ทาน และ การบริจาคอวัยวะ
ละความชั่ว ทำความดี
ถวายพุทธบูชา
รรมปฏิบัติที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ในวันแรกที่ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันต์ที่มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายที่เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงหลักสำคัญในการปฏิบัติธรรม และการเผยแพร่พระสัทธรรมไว้ ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือ ละชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ใส
รื่องของการละชั่ว ได้แก่ ความประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีที่เป็นบาปอกุศล ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี ซึ่งมีลักษณะหรือสภาวะที่เป็นความเบียดเบียนตนเองด้วย และเบียดเบียนผู้อื่นด้วย อันนั้นเป็นความชั่ว และความชั่วนั้น เมื่อผู้ใดประพฤติปฏิบัติไปแล้ว ให้ผลเป็นโทษเป็นความทุกข์เดือดร้อนทั้งแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่นผู้เกี่ยวข้องด้วย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และแม้ข้ามภพ ข้ามชาติ กล่าวคือเป็นชนกกรรมนำให้ไปเกิดในที่ ๆ ไม่สบายเรียกว่า ทุคติภูมิ มี ภูมิเปรต สัตว์นรก อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เป็นต้น หรือแม้ว่าได้อัตภาพมาในสุคติภพก็ยังเสวยผลของกรรมชั่วที่ติดตามให้ผลมาเป็นความทุกข์เดือดร้อนต่อ ๆ ไป พระพุทธองค์จึงทรงแสดงข้อปฏิบัติธรรม และข้อเผยแพร่ธรรมะเป็นหลักไว้ในใจว่า ละชั่วด้วยกาย วาจา ใจ
ส่วนการที่ตรัสให้บุคคลประกอบกรรมด้วยกาย วาจา ใจ เป็นประเด็นที่จะกล่าวถึงมี ทานกุศล เป็นแม่บทใหญ่ของการกระทำความดี คือ ทานกุศล หรือ จาคะ ส่วนการทำใจให้ผ่องใสได้แก่ การเจริญภาวนาสมาธิ อันจะเป็นเหตุให้ เป็นปัจจัยให้ได้เจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวะธรรม และสัจจธรรมตามความเป็นจริง อันนั้นชื่อว่า “สมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน” ที่เราปฏิบัติกันอยู่เสมอ ๆ ในส่วนที่ให้ทำดีด้ว ยกาย วาจา ใจ
ทาน คือ การให้ ส่วน จาคะ คือ การเสียสละ วามประพฤติปฏิบัติที่เป็นคุณความดีนั้นมีมาก แต่ ทานกุศล คือ ความประพฤติปฏิบัติที่เป็นคุณความดี ได้แก่ ทาน คือ การให้ หรือ จาคะ คือ การเสียสละ เป็นแม่บทใหญ่ซึ่งขยายหรือกินความกว้างออกไปถึงธรรมปฏิบัติข้ออื่น ๆ ด้วย พระโพธิสัตว์หรือมหาบุรุษที่จะบำเพ็ญบารมี เพื่อความบรรลุมรรคผลนิพพานและความบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้าก็ตาม ย่อมต้องบำเพ็ญ ทานบารมี เป็นหลักฐานสำคัญในเบื้องต้น และทานบารมีนี้ยังเป็นอุปการะแก่คุณความดีข้ออื่น ๆ ให้เจริญงอกงามไปด้วย และเฉพาะทานกุศลเองยังเจริญขึ้นเป็น ทานบารมี เป็น ทานอุปบารมี และ ทานปรมัตถบารมี ต่อไปตามลำดับ นี่เป็นหนึ่งในบารมี 10 ทัศ ซึ่งผู้ใดประกอบบำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ข้อ ให้เต็มส่วนถึงปรมัตถบารมีแล้ว ผู้นั้นย่อมมีพลวปัจจัย คือ กำลังที่จะเป็นปัจจัยแก่การปฏิบัติธรรมให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เรื่องทานกุศล จึงนับเป็นแม่บทใหญ่ แม่บทสำคัญและเป็นธรรมปฏิบัติที่อยู่ใกล้ตัว เพราะการที่จะเสียสละหรือบริจาคสิ่งที่ยังความสุขความเจริญแก่ตนให้แก่ผู้อื่นนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องมีคุณความดีข้ออื่นประกอบด้วยหลายประการ ทานกุศลข้อเดียว ซึ่งกินความถึงจาคะคือ การเสียสละด้วยนั้น พิจารณาในวงแคบก็แค่การให้ กว้างออกไปคือการเสียสละ และย่อมเกี่ยวเนื่องกับเมตตา กรุณาพรหมวิหารซึ่งเป็นธรรมเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ ที่จะมองเห็นสัตว์โลกอื่นด้วยใจจริงว่า