โปรแกรมเมอร์
โปรแกรมเมอร์

โปรแกรมเมอร์ (Programmer) คือ นักเขียนโปรแกรม มีหน้าที่กำหนดขั้นตอนการทำงานในโปรแกรม โดยใช้รหัสคอมพิวเตอร์ (Code) ที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ สำหรับกำหนดชุดคำสั่งเป็นขั้นตอนอย่างมีวัตถุประสงค์ ขั้นตอนพื้นฐานในการเขียนรหัสคอมพิวเตอร์มี 3 ลักษณะคือ ทำงานตามลำดับ ทำงานตามเงื่อนไข และทำงานซ้ำ

โปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก คือ เอดา ไบรอน เลิฟเลซ (Lady Augusta Ada Byron, Countess of Lovelace) เกิด 10 ธันวาคม พ.ศ. 2358 เธอถูกยกย่องว่าเป็นคนแรกที่นำเสนอขั้นตอนวิธีเป็นชุดคำสั่งสำหรับใช้ในเครื่องวิเคราะห์ (Analytical engine) ของชาลส์ แบบบิจ (Charles Babbage) ซึ่งเป็นบิดาแห่งเครื่องคอมพิวเตอร์ (Father of the computer)

การปรากฎของคำว่า Programmer พบว่า Edsger Wybe Dijkstra ใช้คำว่า โปรแกรมเมอร์ (Programmer) กับโลกของคอมพิวเตอร์เป็นคนแรก เมื่อมีนาคม ค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) และนำเสนอทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไว้มากมาย อาทิ Mutual Exclusion, Dining philosophers problem, Deadlock, Concurency

คลิ๊ปเล่าเรื่อง อาชีพโปรแกรมเมอร์
โดย ศูนย์ข้อมูลอาชีพ กองส่งเสริมการมีงานทำ
น้องสาวในคลิ๊ปพูดดี บอกว่าวันหนึ่ง
- อยากเขียนโปรแกรมให้คนอื่นได้ใช้
- อยากพัฒนาโปรแกรมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น

น้องสาวมี idol คือ Steve Jobs

รายงานพิเศษ : โปรแกรมเมอร์ขาดตลาด เปลี่ยนงานทุก 2 ปี
อ่านรายงานพิเศษจาก http://www.dailynews.co.th/article/556263
เขียนโดย ชญานิษฐ คงเดชศักดา เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2560
พบว่า ".. น่าตกใจที่เด็กยุคใหม่เรียนจบคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ชอบเขียนโปรแกรม .."
คำถาม คือ เปลี่ยนงานไปทำอะไร คำตอบ คือ ไปทำธุรกิจของตัวเอง ไปเพราะถูกชิงตัว ไปหาโอกาสที่ดีที่มั่นคงกว่า
ค่าตอบแทน .. ตามผลสำรวจจากบริษัทที่มาออกบูธในงาน JOB FAIR ปีล่าสุด คือ 25,000 - 50,000 บาท สำหรับบัณฑิตจบใหม่
ผลสำรวจของคณะ ICT มหิดล พบว่า มีประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่จบแล้ว ไปเรียนต่อต่างประเทศ
เส้นทางอยู่อาชีพโปรแกรมเมอร์ .. แบบฝัน กับชีวิตจริง
คุณ Somkiat.CC เขียน Blog เล่าเรื่อง "มาเป็น Programmer ได้อย่างไร" เป็นเรื่องน่าอ่านนะครับ เป็นชีวิตจริงของการเข้าสู่เส้นทางโปรแกรมเมอร์ และอาจไม่เหมือนที่นักเรียน ม.ปลาย คาดหวังไว้ ความฝันการเข้าสู่อาชีพโปรแกรมเมอร์ สำหรับผมแล้ว ความฝันน่าจะเป็นแบบข้างล่างนี้ ซึ่งต่างกับของคุณ Somkiat นิดหน่อย ช่วง 1 ม.ต้น ได้เรียนเขียนโปรแกรม เขียนแล้วชอบมาก มีความฝันจะเขียนเป็นอาชีพ ช่วง 2 ม.ปลาย เข้าเรียนห้องพิเศษ ได้พัฒนาโปรแกรม เขียนแอพ เขียนเว็บ ไปแข่งขัน ช่วง 3 เข้ามหาวิทยาลัย ได้รับทุน ได้โควตา ได้เรียนที่เดียวกับรุ่นพี่/อาจารย์ต้นแบบ ช่วง 4 เรียนในมหาวิทยาลัย ได้ทำโปรเจค ได้ช่วยอาจารย์ ได้ไปแข่งขัน ได้รางวัล ช่วง 5 เข้าทำงาน มีบริษัทมาจองตัว ต้องเลือกงานที่ชอบ กับงานที่ใช่ ช่วง 6 ออกจากงาน เรียนรู้จากเปลี่ยนงานหลายบริษัท ออกไปตั้งบริษัท และสำเร็จ ช่วง 7 เกษียณ เปิดบริษัทไปได้สักพัก จดสิทธิบัตรไว้หลายใบ แล้วมีบริษัทใหญ่มาขอซื้อบริษัท
ฟังนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพเล่า
I AM : Programmer
โดย TruePlookpanya Channel
ฟัง คุณขจร เจียรนัยพานิชย์
Lead Software Engineering บริษัท Reuters Software Thailand
อธิบายเรื่องฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ และเครือข่าย
สตีฟ จ๊อบส์ เป็นแรงบันดาลใจให้คุณขจร
การทำงานต้องเป็นทีม และมีหลายกลุ่ม แบ่งกันรับผิดชอบต่างกันไป

ผศ.ดร.สนั่น ศรีสุข อาจารย์ ม.เทคโนโลยีมหานคร
น้องกนกวรณ สมวัน และน้องสมยศ พานพ
น.ศ.ปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร
นักคอมพิวเตอร์ในภาพยนตร์เรื่อง Fan Day
ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องของ GTH หรือ GDH ได้รับความนิยม
แล้วเรื่อง แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว ก็ได้รับความนิยม
เรื่องนี้มีส่วนหนึ่งสะท้อนชีวิต นักคอมพิวเตอร์ ได้ชัดเจน
เช่นเดียวกับเรื่องอื่นที่ผ่านมา เช่น ครู นักเรียน พนักงานรถไฟฟ้า ฟรีแลนซ์ ติวเตอร์ คนใช้
พระเอก คือ เด่นชัย (เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) พนักงานออฟฟิศแผนกไอทีที่เนิร์ด
และเขารู้สึกราวกับว่าตัวเองนั้นเป็นพวกไร้ตัวตน
และจะมีคนสนใจเฉพาะช่วงเวลาที่มีอุปกรณ์หรือโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ของพวกเขาเสียเท่านั้น

