ประชุมทบทวนและเสนอเรื่องใหม่

2 พ.ค.53 มีโอกาสทำรายงานการประชุมทบทวนแผนการจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) หลายท่านขอสงวนนามไว้ แต่มีรายละเอียดชวนให้เรียนรู้ เป็นแนวคิดของแต่ละคน ดังนี้
1) วาระ แจ้งเพื่อทราบ อ.อติบุ๋ม แจ้งให้ทราบว่าในปีการศึกษา 2551 มหาวิทยาลัยมีการจัดการความรู้ในระดับมหาวิทยาลัยเป็นปีแรก โดยเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยตามแผนการจัดการความรู้ของมหาวิทยลัย ดังนั้นในปีการศึกษา 2552 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรมีแผนการจัดการความรู้ที่ดำเนินการภายในคณะที่ชัดเจน จึงได้จัดให้มีการประชุมทบทวน และยกร่างแผนการจัดการความรู้ของคณะในครั้งนี้ขึ้น
2) วาระ ทบทวน อ.อติบุ๋ม ให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมว่าการจัดการความรู้ในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากร ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกนั้นดำเนินการด้วยความเรียบร้อย
3) อ.วิบุญ แสดงความเห็นสนับสนุนว่าผลการดำเนินงานตามแผนการจัดการความรู้นั้น ได้ให้ความรู้เรื่องการจัดการความรู้ที่มีประโยชน์ ทำให้เข้าใจว่าความรู้ฝังลึก และความรู้ชัดแจ้งนั้นคืออะไร จึงเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลสนับสนุนให้มีการจัดการความรู้ในสถาบันการศึกษา และเกิดการยอมรับทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการจัดการความรู้คือแผนที่ความคิด (Mind Map) ที่สามารถใช้แสดงความคิดที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุม และมีแผนจะนำมาใช้ในการประชุม เพื่อจับประเด็น และหาข้อสรุปที่ได้จากการประชุม
4) อ.ศศิแนน เสนอว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถดำเนินการจัดการความรู้ได้อย่างถูกต้อง เพราะ อ.อติบุ๋มเป็นกำลังสำคัญที่มีความเข้าใจในการจัดการความรู้ และทุกคนให้ความเคารพเชื่อถือ ซึ่งการจัดการความรู้จำเป็นต้องอาศัยความสามัคคี ความเห็นพร้อง ความเป็นผู้นำ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น การรับฟัง และแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน หากเป็นผู้ที่ไม่มีความเข้าใจมาขับเคลื่อนอาจทำให้การจัดการความรู้ของคณะไม่สำเร็จก็ได้ จึงเสนอให้อ.อติบุ๋ม เป็นผู้นำในการจัดการความรู้ของคณะ
5) อ.ทนงเมือง เสนอว่าการจัดการความรู้ของคณะในปีการศึกษา 2552 ควรแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ มิถุนายน 2552 – พฤศจิกายน 2552 เพื่อให้สอดรับกับการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ของ สมศ. ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2552 และช่วงที่สอง คือ มกราคม 2553 – พฤษภาคม 2553 เพื่อให้เข้ากับการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ของ สกอ. ซึ่งเป็นความพิเศษเฉพาะของคณะฯ ในปีนี้
6) อ.เกศลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจากการอบรมทำให้ทราบว่าขั้นตอนของการจัดการความรู้ตามแนว กพร. มีทั้งหมด 7 ขั้นตอน คือ 1) การบ่งชี้ความรู้ คือ การระบุประเด็นความรู้ รูปแบบ และผู้รู้ที่สอดรับกับนโยบาย ขอบเขตและเป้าหมายขององค์กร 2) การสร้างและแสวงหาความรู้ คือ การรวบรวมความรู้ใหม่ รักษาความรู้เดิม และกรองความรู้ที่ไม่ใช้ออกจากแหล่งรวบรวม 3) การจัดความรู้ให้เป็นระบบ คือ การวิเคราะห์และคัดแยกความรู้เป็นกลุ่มประเด็นให้ง่ายต่อการเข้าถึงอย่างมีขั้นตอน 4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ คือ การปรับปรุงให้ความรู้มีรูปแบบมาตรฐาน ไม่ซ้ำซ้อน มีความสมบูรณ์ มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ 5) การเข้าถึงความรู้ คือ การสร้างแหล่งเผยแพร่ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา 6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ คือ การนำความรู้เข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนที่มีฐานความรู้หรือฐานข้อมูลรองรับให้ง่ายต่อการเข้าถึงและสืบค้น 7) การเรียนรู้ คือ การใช้ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เป็นวงจรความรู้ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน และนำไปปฏิบัติได้
7) ที่ประชุมมีมติ ว่าการจัดการความรู้ในปีที่ผ่านมาเป็นการปูพื้นฐานให้บุคลากรที่เพียงพอแล้ว ในครั้งต่อไปให้คณะมีแผนการจัดการความรู้ของคณะที่ชัดเจน และถือเป็นงานประจำของคณะที่ต้องดำเนินการทุกปี และมอบให้อ.อติบุ๋ม เป็นผู้ขับเคลื่อนงานการจัดการความรู้ของคณะต่อไป
8) เสนอหัวเรื่อง อ.อติบุ๋ม แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า จากการหารือกับ อ.ศศิแนน ได้ข้อสรุปว่า คณะควรมีหัวเรื่องการจัดการความรู้ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นการจัดการความรู้สำหรับช่วงแรกในกรอบปีพ.ศ.2552 และจัดทำรายงานตามเกณฑ์ของ สมศ. จึงขอให้อาจารย์ร่วมเสนอหัวเรื่องแล้วพิจารณาร่วมกัน และอ.อติบุ๋ม จะนำหัวเรื่องที่ได้ไปจัดทำแผนการจัดการความรู้ เพื่อเสนอในที่ประชุมผู้บริหารคณะพิจารณาอนุมัติต่อไป
9) อ.บุพันธุ์ เสนอเรื่องหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะปัจจุบันผู้คนขาดความรู้ความเข้าใจในหลักสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมบริโภคนิยม และไม่ปฏิบัติตนอย่างสมเหตุสมผล มีความโลภ โกรธ หลงเป็นที่ตั้ง ชีวิตจึงวุ่นวายไม่สิ้นสุด
10) อ.วิบุญ เสนอเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน เพราะเป็นหัวข้อที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ทุกคน และสอดรับกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยด้านการเรียนการสอน
11) ที่ประชุมมีมติ เลือกเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน เป็นหัวข้อการจัดการความรู้ของคณะในช่วงที่หนึ่งส่วนช่วงที่สองให้ดำเนินการช่วงที่หนึ่งให้แล้วเสร็จก่อน

