thaiall logomy background

กระดานแสดงความคิดเห็น

my town
อจ.มธ.ฟ้องเมล"สแปม"คดีตัวอย่าง วงสัมมนาห่วงผู้เสพผลิตสื่อเซ็กซ์เอง
อจ.มธ.ฟ้องเมล"สแปม"คดีตัวอย่าง วงสัมมนาห่วงผู้เสพผลิตสื่อเซ็กซ์เอง
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0112271048&day=2005/10/27

อาจารย์ มธ. เอาจริงพวก"สแปม" แจ้ง ความดำเนินคดี อี-เมลสแปม ที่โพสต์เข้ามาเพื่อลงโฆษณาจัดหางาน เผยอยากให้เป็นคดีตัวอย่าง หวังส่งสัญญาณไอซีทีเข้ามาแก้ปัญหาจริงจัง วงสัมมนา"สื่อกับเซ็กซ์" ชี้สถานการณ์น่าห่วง เพราะพัฒนาไปถึงขั้นที่ผู้เสพกลายเป็นผู้ผลิตเสียเอง



เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) เปิดเผยว่า ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคล และกลุ่มบุคคลที่ส่งอี-เมลสแปม(spam-หมายถึงผู้ที่ส่งอี-เมลไปยังผู้รับปลายทางเพื่อโฆษณาสินค้าและบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือผู้รับไม่เต็มใจ) ซึ่งโพสต์ข้อความเข้ามาในเว็บไซต์ www.archanwell.org ซึ่งเป็นเว็บเพื่อการศึกษาด้านกฎหมาย โดยอี-เมลสแปม ที่โพสต์เข้ามาเป็นอี-เมลที่โฆษณาขายสินค้าและบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งก่อนจะแจ้งความนั้น ตนได้โทรศัพท์ไปแจ้งเตือนก่อนแล้ว แต่ถูกก่อกวน และพูดจาไม่ดี จึงอยากจะดำเนินคดีให้เป็นกรณีศึกษา และส่งสัญญาณไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ให้ลงมาจัดการเรื่องนี้ หลังจากวางเฉย ทั้งที่ถือได้ว่าเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว พื้นที่สาธารณประโยชน์ "อยากเห็นกระทรวงไอซีที ร่าง พ.ร.บ.อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางอินเตอร์เน็ต ให้ผู้ใช้บริการได้เท่าทันการล่อลวงทางเทคโนโลยี และมีความปลอดภัยในการใช้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน" ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงาน เวลา 14.00 น. ดร.พันธุ์ทิพย์และคณะนักศึกษา เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดี กฎหมายอาญา มาตรา 385 กับผู้โพสต์ อี-เมลสแปม ซึ่งมีข้อความโฆษณาการจัดหางาน โดยอ้างว่ามีรายได้ดีวันละ 200-1,000 บาท โดยลงเบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้ด้วย ผู้โพสต์ใช้ชื่อว่า "เดียร์" ซึ่ง ดร.พันธุ์ทิพย์ได้แจ้งให้หญิงคนดังกล่าวมาพบที่ มธ. แล้วจะไม่ดำเนินคดี แต่ปรากฏว่า "เดียร์" ก็ไม่ได้มา จึงต้องการแจ้งความดำเนินคดีเพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง

วันเดียวกัน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันไทยศึกษาและเอเชียศึกษาร่วมกับสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้จัดสัมมนาเรื่อง "สื่อกับเซ็กซ์ :หายนะของชาติ มาตรการและยุทธศาสตร์ทางวัฒนธรรม" ทั้งนี้ นายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็กสตรีและผู้สูงอายุ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า แนวทางที่จะปราบปรามสื่อลามกได้ต้องใช้วิธีหาแนวร่วม การไล่ปราบอย่างเดียวได้ผลน้อย นอกจากนั้นในส่วนของภาพโป๊ ภาพเปลือยที่ยั่วยุกามารมณ์ ควรมีการจัดเรตติ้ง(ระดับ) เพื่อจำกัดกลุ่มคนดู แต่ถ้าเป็นสื่อยั่วยุทางเพศที่อันตราย เช่น หนังสือการ์ตูนโป๊ที่สอนการร่วมเพศ การแสดงภาพการข่มขืน การมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัว การโฆษณาขายยาปลุกเซ็กซ์ ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงต่างๆ ทางสังคมต้องถูกกำจัดให้หมด

นายวีรศักดิ์กล่าวว่า ดังนั้นตนและ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ส.ส.พรรคชาติไทย จึงได้ร่วมกันเสนอ พ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย และให้รัฐมีสิทธิเพิกถอนใบอนุญาตของโรงภาพยนตร์หรือโรงแรมที่มีการเผยแพร่วัตถุยั่วยุดังกล่าว สำหรับผู้กระทำผิดในกรณีนี้ควรจะถูกลงโทษอย่างหนัก

ขณะที่ น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อลามกพัฒนาไปจนถึงขั้นที่ผู้เสพกลายเป็นผู้ผลิตซ้ำ อย่างเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ เกิดกรณีนักศึกษาอาชีวะร่วมมือกับเพื่อนทำไฟล์วิดีโอโป๊แล้วให้บริการดาวน์โหลดทางโทรศัพท์ในราคาไฟล์ละ 3,000 บาท

"แม้การที่นายกรัฐมนตรีออกมาบอกว่าให้มีการปราบปรามวัตถุลามกให้หมดไปจากประเทศไทยภายใน 3 เดือน จะฟังดูเป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นไปได้ โดยการส่งเสริมคนที่ดี ปราบปรามคนที่ทำผิด และแม้จะไม่หมดไปเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยสื่อลามกก็ต้องลดน้อยไปจากประเทศไทยเป็นจำนวนมากได้แน่" น.ส.ลัดดากล่าว

นายมนตรี สินทวิชัย ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความสัมพันธ์กันในเชิงอำนาจ ฉะนั้นไม่ควรมองในมิติของเด็กทางด้านเดียว ตนจึงไม่เห็นด้วยกับการจำกัดสื่อบางประเภท แต่เห็นควรให้กำจัดออกไปจากประเทศไปเลย แต่ปัญหาที่มีอยู่คือมีผู้ใหญ่เป็นผู้กระทำผิดด้วย สำหรับผู้ที่กระทำทางเพศนั้นเกือบทุกรายที่โดนจับได้จะสารภาพว่าก่อนกระทำผิดมีการเสพสื่อลามกก่อน เช่น ดูหนังโป๊ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข

นายมนตรีกล่าวอีกว่า ต่อไปนี้นักวิจัยไม่ควรทำวิจัยเรื่องเพศของเด็กวัยรุ่นอีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นการซ้ำเติมและละเมิดสิทธิเด็ก เป็นการบังคับให้เด็กตอบคำถามในเรื่องเพศซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ที่สำคัญเป็นการมองในด้านเดียว หากจะทำวิจัยจริงควรทำเรื่องทางเพศของผู้ใหญ่บ้าง โดยอาจจะทำของนักการเมืองก่อนเป็นอันดับแรกๆ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง เมื่อทำแล้วจะได้รู้วิสัยทัศน์ของนักการเมืองเหล่านั้นว่าใช้ได้หรือไม่


จากคุณ : บุรินทร์ .
01:12am (2/11/05)
ทความเกี่ยวกับไอทีในชีวิตประจำวัน (Information Technology in Life) ถูกเขียนลงในหนังสือพิมพ์ฅนเมืองเหนือ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เริ่มเขียนปลายปีพ.ศ. 2549 จนถึงมิถุนายน พ.ศ.2560 รวมได้ 611 บทความมีโฮมเพจอยู่ที่ http://www.thaiall.com/itinlife และ http://www.thaiall.com/opinion เพื่อเป็นแหล่งแบ่งปันเรื่องราวที่ได้พบ ได้อ่าน ได้ปฏิบัติ แล้วนำมาเรียบเรียงแบ่งปันแก่เพื่อนชาวไทย และส่งให้กองบรรณาธิการนำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง
Opinion แปลว่า ความคิดเห็น วาทะ ความเชื่อ ที่สามารถสะท้อนออกมาให้อยู่ในรูปของวรรณกรรม หรืองานเขียน ที่เรื่องราวจะถูกร้อยเรียงเป็นตัวอักษร ไล่เรียงตามลำดับให้ได้รู้และเข้าใจความคิดความเห็น ที่ไม่เลือนหายไปตามเวลาเหมือนความทรงจำ
version 1.3 (15 ตุลาคม 2566)
Thaiall.com
Thaiall.com