หาอ่านบทวิจารณ์ได้ครับ เขียนโดย @พริตตี้ปลาสลิด

คำถามตาม Code ด้านล่าง คือ ผลลัพธ์มีกี่บรรทัด
class MyClass {
  public static void main(String args[]){
    for (int i=0; i<5; i++) {
      System.out.println(i + i);
    }
  }
}
เล่นเกมกับเขียนโค้ดเชื่อมกันได้ (itinlife591)

มีความพยายามพัฒนาการศึกษาให้การเล่น (Play) กับการเรียน (Learn) เชื่อมโยงกัน ในการเขียนโปรแกรม (Programming) กับการเล่นเกม (Game) ก็เช่นกัน มีการพัฒนาเว็บไซต์ให้เยาวชนได้เข้าไปเล่นเกมเขียนโปรแกรมหรือเขียนโค้ด (Coding) มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยมีความสุขกับการเล่น เมื่อเล่นได้ทั้งวัน ก็จะเรียนรู้ได้ทั้งวัน ทำให้การศึกษาก้าวหน้าไปเร็วขึ้น ในการเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน มีการสร้างเว็บไซต์สนับสนุนการสอนเขียนโค้ด ด้วยการใช้เกม และฝึกการสั่งงานเกมอย่างเป็นขั้นตอน (Step) ให้ตัวละครในเกมทำงานตามสั่งอย่างมีเป้าหมาย ในอเมริกามีโรงเรียนนำบทเรียนการเขียนโปรแกรมเข้าไปสอนนักเรียนกันแล้ว

เกม กับการเขียนโค้ดต่างกันอย่างไร ทั้งสองอย่างมีส่วนที่เหมือนกัน คือ การปฏิบัติให้บรรลุตามพันธกิจ (Mission) สำหรับการเขียนโค้ดมี 3 หลักเบื้องต้ น คือ การทำงานตามลำดับ การเลือก และการทำซ้ำ ซึ่งในเกมก็มีเหมือนกัน แต่ที่แตกต่างกัน คือ ในการเขียนโค้ดจะต้องมีทักษะการใช้คำสั่งที่มีจำนวนมากมาย มีความเข้าใจลำดับก่อนหลังของคำสั่ง มีบริการสร้างคำสั่งขึ้นใหม่ด้วยคำสั่งที่มีอยู่ มีเวลาไตร่ตรองเลือกคำสั่งหรือสร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้งาน มีทางเลือกแยกกระทำ และทุกทางมีประโยชน์ต่างกัน มีการทำซ้ำที่แต่ละรอบต่างกันในค่าของตัวแปร มีการวางแผนตั้งแต่ต้นจนจบแล้วจึงเริ่มเล่น มีสิทธิ์กำหนดแผนการเล่นได้ตามต้องการ ซึ่งเกมส่วนใหญ่มักไม่มีสิ่งเหล่านี้

ในเยาวชนที่ติดเกม ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่ติดเกมเกี่ยวกับการเขียนโค้ด ไปติดเกมสมมติบทบาท ติดเกมยิง หรือติดเกมพจญภัย แต่อยากเป็นนักเขียนโปรแกรม เพราะชอบเล่นเกม เมื่อเข้าเป็นนักศึกษาในหลักสูตรที่สอนเขียนโปรแกรม จำเป็นต้องจำคำสั่งจำนวนมาก ฝึกทักษะการใช้คำสั่ง ต้องวางแผนการเล่นตั้งแต่ต้นจนจบก่อนเริ่มเล่น ต้องสร้างตัวแปรใช้งาน และควบคุมด้วยตนเองทั้งหมด มีเรื่องเครื่องบริการ อุปกรณ์ ภาษาโปรแกรม และฐานข้อมูลที่ต้องควบคุมให้ทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทราบในเวลาต่อมาว่าการเขียนโค้ดไม่ง่ายเหมือนการเล่นเกม และอาศัยทักษะที่แตกต่างกันไม่น้อย หากนักเรียนท่านใดสนใจจะเขียนโค้ด เพราะชอบเล่นเกม ก็ควรเข้าไปเล่นเกมเขียนโค้ดในเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการ จนแน่ใจว่าการเขียนโค้ดเป็นสิ่งที่ชอบ ก่อนเลือกเรียนในหลักสูตรที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตออกมาเขียนโค้ดสั่งงานคอมพิวเตอร์

ประเมินสื่อ : สัญญาณเตือนภัยจากการพลิกผันดิจิทัล

หัวหน้าแชร์เรื่อง สัญญาณเตือนภัยฯ มาในไลน์
น่าสนใจ
.. ท่านรองฯ เขียนอะไรได้ชัดเจนตรงประเด็นมาก

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
27 พฤศจิกายน 2559 10:00
+ www.เศรษฐพงค์.com
+ http://www.thaitribune.org

ข้อคิดจากผู้เขียน สำหรับผู้บริหารในยุคดิจิทัล

บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ตอบสนองต่อ Digital disruption โดยทันที แต่จะตอบสนองก็ต่อเมื่อมันได้ผ่านมาได้ในระยะหนึ่งแล้ว หรือเมื่อสายไปเสียแล้ว

เหตุผลสำคัญที่องค์กรพึงพอใจกับสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ และหยุดนิ่งอยู่กับที่ ก็คือความรู้สึกว่าจะต้องล้มเหลวหากมีการเปลี่ยนแปลง

องค์กรที่ประสบความสำเร็จ มักจะมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เพื่อเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงองค์กร

องค์กรที่ประสบความสำเร็จ และยังคงอยู่รอดต่อไป มักจะมีการให้บริการที่เลียนแบบจากคู่แข่งที่กำลังจะเข้ามาใหม่ในตลาด

ผู้ครอบครองตลาด จำเป็นที่จะต้องทบทวนรูปแบบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่ารูปแบบธุรกิจของตัวเองไม่ล้าสมัย และทันสมัยไปอีกขั้นอยู่เสมอ

ในขณะที่โลกยุคใหม่มีการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นทุกขณะ คู่แข่งใหม่มักจะเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกัน ที่จะเข้ามาท้าทายอำนาจเดิม

ในปัจจุบันจะไม่มีคำถามอีกต่อไปแล้วว่า การปฏิวัติดิจิทัลจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่คำถามจริงๆที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ "องค์กรจะรับมืออย่างไร กับการปฏิวัติดิจิทัลที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้"

