thaiall logomy background

คุณสวมหมวกอะไรอยู่ กับ ทฤษฎีหมวก 6 ใบ (Six Thinking Hats) โดย ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์

my town
กฤษฎา ตันเปาว์ | จริยธรรมสำหรับผู้บริหาร | วิจัยคืออะไร | ศูนย์สอบ | KM | SWOT | คำสำคัญ
เลือกบทความ

21. คุณสวมหมวกอะไรอยู่ กับ ทฤษฎีหมวก 6 ใบ (Six Thinking Hats)

เรามักจะได้ยินว่า "สวมหมวก" ที่แทนถึง ตำแหน่ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ ในฐานะที่เราทำตรงนั้น
ทฤษฎีของศาสราจารย์ชาวอิตาลี Edward de Bono เป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดเรื่อง Lateral Thinking (การคิดนอกกรอบ) และ เป็นคนพัฒนาเทคนิคการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และ ได้พัฒนาเป็นแนวคิดที่เรียกว่า "Six Thinking Hats" ซึ่งเป็นวิธีคิดที่มีมุมมองแบบ "รอบด้าน" ซึ่งจุดมุ่งหมายแต่เดิม ไว้ให้ผู้ใหญ่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือ ครูเพื่อสอนบุตรหลาน หรือ ลูกศิษย์ที่เป็นเด็ก ๆ ให้เรียนรู้ มองสิ่งต่าง ๆ "หลายมิติ" แต่ต่อมาในองค์กรต่าง ๆ ก็นำมาเป็นแนวทางพัฒนา "กิจกรรมกลุ่ม (Group Activity)" หรือ ให้พัฒนางาน โดยประเด็นสำคัญคือ ให้เปรียบเสมือน "การใส่หมวก" เพื่อสะท้อนให้นึกถึง "สิ่งที่ควรคิด" เมื่อเราต้องสวมหมวกนั้น
โดยภาพรวมให้มองเมื่อสวมหมวกใบนั้น นิยมให้เรียง ขาว แดง ดำ เหลือง เขียว น้ำเงิน และ คิดทีละมิติที่เราใส่หมวกนั้น ๆ
หมวกขาว (White = Fact) คือ ตัวแทนของ "ข้อเท็จจริง" ในประเด็นโจทย์ที่คิด ให้คิดถึง ข้อมูล ตัวเลข ทุกรายละเอียด เก็บให้ครบ โดยไม่มีอคติ หรือ ให้ค่าน้ำหนักใดเป็นพิเศษ ดังนั้นการสวมหมวกนี้ให้หาข้อมูลให้ครบเป็นสำคัญ
หมวกแดง (Red = Feelings) คือ ตัวแทนของ "อารมณ์ ความรู้สึก" กับประเด็นที่คิดนั้น ว่าส่งผลกับอารมณ์อย่างไร ทั้งอารมณ์พรุ่งพร่านบวก และ ลบ ชอบไม่ชอบ ดีไม่ดี เห็นด้วย หรือ ไม่ แม้กระทั่งลางร้าย หรือ สัญชาตญาณ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาที่ขบคิดนั้นจะมีอารมณ์แรง หรือ เบาแค่ไหน
หมวกดำ (Black = Negative) คือ ตัวแทนของ "ความคิดเชิงลบ" ที่เกิดขึ้นจากประเด็นนั้น ก่อให้เกิด จุดด้อย ข้อเสีย อุปสรรค ปัญหา การรุกรานลุกลาม ความสูญเสีย การขยายวง ขนาดใดจากประเด็นโจทย์ที่ขบคิดนั้น
หมวกเหลือง (Yellow = Benefits) คือ ตัวแทนของ "ความคิดเชิงบวก" ที่มีได้ คือ จุดเด่น โอกาส ความเป็นไปได้ การมองโลกในแง่ดี ความสุข ความหวัง ความสำเร็จ สิ่งที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้จากประเด็นเรื่องนั้น
หมวกเขียว (Green = Creativity) คือ ตัวแทนของ "ความคิดสร้างสรรค์" เจริญงอกงาม การคิดนอกกรอบ "การมองสิ่งใหม่ (Out of the Box)" ที่เป็นไปได้จนหลุดโลกที่คิดได้จากโจทย์ที่มี
หมวกน้ำเงิน (Blue = Process) คือ ตัวแทนของ "ความคิดรวบยอด" เมื่อสวมหมวกนี้ ต้องคิด ภาพรวม แผนงาน ขั้นตอน ระบบ ระเบียบ แนวทางการดำเนินงาน ทิศทางอภิปราย และ การสรุปผล (ซึ่งมองภาพรวม และ ประมวลจากหมวก ขาว แดง ดำ เหลือง เขียว มาด้วย) ที่ครบทั้งหมด ได้แก่ ข้อเท็จจริง - อารมณ์ - ลบ - บวก - สร้างสรรค์ - สรุป
ดังนั้นการสวมหมวกเหล่านี้ เป็นการสร้างภาพ "แผนภาพความคิด (Mind Mapping)" ให้ครบมิติที่มีต่อสิ่งที่เราต้องขบคิดนั้น ๆ ทั้งที่เด็ก/ หรือ คนทำงาน มองให้ครบ
บางครั้ง แนวคิดหมวก 6 ใบนี้ อาจนำมาทำเป็นกิจกรรม "บทบาทสมมติ (Role Play)" ในองค์กร แล้วให้แยกกลุ่มคนเป็น 6 กลุ่ม แบ่งหน้าที่ตามหมวก ให้คิดตามหมวกที่ใส่ของตน ( และ กลุ่มหมวกสีน้ำเงินเป็นคนวางแผนคิดรวบยอด และ ประกอบข้อมูลจากกลุ่มหมวกสีอื่น ๆ มารวมด้วย) หรือ ให้แต่ละกลุ่มคิดทั้ง 6 หมวก แล้วมาเปรียบเทียบกันก็ได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน หรือ วัยทำงาน หากพยายามมองประเด็นต่าง ๆ ในหลากหลายมุมมองของหมวก 6 ใบ ก็จะทำให้เรามองภาพตามสิ่งที่ควรจะเป็นได้ครบยิ่งขึ้นนั่นเอง
ทุกวันนี้คุณล่ะ ใส่หมวกอะไรบ่อยสุด
ใส่ครบทุกใบ หรือ ไม่ กับเรื่องเรียน เรื่องงาน และ เรื่องชีวิตต่าง ๆ

ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
21 ธันวาคม 2563

รวมบทความของ ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์ จาก facebook.com
Kritsada Tunpow : ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเนชั่น และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ริช เรสเตอรองต์ จำกัด บริษัทจัดตั้งขึ้น เพื่อบริหารจัดการธุรกิจ โชคดีติ่มซำ และ โคขุนโพนยางคำ เป็นนักวิชาการอิสระ ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการการตลาดมาอย่างมากมาย ได้จัดทำ คลิปวิดีโอ หลักสูตรการบริหารจัดการ เผยแพร่ผ่านช่อง Stepplus training และเขียนบทความแบ่งปันในเฟสบุ๊ค Kritsada Pop Tunpow อย่างต่อเนื่อง#
คลิกเปิดแบบ : พรีวิว หรือ ฉบับเต็ม
Dir : tec File : handbook_tec_63.txt Topic : kritsada_fb

Reset | Decode
คุณคิดอะไรอยู่
Thaiall.com