รายงานการประชุมวิเคราะห์ความรู้จากอาจารย์แต่ละคน

การวิเคราะห์ความรู้

11 เม.ย.53 มีโอกาสทำรายงานการประชุมตามแผนการจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) กิจกรรมวิเคราะห์ความรู้จากอาจารย์แต่ละคน เรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ หลายท่านขอสงวนนามไว้ แต่มีรายละเอียดชวนให้เรียนรู้ เป็นแนวคิดของแต่ละคน ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการเรียนการสอน ดังนี้
     1) อ.อติบุ๋ม  ให้รายละเอียดว่ามีประเด็นความรู้จากกิจกรรมแสวงหาความรู้หลายประเด็นพอสรุปได้ คือ 1) คะแนนพัฒนาการ 2) เทคนิคการสอน 11 ประเด็น 3) แฟ้มเค้าโครงรายวิชาและแบบสอบ ซึ่งวันนี้จะมีท่านใดให้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ยินดีรับฟัง ขอย้ำว่ากิจกรรมครั้งนี้คือการนำประเด็นที่ได้มาแยกให้เห็นรายละเอียดและประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอน
     2) อ.ศศิแนน ให้ความคิดเห็นว่าเหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาการเรียนการสอนคือ เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ต้องดำเนินการ และสัมพันธ์กับการประกันคุณภาพอย่างที่แยกกันไม่ได้ ซึ่งการได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเรียนการสอนจะสนับสนุนให้เกิดบทเรียนร่วมกันและนำเทคนิคที่ได้พูดคุยกันไปใช้พัฒนาการสอนในวิชาหรือกิจกรรมที่ตนรับผิดชอบ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรมการเรียนการสอน และส่งผลสุดท้ายต่อการได้บัณฑิตที่มีคุณภาพ จากกระบวนการที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยหวังใจว่าเราจะไปถึงจุดนั้น
     3) อ.วิบุญ ให้ความคิดเห็นว่าการให้ความสำคัญกับนักศึกษานั้นต้องมีกระบวนการรองรับที่เป็นรูปธรรม มีระบบ กลไก แผนงาน ซึ่งปกติการพัฒนาการเรียนการสอนต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาการให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษา ต้องมีคู่มือให้คำปรึกษา มีการรายงานผลการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล และจัดทำสรุปสิ้นภาคเรียนหรือสิ้นปีการศึกษาสำหรับภาพรวมของการให้คำปรึกษา แล้วประชุมสรุปงานอาจารย์ที่ปรึกษาสิ้นปีเพื่อทบทวนคู่มือ ระบบ กลไก และพัฒนาการให้คำปรึกษาให้ครอบคลุมทั้งวิชาการ วิชาชีวิต การนำปัญหามาแลกเปลี่ยน หาทางออก วิเคราะห์ความเสี่ยง และพัฒนาข้อมูลที่จะนำไปใช้จัดทำแผนปฏิบัติการ หรือแผนกลยุทธ์ ทั้งหมดนี้สอดรับกับระบบ PDCA ที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาการเรียนการสอน ดังคำที่ว่าถ้านักศึกษาไม่พร้อมจะเรียน แล้วอาจารย์จะจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร
     4) อ.ทนงเมือง ให้ความคิดเห็นว่าเทคนิคที่ใช้ในการเรียนการสอนนั้นมีหลายวิธี โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small – Group Discussion) เป็นวิธีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกวิชา เพราะทำให้นักศึกษาได้ฝึกการเป็นคนใจกว้างที่ให้ข้อมูลแก่เพื่อนร่วมทีมยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน หาวิธีแก้ปัญหาร่วมกันเชิงบูรณาการ ไม่ใช่การโยนหน้าที่ให้กันหรือเกี่ยงกันรับผิดชอบแต่เป็นการรับผิดชอบร่วมกัน