สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย
สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย

รู้จักสมาคม
สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ได้ประกาศเปิดตัว ในงาน Code Mania 11 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559 หลังจดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 สมาคมมีวัตถุประสงค์ 6 ข้อ ดังนี้ 1) เพื่อสร้างเครือข่ายของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ได้รู้จัก ช่วยเหลือ และแบ่งปันความรู้กัน 2) เพื่อพัฒนาทักษะด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Technical Skill) และ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับคน (Soft Skill) ให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ 3) เพื่อช่วยเหลือนักพัฒนาซอฟต์แวรจากการถูกผู้ว่าจ้างเอาเปรียบ และช่วยเหลือผู้ว่าจ้างจากการโดนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทิ้งงาน 4) เพื่อยกระดับภาพลักษณ์และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อสายอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ 5) เพื่อเป็นพื้นที่ให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้แสดงศักยภาพ หรือสร้างความร่วมมือ 6) เพื่อสนับสนุนชุมชนต่างๆในการจัดกิจกรรมเพื่อนักพัฒนาซอฟต์แวร์
นายก : นายศุภเสฏฐ์ ชูชัยศรี
ระเบียบ : ประเภทบุคคล สมาชิกสามัญ 500 บาทต่อปี
Website : http://thaiprogrammer.org
Member Register : WP||FB
FB group : ThaiPGAssociateSociety
FB page : ThaiProgrammerSociety
Address : CP Tower 2, 4th Floor, 5 Rachadaphisek Rd., Dindaeng, Bangkok 10400 Thailand

วิกฤต "โปรแกรมเมอร์" มหากาพย์ "ไทยแลนด์ 4.0"
สัมภาษณ์ นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย
ที่มา https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1497697504
3 ปีแล้วกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลหนุนให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาประเทศให้พ้นกับดักรายได้ประเทศกำลังพัฒนา "โปรแกรมเมอร์" ผู้ปรุงเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์การใช้งานจึงเป็นอีกกลไกสำคัญ "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสเปิดมุมมอง "ศุภเสฏฐ์ ชูชัยศรี" นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ดังนี้

