thaiall logomy background
แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 11
my town
แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559)
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอก โดยใช้เครื่องมือ SWOT Analysis ที่ประกอบด้วย 9S [ใช้ หลักการ 7S ของ McKinsey คือ Share Value (ค่านิยมร่วม) Strategy (กลยุทธ์) Structure (โครงสร้าง) System (ระบบ) Staff (บุคลากร) Skill (ทักษะ) Style (รูปแบบการบริหาร) และเพิ่มเติมอีก 2S คือ Sati (ธรรมาภิบาลในการบริหาร) และ Satang (การเงินอุดมศึกษา)] และ PESTEL [Politics (การเมืองการปกครอง) Economic(ระบบเศรษฐกิจ) Social (สังคมวัฒนธรรม) Technology (เทคโนโลยี) Environment (สภาพแวดล้อม) Law (กฎหมายที่เกี่ยวข้อง)]
ซึ่งจัดกระบวนการให้มีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุมประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันอุดมศึกษาทั้งในสังกัด และนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ผ่านการประชุมเครือข่ายอุดมศึกษาจำนวน 9 เครือข่าย) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนสภาวิชาชีพ ผู้ประกอบการ/ผู้ใช้บัณฑิต ผู้ปกครอง นิสิต/นักศึกษา นักเรียน ศิษย์เก่า จำนวนรวมมากกว่า 1,200 คน
โดยผลการสังเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในพบว่ามีจุดแข็ง 8 ประเด็น จุดอ่อน 10 ประเด็น และ สภาพแวดล้อมภายนอกพบว่ามีโอกาส 9 ประเด็น ภัยคุกคาม 12 ประเด็น

จุดแข็ง (Strengths)
S1 มีระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาที่มีกฎหมายรองรับ เพื่อประเมินคุณภาพทั้งภายในและภายนอก
S2 ปี 2554 มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ติดอันดับ 1 ใน 500 ของมหาวิทยาลัยในระดับโลก 2 แห่ง และติดอันดับ 1 ใน 200 ของมหาวิทยาลัยในระดับเอเชีย 9 แห่ง
S3 มีเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างเสริมศักยภาพของนักศึกษาในการปฏิบัติงานในสภาพจริง เช่น โครงการสหกิจศึกษา
S4 มีระบบการบริหารจัดการอุดมศึกษาที่เพิ่มประสิทธิภาพและให้มีความคล่องตัวทางด้านระบบการปฏิบัติงานและการบริหารงบประมาณ ได้แก่ การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ การกระจายอำนาจบริหารจัดการจากส่วนกลางเพื่อเพิ่มพลังอำนาจ (Empowerment) ให้กับสภามหาวิทยาลัย
S5 อุดมศึกษาไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติการขององค์การด้านอุดมศึกษา เช่น SEAMEO, AUN
S6 มีโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาที่เชื่อมต่อทั่วประเทศไทย เช่น Uninet
S7 มีการขยายโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ IT เช่น มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
S8 มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2555 ให้ทุกหลักสูตรจะมีการดำเนินการตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ที่ประกันคุณภาพบัณฑิตด้วยมาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes)

จุดอ่อน (Weaks)
W1 การนำองค์กรของสภาสถาบันในภาพรวมของประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพและยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
W2 ธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษามีปัญหาในทางปฏิบัติ ดังปรากฎข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง
W3 การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งประเทศยังขาดเอกภาพในการทำงาน และขาดการเชื่อมโยงกับอีก 4 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ในการบูรณาการและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
W4 มีสถาบันอุดมศึกษาที่ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพของ สมศ.
W5 คณาจารย์อุดมศึกษาทั้งประเทศ ยังขาดแคลนทั้งปริมาณและคุณภาพ ในด้านประสบการณ์ เทคนิคการสอน และด้านคุณธรรมจริยธรรม
W6 ข้อมูลสารสนเทศอุดมศึกษาระดับประเทศ ยังไม่เป็นปัจจุบันและยังไม่ถูกต้อง
W7 การศึกษาเขตการศึกษาพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่เป็นเอกภาพ และมีปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล
W8 การผลิตบัณฑิตส่วนใหญ่ มีจำนวนที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศรวมทั้งคุณภาพของบัณฑิตใหม่ ขาดความรู้และทักษะที่จำเป็น ไม่สามารถปฎิบัติงานได้ตรงกับลักษณะงานที่ผู้ประกอบการต้องการ
W9 ปริมาณและคุณภาพของงานวิจัยในภาพรวม มีระดับต่ำ และไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นระดับโลกและระดับเอเซีย
W10 คุณภาพของงานบริการวิชาการส่วนใหญ่ยังไม่ตอบสนองความต้องการหรือการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน สังคม และ ประเทศ