"ขอให้ทุกท่านโชคดี"

สัญญาณเตือนภัยจากการพลิกผันดิจิทัล (Digital disruption) ที่กำลังเกิดผลกระทบภายใน 2-5 ปี จากนี้ (สรุปจากบทวิเคราะห์และงานวิจัยหลายแหล่งและจากงานในระดับนานาชาติ เช่น CEBIT, GSMA และ ITU เป็นต้น) ซึ่งผู้เขียนวิเคราะห์ว่าข่อมูลดังกล่าว สามารถนำมาสะท้อนภาพสถานการณ์การ disruption ของประเทศไทยได้ และจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

สื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้กระดาษมีความต้องการลดลงจนหนังสือที่มีชื่อเสียงในทุก sector หลายฉบับจะปิดตัว และโรงพิมพ์จะลดการทำงานลงกว่าครึ่ง โดยจะเกิดสื่อใหม่จากบริษัทใหม่และ startup ที่ไม่เคยอยู่ในตลาดมาก่อนเกิดขึ้นมากมาย เช่น LINE กระโดดเข้ามาทำข่าวคล้ายๆสื่อหนังสือพิมพ์, Facebook มีการ share ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นแบบ realtime รวมไปถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่อ่านตัวอักษรน้อยลง แต่ดูข่าวสารในรูปแบบ vdo แทน และพฤติกรรมจะก้าวไปสู่การใช้เวลามากขึ้นกับสื่อ vdo ที่นำเสนอแบบ realtime จนทำให้สื่อเดิมที่เป็นรูปแบบสิ่งพิมพ์ที่รายงานข่าวที่ไม่สดเพียงพอ และนิตยสารที่ถูกแย่งเวลาการอ่านไป จะถูกลบออกจากความสนใจและออกจากตลาดไปอย่างรวดเร็ว (ย้ำ...อย่างรวดเร็ว)

ธุรกิจ Broadcasting จะมีการเกิดใหม่ของบริษัท start up เล็กๆ ของคนรุ่นใหม่ (อาจมีพนักงานไม่เกิน 10 คน แต่มีเครือข่ายการ share content) ทำรูปแบบธุรกิจ vdo realtime เช่น สารคดีสด, สัมภาษณ์สด, สัมมนาสด, รายงานข่าวสด, ติดตาม celebrity สด ไปจนถึงผู้มีชื่อเสียงที่มีองค์ความรู้ในลักษณะผู้เชี่ยวชาญจะถ่ายทอดสดด้วยตัวเอง โดยอาจมี studio เล็กๆ หรือไม่มีเลย แต่จะใช้เทคโนโลยี broadband mobile ด้วยการใช้ application คล้ายๆ Facebook Live (แต่จะมีประสิทธิภาพมากกว่า Facebook Live มาก ใน 2-5 ปีข้างหน้า) จนทำให้เวลาของคนทั่วไปถูกแบ่งจากสื่อองค์กรใหญ่แบบดั้งเดิมไปเสพสื่อที่เกิดใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่ม Y Generation

การเช่าที่เพื่อขายสินค้าต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าระดับ mass จะมีผลกระทบเนื่องจากสินค้าเหล่านั้นกว่าครึ่งสามารถขายผ่านระบบ online เช่น e-commerce หรือ social media ต่างๆ ได้ และที่สำคัญ แนวโน้มการซื้อสินค้าที่เป็น mass ในกลุ่ม Y Generation เปลี่ยนไปซื้อสินค้าใน online ที่มีอัตราที่สูงมาก และสินค้าเหล่านั้นมีการเสนอขายแบบ realtime บนเครือข่าย social media และสามารถสื่อสารเสนอสินค้ากับลูกค้าด้วย realtime vdo อีกด้วย และไม่น่าเชื่อว่า ขณะนี้มีการซื้อขายเสื้อผ้าผ่าน online แล้วมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงจะมีผลต่อห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงธุรกิจให้เช่าที่ขายสินค้า จะต้องปรับตัว

ธุรกิจการเงินการธนาคาร ที่พฤติกรรมของลูกค้าหันไปใช้ระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ online มากขึ้นอย่างชัดเจน การทำธุรกรรมบนระบบ ATM และที่ธนาคารจะลดลงไปอย่างมาก จนทำให้จะต้องลดต้นทุนโดยการลดสาขาและตู้ ATM ที่มีต้นทุนสูงมากลงไปโดยปริยาย อีกทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี Blockchain จะทำให้รูปแบบ business model ของธนาคารที่เคยเป็นตัวกลางหลัก ต้องเปลี่ยนไปอย่างมาก และ ธุรกิจใหม่อย่าง Fintech จะเข้ามาท้าทายอย่างรวดเร็ว

ระบบการศึกษา จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะคนสามารถเข้าถึงความรู้ทั่วไปได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส และเกือบจะไร้ขีดจำกัดในการค้นหาข้อมูลด้วย search engine ที่มีประสิทธิภาพสูง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจากเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ขีดความสามารถของคนเพิ่มทวีคูณได้จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบนฝ่ามือ คนที่มีความเพียรและมีวินัย จะสามารถหาความรู้นอกเหนือจากความรู้จากการศึกษาพื้นฐานในระบบได้อย่างไร้ขีดจำกัด จะเกิดรูปแบบการศึกษาเชิงนวัตกรรมดิจิทัล จากสถาบันการศึกษาใหม่จากกลุ่ม start up ในรูปแบบกึ่งดิจิทัลหรือแบบดิจิทัลสมบูรณ์แบบเกิดขึ้น และจะเกิดระบบการเรียนรู้แบบใหม่แบบ realtime และ content ที่ทันสมัยจากคนในกลุ่ม Y Generation ที่นำเสนอกับกลุ่มคนที่สนใจ และขยายวงกว้างมากขึ้น จนได้รับการยอมรับอย่างมาก

ระบบการจ้างงานและการเข้าถึง candidate จะเปลี่ยนไปอย่างมากในส่วนบุคคลากรที่มีความสามารถพิเศษในระดับผู้เชี่ยวชาญ และในส่วนบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล โดยบุคคลากรเหล่านี้จะไม่รับตำแหน่งงานประจำที่เป็นเงินเดือน และต้องยึดโยงกับสถานที่และเวลา แต่จะรับงานในรูปแบบสัญญาระยะสั้น (contract) โดยการจ้างงานจะเป็นลักษณะโครงการ หรือชิ้นงาน จบไปเป็นงานๆไป ส่วนบุคคลากรที่ไม่มีความเชี่ยวชาญที่มีความรู้ทั่วไปเท่านั้น จะต้องขวนขวายหาหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้าน มิฉะนั้นกลุ่มคนเหล่านี้จะหาตำแหน่งงานได้ยากยิ่ง เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัล จะไปทำงานแทนตำแหน่งงานจำนวนมากที่เป็นงานด้าน administrative ทั่วไป

