thaiall logomy background

ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) กับ การจัดการภายในองค์กร โดย ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์

my town
กฤษฎา ตันเปาว์ | จริยธรรมสำหรับผู้บริหาร | วิจัยคืออะไร | ศูนย์สอบ | KM | SWOT | คำสำคัญ
เลือกบทความ

35. ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) กับ การจัดการภายในองค์กร

ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่พัฒนาแนวคิดโดย Michael Porter ได้มองภาพของ "การเชื่อม" ต่อเนื่องของ "งาน" หรือ "กิจกรรม" ที่มีการเชื่อมต่อกันไป จึงใช้คำว่า "โซ่ (Chain)" เพื่อมาอธิบายการทำงานภายในองค์กร เชื่อมกับภายนอก คือจาก "ฝั่งต้นน้ำ" หรือ ผู้ขายปัจจัยการผลิต กับ "ฝั่งปลายน้ำ" หรือ ผู้ซื้อ/ ผู้บริโภค นั่นเอง
ห่วงโซ่คุณค่าประกอบด้วย 2 กลุ่มงาน (กิจกรรม) ได้แก่
1) ส่วนงาน (กิจกรรม) หลัก ประกอบด้วย 5 ส่วน ที่เป็นส่วนเชื่อมต่อกันตามแผนภาพครึ่งด้านล่างจากซ้ายไปขวา
1.1 โลจิสติกส์ขาเข้า (Inbound Logistics)
คือ ส่วนงานที่เชื่อมจากภายนอกฝั่งต้นน้ำโดยตรงกับภายนอก ได้แก่ ผู้ขายปัจจัยการผลิต/ วัตถุดิบ ซึ่งรวมถึงงานซื้อ ขนเข้า เก็บรักษาด้วย
1.2 การบริหารผลิต (Operations)
คือ ส่วนงานที่รับไม้ต่อในการนำวัตถุดิบ มาวางแผน ผ่านกระบวนการผลิต ควบคุมมาตรฐานให้เป็นสินค้าสำเร็จพร้อมขายในปริมาณ คุณภาพ และ เวลาที่เหมาะสม รวมถึงการจัดระเบียบสินค้าให้เหมาะสมในคลังสินค้า
1.3 โลจิสติกส์ขาออก (Outbound Logistics)
คือ การบริหารสินค้าคงคลังให้มีสภาพที่ดีรวมถึงการกระจายการเก็บรักษาไปห้องเก็บ/คลังสินค้าพื้นที่อื่นต่าง ๆ เพื่อเชื่อมกับงานถัดไปให้เหมาะสมเพื่อการตลาด และ การขายสำหรับลูกค้าเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพ ที่อาจรวมถึงความพยายามให้มีสินค้าน้อยที่สุดตามแนวคิดคลังสินค้าเป็นศูนย์ (Zero Stock) และ การบริหารคลัง และ ขนส่งให้ตรงเวลา (Just in time) ด้วย
1.4 การตลาด และ การขาย (Marketing and Sales)
คือ การวางแผนกลยุทธ์การตลาดในการนำเสนอ และ กระตุ้นให้เกิดการขายได้ตามเป้าหมาย/ ผลกำไร ตามที่องค์กรต้องการได้
1.5 บริการหลังการขาย (Services)
คือ การบริการที่เกี่ยวเนื่องจากการขายกับลูกค้า ที่อาจรวมถึง การให้เครดิตการค้า บริการ ขนส่ง การติดตั้ง ตอบข้อซักถาม ฝึกอบรม รับประกัน รับแลกคืน ซ่อมบำรุง ที่เกิดจากการขายสินค้านั้น ๆ ตามข้อตกลง
ปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Key Success Factor) ของห่วงโซ่คุณค่าของส่วนงานกิจการหลัก ที่เปรียบเสมือน "กองหน้า (Front Office)" ที่เจอกับภายนอกองค์กร ทั้ง เข้า- ออก คือ การเชื่อมงานจากกิจกรรมหนึ่งสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง แบบไร้รอยต่อ ลื่นไหล เข้าใจกัน ทันต่อเหตุการณ์ และ สร้างผลบวกต่อยอดขาย และ ส่วนต่างกำไรจากการขาย (Margin) เพื่อการเติบโตขององค์กรเป็นสำคัญ
(จะเห็นว่าห่วงโซ่คุณค่าในส่วนงาน (กิจกรรม) หลัก นี้มีส่วนสัมพันธ์กับ "ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)" ที่มักจะเน้นกล่าวถึงเฉพาะ "การสนองตอบความต้องการสินค้า" ที่รวมถึง การวางแผน การจัดหาวัตถุดิบ การบริหารการผลิต การบริหารคลังสินค้า และ ระบบขนส่ง เข้า- ออก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าในภาพรวมแล้ว ห่วงโซ่อุปทานเป็นเสมือน "ส่วนย่อย (Subset)" ของห่วงโซ่คุณค่านั่นเอง)
2) ส่วนงาน (กิจกรรม) สนับสนุน ประกอบด้วย 4 ส่วน ที่อาจไม่ได้เชื่อมต่อกัน (ไม่เป็นห่วงโซ่) มีความเป็นเอกเทศ โดยที่เน้นสนับสนุนทุก ๆ ส่วนทั้งหมด ดังนั้น Michael Porter จึงเป็นการจัดวางไว้ด้านบนของทุกส่วนงานหลัก
