thaiall logomy background

Win win มีจริง หรือ ? โดย ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์

my town
กฤษฎา ตันเปาว์ | จริยธรรมสำหรับผู้บริหาร | วิจัยคืออะไร | ศูนย์สอบ | KM | SWOT | คำสำคัญ
เลือกบทความ

22. Win win มีจริง หรือ ?

ในชีวิตคนเรามีเรื่องต่าง ๆ มากมายในแต่ละวันของชีวิต ทั้งความคิด การพูด การกระทำ ของตนเอง หรือ เรื่องต่าง ๆ ที่ต้องตัดสินใจ เช่น อาชีพ เรื่องความชอบส่วนตัว ชีวิต กิจกรรม ความสนใจในสิ่งต่าง ๆ งานอดิเรก เป็นต้น และ หลาย ๆ เรื่อง ก็จะมีคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัวในเรื่องชีวิตครอบครัว และ มี หัวหน้า ลูกน้อง ในเรื่องงานในองค์กร และ คนอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์จากภายนอกองค์กร และ โดยธรรมชาติ คนเรามีแนวโน้มที่จะมีความคิดเห็น การตัดสินใจเป็นของตนเอง ในทางกลับกันคนอื่น ๆ หรือ ฝ่ายอื่น อาจเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยก็ได้ เพราะทุกคนเป็น "ปัจเจก (Individual)" ของตน
แน่นอนว่า ไม่ว่าเรื่องใดที่ต้องตัดสินความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกันนั้น ต่างก็ต้องการชนะ (win) เป็นตามต้องการ ถ้าไม่เบ็ดเสร็จก็ต้องการมากสุด เช่น ถ้าสมมติเป็นสัดส่วน 90:10 ที่เราต้องยอมน้อยสุด เป็นต้น
แต่ในเชิงทฤษฎี มักพูดถึง "สถานการณ์ ชนะ - ชนะ (Win - win Situation)" ที่ปกติการพูดถึง Win Win มักจะนึกถึง การเจรจาธุรกิจ (Business Negotiation) หรือ การต่อรอง (Bargaining) ของคน หรือ กลุ่มคน ในเชิงของงาน ธุรกิจ หรือ ระหว่างองค์กร ที่ระหว่างฝ่ายจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการมี "เนื้อหาหลัก (Content)" คือ เหตุผล หรือ น้ำหนักหลักในเรื่องนั้น ๆ และ "เนื้อหาแวดล้อม (Context)" ที่หมายถึง เหตุผลรอง หรือ สิ่งแวดล้อมประกอบที่ทำให้สมบูรณ์ เพิ่มค่าน้ำหนักโดยรอบ
หากมองภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือ เรื่องงาน โดยมากมักจะมี "เนื้อหาหลัก" หรือ แนวทางของตน/ ฝั่งตน มาก่อนแล้ว ดังนั้นผลมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีทางออกหลายแบบได้แก่
1) เราชนะ (Win - lose)
เป็นแบบชนเพื่อฝั่งตนชนะ (Compete) โดยที่อีกฝั่งต้องยอม หรือ จำนนตาม
2) แบบแพ้ (Lose - win)
เป็นแบบที่เราต้องยอมแพ้ (Accommodate) ผลไปทางอีกฝั่ง อยู่ในสถานะเป็นรองที่ต้องยอมรับในเรื่องนั้น ๆ
3) แบบคนละครึ่ง (Win+lose & Lose+win)
เป็นได้ฝั่งละเท่า ๆ กัน เสียเท่า ๆ กัน ยอมประนีประนอม (Compromise) เพื่อให้ข้อตกลงนั้นได้เกิดขึ้น
4) แบบแพ้ทั้งคู่ (Lose -lose)
เป็นลักษณะที่ไม่มีจุดใดที่ใครชนะ และ อีกฝ่ายจะยอมได้เลย ต่างฝ่ายต่างตกลงไม่ได้ ต้องแยกย้าย (Avoid) ไม่ได้ผลอะไรจากการเจรจานั้น
เชิงทฤษฎีแล้ว ผลที่ดีเลิศอีกทางหนึ่ง รูปแบบที่ 5 จะเป็นลักษณะ "การทำงานร่วมกัน (Collaboration)" ที่จะก่อให้เกิด Win- win Situation ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว หากมีเนื้อหาหลักมาก่อน อาจเป็นเรื่องยาก ที่จะทำให้แทบทุกมุมมองไปทางเดียวกัน (เพราะเป็นเรื่องยากที่ต่างฝ่ายต่างมีแนวคิด ตัวตั้ง แนวทางที่พึงพอใจ และ เหมือนกันพอดี)