ประเมินการศึกษา : มหาวิทยาลัยไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร

ขณะนี้
ประดาอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยแทบจะทุกแห่งต่างประสบปัญหาไม่มีนักศึกษาเพียงพอ ล่าสุดมีข่าวออกมาว่ามหาวิทยาลัยไทยมีที่นั่งว่างสำหรับระดับปริญญาตรีถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นที่นั่ง แต่มีนักเรียนเข้ามาเรียนเพียงแปดหมื่นคน แสดงว่ามีอุปทานส่วนเกิน (Over Supply) ถึงหกหมื่นคนต่อปี และในระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษามีที่เรียนว่างรวมกว่าแปดแสนที่ (เมื่อไม่มีนักเรียนแล้วจะมีนิสิตนักศึกษาได้อย่างไร)

ภาวะดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อระดับบัณฑิตศึกษาด้วยโดยจำนวนนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาก็ลดลงเช่นเดียวกัน และทำให้ในหลายๆ มหาวิทยาลัยประสบปัญหาภาระงานขั้นต่ำไม่เพียงพอ เนื่องจากมีนักศึกษาไม่ครบจำนวนที่จะเปิดการเรียนการสอนและนับเป็นภาระงานขั้นต่ำได้

ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีรายได้ลดลงไปมาก ส่งผลให้แทบทุกแห่งต้องลดมาตรฐานในการคัดเลือกนักศึกษาลงไป เมื่อลดมาตรฐานการคัดเลือกนักศึกษาลงไปเพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีให้คัดเลือกก็ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำลงไปด้วย เมื่อปริมาณนักศึกษาลดลงรายได้ของมหาวิทยาลัยก็ลดลงไปด้วยตามลำดับ แม้กระทั่งปริญญาโททางบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยดังแห่งหนึ่งซึ่งเปิดหลักสูตรสำหรับผู้บริหารและเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมากจนต้องแย่งกันเข้าปัจจุบันรับนักศึกษาได้ไม่เข้าเป้าเพียงปีละสิบกว่าคนและโครงการดังกล่าวก็ขาดทุนอยู่มากจนอาจจะต้องปิดโครงการลง

น่ากลัวว่าอุดมศึกษาไทยจะไปไม่รอดในระยะเวลาไม่เกินสิบปีต่อจากนี้ไป หลายมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนมากปรับตัวด้วยการรับนักศึกษาจากประเทศจีนซึ่งมีที่นั่งในมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอกับความต้องการของนักเรียนและมีการแข่งขันสูงมากเนื่องจากทางการจีนไม่อนุญาตให้มีการเปิดมหาวิทยาลัยเอกชน และไม่เน้นผลิตบัณฑิตระดับอุดมศึกษามากนักจนทำให้มีความต้องการเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามนักเรียนจีนระดับหัวกะทิและ/หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็จะไปศึกษาต่างประเทศในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา แม้กระทั่งออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ ส่วนนักศึกษาจีนที่มาศึกษาในประเทศไทยนั้นเพราะประเทศไทยมีค่าครองชีพและค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่าประเทศจีนมาก เราจึงไม่ได้นักศึกษาจีนที่มีคุณภาพดีเท่าที่ควร

สาเหตุที่อุดมศึกษาไทยถึงทางตีบตันนั้นมีหลายประการ

ประการแรก ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มตัว อัตราการเกิดของประชากรไทยนั้นต่ำมากและต่อไปจะต่ำกว่าอัตราการตาย ถ้าเราสังเกตให้ดีเราจะพบว่าจำนวนประชากรไทยนิ่งๆ ที่ 65 ล้านคนมาเกือบ 15 ปีแล้ว มีคนสูงอายุมากขึ้นและมีเด็กเกิดลดลงไปมาก จนน่าใจหาย รัฐบาลควรต้องส่งเสริมการแต่งงานและการมีบุตรด้วยมาตรการทางภาษีและสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น ผลกระทบดังกล่าวเห็นแล้วได้ชัดเจนทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีที่นั่งเหลือมากมาย เมื่อไม่มีเยาวชนที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยมากเช่นในอดีตทำให้การแข่งขันลดลง มีที่ว่างมากขึ้น คุณภาพในการคัดเลือกก็ลดลงด้วย

ประการที่สอง ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ขณะนี้หากรวมทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน สถาบันราชภัฎ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยพละศึกษา วิทยาลัยเกษตร สถาบันอุดมศึกษาที่มีภารกิจเฉพาะ อาจจะมีจำนวนมากถึงสามร้อยกว่าแห่ง มีการแข่งขันกันเปิดหลักสูตรเป็นจำนวนมาก ทั้งหลักสูตรภาคปกติ ภาคค่ำ ภาคสมทบ ภาคพิเศษ ภาคอินเตอร์ มีการเปิดหลักสูตร ปริญญาตรี-โท-เอก กันเต็มไปหมด หลักสูตรแปลกๆ ที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น ทุกแห่งพยายามขายสินค้าหรือหลักสูตรที่จะดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาเรียนด้วยคุณลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไป บางแห่งเน้นคุณภาพ บางแห่งเน้นไปที่จ่ายครบ จบง่าย เรียนสนุก แม้ว่าจะมีหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานแต่ก็เป็นการเกาไม่ถูกที่คันเนื่องจากกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้นั้นพยายามใช้หลักเกณฑ์เดียวกันหมดในทุกสาขาวิชา เน้นไปที่การกำกับดูแลกระบวนการโดยไม่ได้ดูที่สิ่งนำเข้าหรือผลลัพธ์แต่อย่างใดเลย ทำให้สาขาวิชาหรือสถาบันอุดมศึกษาที่พยายามทำดีหรือมีคุณภาพดีอยู่แล้วกลับแย่ลงเนื่องจากเกณฑ์มาตรฐานบังคับใช้เหมือนกันไปหมดทุกสาขาเปรียบเสมือนยาเคมีฆ่าเซลล์มะเร็ง (Chemotherapy) ที่ทำลายเซลล์เนื้อร้ายมะเร็งและทำลายเซลล์ดีๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ปัญหาใหญ่ที่สุดคือประเทศไทยในขณะนี้มีจำนวนมหาวิทยาลัยมากเกินไปกว่าความต้องการเสียแล้ว ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือมีบัณฑิตในบางสาขาตกงานมากมาย เช่น ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเปิดสอนกันแทบทุกสถาบันในประเทศไทย แต่บริษัทเอกชนกลับหาคนมาทำงานด้าน Computer ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและต้องการคนเก่งคนมีความรู้ความสามารถอีกมากได้ยากมาก บัณฑิตด้าน computer sciences จำนวนมากจากหลายสถาบันไม่สามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้จริงได้เลย หรือในอีกด้านเราผลิตคนที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดและมีคุณภาพไม่เพียงพอ สรุปง่ายๆ คือ เรามีปริมาณมากแต่มีคุณภาพไม่เพียงพอ ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ ทำให้เราพบว่ามีบัณฑิตระดับปริญญาตรีไปเป็นพนักงานขายของตามร้านสะดวกซื้อหรืออื่นๆ ที่ใช้เพียงวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาปีที่สาม ก็ทำงานนี้ได้

