thaiall logomy background

จริยธรรมสำหรับผู้บริหาร - สมรรถนะหลัก

my town
ธรรมะ | ครู | สื่อ | ผู้บริหาร | พยาบาล | สาธารณสุข | เทคนิคการแพทย์ | ทันตแพทย์ | กฎหมายไอที | ศีล 5 | ผลกระทบ PDPA | งานมอบหมาย | เพิ่มประสิทธิภาพ |

16. สมรรถนะหลัก

สมรรถนะหลัก (Core Competency) : จุดยืนที่สำคัญแห่งความอยู่รอดยุคปัจจุบัน (ทรัพยากรบุคคล-ผลิตภัณฑ์-องค์กร)
เรื่องเล่า: กลุ่มเลขาที่พึ่งออกจากห้องประชุมกลุ่มผู้บริหารคุยกันว่า "ฉันนะ ไม่อยากเป็นประธานหรอก ปวดหัว สารพัดปัญหา"
คุณล่ะคิดอย่างไรกับคำพูดนี้?
ในยุคปัจจุบัน ที่การแข่งขันเชิงธุรกิจเป็นการแข่งเดือด (Red Ocean) ที่คู่แข่งมีมาก อีกทั้งสภาพแวดล้อมด้าน เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี วิถีชีวิตสังคมโลกที่เปลี่ยนรวดเร็ว โดยเฉพาะสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อ online และ offline ท่วมท้นเข้ามาในวิถีชีวิตปัจจุบันมากมาย ที่เป็นทางเลือกของลูกค้า/ ผู้บริโภค
ดังนั้น การสร้าง จุดแข็ง (Strength) ที่ชัดเจนจึงมีความหมายอย่างยิ่ง เป็นการ "รับรู้ (Perception)" ภายในองค์กร ที่เด่น ดี ดัง ทำได้เหนือกว่า และ ส่งเสริมให้เกิดความแข็งแกร่ง (Strengthens) ต่อไปให้ดีขึ้นเยี่ยมขึ้นเรื่อย ๆ คือ เน้นจุดแข็ง (อย่าไปเสียเวลาคอยดูแก้ไขจุดอ่อน) ซึ่งสิ่งนี้คือ การสร้างสมรรถนะหลัก (Core Competency)
1) ทรัพยากรบุคคล (Personnel)
การเสริมจุดแข็งของตนเอง ตัวตน และ เป็นสิ่งที่ทำได้ดี จะส่งเสริมให้ตนเองเจริญเติบโต ก้าวหน้าได้ เฉพาะตน เพราะนักขายชั้นยอดอาจเป็นอาจารย์ที่สอนไม่เก่ง คุณหมอมือหนึ่งอาจเป็นผู้บริหาร รพ.ได้ไม่ดี ก็เป็นได้
ดังนั้นการเสริมความรู้ ฝึกอบรม พัฒนาเทคนิค เรียนรู้เทคโนโลยี พร้อมก้าวไปกับสถานการณ์ และ นวัตกรรมใหม่ และ เน้นเพื่อสร้าง "จุดเด่น" หรือ "จุดขาย" ส่วนบุคคล ทั้งในองค์กร และ นอกองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เป็น "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ (Specialist)"
2) ผลิตภัณฑ์ (Product/ Service)
ธุรกิจต่าง ๆ ที่อาจมีสินค้าหลากหลายชนิด ที่มีทั้งขายดี และ ไม่ดี ควรมีกลไกตัดสินค้าที่ไม่เป็นที่ยอมรับ/ ยอดขายไม่โต และ ปรับแต่งสินค้าที่ดีให้ขยายต่อยอดได้ดีต่อไป สินค้าหลายตัวในปัจจุบันก็เติบโตมาจากอดีตไปไกล เช่น รถสปอร์ตแลมบอกีนี่เริ่มต้นจากการขายรถไถมาก่อน ในขณะที่ซัมซุงทำธุรกิจสิ่งทอในตอนแรก เป็นต้น
การมองหาโอกาส การสร้างจุดเด่น ที่เป็น "เอกลักษณ์ (Identity)" ในสินค้า หรือ บริการ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การพัฒนา และ ตอบสนองความต้องการลูกค้าที่ยังขาด และ แปลกใหม่ทันสมัยกว่าคู่แข่งที่มีอยู่ หรือ การบริการที่ปราณีต พิเศษ และ คุณภาพดีกว่าเจ้าอื่น ๆ ส่วนสินค้า/บริการที่ไม่โดดเด่นก็ตัดออก เน้นสิ่งที่ทำได้ดี และ ต่อยอด
3) องค์กร (Organization)
องค์กรที่จะสร้างความแข็งแกร่ง คือ องค์กร ที่พร้อมเปลี่ยนแปลง พัฒนาสิ่งใหม่ ๆ มีพลวัตรในหลากหลายมิติ เช่น ระบบการผลิต เทคนิคการขาย การตลาดที่เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่เสมอ รูปแบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย คุณภาพชีวิตของบุคลากรดี ขวัญ และ กำลังใจเยี่ยม อัตราการลาออกต่ำ เป็นตำแหน่งที่จดจำในตลาด (Market Positioning) ที่ดี และ พร้อมต่อการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป
องค์กรที่อาจสะท้อนเสริมแรงในรูปของ CRM, CSR, CEM ในใจลูกค้า และ สังคมอย่างต่อเนื่อง เมื่อเขานึกถึงสินค้า/ บริการ ประเภทนั้น ๆ ก็จะนึกถึงองค์กรเรา
สมรรถนะหลักที่ชัดเจน จะกลายเป็น "ภาพจำ (Image or Memory)" ที่คนภาพนอกมีต่อ ทรัพยากรบุคคล ผลิตภัณฑ์ และ องค์กรนั้น ๆ เสมือนเป็น DNA ที่คนมี "การรับรู้ (Prrception)" เช่น
ผู้บริหาร เช่น พูดถึง Elon Musk นึกธุรกิจระดับโลก ที่เน้นนวัตกรรม และ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจพาคนทัวร์นอกโลก และ เป็นนักประดิษฐ์สารพัดสินค้า/ บริการใน online
ผลิตภัณฑ์ เช่น นึกถึง Nike คือสินค้ากีฬาครบวงจรคุณภาพสูง และ เป็นที่ยอมรับอันดับ 1 ของโลก
องค์กร เช่น ปตท ได้รับการยอมรับในการดูแลบุคลากรครบวงจรที่ดี ตอกย้ำความเป็นองค์กรแห่งการพัฒนา และ การช่วยเหลือสังคม และ ธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ
หลายครั้ง สมรรถนะหลัก (Core Competency) จะสะท้อนออกมาที่ ปรัชญา คำขวัญ ของธุรกิจ องค์กร หรือ แม้แต่ภาพติดตาของบุคคลนั้น ๆ ต่อสังคมรอบข้าง
ท่านล่ะ อะไรเป็น DNA ของตนเอง สินค้า/บริการอะไรที่ท่านขายอยู่ และ องค์กรที่ท่านทำอยู่มี Core Competency อย่างไร
หมายเหตุ: คำตอบเรื่องเล่า (ด้านบน) ไม่ว่าท่านจะเป็นเลขา หรือ ประธาน ท่านคือ เลขาชั้นยอด หรือ ประธานที่มีศักยภาพ และ Core Competency ที่พร้อมก้าวหน้า แล้ว หรือ ยัง
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
7 กรกฎาคม 2563

Thaiall.com