คำถาม : ไทยแลนด์ 4.0 ส่งผลอย่างไร
ทำให้คนอยากจ้างโปรแกรมเมอร์มากขึ้น แต่ปัญหาคือสถาบันการศึกษาที่เป็นสายตรงอย่างวิศวะคอมพิวเตอร์ วิทย์คอมพ์ ผลิตได้ราว 6 พันคนต่อปี ที่มีในตลาดคือแค่ 4 หมื่นคน ซึ่งในแง่ของจำนวนคือไม่พอ แต่ยังมีปัญหาในแง่ของคุณภาพ 6 พันคนที่จบต่อปี เหลือทำอาชีพนี้ แค่ 20-30% แล้วคนที่เขียนโปรแกรมแบบใช้งานได้จริงน่าจะแค่ 20% จากที่ผลิตออกมาได้
คำถาม : ที่หายไปเพราะ
มาเรียนมาทำงานแล้วเพิ่งรู้ว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เป็นปัญหาตั้งแต่การแนะแนวระดับมัธยม บางคนแค่รู้ว่าเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ น่าจะสบาย
คำถาม : ตลาดโปรแกรมเมอร์โตจริง
โตจริง มีบริษัทติดต่อมาทางสมาคมตลอดว่า หาคนทำงานไม่ได้ ให้สมาคมช่วยหาให้หน่อย จนสร้างเพจเฟซบุ๊ก "Jobs for Thai Programmers" ก็มีลงประกาศตลอดเวลา แต่ก็บ่นเยอะว่ามีคนมาสมัครตลอดแต่ทดสอบแล้วไม่ผ่านแม้แต่คนเดียว กว่าจะได้ยากมาก
คำถาม : ทักษะที่ขาด
ทักษะในการคิดคำนวณและการแก้ปัญหา เพราะการเขียนโปรแกรม ต้องรู้ว่า Bug ในโปรแกรมจริง ๆ คืออะไร ต้องมีทักษะในการให้เหตุผลว่าเพราะอะไรถึงเกิดแบบนี้ แล้วค่อยไล่ไปหาทีละจุด ถ้าคนที่ไม่มีตรรกะเรื่องนี้จะแก้ปัญหาไม่ได้ และทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็สำคัญ บางคนนอกจากที่อาจารย์สอนคือไม่รับรู้อะไรเลย เรียนแค่ที่สอนคือจบ
คำถาม : ไทยแลนด์ 4.0 ต้องการเพิ่มแค่ไหน
รัฐบาลพยายามให้เป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นทั้งหมด น่าจะต้องการคนเขียนโปรแกรมเพิ่มเป็นเท่าตัว
คำถาม : เทรนด์อยากเป็นสตาร์ตอัพดึงไป
มีผล เมื่อก่อนนักศึกษาจบใหม่ก็หางานทำ แต่เดี๋ยวนี้จบแล้วอยากเซตอัพบริษัท ปกติคนที่เก่งก็หายากอยู่แล้ว ตอนนี้คนเก่งอยากทำบริษัทเอง แต่ก็ต้องดูในระยะยาวเพราะสตาร์ตอัพไม่ง่าย หลายเคสทำเองไม่สำเร็จ สุดท้ายก็ต้องกลับมาสมัครงาน
คำถาม : ไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมถูกทาง
ที่เห็นอย่างแรกคือหน่วยงานรัฐบาลอยากได้ปริมาณ ตั้งเป้าว่าต้องเพิ่มเท่านี้ ๆ เน้นปริมาณอย่างเดียว แต่ปัญหาจริง ๆ อาจอยู่ที่คุณภาพหรือเปล่า ในมุมมองผมน่าจะไปทีละสเต็ป เริ่มจากเอาที่มีอยู่มาเพิ่มคุณภาพให้ได้ก่อนแล้วให้เขาเริ่มไปกระจายความรู้ต่อได้
ส่วนโครงการที่รัฐผลักดันอย่างเงินลงทุนในสตาร์ตอัพหรืออื่น ๆ ผลที่เห็นโดยตรงกับโปรแกรมเมอร์ยังไม่ชัดมาก ที่เห็นว่าเปลี่ยน เป็นกลุ่มที่ทำสตาร์ตอัพที่มีทุนเข้ามาเพิ่มขึ้นทำให้จ่ายเงินเดือนได้มากขึ้น โปรแกรมเมอร์ที่เก่งจริงก็มีโอกาสทำงานมากขึ้น จากเดิมถ้ายังทำงานอยู่ในไทยเงินเดือนจะตัน
ส่วนงบวิจัยและพัฒนา ไม่ค่อยลงมาถึง ถ้ารัฐกันงบสำหรับสมาคมหรือหน่วยงานต่าง ๆ สำหรับดึงวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาอบรมให้ความรู้ได้ก็น่าจะดี คู่ไปกับการหนุนเอกชนใช้ไอที
คำถาม : 4.0 ซื้อเทคโนโลยีต่างประเทศมาก
บางบริษัทไทยที่ทำให้บางองค์กรก็ยังไปได้ดี แต่ปัญหาว่าคนซื้อซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเป็นหลักมีนานแล้ว มองว่าเป็นความผิดที่โปรแกรมเมอร์ไทยทำซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพที่ตอบโจทย์ไม่ได้ พอต่างชาติทำออกมาสมบูรณ์กว่า ซัพพอร์ตได้ดีกว่า Bug น้อยกว่า นี่ต้องเป็นไมนด์เซตของโปรแกรมเมอร์ไทยที่จะผลักดันตนเองให้ไปถึงจุดนั้น
คำถาม : ธุรกิจกับการใช้ประโยชน์จากไอที
บริษัทต่าง ๆ เห็นประโยชน์ของไอทีแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทำให้คาดหวังผิด ๆ มักจะเข้าใจไปว่า แบบนี้ไม่น่ายาก แค่ทำนั่นทำนี่เพิ่มอีกหน่อย แล้วก็ไปบีบนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทำให้ผลงานไม่มีคุณภาพหรือไม่ตอบโจทย์ก็ใช้งานไม่ได้
คำถาม : รัฐควรช่วยตรงไหน
ต้องหนุนให้คนที่เก่งด้านอินฟราสตักเจอร์ สร้างเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือได้ อาจหนุนด้วยการเข้าไปใช้บริการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะบริการเหล่านี้มีจุดชี้เป็นชี้ตายคือความน่าเชื่อถือ ลูกค้าจะดูว่าบริษัทนี้ใครเป็นลูกค้าบ้าง ใช้งานมานานหรือยัง
ในส่วนของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตมองว่ายังช้า และยังไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ถ้าอยากได้ที่ดี ๆ ต้องเข้ามากรุงเทพฯ จึงควรมีการซัพพอร์ตให้คนไปลงทุนในพื้นที่ห่างออกไป อาจมีมาตรการภาษีมาดึงดูด เพื่อให้การพัฒนาแต่ละส่วนได้เร็วขึ้น แต่รัฐบาลไม่ควรทำเอง เพราะมีกระบวนการเยอะกว่าจะลงมือทำอะไรได้ การบำรุงรักษา ต้องทำตลอดเวลา ฉะนั้นขอแค่รัฐบาลทำนโยบายให้เอื้อต่อการทำงานของเอกชนให้ง่ายขึ้นก็พอ
คำถาม : การส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ไทย
ถ้าภาครัฐช่วยใช้ในบางส่วนก็จะเกิดรายได้พอที่จะนำไปพัฒนาด้านอื่นเพิ่มได้แต่ปัจจุบันมาตรการพวกนี้น้อยลงแล้ว แต่การผลักดันต้องไม่ใช่การเน้นที่ทุกอย่างต้องพัฒนาแบบไทย ๆ เกมต้องแต่งไทยมาเลย แบบนี้ไม่มีประโยชน์ เราต้องผลักดันให้คิดแบบสากลมากขึ้น
คำถาม : ศักยภาพโปรแกรมเมอร์ไทย
คนที่เป็น Expert จริง ๆ ก็มี อย่างในกูเกิลมีตำแหน่ง Google Developer Expert ก็มีคนไทยหลายคน มากสุดในอาเซียน คนไทยเก่ง ๆ อยู่ในระดับโลกเยอะ เพียงแต่ปัญหาคือระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อให้เกิด Expert หรือควานหาความเป็น Expert ที่จะไปต่อยอดความรู้สู่ระดับอาชีพได้

http://goo.gl/72BPC