ประการที่สาม การไปศึกษาต่อต่างประเทศสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดและคนไทยมีฐานะดีขึ้นจนไปศึกษาในต่างประเทศได้โดยง่าย ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อในต่างประเทศตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ปริญญาตรี หรือ ปริญญาโท มากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นแทบทุกประเทศต่างก็มีปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ในประเทศนั้นๆ มีนักศึกษาเก่งๆ ไม่มากนัก ทำให้จำเป็นต้องหานักศึกษาจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาเปิดสาขาในประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น สิงคโปร์ เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดการศึกษาออนไลน์ การศึกษาต่อเนื่อง ทั้งแบบที่ได้รับปริญญา และแบบที่ไม่ได้รับปริญญา (Non-degree program) มากขึ้นเรื่อยๆ

ประการที่สี่ การศึกษาของไทยไร้ทิศทาง ประเทศไทยไม่ได้ต้องการ บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต มากมายอะไรขนาดนี้ ในขณะที่ประเทศยังไม่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ที่ประเทศไทยขาดแคลนจริงๆ กลับเป็นอาชีวะศึกษาซึ่งคนไทยไม่นิยมเรียนด้วยค่านิยมปริญญากระดาษแผ่นเดียว ในขณะที่เราผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ ออกมาล้นมากมาย แต่สายวิชาเช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ซึ่งล้วนขาดแคลนอย่างหนัก โดยเฉพาะพยาบาลกลับผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของประเทศและจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ประเทศไทยไม่มีแผนยุทธศาสตร์อุดมศึกษาและไม่ได้ดำเนินตามหลักการดังกล่าว มหาวิทยาลัยต่างๆ ล้วนแล้วแต่ผลิตคนสายสังคมศาสตร์ที่เร่งผลิตได้ง่าย ใช้ต้นทุนไม่สูง และคนก็แห่มาเรียนกันเฉพาะสายสังคมศาสตร์จนเกินความต้องการ เป็นเพียงค่านิยมปริญญามากกว่าจะผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง ทำให้ปริญญาไม่ว่าจะตรีหรือโท หรือรวมไปถึงเอกจากหลายๆ ที่ไม่มีคุณค่า ไม่สามารถประกันได้ว่าบัณฑิต มหาบัณฑิตและ ดุษฎีบัณฑิตจะสามารถทำงานได้จริง ทำให้หลายๆ หน่วยงานในภาคเอกชนเริ่มขยับเข้ามาผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตกันเองเพื่อให้ตรงตามกับความต้องการ

หัวหน้าแชร์เรื่อง มหาลัยไทยจะไม่รอด มาในไลน์
น่าสนใจ
.. ดร.อานนท์ เขียนอะไรได้ชัดเจนตรงประเด็นมาก

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
25 พฤษภาคม 2559 18:42 น.
+ http://www.manager.co.th

หน้าต่อ .. จากคอลัมด้านซ้าย

ขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยของไทยกำลังขาดทุนและไม่อาจจะอยู่รอดได้จนอาจจะต้องเลิกกิจการในระยะเวลาอันใกล้ บางมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวโดยแบ่งที่ดินผืนงามจัดสรรสร้างคอนโดมิเนี่ยมเพื่อหารายได้ และลดขนาดองค์กรลง ปัญหาข้างต้นเหล่านี้สมทบเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ และต่อไปยิ่งจะแย่ลง ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่าภายในสิบปีนี้จะมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องเลิกกิจการเพราะขาดทุนจนอยู่ไม่ไหว (ในปัจจุบันโรงเรียนเอกชนก็เลิกกิจการไปมากมาย เพราะที่นั่งในโรงเรียนของรัฐนั้นมีล้นเกินความต้องการอยู่แล้ว) ดังนั้น มหาวิทยาลัยไทยคงต้องปรับตัวกันอีกมาก ทางออกในการปรับตัวที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่

1. ยุบเลิกมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคุณภาพหรือขาดทุนมาก เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีทางคุ้มทุน อาจจะต้องมีการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition) ของมหาวิทยาลัยเอกชน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรเข้ามาแก้ปัญหาโดยการยุบรวมมหาวิทยาลัยของรัฐเอง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีขนาดเล็ก ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ใช้ทรัพยากรร่วมกันมากขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีความเข้มแข็งมากขึ้น ในอดีตที่ผ่านมานักการเมืองมีส่วนผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยในแทบทุกจังหวัดของประเทศไทย แต่ปัจจุบันมีสถาบันที่สอนระดับอุดมศึกษาไม่ต่ำกว่าสองร้อยแห่ง ซึ่งมากเกินไปสำหรับประเทศไทยซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรมีสถาบันอุดมศึกษาเกินกว่าจำนวนจังหวัดของประเทศเสียด้วยซ้ำไป ทางออกนี้อาจจะเจ็บปวดสำหรับสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งแต่ก็มีความจำเป็นต้องทำ และควรมีนโยบายห้ามเปิดสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มอีกต่อไปแล้ว กระทรวงศึกษาธิการควรเร่งพิจารณาควบรวม ยุบ ให้สถาบันอุดมศึกษาที่อ่อนแอ ขนาดเล็ก ไม่ได้มาตรฐาน รวมกันให้ เข้มแข็ง มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีมาตรฐานดีขึ้น

2. ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนการศึกษาแห่งชาติ กำหนดทั้งปริมาณและคุณภาพ ในการผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ให้ตรงกับความต้องการ สาขาใดที่มีบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ล้นเกินความต้องการและไร้คุณภาพก็ควรค่อยๆ ลดจำนวนลงไปและปิดไปเพื่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน ไม่ปล่อยให้แข่งกันผลิตเพื่อหารายได้ ขายปริญญากันจนเกร่อ เกินความต้องการที่แท้จริงของประเทศในบางสาขาโดยเฉพาะในสาขาสังคมศาสตร์ แม้ในสังคมศาสตร์สาขาที่เรียนยากหน่อยเช่น การบัญชี ก็มีคนเรียนน้อยและขาดแคลนทั้งๆ ที่เป็นวิชาชีพและมีรายได้ดีพอสมควร กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) สมควรยกเลิกการปล่อยกู้ยืมทางการศึกษาสำหรับสาขาวิชาที่ไม่มีความจำเป็น มีมากพอ มีล้นความต้องการของตลาด และควรพิจารณาให้กู้ยืมตามจำนวนเงินเดือนหรือศักยภาพที่แต่ละคนจะได้รับเงินเดือน หากนักเรียนนักศึกษาสาขาวิชาใดสถาบันใดที่จะมีรายได้ดีหลังสำเร็จการศึกษา เป็นสาขาวิชาขาดแคลนและจำเป็นสำหรับประเทศชาติ ก็ควรจะให้กู้ยืม เช่น สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งขาดแคลนอย่างหนัก ส่วนสาขาที่ไม่ขาดแคลน เช่น รัฐศาสตร์ ก็ไม่ควรให้กู้ยืม เป็นต้น

3. มหาวิทยาลัยต้องลดการพึ่งพารายได้จากการเรียนการสอนลงไป แต่เน้นไปที่การทำงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศและสามารถนำนวัตกรรม งานวิจัย มาผลิตและสร้างรายได้ และ/หรือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มหาวิทยาลัยต้องเน้นรายได้จากการวิจัยที่สร้างนวัตกรรมและนำไปสู่เชิงพาณิชย์ (Commercialization) ออกมาทำใช้ได้จริง ส่งออกได้จริง ลดต้นทุนได้จริง นำพาประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรายได้สำคัญของมหาวิทยาลัยด้วย มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษาต้องรับนักศึกษาให้ลดลงแต่มีคุณภาพเข้มข้น ขณะเดียวกันอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องหาเงินทุนวิจัยได้มากจากภาคเอกชนเพื่อนำมาจ้างนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในการเรียน ทำงานวิจัยช่วยอาจารย์ สร้างทั้งคนและสร้างทั้งงานที่ช่วยในการพัฒนาประเทศ นักศึกษาจะต้องเป็นทรัพยากรของมหาวิทยาลัย

4. มหาวิทยาลัยต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรในลักษณะของสหกิจศึกษา โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การฝึกงาน การตั้งโจทย์การวิจัย มีหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ทราบมาว่าอาจารย์ในหลักสูตรจะเดินสายพบภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเพื่อหาโจทย์การวิจัยและทุนวิจัย พร้อมให้หน่วยงานนั้นๆ ส่งนักศึกษามาเรียนในหลักสูตร และนำปัญหาโจทย์การวิจัยนั้นๆ ให้นักศึกษาที่หน่วยงานนั้นๆ ส่งมาเรียนทำเป็นวิทยานิพนธ์จนสำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย หน่วยงานได้คนมีความสามารถตรงตามที่ต้องการ หน่วยงานได้ know how ไปใช้ในการแก้ปัญหา อาจารย์ได้โจทย์การวิจัยที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง นำไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นักศึกษาได้ทุนมาเรียน ได้มาเรียนรู้ที่ทำให้ทฤษฎีได้ปะทะกับการปฏิบัติอย่างแท้จริง

5. มหาวิทยาลัยไทยต้องเน้นไปที่การศึกษาต่อเนื่องและการฝึกอบรมวิชาชีพ ที่แก้ไขปัญหาในการทำงานให้หน่วยงานต่างๆ มากขึ้น และต้องไม่ใช่งานฝึกอบรมประเภทฉาบฉวย ที่ไม่ก่อให้เกิดทักษะ ความรู้ ความสามารถ ที่ดีขึ้นของบุคลากร แต่ต้องเป็นการฝึกอบรมหรือการศึกษาต่อเนื่องที่ทำให้พนักงานและคนไทยมีความรู้ทักษะ ความสามารถในการทำงานได้ดีขึ้นจริง ทั้งนี้ตลาดด้านนี้ยังเปิดกว้างกว่าตลาดนักศึกษาระดับเยาวชนเนื่องจากเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว

ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นแนวทางออกสำหรับวิกฤติอุดมศึกษาไทยได้บ้างเป็นบางส่วน แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยไม่เกิน 5-10 ปีนี้คงได้เห็นความล่มสลายในไม่ช้า โดยจะมีมหาวิทยาลัยที่ต้องปิดตัวลงไปเพราะขาดทุนเป็นจำนวนมาก

เตือนว่าเสี่ยงที่ อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยเตรียมตัวตกงาน ถ้า ...

ถึงวันนี้
เราต้องยอมรับกันแล้วว่าวิกฤติอุดมศึกษานั้นเกิดขึ้นแล้ว ในรอบปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งมีนักศึกษาลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสามและมีความจำเป็นต้องบีบอาจารย์ให้ลาออกเนื่องจากขาดทุนย่อยยับ หลายแห่งอาจารย์ลาออกไปมากกว่าครึ่งหนึ่งและตั้งเป้าหมายให้อาจารย์เหลือเพียงแค่หนึ่งในสาม มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งขายที่ดินสร้างคอนโดมิเนียมขาย มหาวิทยาลัยราชภัฎหลายแห่งก็ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาในพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ เนื่องจากไม่มีนักศึกษาให้สอน มหาวิทยาลัยของรัฐในบางสาขารับนักศึกษาได้เพียงร้อยละ 20 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ มหาวิทยาลัยเปิดของรัฐไม่ต่อสัญญาจ้างอาจารย์เพราะไม่มีนักศึกษาเพียงพอ เริ่มมีปัญหาทางการเงิน มหาวิทยาลัยของรัฐอีกหลายแห่ง อาจารย์เริ่มแย่งวิชาสอนกันเพื่อให้ตัวเองมีภาระงานครบ และหลายแห่งดิ้นรนด้วยการไปหานักศึกษาจีนเข้ามาเรียนซึ่งเป็นนักศึกษาจีนที่คุณภาพไม่ดีนัก สอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนไม่ได้เนื่องจากการแข่งขันสูงมาก หลายคนมาเรียนเพื่อจะได้เข้าเมืองได้ถูกต้องและทำมาค้าขายได้

