มหาวิทยาลัย(เอกชน)จ่อปิดตัวเองลงเป็นซากตึกร้าง

ปรับปรุง : 2554-01-06 (เพิ่ม ปิดตัว)

คัดลอกข้อมูลมาจาก (20 ก.ค.53 การเสวนา "การประยุกต์แนวคิดการบริหารธุรกิจกับการบริหารมหาวิทยาลัย")
+ http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=19436&Key=news18
+ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=622973
+ http://www.oknation.net/blog/nn1234/2010/07/21/entry-2
+ http://www.unigang.com/Article/3075
+ http://www.zabjung.com/6337-page/
นำเสนอโดย NN1234
มหาวิทยาลัย(เอกชน)จ่อปิดตัวเองลงเป็นซากตึกร้าง..! คุณภาพมหาวิทยาลัยแย่ลง หรือ เด็กสมัครเข้าเรียนน้อย .?
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าว ตอนหนึ่งในการเสวนาเรื่อง "การประยุกต์แนวคิดการบริหารธุรกิจกับการบริหารมหาวิทยาลัย" ระหว่างการประชุมทางวิชาการของที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทกสท.) ว่า แนวคิดทางธุรกิจสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการบริหารงานมหาวิทยาลัย ได้เกือบทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการทำกำไร เพราะหากมีคิดเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการทำร้ายสังคม ซึ่งเจ้าของมหาวิทยาลัยเอกชน ต้องตระหนักถึงการผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมและคุณภาพ เพราะในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันมาก
ทั้งยังบอกว่าไม่เกิน 10 ปี มหาวิทยาลัย ที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ก็จะต้องปิดตัวแน่นอน หรือไม่ก็เหลือแต่ซากตึก ซึ่งบางแห่งก็กำลังเผชิญวิกฤตนี้แต่ยังไม่ยอมปิดตัวลงเพราะกลัวเสียหน้า แต่เมื่อเปิดได้ก็ปิดได้คิดเสียว่าเมื่อทำดีแล้ว สังคมไม่ต้องการก็ต้องปิดตัวลง
ด้าน นายภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยบางกลุ่มขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง สิ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์มหาวิทยาลัยหนีตาย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็ก ซึ่งปีนี้มีนักศึกษาเข้าเรียนน้อย ขณะนี้พบว่า มีอาการน่าเป็นห่วงกว่า 10 แห่ง ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฎ ขนาดเล็ก 5-6 แห่ง ก็ทำท่าจะไปไม่รอด การที่มหาวิทยาลัยขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง ทำให้คุณภาพย่ำแย่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สภามหาวิทยาลัย ควรต้องทบทวนและรับผิดชอบ

เป็นข่าวที่น่าตกใจมากในแวดวงการศึกษา ที่มีการระบุว่า มหาวิทยาลัยเอกชนอาจต้องปิดตัวเองลงกว่า 10 แห่งเพราะมีนักศึกษาเข้าเรียนน้อย

แท้จริงเป็นเช่นไร .. เราต้องเข้าไปค้นหาคำตอบในบางมุมมอง และใช้ปรากฏการณ์ (Phenomenon) ที่ถูกกล่าวถึงนั้นเป็นกรณีศึกษา

เมื่อมีข้อมูลจากวงเสวนาทางวิชาการของที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทกสท.)  เมื่อวันที่ 20 ก.ค.53 ที่ผ่านมา การเสวนานั้นมีชื่อเรื่องว่าการประยุกต์แนวคิดการบริหารธุรกิจกับการบริหารมหาวิทยาลัย โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์, ศาสตราจารย์สิทธิชัย โภไคยอุดม นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, รองศาสตราจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ชุมพล พรประภา ประธานที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์

แต่ละท่านล้วนเป็น“บิ๊กเนม” หรือมีชื่อเสียงในแวดวงการศึกษาไทย รวมทั้งแวดวงการเมือง การปกครอง และมีฝีมือในด้านการบริหารการศึกษาในระดับประเทศ

ข้อความที่เป็นสุดยอดของแต่ละท่าน นักข่าวได้“โค้ดข่าว”มา และผู้เขียนขอสรุปความมาเพียง 2 ท่านดังนี้......

.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวว่า “แนวคิดทางธุรกิจนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการบริหารงานมหาวิทยาลัยรัฐเกือบทุกเรื่อง ยกเว้นความคิดที่เรื่องการทำกำไร หากคิดจัดการศึกษาเพื่อกำไรเมื่อไร ก็เท่ากับเป็นการทำร้ายสังคม

เจ้าของมหาวิทยาลัยเอกชน ต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมและคุณภาพ โดยจ้างอาจารย์ประจำมาสอนให้ได้100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่อาจารย์พิเศษ เพราะอาจารย์พิเศษก็ต้องการแค่เงินพิเศษเท่านั้น”

"การบริหารงานของมหาวิทยาลัยเอกชนต้องหยิ่งและพึ่งตนเอง จะอาศัยเงินช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ไม่ได้ เพราะเปิดมหาวิทยาลัยเอกชนเอง ไม่ได้มีใครมาร้องขอให้เปิด”

“อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการแข่งขันกันมาก แต่จำนวนเด็กที่ป้อนเข้าสู่มหาวิทยาลัยมีน้อยลง ดังนั้น ทำนายว่า ไม่เกิน 10 ปี มหาวิทยาลัยม.เอกชน ต้องปิดตัวมากขึ้น หรือไม่ก็เหลือแต่ซากตึก เพราะหากทำดีแล้ว สังคมไม่ต้องการก็ต้องปิดตัวลง" 

.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์ กล่าวว่า

“สภาพปัจจุบันของมหาวิทยาลัยมีการแข่งขันสูง บางกลุ่มขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง มหาวิทยาลัยรัฐที่เคยมีคุณภาพดีมากมีขนาดนักศึกษา 20,000 คน (แต่)ขณะนี้รับ 50,000 คน หรือ มหาวิทยาลัยขนาดเล็กรับจำนวน 3,000 คน (แต่)ก็ขยายตัวเกือบ 10,000 คน สิ่งที่ตามมาคือ ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนที่ปรับตัวไม่ทันกำลังจะตาย” 

“ในปีนี้มหาวิทยาลัยเอกชน มีจำนวนรับน้อยลงทุกแห่ง ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐมีนักศึกษาเข้าเรียนมากขึ้นทุกแห่ง จึงเกิดปรากฏการณ์มหาวิทยาลัยหนีตาย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็ก มีอาการน่าเป็นห่วงกว่า 10 แห่ง ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฎขนาดเล็ก 5-6 แห่งก็จะไป ไม่รอด การที่มหาวิทยาลัยขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง ทำให้คุณภาพย่ำแย่ เป็นเรื่องที่สภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ”

"ที่ผ่านมา เรามีระบบการบริหารอุดมศึกษาในรูปแบบทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเข้มแข็งระดับหนึ่ง แต่อยู่ๆก็ถูกยุบรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ และขณะนี้ก็ไม่ได้ทำให้ระบบบริหารงานอุดมศึกษาดีขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ มาเลเซีย ก็แยกงานอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ”

“โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ ได้รวมงานอุดมศึกษากับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เพียง 2 ปีก็ปรับใหม่ โดยรวมกับกระทรวงพาณิชย์ เพราะมองว่างานอุดมศึกษาถือเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ที่ผลิตบัณฑิตออกมาทำงาน และผลิตงานวิจัยที่นำเงินเข้าประเทศ ส่วนประเทศไทยมองว่ามีความอายเกินกว่าจะยอมทบทวนตนเอง ทั้งนี้ ความจริงแล้วเมื่อเราก้าวผิด ก็สามารถก้าวใหม่ให้ถูกต้องได้ "

.......................................................................................

ปรากฏการณ์ที่เป็นมุมสะท้อนจากบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการบริหารการศึกษาทำให้เราเห็นข้อเท็จจริงจาก “ข้างใน”ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนที่กำลังวิ่งแข่งกับเงาของตัวเอง และในขณะเดียวกันก็วิ่งแข่งกับมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ เพื่อแย่งนักศึกษา(ลูกค้า)เข้าเรียนให้ได้มากที่สุด

เพื่อวิ่งไปหาจุดคุ้มทุนเป็นอย่างน้อยที่สุด หรืออย่างมากก็ต้องให้ได้มีกำไร

แต่ไฉนเลยที่ผู้บริหารจะมองหยุดอยู่แค่ “ความคุ้มทุน” ในเมื่อการเปิดมหาวิทยาลัย(เอกชน)หรือมหาวิทยาลัยของรัฐก็ตาม และที่ออกนอกระบบก็ตาม ต่างก็ต้องพูดถึง “ความสามารถเลี้ยงตัวเองได้”

ซึ่งแปลความหมายได้ทั้ง “ถึงจุดคุ้มทุน” และ “ทำกำไร”

