สภาพทางเศรษฐกิจ และอาชีพ #S04
สภาพทางเศรษฐกิจ และอาชีพ

เศรษฐกิจของประเทศไทยขึ้นอยู่กับอาชีพต่าง ๆ ดังนี้ คือ

1. เกษตรกรรม เป็นอาชีพที่สำคัญที่สุดของคนไทย เพราะประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีอาชีพเกษตรกรรม

1.1 การเพาะปลูก พืชที่สำคัญคือ

ข้าว เป็นพืชที่ปลูกมากที่สุดในประเทศไทย การทำนามีในทุกภาค การปลูกข้าว ส่วนใหญ่ทำในฤดูฝน ข้าวนอกจากจะใช้บริโภคในประเทศแล้ว ยังทำรายได้เป็นสินค้าออกที่สำคัญกว่าพืชชนิดอื่น

ข้าวโพด ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพด บริเวณภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้าวโพดใช้เลี้ยงสัตว์โดยนำมาเป็นวัตถุดิบ การอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ทั้งในประเทศ และส่งเป็นสินค้าออกไปต่างประเทศ

มันสำปะหลัง ปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเป็นพืชที่ให้ปริมาณแป้งสูงมาก ใช้เป็นอาหารของคน และสัตว์ส่วนมากจะส่งไปขายต่างประเทศ

อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออก เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตน้ำตาล

ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ และภาคตะวันออกที่ทำรายได้ให้ประเทศ

1.2 การเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเป็นอาหาร และในปัจจุบันได้ เริ่มมีการเลี้ยงสัตว์แบบการค้า ได้แก่

สัตว์ปีก เลี้ยงมากในภาคกลาง และภาคตะวันออก

โคนมโคเนื้อ เลี้ยงมากแถบจังหวัดสระบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ราชบุรี

สุกร เลี้ยงมากในจังหวัดนครปฐม ราชบุรี ฉะเชิงเทรา

2. การทำป่าไม้ ไม้สักเคยเป็นสินค้าออกที่สำคัญ แต่ปัจจุบันนี้อาชีพการทำป่าได้ได้ลดลงมาก เพราะป่าไม้เหลือน้อย นอกจากนี้รัฐบาลยังยกเลิกการทำสัมปทาน ทำให้มีการทำป่าไม้น้อยลง

3. การประมง อาชีพประมงมี 3 ประเภท คือ

3.1 การประมงน้ำจืด ทำกันตามแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ

3.2 การประมงน้ำเค็ม เป็นการจับสัตว์น้ำให้ท้องทะเล ทั้งทะเลด้านอ่าวไทย และทะเลอันดามัน

3.3 การประมงน้ำกร่อย เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามชายฝั่งทะเลที่มีน้ำกร่อย เช่น การเลี้ยงกุ้ง หอย และปลาบางชนิด เป็นต้น

4. การทำเหมืองแร่ ประเทศไทยมีแร่ที่ผลิตเป็นการค้าอยู่หลายชนิด ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบมีมูลค่าการผลิตสูงกว่าแร่ชนิดอื่น ๆ

5. การอุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยส่งออกไปขายแข่งขันในตลาดโลกขณะนี้ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง อัญมณี และเครื่องประดับ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง