thaiall logomy background

ภาวะหมดไฟในการทำงาน ของคนทำงาน โดย ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์

my town
กฤษฎา ตันเปาว์ | จริยธรรมสำหรับผู้บริหาร | วิจัยคืออะไร | ศูนย์สอบ | KM | SWOT | คำสำคัญ
เลือกบทความ

53. ภาวะหมดไฟในการทำงาน ของคนทำงาน

ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) ของคนทำงาน
ในการทำงานของคนเรา อาจมีทั้งสุข และ ทุกข์ปะปนกันไปตามช่วงเวลา และ อารมณ์ โดยมากถ้ามีเรื่องที่เป็นบวกต่อเรา ก็จะมีแนวโน้มแห่งความสุข และ รักงาน แต่ในทางตรงกันข้ามที่เป็นด้านลบ ก็จะนำมาซึ่งความไม่พอใจ เสียใจ หรือ เบื่อหน่ายได้ ถ้าเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ผ่านไปแล้ว อารมณ์ความรู้สึกก็จะกลับมาเป็นปกติ หากแต่เป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจ หรือ สิ่งลบนั้นกลับมาวนอยู่ตลอด อาจนำซึ่งอาการ "หมดใจ หรือ หมดไฟ" หรือ "หมดไฟในการทำงาน (Occupational Phenomenon or Burnout Syndrome)" ของคนทำงานได้
สาเหตุปัจจัยแห่งความพอใจ หรือ ไม่พอใจ ที่อาจทำให้หมดใจ ได้แก่
1. ตัวงาน (Tasks)
ที่หมายถึง รายละเอียดของงาน (Job Content) ลักษณะของงาน ปริมาณงาน ระยะเวลา และ ระดับความหนาแน่นในงาน ความซับซ้อนยากง่ายในการทำงาน รวมถึงความเหมาะสมต่อเวลาที่ให้กับงาน นอกจานี้ ยังอาจหมายถึง ความรู้สึก ความเหมาะสมกับคุณสมบัติตน ระดับความท้าทาย ความสนุกกับงาน และ จริตที่มีต่อเนื้อหาของงาน ว่าทำไปแล้วใช่แบบที่คาดหวัง หรือ ไม่
2. ค่าตอบแทน (Pay)
ที่หมายถึง ผลตอบแทนที่ได้รับจากการทำงานนั้น ทั้งที่เป็นตัวเงิน ได้แก่ เงินเดือน ค่าคอมมิชชั่น โบนัส และ สิทธิพิเศษที่ให้เป็นรูปของเงินต่าง ๆ และ ผลตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงินอื่น ๆ เช่น สวัสดิการ การฝึกอบรม กิจกรรม กีฬา การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งมีความเหมาะสมในระดับ หน้าที่ ตำแหน่ง เทียบเคียงมาตรฐานองค์กรในอุตสาหกรรม และ ขนาดเดียวกัน หรือ ไม่
3. ผู้ร่วมงาน (Colleague)
การทำงานที่จำเป็นจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนในองค์กร ได้แก่ หัวหน้างาน (Supervision) เพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน (Co-worker) ทั้งในสายงานเดียวกัน หรือ สายงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย และ ผู้ใต้บังคับบัญชา (Subordinates) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ ภาวะผู้นำ การสอนงาน และ เรียนงานระหว่างกัน การส่งเสริมสนับสนุนกัน ความเชื่อมสัมพันธ์กันในงาน พื้นฐานนิสัยใจคอระหว่างกัน รูปแบบ/ ระบบการทำงานระหว่างกัน ระบบการสื่อสารในองค์กร ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน รวมถึง ระดับความรุนแรงของการเมืองในองค์กร ว่าเป็นอย่างไร
4. สภาพแวดล้อม (Environment)
ที่รวมถึงสภาพแวดล้อมการทำงาน (Working Conditions) ที่หมายถึง บรรยากาศที่ส่งเสริมความอยากทำงาน เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก อาคารสถานที่ ความมืดสว่าง ความเย็นร้อน การถ่ายเทอากาศ ห้องทำงาน โต๊ะทำงาน พื้นที่ใช้สอยในการทำงาน รวมถึง สิ่งสนับสนุนให้มีความสุข ได้แก่ พื้นที่ส่วนรวม สิ่งสนับสนุนสันทนาการ และ กีฬา โรงอาหาร ร้านค้า พื้นที่พักผ่อน เนื้อที่จอดรถ เป็นต้น
นอกจากนี้อาจรวมถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำเลที่ตั้ง ความสะดวกสบายในการคมนาคมเข้าออก การเชื่อมต่อสู่ภายนอกต่างๆ เป็นต้น ว่ามีความพึงพอใจ หรือ ไม่
5. โอกาสก้าวหน้า (Advancement Opportunity)
หมายถึง โอกาสในการเติบโตก้าวหน้า พัฒนาขึ้น ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่ง หน้าที่ โอกาส ที่ได้รับ ซึ่งอาจรวมถึงบรรยากาศที่องค์กรสร้างในการแข่งขันพัฒนาตนของบุคลากรด้วย และ สะท้อนถึงสิ่งที่ได้รับทั้งที่เป็นตัวเงิน และ ส่วนที่ไม่เป็นตัวเงินประกอบแห่งโอกาสเหล่านั้นด้วย ว่ามีความเหมาะสม และ เป็นที่พอใจของศักยภาพ หรือ ไม่