มิใช่แค่ประหยัดน้ำ-ประหยัดไฟแล้วจะถึงจุดคุ้มทุน หรือรับนักศึกษาเพิ่มเข้ามาอีกร้อยสองร้อยคนแล้วจะได้กำไร

ดังนั้น สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเร่งมือในช่วงก่อนเปิดเทอม คือ การเปิดรับสมัครนักเรียนที่จบม. 6 ให้ได้มากที่สุด พร้อมกับเสนอ“ทางเลือก”ให้แก่พวกเขาให้มีมากสาขาที่สุด หรือเปิดสอนในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานให้ได้มากที่สุด

ส่วนคุณภาพด้านการเรียน-การสอน...ค่อยว่ากันอีกที

โดยในเบื้องต้นขอเพียงแค่กระทรวงศึกษาธิการให้การรับรองหลักสูตรนั้นๆ ก่อน เรื่องครูอาจารย์ที่มีคุณภาพในการสอนก็ค่อยว่ากันอีกที การวิจัยซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยค่อยว่ากันทีหลัง

ดังนั้น อย่าว่าแต่เรื่องการปิดตัวลงของมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็ก มหาวิทยาลัยของรัฐที่พยายามเปิดหลักสูตรเฉพาะทางหลายหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี-โท-เอกในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ของประเทศก็ไม่วายเจอปัญหาเดียวกัน  คือ นักศึกษาลดลงอย่างฮวบฮาบจนน่าตกใจ

ปัญหาคืออะไร?

ปัญหาคือ การควบคุมคุณภาพการศึกษาไม่ได้ หรือที่เรียกกันว่า “การประกันคุณภาพการศึกษา” ซึ่งจะมีทั้งกระบวนการตรวจสอบกันภายใน และมีการตรวจสอบจากภายนอก เพื่อจะให้การรับรองซึ่งกันและกันโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ความมั่นใจว่า กระบวนการเรียนการสอนที่แห่งนั้น-หลักสูตรนั้นมีคุณภาพดีพอที่จะผลิตนักศึกษาออกมาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ(ตามความต้องการของสังคม-ตลาดแรงงาน เป็นต้น)

แต่กระบวนการประกันคุณภาพการศึกษาที่ว่านั้นก็อย่าไปเชื่อถืออะไรมาก บางทีก็เห็นทำกันหลอกๆ หรือทำแบบขอไปที ยิ่งมหาวิทยาลัย/วิทยาลัยเอกชนยิ่งทำให้เราเห็นถึงสภาพปัญหานั้น

ดังตัวอย่างที่เราได้เห็นถึงภาพข่าวนักศึกษาร้องห่มร้องไห้ เพราะไม่ได้รับการรับรองหลักสูตรของวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง

หากตามเข้าไปดูถึงข้างในก็จะยิ่งเจอกับ “โพรง”หรือ “ความกลวงโบ๋”ที่บาดลึกไปถึงตัวนักศึกษา(และคุณภาพบัณฑิต) เราได้เห็นทั้งสิ่งที่จับต้องได้ทางกายภาพ เช่น สภาพอาคารสถานศึกษา อาจารย์ ตัวนักศึกษา(....?) และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ คือ ตัวหลักสูตรการศึกษา ความรู้ และสติปัญญา

เพราะทุกวันนี้แทบทุกมหาวิทยาลัยต่างก็ลด “สเป็ค”ของมาตรฐานการเรียนการสอนลง ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีนักศึกษาเข้าเรียน หลักสูตรที่เพิ่งเปิดมาได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องปิดตัวลงอย่างฉับพลัน

เวลาที่กรรมการหลักสูตรเสนอเรื่องไปยังสภามหาวิทยาลัย-กระทรวงศึกษาธิการนั้น เขาจะมีข้อมูล มีตารางวิเคราะห์เปรียบเทียบผลได้-ผลเสีย จุดคุ้มทุนทั้งหมดทุกอย่าง จะสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลากี่ปี และจะรับใช้สังคมได้อย่างไร

ด้วย “วิธีการจะทำอย่างนั้นจะทำอย่างนี้”  จะใช้อาจารย์กี่คน จะรับนักศึกษาได้ปีละกี่คน จะมีอาจารย์ที่จบปริญญาเอก-ปริญญาโทมาสอนกี่คนกี่ชั่วโมง จะทำวิจัยปีละกี่เรื่อง และจะให้บริการสังคมอย่างไรบ้าง...ฯลฯ 