การฝึกแบบนี้จะทำให้นักศึกษารู้จักประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อแก้ปัญหาที่จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ทำให้การยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองถูกเสมอเบาบางลงได้ เทคนิคนี้ทำให้ต้องมีระบบและกลไกเกิดกระบวนการแบ่งภาระหน้าที่ให้แก่คนในทีม เช่น ประธาน และเลขานุการของกลุ่ม ที่ต้องคอยประสาน คอยกำกับดูแล ส่วนสมาชิกก็ต้องเรียนรู้การเป็นผู้ตามที่ดี เพื่อให้เป้าหมายของกลุ่มสำเร็จลุล่วง
     5) อ.เกศลา เห็นด้วยกับแนวความคิดของอาจารย์ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น แต่ในเวลาที่จำกัดของการประชุม ขอเสนอให้ทุกวิชาเพิ่มเทคนิคการใช้ กรณีศึกษา (Case Studies) เพราะทำให้นักศึกษาได้เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง และทราบว่าหลายวิชาก็ใช้เทคนิคนี้ เช่น วิชากฎหมาย วิชาสถิติ วิชาการโปรแกรม ส่วนวิชาอีคอมเมอร์ซที่สอนอยู่ก็มีกรณีศึกษาให้นักศึกษาได้เรียนรู้มากมาย และใช้สอบนักศึกษา ส่วนวิชาโครงงานก็ต้องใช้กรณีศึกษาในภาคธุรกิจ ที่ปัจจุบันนักศึกษาต้องเข้าศึกษาการกระบวนการทำงานของธุรกิจที่ตนสนใจเฉพาะบุคคล ช่วยให้นักศึกษาได้เข้าใจการทำงานของภาคธุรกิจก่อนสำเร็จการศึกษา เมื่อไปสมัครงานก็จะทำให้ได้งานง่ายขึ้น เพราะมีประสบการณ์มาแล้วระดับหนึ่ง
     6) อ.บุพันธุ์ เสริมว่าหลายวิชาก็ยังใช้เทคนิคการเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem-solving) ด้วยการที่อาจารย์กำหนดปัญหาขึ้นมา แล้วให้นักศึกษาฝึกแก้ปัญหาในชั้นเรียน บางวิชาอาจเปิดให้นักศึกษาเป็นผู้ตั้งโจทย์แล้วเพื่อนในชั้นเรียนร่วมกันแก้ไข หากมีข้อสงสัยอาจารย์ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ปล่อยให้นักศึกษาออกไปนอกห้องเรียนแล้วไปพูดว่าอาจารย์ลอยแพ อมภูมิ ไม่รู้เรื่อง หรือไม่เต็มใจสอน การเปิดให้นักศึกษาตั้งโจทย์อาจเป็นเทคนิคที่ต้องมีการควบคุมใกล้ชิด ซึ่งเป็นเทคนิคส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลอย่างมาก การเรียนการสอนในปัจจุบันต้องไม่น่าเบื่อเหมือนในอดีตที่อาจารย์ทำหน้าที่บรรยายอยู่หน้าชั้นเพียงอย่างเดียว ถึงเวลาสอบก็ให้นักศึกษาไปเดาข้อสอบกันเองอย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้น
     7) อ.แตบุตร เพิ่มประเด็นว่าการสอนนักศึกษาต้องเปลี่ยนไปจากในอดีต อาจารย์จะสั่งงานและทำตัวเป็นผู้มีอำนาจเหนือนักศึกษาไม่ได้แล้ว เพราะคำสั่งหรือสั่งแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของนักศึกษา อาจทำให้นักศึกษาไม่พอใจ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิผลของการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ หากอาจารย์สอนด้วยความรักความเข้าใจ รู้จักใช้กัลยาณมิตรด้วยความบริสุทธิ์ใจ นักศึกษาก็จะมีความสนใจ และไม่เกิดแรงต้านที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่จากผู้ที่พวกเขาเรียกว่าอาจารย์ แต่ถ้าลูกศิษย์ตั้งฉายาอาจารย์ว่าพ่อมด หรือแม่มด ก็คงเป็นอุปสรรค์ในการเรียนรู้อย่างแน่นอน ซึ่งอาจารย์ต้องรู้สึกว่านั้นคือความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการแก้ไขทั้งตนเอง และลูกศิษย์ไปพร้อมกัน

