้งแต่วัยเยาว์) 2) สิ่งแวดล้อม (Environment) ที่เป็นสิ่งรอบตัว เช่น สังคม วัฒนธรรม กลุ่มคนรอบตัว เพื่อน ญาติ ชุมชน สถานศึกษา ชมรม กลุ่มต่าง ๆ ที่คนนั้น ๆ ได้เกี่ยวข้อง (มีผลมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราโตขึ้น และ อยู่ในสังคม)
พัฒนาการของคนเราในการเป็น "ตัวตน (Appearance)" ได้นั้น มาจากการสัมผัสจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 รูป (ตา) รส (ลิ้น) กลิ่น (จมูก) เสียง (หู) จับต้อง (ผิวกาย และ มือ) ที่ทำให้คนเรียนรู้ (Learning) และ รับรู้ (Perceptions) ตามมา ซึ่งคนแต่ละคนจะ "เลือกรับรู้" ในสิ่งที่ตนชอบ หรือ เรียกว่า "ตามจริตตน"
จริต (Sense) คือ ความประพฤติ (Behavior) กิริยามารยาท (Manner) ที่แสดงมาจาก จิตใจ นิสัยใจคอ บุคลิกภาพ พฤติกรรม ที่ตนได้พิจารณาแล้ว ว่า "เหมาะกับตน" ซึ่งมี 6 จริต
1. ราคจริต เป็นจริตเกี่ยวกับ อารมณ์ ความอ่อนไหว ความสวยงาม สะอาด ประณีต และ ความเป็นระเบียบ ที่พึงประสงค์ของตนเอง
2. โทสจริต เป็นลักษณะของความจริงจัง เจ้าระเบียบ เสียงดัง อารมณ์ขึ้นง่าย ทำทุกอย่างรีบร้อน รวดเร็ว ไม่ชอบเสียเวลา
3. โมหจริต ความลุ่มหลงในชื่อเสียง ตำแหน่ง บทบาท หน้าที่สำคัญต่าง ๆ ที่ได้รับ ชอบสะสม ช่างฝัน อ่อนไหว เชื่อคนง่าย ชอบเยินยอ และ การเอาใจ ชอบให้สังคมยอมรับ
4. วิตกจริต ชอบคิดไปข้างหน้าตลอดเวลา ระแวดระวัง คิดการณ์ไกล แต่เปลี่ยนใจบ่อย พูดเก่ง ละเอียดลออ กล้าได้กล้าเสีย ไม่ชอบกฎเกณฑ์ คิดนอกกรอบ
5. ศรัทธาจริต มีความเชื่อผ่านอารมณ์เป็นหลัก นับถือตนเอง เสียสละ มีศรัทธาแรงกล้าในสิ่งที่เชื่อถือ ชอบรวมกลุ่ม เชื่อในพลังกลุ่ม บางครั้งหากมากไปก็ไม่มีเหตุผลรองรับ
6. พุทธิจริต มีไหวพริบ ปฏิภาณ จดจำเรียนรู้ได้ดี มีปัญญาดี ประนีประนอม สุภาพ และ เน้นอนุรักษนิยม
ทั้ง 6 จริต ทุกคนมีอยู่ในตัว ขึ้นกับว่ามากน้อยด้านใด และ ส่งผลกับตนเอง และ การทำงาน ดังนั้น ลักษณะของคนในองค์กรที่เราทำงานด้วย ก็คือจริตของคนนั้น ๆ และ เมื่ออยู่ร่วมกันก็มักจะมี "จริตนิยม (Mannerism)" หรือ พฤติกรรมที่เป็น "ธรรมเนียมปฏิบัติ" ในการอยู่ร่วมกันในองค์กรนั่นเอง ที่จะควบคุมจริตส่วนตน
แต่เราจะรู้ได้ว่า สิ่งที่คนรอบตัวทำอยู่นั้น เป็น "จริตแท้" หรือ โดนกรอบบังคับได้เมื่อ บางครั้ง "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน" เพราะเกิดการ "ดัดจริต (Sense Adjustment)" หรือ เรียกว่าดัดจริตเมื่อเปลี่ยนองค์กร เปลี่ยนที่ทำงาน เปลี่ยนสังคม เป็นต้น ว่าได้เปลี่ยนจริต เปลี่ยนตัวตนจากเดิม หรือ ไม่
เราคงเคยได้ยินว่า ชีวิตเราจะเจอคนอย่างไร เพราะ "ธรรมะจัดสรร อธรรมจัดให้" หรือ "พระเจ้าจัดมา หรือ ชีวิตพาไป" แท้จริงแล้วก็ด้วยจริตของตน และ องค์กรที่ตนอยู่นั่นเองที่มีส่วน เช่น "คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล"
อย่างไรก็ตาม ชีวิตคนเราจะพบเจอคน ควรให้คุณค่าของมิตรภาพ ผ่านกาลเวลากับมิตรภาพที่ดี และ ถูกจริตตน หรือ อย่างน้อยก็พยายามเลือก และ ตัดคน หรือ สังคม ที่มี "จริตลบ" ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาคน และ ระมัดระวัง ดังคำกลอนว่า
"แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ไม่เคี้ยวคดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน"
เช่น คนไม่ดี คนอารมณ์ร้ายอารมณ์ร้อน คนทุจริต คนคดโกง เป็นต้น ที่ต้องระวังให้มาก ดังนั้นก็ต้องประคับประคองตนเองให้สร้าง "จริตบวก" ที่จะเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลดีกับตน และ องค์กรของตนต่อไป
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
11 พฤศจิกายน 2562

รวมบทความของ ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์ จาก facebook.com
Kritsada Tunpow : ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเนชั่น และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ริช เรสเตอรองต์ จำกัด บริษัทจัดตั้งขึ้น เพื่อบริหารจัดการธุรกิจ โชคดีติ่มซำ และ โคขุนโพนยางคำ เป็นนักวิชาการอิสระ ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการการตลาดมาอย่างมากมาย ได้จัดทำ คลิปวิดีโอ หลักสูตรการบริหารจัดการ เผยแพร่ผ่านช่อง Stepplus training และเขียนบทความแบ่งปันในเฟสบุ๊ค Kritsada Pop Tunpow อย่างต่อเนื่อง#
คลิกเปิดแบบ : พรีวิว หรือ ฉบับเต็ม
Dir : tec File : handbook_tec_63.txt Topic : kritsada_fb

Reset | Decode
คุณคิดอะไรอยู่
Thaiall.com