นี่คือความสวยหรูของหลักสูตรต่างๆ ในมหาวิทยาลัย แต่ความจริงกับความคาดหวังย่อมต่างกัน แม้จะบริหารการศึกษาโดย “ผู้มีความรู้”ก็ตาม ก็ยังมีความเสี่ยง และก็ไม่ค่อยได้เป็นไปตามความต้องการที่วาดฝันไว้ หรือได้ก็มีเพียงส่วนน้อย

ลองตั้งคำถามที่กันดูทีละประเด็นๆ  เช่น อาจารย์ซึ่งจบปริญญาโท-ปริญญาเอกได้มาอย่างไร รับรองกันมาอย่างไร? ข้อนี้คงไม่ต้องพูดถึงกันให้มาก...! น่าจะเห็นปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นกันแล้ว

นักศึกษาที่เรียนอยู่ได้ตามเกณฑ์ตามจำนวนหรือไม่?  ที่พบเห็นนั่งเรียนกันอยู่ หากไม่แออัด เพราะจับมาอีดกันเป็น “ปลากระป๋อง” ก็น้อยเสียจน “แทบจะกลัวผีหลอก” หรือบางหลักสูตรในระดับปริญญาโทต้องการนักศึกษาอย่างน้อย 20 คน แต่มีมาสมัครไม่ถึง 5 คน ถามว่า มหาวิทยาลัยจะยอมรับหรือไม่? หรือจะปิดหลักสูตรไปก่อนในปีนี้แล้วค่อยไปขอเปิดใหม่ในปีถัดไป ...ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ส่งผลให้กระบวนการเปิดรับสมัครก็ไม่ใช่ “วิธีการคัดกรอง”นักศึกษาอย่างที่คาดหวังไว้

เมื่อได้นักศึกษามานั่งเรียนในห้องเรียน กระบวนการเรียนการสอนหรือวิชาความรู้ก็เหมือนจับต้องอะไรไม่ได้  นักเรียน-นักเรียนชายแต่งตัวมาเรียน –มาเดินห้าง (สมัยก่อนว่า มาจีบกัน สมัยนี้ว่า “.........”)

การสอบปลายภาคหรือสอบเก็บคะแนนก็เหนื่อยหนักสำหรับครูอาจารย์ เพราะต้องมี “กรรม”ทั้งทำหน้าที่สอนแล้วยังต้องมีหน้าที่ “บอกข้อสอบ”ด้วย  เป็นเรื่องที่น่าอับอายมากสำหรับการศึกษาไทย

และมิพักต้องพูดถึงหลักสูตรที่มีการสอบใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพด้วยแล้ว เพราะครูต้องมาติวให้นักเรียนด้วย ไม่เช่นนั้นหากนักเรียนของตนสอบผ่านน้อยก็ต้องเสียชื่อเสียง แล้วก็กระทบถึงจำนวนนักศึกษาในอนาคตข้างหน้าอีก.. “วัฏจักรกรรม”

เรียกว่ากระบวนการเรียนการสอนของเรามีปัญหาตั้งแต่ “ต้นทาง ถึง ปลายทาง”

วิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์/ Self Study หากหลักสูตรไม่ลด“สเป็ค” นักศึกษาก็ลด“สเป็ค”ลงเอง จนถึงขั้น “ลอกมาส่ง”ด้วยไฟล์อิเลกทรอนิคส์ มีข้อแม้แต่เพียงว่า “ไม่ให้อาจารย์จับติด” ส่วนอาจารย์ก็ “สงสารนักศึกษา”ก็เลยปล่อยให้ผ่านๆ ออกไป เป็นต้น

เมื่อ “คุณภาพไม่ได้ทุกกระบวนการ”ของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาแล้วอะไรจะเกิดขึ้น?

ก็ไม่ต่างอะไรจากกระบวนการผลิตในสายพานอุตสาหกรรมที่ต่างก็เร่งผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาด โดยไม่สนใจวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และผลลัพธ์ สุดท้ายก็ได้ “บัณฑิตตรายาง”ที่ถูกปั้มออกมาอย่างไร้คุณภาพ

ในขณะที่มหาวิทยาลัย/หลักสูตรต่างๆ ก็เปิดแข่งขันกันยิ่งกว่า “โรงเพาะเห็ด”......

เมื่อหมดฤดูกาล “โรงเพาะเห็ด”ก็ผุพัง “แท่งเชื้อ”ก็หมดน้ำยา ประเทศชาติก็ป่นปี้.....!

นี่คือ บริบทของมหาวิทยาลัยในการรับใช้สังคมไทยหรือ?

rspsocial
Thaiall.com