แต่หากถ้าเป็นเรื่องใหม่ หรือ ไม่มีผลต่อกันมาก่อน เช่นทำอะไรใหม่ด้วยกัน โครงการใหม่ร่วมกัน งานเริ่มประสานกัน ร่วมสร้างสิ่งใหม่ ๆ ด้วยกัน Win win กับเรื่องที่ทำร่วมกัน เป็นไปได้กลายเป็น "ความร่วมมือ (Coorperation)" ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างเรื่องนั้น กลายเป็น "การทำงานร่วมกัน" ดังกล่าว ได้แก่
- จัดการวางแผน (Planning) มีวิสัยทัศน์งานร่วมกัน กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง วัตถุประสงค์ร่วมกัน
- มีกระบวนการทำงาน (Operating) เป็นการควบคุมดูแล การปฏิบัติ กระบวนการงานแต่ละส่วน ลงรายละเอียดงานด้านต่าง ๆ
- มีรูปแบบการสั่งการ (Leading) มีการกำหนดผู้รับผิดชอบ อำนาจ หน้าที่ ตำแหน่ง การสั่งงาน ลำดับขั้นทีมงาน/ กลุ่มงาน
- แนวทางการควบคุม (Control) ได้แก่ การตรวจตรา ประสานงานให้เหมาะสม การแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมถึงการสรุปผล และ ผลลัพธ์ที่จะเป็นพื้นฐานในการทำงานในวงรอบต่อไป
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาตนในเรื่อง ทักษะ คำพูด การศึกษาคู่เจรจา จังหวะเหมาะ และ แนวทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การวางตัว การแสดงความคิดเห็น การนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ การสรุปผลให้ตรงประเด็น และ ได้ประสิทธิผลที่พึงประสงค์ ก็จำต้องมี เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า เป็นเรื่องสำคัญ
เรื่อง Win- win นี้ อาจหมายถึง เรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วย เช่น ข้อตกลง/พันธสัญญาของคนเราที่มีต่อคนอื่น กับครอบครัว กับเพื่อน และ สังคม ในเรื่องต่าง ๆ ตลอดชีวิต หรือ แม้แต่เรื่อง ความรักระหว่างกัน หรือ สิ่งใดที่เป็น "ผลประโยชน์ร่วม (Mutual Benefit)" ของ 2 คน ที่ต่างก็ต้องเรียนรู้ และ ค่อย ๆ คิดอ่าน ก่อร่าง สานสัมพันธ์ระหว่างกันเช่นกัน
วันนี้ ท่านมีสถานการณ์ในชีวิตแบบ win-win มากน้อยแค่ไหน ท่านได้เริ่มสิ่งใดใหม่ หรือ ไม่ มีเรื่องเจรจาต่อรอง ในชีวิตประจำวันมีผลเป็นเช่นใดกับคนอื่นใน 5 แบบข้างต้น และ ที่สำคัญ ส่วนใหญ่ท่าน Win หรือ Lose
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
10 มกราคม 2564

รวมบทความของ ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์ จาก facebook.com
Kritsada Tunpow : ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเนชั่น และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ริช เรสเตอรองต์ จำกัด บริษัทจัดตั้งขึ้น เพื่อบริหารจัดการธุรกิจ โชคดีติ่มซำ และ โคขุนโพนยางคำ เป็นนักวิชาการอิสระ ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการการตลาดมาอย่างมากมาย ได้จัดทำ คลิปวิดีโอ หลักสูตรการบริหารจัดการ เผยแพร่ผ่านช่อง Stepplus training และเขียนบทความแบ่งปันในเฟสบุ๊ค Kritsada Pop Tunpow อย่างต่อเนื่อง#
คลิกเปิดแบบ : พรีวิว หรือ ฉบับเต็ม
Dir : tec File : handbook_tec_63.txt Topic : kritsada_fb

Reset | Decode
คุณคิดอะไรอยู่
Thaiall.com