โอกาส (Opportunities)
O1 มีนโยบายของประเทศด้านการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาระบบบริหารจัดการประเทศให้เกิดธรรมาภิบาล
O2 รัฐบาลเน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการศึกษาและการบริหารสถาบันอุดมศึกษา
O3 การกระจายอำนาจของรัฐบาล ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นเพิ่มขึ้น
O4 นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้มีโอกาสในการสร้างความตระหนักและองค์ความรู้ด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
O5 สังคมต้องการองค์ความรู้ด้านการผลิตสินค้า การบริการ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมเพิ่มขึ้น
O6 สังคมไทยต้องการบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาทุนมนุษย์ การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรม และการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อทดแทนการใช้แรงงาน
O7 การเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AEC : Asean Economics Cooperation 2015) ด้านการบริการและด้านการศึกษา ทำให้มีโอกาสรับนักศึกษาในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น เพื่อรองรับความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านการค้าการลงทุน เช่น ด้านโลจิสติกส์ ด้านการบริการสุขภาพโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ
O8 มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการผลิตบัณฑิต งานวิจัย และ งานบริการวิชาการ
O9 การเปิดการค้าเสรีอาเซียน 2015 ทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษ ด้านภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียน และ คุณภาพการจัดการศึกษาให้มีมาตรฐานในระดับอาเซียน

ภัยคุกคาม (Threats)
T1 การเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง และนโยบายระดับประเทศบ่อยครั้ง ทำให้การพัฒนาอุดมศึกษาไม่มีความต่อเนื่อง
T2 นโยบายของอุดมศึกษาของประเทศไม่ชัดเจน ขาดการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างจริงจังของสถาบันอุดมศึกษาในทุกกระทรวง และขาดการให้ความสำคัญในการผลักดันให้เกิดการสร้างคุณค่าของอุดมศึกษาอย่างแท้จริง
T3 ความไม่ชัดเจนของกฎหมาย กฎระเบียบด้านอุดมศึกษา
T4 การควบคุม ทิศทางและการกำกับ ติดตามการใช้งบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ดำเนินการโดยสำนักงบประมาณ ซึ่ง สกอ. ไม่มีบทบาทในการพิจารณางบประมาณร่วมด้วย ทำให้การดำเนินงานด้านอุดมศึกษา ในภาพรวมของประเทศ ขาดเอกภาพและมีประสิทธิภาพน้อย เมื่อเทียบกับงบประมาณด้านอุดมศึกษา ซึ่งเท่ากับ ร้อยละ 4.2 ของ GDP
T5 การเปิดการค้าเสรีอาเซียน 2015 โดยเฉพาะด้านการศึกษา ก่อให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้นทำให้มีมหาวิทยาลัยต่างชาติทั่วโลกมาตั้งวิทยาเขตในประเทศไทย
T6 ประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน มีนโยบายที่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางและบางประเทศมีการใช้ภาษาเพื่อนบ้านในการสื่อสาร ทำให้อุดมศึกษาไทยต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนทางด้านภาษาและการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม
T7 มาตรฐานคุณภาพบัณฑิตในระดับอาเซียน เป็นภาวะคุกคามที่ทำให้ทุกสถาบันอุดมศึกษาต้องพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้ได้ตามมาตรฐาน
T8 กฎหมายระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือของไทยในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
T9 ลักษณะงานในทศวรรษที่ 21 มีความซับซ้อนหลากหลายซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับลักษณะงานที่มีความต้องการทักษะที่หลากหลาย
T10 สังคมไทย ครอบครัวและเยาวชน อ่อนแอ ขาดความรักความสามัคคี ด้อยคุณธรรมจริยธรรม มีการคอรัปชั่น และบริโภคนิยมสูง
T11 นักเรียนที่เลือกเข้าเรียนอุดมศึกษาเป็นไปตามกระแสค่านิยมโดยไม่มีความตั้งใจ และความมุ่งมั่นที่จะนำไปใช้ประโยชน์
T12 ระดับความรู้และทักษะในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษของนักเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน


แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 11
กำหนด 4 ยุทธศาสตร์สำหรับ 5 ปี คือ พ.ศ. 2555 - 2559
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เปลี่ยนระบบการนำองค์กรให้ขับเคลื่อนอุดมศึกษาแบบองค์รวม
กลยุทธ์ 1.1 กำหนดคุณค่าและสร้างวิสัยทัศน์ร่วมของอุดมศึกษาไทย
กลยุทธ์ 1.2 บริหารอุดมศึกษา โดยยึดเป้าหมายอุดมศึกษาตามกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551-2565) อย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์ 1.3 สร้างระบบการประเมินศักยภาพ และพัฒนาผู้บริหารระดับสูง กรรมการสภาของสถาบันอุดมศึกษา
กลยุทธ์ 1.4 สร้างระบบการปิดและยุบรวม หลักสูตร/ คณะวิชา / มหาวิทยาลัย
กลยุทธ์ 1.5 พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของสารสนเทศอุดมศึกษา
กลยุทธ์ 1.6 ต่อยอดสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับโลก
กลยุทธ์ 1.7 ยกระดับอุดมศึกษาไทยให้มีบทบาทสูงในประชาคมอุดมศึกษาอาเซียนโดยเฉพาะด้าน Higher Education Manpower Mobilization
กลยุทธ์ 1.8 สร้างระบบและกลไกเพื่อรองรับความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งกับหน่วยงาน ภาคการผลิตในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย
กลยุทธ์ 1.9 พัฒนาโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาอาจารย์ให้เป็นมืออาชีพ และพัฒนาผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพให้เป็นอาจารย์
กลยุทธ์ 2.1 เพิ่มปริมาณอาจารย์ให้ตรงตามความต้องการในการผลิตบัณฑิต
กลยุทธ์ 2.2 พัฒนาอาจารย์ให้เป็นมืออาชีพอย่างเป็นระบบ
กลยุทธ์ 2.3 พัฒนาคุณภาพอาจารย์ให้มีความแข็งแกร่งในการทำวิจัย
กลยุทธ์ 2.4 ปฏิรูประบบค่าตอบแทนอาจารย์
กลยุทธ์ 2.5 พัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับคุณภาพบัณฑิตอย่างก้าวกระโดด
กลยุทธ์ 3.1 พัฒนาระบบการเข้าศึกษา การเรียนรู้ และการสำเร็จการศึกษาที่ยืดหยุ่น หลากหลายตอบสนองในทุกกลุ่มวัย
กลยุทธ์ 3.2 ยกระดับคุณภาพของหลักสูตร ให้ได้รับการรับรองในระดับอาเซียนและระดับโลก
กลยุทธ์ 3.3 สร้างระบบและกลไก เพื่อจัดสอบใบรับรองคุณวุฒิเฉพาะสาขาแห่งชาติของทุกหลักสูตร
กลยุทธ์ 3.4 ปรับปรุงระบบติดตาม และประเมินบัณฑิตรวมทั้งพัฒนาบัณฑิตหลังเข้าสู่ตลาดงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปฎิรูปการบริหารการเงินอุดมศึกษา เพื่อขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาสู่ความเป็นเลิศ
กลยุทธ์ 4.1 วิเคราะห์ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อหน่วยคุณภาพ
กลยุทธ์ 4.2 จัดทำแผนกลยุทธ์การเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายของสถาบันอุดมศึกษา และแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559)
กลยุทธ์ 4.3 จัดสรรทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาโดยคำนึงถึงความต้องการกำลังคนของประเทศ
กลยุทธ์ 4.4 กำกับ ติดตามประเมินผลการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม (utilization management) ตามพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษา
http://www.mua.go.th/~bpp/developplan/download/higher_edu_plan/PlanHEdu11_2555-2559.pdf
rspsocial
Thaiall.com