รายงานการประชุมแสวงหาความรู้จากอาจารย์แต่ละคน

ทัศนะของรุ่นพี่ ที่ฉายภาพในคณะวิทย์

6 เม.ย.53 มีโอกาสทำรายงานการประชุมตามแผนการจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) ของอาจารย์กลุ่มหนึ่ง เรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ หลายท่านขอสงวนนามไว้ แต่มีรายละเอียดชวนให้เรียนรู้ เป็นแนวคิดของแต่ละคน ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการเรียนการสอน ดังนี้
     1) อ.อติบุ๋มให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ในฐานะที่เป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในด้านนี้ว่า ในการพัฒนาสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่มีบรรยากาศในการเรียนรู้ในระดับบุคคลและกลุ่มบุคคล จำเป็นต้องมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสามารถประมวลผลความรู้ในแต่ละด้าน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งการแสวงหา แลกเปลี่ยน และพัฒนาความรู้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการปฏิบัติงาน อันเป็นผลมาจากความรู้ใหม่ อันจะนำไปสู่การสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
      2) อ.ศศิแนนให้ความคิดเห็นว่าการพัฒนาการเรียนการสอนนั้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งบุคลากร นักศึกษา อาจารย์ สิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อม กระบวนการจัดการเรียนการสอน การดูแลเอาใจใส่ แหล่งค้นคว้า ทัศนคติ เป้าหมายที่ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน เสริมซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิผล โดยเฉพาะการให้คะแนนนั้นต้องเป็นไปในทางเดียวกันคือมีคะแนนพัฒนาการวิชาละ 5 คะแนน เพื่อวัดพัฒนาการหรือความก้าวหน้าในการเรียนรายบุคคล จากประสบการณ์ใช้วิธีบันทึกว่านักศึกษาแต่ละคนก่อนเรียนเป็นอย่างไร เมื่อให้งานแล้วผลการเรียน หรือผลสอบพัฒนาขึ้นมากน้อยเพียงไร ก็จะใช้เป็นเกณฑ์ในการให้คะแนนพัฒนาการ
     3) อ.วิบุญให้ความคิดเห็นว่าอาจารย์จำเป็นต้องเห็นนักศึกษาคือลูก ต้องทำตัวเป็นพ่อผู้ให้ความรักอย่างเอื้ออาทร และแสดงออกให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพราะทุกคนมีคุณค่า หากเริ่มต้นด้วยจิตใจที่ดีแล้ว ทุกอย่างก็จะดีงามเป็นเงาตามตัว ขอให้ทุกคนคิดดีด้วยจิตใจที่งามเห็นนักศึกษาเป็นลูกหลาน แล้วการให้คำปรึกษา การสอน หรือการปฏิบัติตนต่อนักศึกษาก็จะเป็นไปในแบบกัลยาณมิตร นักศึกษาก็จะเข้าเรียนอย่างมีความสุขกับพ่อพระที่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน ชี้แนะลูกทุกคน อย่างมีความสุขด้วยความเท่าเทียม การจัดการความรู้เป็นสิ่งที่ดีทำให้ทุกคนได้มาประชุมร่วมกันหากมีสิ่งดี ๆ ก็จะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้อีก ทำให้เกิดกำลังใจหนุ่นเสริมให้การทำงานเป็นไปอย่างมีความสุข และไม่รู้สึกว่าทำงานอีกต่อไป แต่รู้สึกว่าเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา
     4) อ.ทนงเมืองให้ความคิดเห็นว่าการพัฒนาการเรียนการสอนต้องมีเทคนิควิธีในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ซึ่งต้องบูรณาการเทคนิคเข้ากับวิชาที่ตนสอน โดยมีประเด็นนำเสนอทั้งหมด 5 ประเด็น คือ 1) การอภิปรายกลุ่มใหญ่ (Whole – Class Discussion) 2) การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small – Group Discussion) 3) การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) 4) สถานการณ์จำลอง (Simulation) 5) ละคร (Dramatization) นำเสนอประสบการณ์ว่าได้จัดกิจกรรมกลุ่มที่เปิดให้นักศึกษารวมกันเป็นกลุ่มเล็ก แบ่งหน้าที่กันทำงาน เรียนรู้ที่จะทำงานอย่างบูรณาการ รู้หน้าที่ของกันและกัน จำลองเหตุการณ์เพื่อแก้ปัญหา เช่นวิชาด้านความปลอดภัยที่เปิดให้ค้นคว้า แบ่งกันหาข้อมูล นำมาแลกเปลี่ยนและสรุปร่วมกัน และนำเสนออย่างรู้หน้าที่ร่วมกัน
     5) อ.เกศลาเห็นพร้องกับ อ.ทนงเมือง และเสนอประเด็นหรือเทคนิคที่สามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนอีก 6 ประเด็นคือ 1) กระบวนการสืบค้น (Inquiry Process) 2) การตั้งคำถาม (Questioning) 3) การศึกษาเป็นรายบุคคล (Individual Study) 4) การจัดการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยี (Technology – Related Instruction) 5) การฝึกปฏิบัติการ (Practice) 6) กรณีศึกษา (Case Studies) ตัวอย่างเช่นวิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้นที่ให้นักศึกษาทำโครงงานประจำวิชา ได้สืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ตั้งโจทย์ด้วยตนเองที่ต้องนำเสนอหน้าชั้นเรียนเป็นรายบุคคล ฝึกปฏิบัติสร้างภาพยนต์ด้วยโปรแกรม Flash หรือเรียนรู้จากกรณีศึกษา และวิเคราะห์ร่วมกัน ซึ่งถูกใช้ในหลายวิชา และสอดแทรกไปอยู่เสมอ การใช้เทคนิคเหล่านี้เป็นไปโดยธรรมชาติ การได้นำเสนอให้เกิดการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้รู้สึกดี และเสนอให้จัดขึ้นบ่อย ๆ เพราะถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในชั้นเรียนก็จะได้นำมาแลกเปลี่ยนร่วมกันได้
     6) อ.บุพันธุ์ เสริมว่ายังมีอีก 2 ประเด็นคือ การเรียนแบบค้นพบ   (Discovery Learning) และ  การเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem-solving) ตัวอย่างเช่นวิชาการโปรแกรมจาวาที่ให้นักศึกษาเรียนการใช้ฟังก์ชัน และสร้างฟังก์ชันขึ้นใช้เอง เพื่อใช้สำหรับแก้ปัญหาที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีรหัสต้นฉบับให้กับนักศึกษาและให้นักศึกษาค้นหาว่ารหัสต้นฉบับที่ให้นั้นมีคำสั่งใด รูปแบบ หรือผลลัพธ์ผิดพลาดอย่างไร ถ้าพบปัญหาแล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร
     7) นางสาวพัชวรรณ เสริมว่าแผนการสอน หรือเอกสารประกอบการสอนขออาจารย์ทุกท่านสามารถขอดูได้ที่เลขานุการเพื่อนำไปเรียนรู้ หรือเป็นบทเรียนในการพัฒนาการเรียนการสอนภายในคณะ ปัจจุบันคณะมีคลังแผนการสอนที่สั่งสมมาหลายปีหากมีการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมก็จะเกิดประโยชน์ได้

เกณฑ์สำหรับประเมินความพึงพอใจ

เกณฑ์การให้คะแนน และ เกณฑ์ประเมิน

18 ก.พ.53 มีกลุ่มเพื่อนจัดทำโครงการอบรม แล้วใช้แบบสอบถามประเมินความพึงพอใจโดยใช้ scale 5 ระดับ หรือที่เรียกว่าวัดเจตคติตามเทคนิคของของลิเคิร์ท (Likert technique) หรือ แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับของลิเคิร์ทสเกล สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ซึ่งมีเกณฑ์กำหนดไว้ 2 แบบคือ เกณฑ์การให้คะแนน และเกณฑ์การประเมิน (โดยนำระดับสูงสุดลบระดับต่ำสุดแล้วหารด้วยจำนวนช่วงที่ตั้งไว้) ซึ่งผลการใช้เกณฑ์ทั้งสองมีตัวอย่างการเขียน (อันที่จริงผมพบปัญหาในตัวอย่างนี้ แต่ไม่ได้แก้ไข .. ท่านมองเห็นหรือไม่ .. ผมเพียงแต่ถามนะครับ) ดังนี้ มีการจัดทำแบบสอบถามประเมินความพึงพอใจผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละครั้ง โดยใช้คำถามที่แบ่งระดับความพึงพอใจ ๕ ระดับ มีคำถามจำนวน ๘ คำถาม ดังนี้ ๑) ความเข้าใจก่อนเข้ารับการอบรม  ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง (X = ๓.๑๖ , S.D = ๑.๑๗)   ๒) ห้องอบรม ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (X = ๔.๐๔ , S.D = ๐.๖๕) ๓) วิทยากร ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X = ๔.๒๔ , S.D = ๐.๖๕)  ๔) หัวข้อการบรรยาย  ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X = ๔.๒๑ , S.D = ๐.๖๐)  ๕) ช่วงเวลาในการจัดกิจกรรม ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (X = ๓.๘๘ , S.D = ๐.๗๗)  ๖) สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์  ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X = ๔.๓๓, S.D =๐.๖๕)  ๗) ความเข้าใจหลังรับการอบรม ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X =๔.๓๑, S.D =๐.๖๙) ๘) ภาพรวมของโครงการ ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X = ๔.๓๓, S.D =๐.๖๑) โดยสรุปผลประเมินทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (X = ๔.๐๖ , S.D = ๐.๕๒)
+ http://sunee5.multiply.com/journal/item/2 รวมบทความวิจัย
+ http://en.wikipedia.org/wiki/Likert_scale
+ http://tulip.bu.ac.th/~wathna.s/reliability.htm วิเคราะห์ข้อสอบ