คาดได้เลยว่าสถานการณ์น่าจะแย่ลงไปเรื่อยๆ และคาดได้ว่าภายในสี่หรือห้าปีนี้ สถาบันอุดมศึกษาของไทยที่มีมากถึงสามร้อยแห่ง อาจจะได้ไปต่อเป็นส่วนน้อย (หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่ามีเยอะขนาดนั้น แต่ได้สอบถามพนักงานขายซอฟท์แวร์ให้ห้องสมุดแล้วยืนยันเช่นนั้น มีทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน สถาบันราชภัฎ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยเกษตร วิทยาลัยพลศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ แทบทุกคนหันมาสอนอุดมศึกษากันเพิ่มขึ้นแทนอาชีวะศึกษา เพราะค่านิยมกระดาษใบปริญญา)

ในสมัยหนึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นตำแหน่งงานที่ต้องการกันมาก หาคนมีคุณสมบัติครบถ้วนได้ยาก และเนื่องจากสถาบันอุดมศึกษามีนักศึกษาสมัครมาก มหาวิทยาลัยเปิดกันได้ง่าย รายได้ดีพอสมควร แต่เนื่องจากมีความต้องการสูงเลยรับคนเข้ามาเป็นอาจารย์ได้ง่ายขึ้น แต่ในปัจจุบันการที่ Over Supply และการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ทำให้เราเกิดประชากรถดถอย มีเด็กเกิดน้อยมากและมีคนตายมากกว่าคนเกิด นักเรียนนักศึกษาที่จะเข้ามหาวิทยาลัยก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ขณะนี้การสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในแต่ละปีเหลือที่นั่งว่างๆ หานักศึกษามาเรียนไม่ได้ต่อปีเกือบเจ็ดหมื่นที่นั่ง ดังนั้นการแข่งขันจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีอาจารย์ล้นเกินจำนวนนักศึกษาในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไทยจำนวนมากจำเป็นต้องควบรวม (Merger and Acquisition) เพื่อความอยู่รอดซึ่งคาดว่าน่าจะอีกไม่กี่ปี มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาจำนวนหนึ่งจะต้องปิดตัวลงไปเพราะขาดทุนหนักมาก

กระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาควรที่จะต้องศึกษาการฉายภาพประชากร (Demographic Projection) ของประเทศไทยและพยากรณ์ต่อไปว่าจะส่งผลอย่างไรต่อจำนวนนักเรียนที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อในประเทศไทย สัดส่วนของเด็กในวัยศึกษานั้นน่าจะลดลงไปเรื่อยๆ และอาจจะต้องคำนวณภาระงานสอนว่าสมดุลกันหรือไม่กับจำนวนนักศึกษา มหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับตัวอย่างรุนแรงเปลี่ยนแปลงปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรให้ได้คุณภาพตรงกับความต้องการของนายจ้าง ปัญหาคืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่รับมาเข้าไว้มากมายและมีจำนวนล้นเกินกว่าจำนวนนักศึกษาและภาระงานสอนจะทำเช่นไร

สถานการณ์จะเป็นนายของทุกคน ขณะนี้เริ่มมีอาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาธรรมาภิบาลอุดมศึกษาซึ่งมีการใช้อำนาจพวกพ้อง และฝ่ายบริหารเป็นกลุ่มพวกเดียวกับสภามหาวิทยาลัย ทำให้เลือกกันวนเวียนเกาหลังกันไปมา และฝ่ายบริหารบางส่วนถือโอกาสในการกลั่นแกล้งอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นพลเมืองชั้นสองในสถาบันอุดมศึกษา และเริ่มมีคดีฟ้องร้องกันในศาลปกครองมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาคือคดีล่าช้ามาก และอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยนั้นมีสิทธิ์ในการต่อสู้ที่แย่กว่ากระทั่งกรรมกร เนื่องจากไปฟ้องร้องที่ศาลแรงงานก็ยังไม่ได้ ทุก พ.ร.บ. ที่นำมามหาวิทยาลัยออกนอกระบบต่างไม่ยอมให้ฟ้องร้องศาลแรงงาน ทำให้เกิดการรังแกกัน อีกส่วนหนึ่งและน่าจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยคือการที่ไม่มีนักศึกษา รายได้ลดลง จนไม่สามารถจะจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากได้อีกต่อไป

อันที่จริงอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถสูงเป็นส่วนใหญ่ น่าจะต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ไม่ยากนัก หลักสูตรบางหลักสูตรสอนเนื้อหาวิชาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน บางสาขาวิชาจบมาปีละหลายพัน แต่นายจ้างหาคนที่มีคุณภาพพอจะทำงานไม่ได้เลย ยกตัวอย่าง เช่น ทุกวันนี้ประเทศไทยขาดแคลนโปรแกรมเมอร์อย่างรุนแรง มีคนสมัครมาก แต่คุณภาพนั้นมีปัญหา ทำงานไม่ได้จริง ไม่ตรงตามสิ่งที่ภาคเอกชนและภาคธุรกิจใช้กันในปัจจุบัน ประกอบกับนักศึกษาก็ไม่อยากเรียนอะไรที่ยาก ชอบเรียนอะไรง่ายๆ สบายๆ ซึ่งเป็นการทำลายตนเองในระยะยาวอยู่ดี น่าเห็นใจอาจารย์ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก โลกของดิจิทัลและวิทยาการข้อมูลกำลังรุกล้ำเข้ามาอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจที่ใช้ความรู้และนวัตกรรมเป็นฐานทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากตกยุค อาจารย์มหาวิทยาลัยคงไม่สามารถสอนเรื่องเดิมๆ ที่ตนเองเคยเรียนมาเมื่อ 20-30 ปีก่อนได้อีกต่อไป

ที่น่าสังเกตคืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่ปรับตัวได้ กลับเป็นพวกที่ลาออกไปทำงานอื่น เช่น ทำงานภาคเอกชน ด้วยรายได้สูงลิบหรือออกไปทำธุรกิจส่วนตัว พวกนี้ไม่น่าห่วงแต่น่าเสียดายโอกาสสำหรับบางคนที่มีความจำเป็นด้านการเงินมีความสามารถสูงและมีความเป็นครูที่ดี โครงการ Talent mobility ที่เปิดโอกาสให้อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิจัยในภาครัฐไปทำงานวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมให้กับภาคเอกชนนั้นเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมยิ่งน่าจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ไปได้บ้างพอสมควร