2.1 โครงสร้างพื้นฐานขององค์กร (Firm Infrastructure)
คือ การจัดโครงสร้างองค์กร การจัดรูปแบบงาน การกำหนดกระบวนการ กำหนดหน้าที่งาน การออกแบบการวางแผน ควบคุม ประมินผล ที่ส่งผลรวมกับทุกงาน และ ทุกคนในองค์กร
2.2 การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management)
คือ การจัดการเกี่ยวกับ "คน" ทั้งหมดในองค์กร ตั้งแต่ การวางแผนกำลังคน สรรหา ประเมิน คัดเลือก การบริหารอัตรากำลัง ผลตอบแทน การฝึกอบรม พัฒนา สวัสดิการ สร้างขวัญกำลังใจ จนถึงการออกของบุคลากร ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนทุกส่วนงานให้มีคนที่มีคุณสมบัติ คุณภาพ เพื่อพัฒนาองค์กร
2.3 การพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Development)
คือ การสนับสนุนเทคโนโลยีกับทุกส่วนงาน ทั้งการขนส่ง ผลิต คลังสินค้า การตลาด/ ขาย และ ส่วนงานสนับสนุนต่าง ๆ เองให้มีความเหมาะสม ที่อาจรวมถึง ระบบคอมพิวเตอร์ สารสนเทศต่าง ๆ เครื่องจักรทันสมัย และ รูปแบบเทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อความก้าวหน้า และ ลดความผิดพลาดจากคน
2.4 กระบวนการในการจัดหาวัตถุดิบ และ วัสดุ (Procurement)
คือ การจัดหา เปรียบเทียบ จัดซื้อครบวงจร ทั้งวัตถุดิบ สินค้า วัสดุอุปกรณ์ และ สิ่งของต่าง ๆ ที่ส่วนงาน (กิจกรรม) ทั้งองค์กรต้องใช้ ที่จะต้องพิจารณาคุณภาพตามต้องการในเวลา และ ราคาที่เหมาะสมที่สุด
ปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Key Success Factor) ของห่วงโซ่คุณค่าของส่วนงานกิจการสนับสนุนที่เปรียบเสมือน "กองหลัง (Back Office)" ที่ปิดทองหลังพระ ทำหน้าที่ประกอบส่วนงานหลัก และ ส่วนงานสนับสนุนด้วยกันเองทั้งหมด ให้มี โครงสร้าง คน เทคโนโลยี วัตถุดิบ ที่พร้อมในการมีพื้นฐานงานที่มีคุณภาพที่ดีทั้งองค์กร และ สามารถช่วยปิดจุดอ่อนเพื่อส่งผลดีในการสนับสนุนต่อการรักษาช่องว่างในการมีส่วนต่างกำไรจากการขาย (Margin) ได้ด้วยในบางส่วน
ดังนั้น ในภาพรวมขององค์กรที่เห็นความสำคัญตามแนวคิดห่วงโซ่คุณค่า จำเป็นจะต้องมีการจัดการ (Management) ที่แยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
- ส่วนงาน (กิจกรรม) หลัก จะต้องมี การประชุม วางแผน จัดการ และ ประเมินผล ทั้งกับส่วนงานตน และ เชื่อมกับภาพรวมส่วนงานอื่น ๆ ทั้ง 5 ส่วนงาน เป็นห่วงโซ่ที่มีแบบการจัดการเชื่อมกันหมดจึงจะสมบูรณ์
- ส่วนงาน (กิจกรรม) สนับสนุน จะต้องมีการประชุม วางแผน จัดการ และ ประเมินผล ที่อาจไม่ต้องเชื่อมเป็นห่วงโซ่กับส่วนงานอื่น แต่จะต้องอยู่ภายใต้การมองภาพรวมร่วมกันกับทั้งองค์กรทุกส่วนงานที่เป็นสำคัญ
วันนี้ องค์กรที่ท่านทำงานอยู่ มีแนวคิดห่วงโซ่คุณค่ากับการจัดการภายใน หรือ ไม่ หรือ มี และ ได้ผลเป็นอย่างไรในการจัดการองค์กรในปัจจุบัน
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
31 สิงหาคม 2564

รวมบทความของ ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์ จาก facebook.com
Kritsada Tunpow : ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเนชั่น และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ริช เรสเตอรองต์ จำกัด บริษัทจัดตั้งขึ้น เพื่อบริหารจัดการธุรกิจ โชคดีติ่มซำ และ โคขุนโพนยางคำ เป็นนักวิชาการอิสระ ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการการตลาดมาอย่างมากมาย ได้จัดทำ คลิปวิดีโอ หลักสูตรการบริหารจัดการ เผยแพร่ผ่านช่อง Stepplus training และเขียนบทความแบ่งปันในเฟสบุ๊ค Kritsada Pop Tunpow อย่างต่อเนื่อง#
คลิกเปิดแบบ : พรีวิว หรือ ฉบับเต็ม
Dir : tec File : handbook_tec_63.txt Topic : kritsada_fb

Reset | Decode
คุณคิดอะไรอยู่
Thaiall.com