ความกว้างของอันตรภาคชั้น = คะแนนสูงสุด – ต่ำสุด หารด้วย จำนวนชั้น
Class Interval (ชัชวาลย์ เรืองประพันธ์, 2543,หน้า 30)
ชัชวาลย์ เรืองประพันธ์. (2543). สถิติพื้นฐานพร้อมตัวอย่างการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม Minitab SPSS และ SAS. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ชัชวาลย์ เรืองประพันธ์. (2539). สถิติพื้นฐาน . ขอนแก่น : โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
http://digi.library.tu.ac.th/thesis/sw/2680/13REFERENCES.pdf
http://pru3.pnru.ac.th/offi/graduate/upload-files/pictures/63/H_711_7586.pdf
http://prezi.com/p9x1rkhj_cej/presentation/

ลิเคิร์ทสเกล (Likert Scale) 5 ระดับ โดย เร็นสิส เอ. ลิเคิร์ท (Rensis A. Likert)
Likert, Rensis A. (1961). New Patterns of Management. New York: McGraw-Hill Book Company Inc.

สมการกำหนดกลุ่มตัวอย่าง
Yamane, Taro. (1967). Statistics: An Introductory Analysis.(2 ed.). New York: Harper and Row.

รายงานการทำงานต่อคณบดีฯ 3/2552

21 มิ.ย.52 1)งานบริการวิชาการที่ได้รับอนุมัติจาก อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ ให้ผมไปบริการวิชาการที่ กศน.แม่ทะ วันที่ 13-14 มิ.ย.52 ก็ได้ดำเนินการเป็นวิทยากรในหัวข้อ web template 2.0 เสร็จสิ้น แต่ได้ประสานเพิ่มเติมและรับเชิญเป็นวิทยากรอีกครั้งในหัวข้อ google apps เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มิ.ย.52 ซึ่งมีอาจารย์เกศริน อินเพลา ร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ 2)การเตรียมงานพิธีไหว้ครู ได้ประสานกับนักศึกษา และเลือกให้เดือนกับดาวของคณะทำหน้าที่ถือพาน 2 พาน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 250 บาท ทำให้ปีนี้คณะจะมีพานใช้งานของคณะ และนักศึกษาเห็นชอบร่วมกันทำพานไหว้ครู โดยรวมกลุ่มกันในเย็นวันพุธที่ 24 มิ.ย.52 ถ้าอาจารย์ท่านใดสะดวกไปให้กำลังใจนักศึกษาในการทำพานแสดงความของคุณท่านก็ขอเชิญที่ใต้หอพักชาย 3)งานพิธีถวายเทียนพรรษา ซึ่ง อาจารย์เกศริน อินเพลา ได้ร่วมประชุมในครั้งแรก เมื่อผมร่วมประชุมในครั้งที่ 2 ก็ได้ข้อสรุปว่ามหาวิทยาลัยขอเชิญชวนนักศึกษาคณะละ 10 คน ซึ่งนักศึกษาแจ้งชื่อมาแล้ว เป็นงานบุญที่ชวนกันไปแสดงพลังที่สวนเขลางค์ แล้วไปแห่เทียนเข้าวัดพระบาท เพื่อถวายเทียนสู่วัดพระบาท ในวันศุกร์ที่ 3 ก.ค.52 โดยคณะวิทย์ได้รับมอบหมายให้ดูแลแถวขบวนแห่ 4)บทวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนที่สรุปโดยอ.วันชาติ นภาศรี draft แรก เขียนเสร็จแล้ว แต่สรุปเฉพาะส่วนขององค์ประกอบ และไม่แยกส่วนของตัวบ่งชี้ออกมาให้เด่นชัด และขาดบทวิเคราะห์เปรียบเทียบระดับคณะ ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนัก (Awareness) ให้แก่คณะ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคณะกำลังเตรียมข้อมูล เมื่อวิเคราะห์แล้วจะนำเสนอเวทีแรกในเวทีวิจัยที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 25 มิ.ย.52 โดยนำเสนอต่อยอดจากการนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัยประกันคุณภาพของอาจารย์ศศิวิมลและทีมงานมหาวิทยาลัย 5)คณะแสดงบทบาทต่อชุมชนด้วยการนำเสนอความคิดเห็นด้านไอทีสู่สื่อท้องถิ่น ผมแจ้งให้ทราบว่า บทความไอทีในชีวิตประจำวัน ที่ 196 เขียนเรื่อง ความสำเร็จของระบบฐานความรู้ของโลก  ตีพิมพ์ 6 ก.ค. – 12 ก.ค.52