หัวหน้าแชร์เรื่อง อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว พัฒนาตัวเอง และเตรียมตัวตกงาน
เหมือนเป็นภาคต่อของ มหาวิทยาลัยไปไม่รอด
.. ดร.อานนท์ เขียนอะไรได้ชัดเจนตรงประเด็นมาก

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
28 ธันวาคม 2559 12:52 น.
+ http://www.manager.co.th

หน้าต่อ .. จากคอลัมด้านซ้าย

ปัญหาหลัก คือ ท้ายที่สุดจำนวนมหาวิทยาลัยก็ต้องลดลงไป และจำนวนอาจารย์ที่ต้องออกจากงานคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมหาวิทยาลัยไทยไม่มีนักศึกษาให้สอนอีกต่อไป บางภาควิชา บางคณะ จำเป็นต้องถูกยุบ เนื่องจากไม่มีเงินพอ และไม่มีนักศึกษา อันที่จริงก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เป็นเช่นนั้น สาขาวิชาบางวิชาที่ไม่มีนักเรียนสนใจจะเรียนไม่สร้างรายได้ก็มีความจำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนาประเทศจริงๆ ในขณะที่บางสาขาไม่มีความต้องการและความจำเป็นมากก็ควรต้องรับผลแห่งกรรมกันไป โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ของไทยที่มาผิดทางโดยตลอด เราเร่งกระบวนการสร้างคนแบบแดกด่วน โดยไม่ได้คำนึงถึงชาติเท่าที่ควร ทำให้เกิดปัญหาในเวลานี้

อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด บางคนทั้งๆ ที่รู้อยู่ไม่มีนักศึกษาให้สอนก็ดิ้นรนจะต่ออายุราชการให้ตัวเองต่อ บางคนที่ไม่มีทางไปก็พยายามดิ้นรนหานักศึกษาเข้ามาเรียนให้มากขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เหลืออยู่ต้องปรับตัว ทางเลือกหนึ่งคือให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานบริการวิชาการให้กับรัฐและเอกชนเพื่อหารายได้เข้ามหาวิทยาลัยให้มากขึ้น แต่ก็พบปัญหาว่าหลายแห่งให้เอกชนเป็นคนทำแต่ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยไปประมูลงานในภาครัฐและกินหัวคิวทั้งอาจารย์หัวหน้าโครงการและมหาวิทยาลัยแห่งนั้น เนื่องจากหากเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเข้าไปประมูลงานจะถือว่าเป็นสัญญาระหว่างหน่วยราชการและใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้

ประเทศไทยนั้นแท้จริงแล้วต้องการนวัตกรและนักวิจัยอีกจำนวนมาก ผมเคยสนทนากับผู้บริหารบริษัทเอกชนจำนวนมากต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยผลิตงานวิจัยขึ้นหิ้ง ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติกันมากมายแต่เอามาใช้งานจริงหรือนำมาประยุกต์ใช้ให้ขายได้จริงในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) ได้น้อยมาก เรื่องเหล่านี้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะอยู่ต่อไปรอด คงต้องปรับตัวให้สามารถสร้างผลงานที่นำไปใช้ได้จริง ขายได้จริง เป็นประโยชน์ได้จริงมากขึ้นเช่นกัน แล้วรายได้จากงานบริการวิชาการและงานที่ปรึกษาจะเข้ามาหาตัวท่านเองและหน่วยงานของท่านอย่างไม่ขาดสายจนทำงานไม่ทัน และไม่มีแรงจะทำ

ทางเลือกอีกทางที่อาจารย์มหาวิทยาลัยอาจจะต้องปรับตัวคือ ต้องเน้นไปที่การศึกษาต่อเนื่องและการฝึกอบรมให้บุคลากรที่ทำงานแล้วได้พัฒนาศักยภาพ ทักษะในการทำงาน ให้ได้ดีขึ้น ทุกวันนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ขายดีในการเป็นวิทยากรมีรายได้มาก ส่วนหนึ่งมาจากทักษะส่วนตัวในการพูดเก่ง มีความสามารถในการ Entertain นักเรียน แต่ภาคเอกชนคงอยากได้วิทยากรเช่นนั้นลดลงไป ภาคเอกชนน่าจะอยากได้อาจารย์หรือวิทยากรที่วิเคราะห์ปัญหาในการทำงานของธุรกิจได้ทะลุ และนำโจทย์ปัญหานั้นมาออกแบบหลักสูตรในการพัฒนาคนให้มีทักษะความรู้ความสามารถที่จะทำให้ปัญหาในการทำงาน การทำธุรกิจ ของหน่วยงานนั้นๆ ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ถึงจะคุ้มค่าเงินลงทุน อาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะไปเน้นเรื่องการเป็นวิทยากร การศึกษาต่อเนื่องก็คงต้องเก่งมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ในมหาวิทยาลัยนั้นมีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เลือกที่จะทำงานเพราะใจรักกับอีกพวกที่ไม่มีทางไป จริงๆ แล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยคงต้องวางแผนชีวิตตนเองให้ดี ว่าจะทำอย่างไรต่อไปในอีกห้าปีข้างหน้า ต่อให้ภาระงานสอนครบ ทำงานวิจัยตีพิมพ์ได้ครบ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่ามหาวิทยาลัยของท่านจะมีเงินมาจ้างท่านต่อไป ในเมื่อไม่มีนักศึกษาและขาดทุน มหาวิทยาลัยเองก็ใช่ว่าจะไปรอดได้ง่ายๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นพนักงานควรวางแผนทางการเงินให้ดี อย่าได้ประมาท เนื่องจากไม่มีบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบราชการที่จะดูแลพนักงานมหาวิทยาลัยหลังเกษียณ ทุกวันนี้อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงในงาน (Job security) ต่ำมาก ความไม่ประมาทจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรพัฒนาตนเองให้มีความสามารถพิเศษหลายๆ ด้าน อาจจะมีงานหรือธุรกิจอื่นที่ทำนอกเวลาราชการได้ ควรจะต้องออมและลงทุนให้เป็น เพราะสถานการณ์จะเป็นนายของทุกคนในอีกไม่นาน


http://goo.gl/72BPC