6. สถานการณ์ขององค์กร (Organization Situation)
หมายถึง สถานะขององค์กรว่ามีทิศทางอย่างไร ได้แก่ สถานะการแข่งขัน องค์กรมีการเติบโต หรือ ถดถอย การเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันธุรกิจ ผลประกอบการ และ สถานะทางการเงิน เป็นต้น ว่าอยู่ในความรู้สึกที่ดี หรือ ไม่ดี สร้างขวัญกำลังใจ หรือ บั่นทอนความมั่นใจ ความมั่นคง ในการทำงานอย่างไร
โดยผลรวมแล้ว 6 ข้อดังกล่าว จะเป็นตัวตอบของแต่ละคน ที่อาจให้ค่าน้ำหนักในแต่ละข้อไม่เท่ากัน หรือ บางคนอาจให้ค่าน้ำหนักแค่บางข้อก็ได้ อีกทั้งอาจมีความคิดเห็นต่างกันที่บางคนอาจรู้สึกเป็นบวกทั้งหมดในขณะที่บางคนมองลบทุกด้านก็ได้ ขึ้นกับปัจเจกบุคคล
แน่นอนว่าโดยรวมถ้าเป็นค่ากลางๆบวกขึ้นไป ก็จะมีความพอใจในงาน (Job Satisfaction) แต่หากต่ำกว่าค่ากลางลงมา ก็จะส่งผลให้คนรู้สึกไม่พอใจในงาน (Job Dissatisfaction) ได้นั่นเอง และ เป็นสาเหตุในการ "หมดไฟในการทำงาน (Burn Out)" และ ส่งผลต่อคนนั้น ๆ ดังนี้
1) ผลต่อการทำงาน : การทำงานที่ลดประสิทธิภาพ ลดปริมาณต่อผลผลิต เหนื่อยหน่าย สื่อสารลดลง เหม่อลอย ทำแต่ส่วนตน และ ลดการทำงานเป็นทีม เริ่มจะมีอัตราการขาดงาน และ มีโอกาสในการลาออกจากงานในที่สุด
2) ผลต่อร่างกาย และ จิตใจ : มีอารมณ์ไม่สดชื่น ขาดความกระตือรือร้น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยได้ง่าย จิตใจที่อยู่กับงานที่ได้รับลดลง หมดหวัง อาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ และ ปลีกตัวจากสังคม
แนวทางการแก้ไข
* พยายามพักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ ปล่อยใจจากสิ่งที่ไม่สบายใจมากกว่าคิดวนเวียนเรื่องงานที่ไม่สบายใจตลอดเวลา
* จัดเวลาแห่งการพักผ่อน สันทนาการ เล่นกีฬา ดูหนังฟังเพลง เพื่อลดความตึงเครียด
* ปรับทัศนคติ/ หาข้อมูลกับเรื่องต่างๆ การเปิดใจ และ มองเรื่องต่างๆนั้นหลายๆมิติ หลายแง่มุม หรือ เอาตนออกจากปัญหาเสมือนคนอื่นมองเข้ามาแทน
* พัฒนาทักษะการทำงาน เนื้องาน รายละเอียดงาน ที่ยังเป็นจุดที่ทำให้ติด และ กังวล ที่อาจหาผู้รู้ ที่ปรึกษาในการช่วยด้วย
* เปิดใจคุย หรือ ปรึกษาเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่กับ หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง เพื่อคิดแบบทีม ช่วยกันแก้ปัญหา
* นั่งสมาธิ หรือ ทำสมาธิ ให้มีสติ มองประเด็นต่างๆแบบจับแล้วปล่อย อยู่กับปัจจุบันขณะ
* หาอาชีพเสริม เพิ่มทางเลือกในอาชีพ และ รายได้ เพื่อไม่เอาชีวิตแขวนอยู่กับทางเลือกเดียว
* หางานใหม่ หรือ เริ่มทำกิจการเอง เมื่อมีโอกาส
ท่านล่ะ วันนี้มีความสุขในงาน หรือ ไม่ หรือ มีอาการ Burnout กี่เปอร์เซ็นต์ และ ท่านจัดการกับตนเองอย่างไร
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
24 เมษายน 2565

รวมบทความของ ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์ จาก facebook.com
Kritsada Tunpow : ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเนชั่น และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ริช เรสเตอรองต์ จำกัด บริษัทจัดตั้งขึ้น เพื่อบริหารจัดการธุรกิจ โชคดีติ่มซำ และ โคขุนโพนยางคำ เป็นนักวิชาการอิสระ ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการการตลาดมาอย่างมากมาย ได้จัดทำ คลิปวิดีโอ หลักสูตรการบริหารจัดการ เผยแพร่ผ่านช่อง Stepplus training และเขียนบทความแบ่งปันในเฟสบุ๊ค Kritsada Pop Tunpow อย่างต่อเนื่อง#
คลิกเปิดแบบ : พรีวิว หรือ ฉบับเต็ม
Dir : tec File : handbook_tec_63.txt Topic : kritsada_fb

Reset | Decode
คุณคิดอะไรอยู่
Thaiall.com