thaiall logomy background

กระดานแสดงความคิดเห็น

my town
534 ดีพเว็บกับดาร์คเว็บกับเว็บสาธารณะ
534 ดีพเว็บกับดาร์คเว็บกับเว็บสาธารณะ

ดีพเว็บ (Deep web หรือ Invisible Web) คือ เว็บเพจส่วนใหญ่ที่คนทั่วไปยังเข้าไม่ถึง ที่มีข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ เรื่องราว ทั้งที่จงใจเปิดเผย ข้อมูลเฉพาะสมาชิก และที่ซ่อนไว้ การจะเข้าถึงอาจต้องได้รับอนุญาต เช่น เครือข่ายสังคมที่กำหนดการเข้าถึงเป็นส่วนตัว ข้อมูลของหน่วยข่าวกรอง ข้อมูลของธนาคาร ฐานข้อมูลข่าวที่ต้องใช้รหัสผ่านจากการเป็นสมาชิก เว็บเพจที่ไม่ได้ทำลิงค์เพื่อเผยแพร่แต่เข้าถึงได้ทางตรง ข้อมูลของกลุ่มผิดกฎหมาย หรือข้อมูลที่ต้องเข้าผ่านเครือข่ายนิรนาม (Anonymous Network) โดยข้อมูลจาก oedb.org นำเสนอว่าเว็บสาธารณะ (Public web) ที่เราเข้าถึงผ่าน search engine ทั่วไปมีเพียงร้อยละ 0.03 ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 99.97 นั้น ไม่สามารถสืบค้นได้ทั่วไป

ดาร์คเว็บ (Dark web) ตามที่เคยฟังอาจารย์ปริญญา หอมอเนก กูรูด้านความปลอดภัยเคยบรรยายในงาน KDS2015 ว่าเราสามารถเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถเข้าได้ด้วยวิธีการตามปกติ ด้วยทอร์บราวเซอร์ (TOR browser) ซึ่ง Tor = The Onion Router สามารถดาวน์โหลดได้จาก torproject.org เมื่อสั่งเปิดเว็บไซต์เป้าหมายผ่านทอร์บราวเซอร์ ระบบจะเริ่มต้นด้วยการเลือกเครื่องพรอกซี่ (Proxy) หลายโหนด (Node) ที่มาจากการสุ่มเพื่อรับส่งข้อมูลระหว่างโหนด และมีการเข้ารหัสทุกครั้งก่อนถึงโหนดปลายทาง ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าต้นทางมาจากที่ใด และมีการเปลี่ยนพรอกซี่อยู่ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ ทำให้การตรวจสอบไอพี (IP) จริงของผู้ส่งข้อมูลทำได้ยากยิ่งขึ้น ถ้าดูภาพยนตร์เรื่อง Whoami ของเยอรมัน จะทำให้เข้าใจการใช้ทอร์บราวเซอร์ยิ่งขึ้น

ถ้าข้อมูลในเว็บแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เว็บสาธารณะ และดีพเว็บ หากจะแบ่งประเภทของดีพเว็บ อาจแบ่งได้ 2 กลุ่มคือ ดาร์คเว็บกับไพรเวทเว็บ ซึ่งไพรเวทเว็บ (Private web) คือ ข้อมูลทุกประเภทที่เป็นส่วนตัว ข้อมูลขององค์กร ข้อมูลที่เข้าไม่ถึง หรือเข้าถึงที่ต้องผ่านการอนุญาต ทั้งใช้รหัสผ่าน อยู่ในเครือข่ายเฉพาะ ส่วนดาร์คเว็บ คือ เว็บที่อยู่ลึกกว่าเว็บสาธารณะ เข้าถึงได้ผ่านทอร์บราวเซอร์ หรือโปรแกรมเฉพาะ มีคำแนะนำว่าเรารู้ว่าดาร์คเว็บมีอยู่จริง แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าไป เพราะเว็บสาธารณะที่มีเพียงร้อยละ 0.03 ก็ยังใช้เวลาทั้งชีวิตไปใช้ประโยชน์จากเว็บเหล่านั้นได้ไม่หมด เรามามองหาสิ่งที่มีอยู่ ดีกว่าการไปมองหาสิ่งที่อยู่ในความมืดจะปลอดภัยกว่า
http://oedb.org/ilibrarian/invisible-web/


จากคุณ : บุรินทร์ .
11:09pm (9/01/16)
ทความเกี่ยวกับไอทีในชีวิตประจำวัน (Information Technology in Life) ถูกเขียนลงในหนังสือพิมพ์ฅนเมืองเหนือ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เริ่มเขียนปลายปีพ.ศ. 2549 จนถึงมิถุนายน พ.ศ.2560 รวมได้ 611 บทความมีโฮมเพจอยู่ที่ http://www.thaiall.com/itinlife และ http://www.thaiall.com/opinion เพื่อเป็นแหล่งแบ่งปันเรื่องราวที่ได้พบ ได้อ่าน ได้ปฏิบัติ แล้วนำมาเรียบเรียงแบ่งปันแก่เพื่อนชาวไทย และส่งให้กองบรรณาธิการนำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง
Opinion แปลว่า ความคิดเห็น วาทะ ความเชื่อ ที่สามารถสะท้อนออกมาให้อยู่ในรูปของวรรณกรรม หรืองานเขียน ที่เรื่องราวจะถูกร้อยเรียงเป็นตัวอักษร ไล่เรียงตามลำดับให้ได้รู้และเข้าใจความคิดความเห็น ที่ไม่เลือนหายไปตามเวลาเหมือนความทรงจำ
version 1.3 (15 ตุลาคม 2566)
Thaiall.com
Thaiall.com