thaiall logomy background

กระดานแสดงความคิดเห็น

my town
11 เว็บไซต์นั้น .. หายอีกแล้ว
11 เว็บไซต์นั้น .. หายอีกแล้ว

ท่านเคยเปิดเว็บไซต์เพื่อหาข้อมูล หรือไม่ ถ้ามีประสบการณ์ในการสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต อาจเคยพบปัญหาเว็บไซต์หาย อันเนื่องมาจากการไม่ต่ออายุโดเมนเนม (Domain Name) ผู้เขียนเสียดายเว็บไซต์ดี ๆ มากมายที่มีข้อมูล หรือภาพถ่ายที่หาไม่ได้จากที่ใดในโลก เช่น ภาพถ่ายรถม้าแต่ละแบบ หรือภาพถ่ายวัดในจังหวัด เป็นต้น ที่น่าเสียดายที่สุดก็คือ เว็บไซต์ของชาวลำปางที่หายไป และไม่สามารถทำอะไรได้เลย

การพัฒนาเว็บไซต์โดยทั่วไป คือ งานที่เป็นวิทยาทานโดยแท้ ต่างกันการทำเว็บไซต์ของภาคธุรกิจ ที่สนใจคำว่า action = reaction มักมีเป้าหมายเพื่อการประชาสัมพันธ์องค์การ แต่กลุ่มเว็บไซต์ที่เน้นผลด้านการประชาสัมพันธ์มักไม่ได้รับความสนใจจากนักท่องเว็บมากนัก เพราะความสนใจส่วนใหญ่ไปอยู่ที่เว็บไซต์กลุ่มบันเทิง ข่าว-สื่อ และบุคคล-สังคม เป็นต้น ทั้ง 3 กลุ่มรวมกันมีสถิติการเข้าใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของการเข้าเว็บไซต์ทั้งหมดในประเทศ (สถิติจาก truehits.net) สำหรับเว็บไซต์กลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่องค์กรมักพัฒนาโดยกลุ่มคนที่มีความสนใจเฉพาะด้าน ถ้าความฝัน หรืออุดมการณ์ไม่แก่กล้า เว็บไซต์เฉพาะด้านเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ หายไป เช่น กลุ่มพระเครื่อง กลุ่มการศึกษา กลุ่มรวมลิงค์ กลุ่มสุขภาพ หรือกลุ่มสรรพเพเหระ เป็นต้น

เว็บไซต์ที่น่าจะมีสถิติการสูญหายน้อยที่สุด คือเว็บไซต์ของนักการศึกษา เพราะเป็นกลุ่มคนที่เข้าใจคำว่าวิทยาทาน และอุดมการณ์มากที่สุด จากที่เคยสืบค้นข้อมูลของนักวิชาการมากมาย รู้สึกประทับใจผลงานของอาจารย์ในประเทศที่ได้ให้ความรู้ เผยแพร่สู่สังคม แต่ที่น่าผิดหวัง คือ จำนวนเว็บไซต์ของกลุ่มคนด้านการศึกษาอันประกอบด้วย ครู อาจารย์ หรือผลงานนักศึกษาในประเทศมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่น้อยกว่า 100 แห่ง แต่เมื่อถามนักเรียนไทยว่าเว็บไซต์ด้านการศึกษาอันดับต้น ๆ คือเว็บใดบ้าง กลับไม่มีใครตอบถูก อยากให้ลองถามเยาวชนรอบตัวท่าน เพราะสถิติจาก truehits.net แสดงให้เห็นว่าเยาวชนไทยเข้าสืบค้นเว็บไซต์ด้านการศึกษาน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนเยาวชนทั้งประเทศ

ถ้าแม่พิมพ์ของสังคม คือ ครู หรืออาจารย์ที่อุทิศตนให้กับการศึกษา และเชื่อในคำว่าทำดีย่อมได้ดี แล้วในลำปางมีครูทั้งหมด 5,000 คน เราอาจคาดหวังได้ว่าครูเพียงครึ่งหนึ่งมีเว็บไซต์เผยแพร่ประสบการณ์ หรือเอกสารประกอบการสอนของตนเป็นวิทยาทาน ให้ศิษย์ปัจจุบัน เพื่อนอาจารย์ หรือศิษย์เก่ากลับเข้าไปสืบค้นข้อมูล ซึ่งอาจารย์สามารถปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัย ผู้เขียนเชื่อว่าการใช้ไอทีเพื่อพัฒนาการศึกษาของเยาวชนไทยต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นหน้าเห็นหลังแน่นอน .. ถ้าความคาดหวังดังกล่าวไม่เป็นเพียงความฝัน


จากคุณ : บุรินทร์ .
11:33pm (16/11/05)
ทความเกี่ยวกับไอทีในชีวิตประจำวัน (Information Technology in Life) ถูกเขียนลงในหนังสือพิมพ์ฅนเมืองเหนือ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เริ่มเขียนปลายปีพ.ศ. 2549 จนถึงมิถุนายน พ.ศ.2560 รวมได้ 611 บทความมีโฮมเพจอยู่ที่ http://www.thaiall.com/itinlife และ http://www.thaiall.com/opinion เพื่อเป็นแหล่งแบ่งปันเรื่องราวที่ได้พบ ได้อ่าน ได้ปฏิบัติ แล้วนำมาเรียบเรียงแบ่งปันแก่เพื่อนชาวไทย และส่งให้กองบรรณาธิการนำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง
Opinion แปลว่า ความคิดเห็น วาทะ ความเชื่อ ที่สามารถสะท้อนออกมาให้อยู่ในรูปของวรรณกรรม หรืองานเขียน ที่เรื่องราวจะถูกร้อยเรียงเป็นตัวอักษร ไล่เรียงตามลำดับให้ได้รู้และเข้าใจความคิดความเห็น ที่ไม่เลือนหายไปตามเวลาเหมือนความทรงจำ
version 1.3 (15 ตุลาคม 2566)
Thaiall.com
Thaiall.com