เราปรารถนาสุขไม่ปรารถนาความทุกข์โศกโรคภัย ภยันตรายใด ๆ เราปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตของตนทั้งในระดับโลก ๆ และถึงพ้นโลกกล่าวคือ เรามีความปรารถนาในความสุขความเจริญด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ถึงนิพพานสมบัติเพียงใด สัตว์โลกอื่นก็ประสงค์เช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทานกุศล คือคุณความดีที่เราจะเสียสละไป จึงเนื่องไปถึงคุณธรรมข้ออื่นอีกหลายข้อ ครอบคลุมไปถึงการละชั่วจากความเสียสละความสุขส่วนตัวของเรา ไปจนถึงปฏิบัติธรรมเพื่อชำระกิเลสเหตุแห่งทุกข์แล้วประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นด้วย
จุดเริ่มต้นการละกิเลส
านกุศลหรือจาคะกินความหมายกว้างจนถึงกิเลสประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัวจัด ความตระหนี่เหนียวแน่น ฯลฯ จึงครอบคลุมไปถึงธรรมะในข้อละชั่วและทำใจให้ใสด้วย เพราะการละชั่ว เมื่อละทางกาย ทางวาจา กายและวาจาก็สงบ เมื่อละความชั่วหรือบาปอกุศล คือ ความมัวหมองในจิตใจด้วยกิเลสหยาบ ได้แก่ ความโลภ และความเห็นแก่ตัวจัด เป็นต้น ไปถึงกิเลสกลาง ๆ ที่เรียกว่า กิเลสนิวรณ์ จิตใจก็ผ่องใส ก็ไปเข้าในข้อที่ว่า ทำใจให้ใส และเมื่อถึงละอวิชชาความไม่รู้พระสัจจธรรมตามที่เป็นจริง ละความหลง ปัญญาย่อมเกิดขึ้นเจริญขึ้น หมายถึง คุณความดีที่สูง ที่ประเสริฐที่ละเอียดขึ้นไปถึงทำใจให้ผ่องใสและบริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์ใจก็สงบ เมื่อใจสงบก็ถึงนิพพาน ทานกุศลข้อเดียวจึงกระจายขยายคุณธรรมไปถึงเพียงนั้น และจำเพาะข้อพรหมวิหารธรรม ทานกุศล หรือจาคะ เมื่อเจริญขึ้นแล้วยังคลอบคลุมถึงคุณธรรมข้อนั้นทั้ง 4 ประการ คือ 1) เมตตา 2) กรุณา 3) มุทิตา 4) อุเบกขา
รหมวิหาร ทำไมถึงเป็นอุเบกขาด้วย ? เมื่อใจได้รับการอบรมให้หยุดให้นิ่ง เพื่อชำระกิเลสนิวรณ์ออกจากใจหยุดนิ่งละเอียด เข้าไปให้ใจใสสะอาดบริสุทธิ์ไปเพียงใด ใจก็เป็นอุเบกขาไปเพียงนั้นด้วยการข่มกิเลส แต่พอเจริญเมตตา กรุณาธรรม ปรารถนาให้สัตว์เป็นสุขและพ้นทุกข์และให้เจริญรุ่งเรืองด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนถึงจุดหนึ่ง คือ จุดที่ละวาง อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นเสียได้มากเพียงใดจิตใจก็เป็นอุเบกขา คือ ไม่ยินดียินร้าย เพราะเห็นด้วยปัญญาว่า เราช่วยสัตว์โลกได้เท่าที่ทำได้แล้วเลยนั้นไปช่วยอะไรไม่ได้ ก็ต้องวางใจเป็นอุเบกขา ทานกุศลอันกินความถึงจาคะนั้น จึงขยายเขตออกไปถึงพรหมวิหารธรรมทั้ง 4 ประการด้วย ถึงละชั่ว ทำดี ทำใจให้ใสอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาด้วย และเมื่อเจริญยิ่งขึ้นไปเพียงใดก็ย่อมเป็นอุปการะ ครอบคลุมไปถึงคุณธรรมข้ออื่นที่เป็นการทำดีด้วย กาย วาจา ใจ ตลอดถึงกันหมด โดยมีทานกุศลและจาคะเป็นแม่บทสำคัญเป็นตัวยืน เมื่อเป็นเช่นนี้เราทั้งหลายพึงเห็นความสำคัญของทานกุศล ซึ่งจะเจริญและเป็นอุปการะแก่คุณธรรมข้ออื่น ๆ ขยายขอบข่ายให้กว้างขวางและสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปเช่นนี้
ทานกุศล
บริจาคโลหิต
ราลองมาพิจารณาดูว่าทานกุศลทำได้กี่วิธี ? ทานกุศล แบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ 1) อามิสทาน 2) ธรรมทานและอภัยทาน ดังจะได้อธิบายโดยลำดับ ดังต่อไปนี้
1.อามิสทาน คืออะไร การบริจาคหรือการเสียสละทรัพย์สินเงินทองข้าวของ ตลอดทั้งกำลังกายและสติปัญญาความรู้ความสามารถของตนเอง เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยคุณธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา พรหมวิหาร การเสียสละวัตถุสิ่งของหรือสิ่งที่เนื่องกัน เช่น กำลังกาย สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า อามิสทาน เมื่อเราบริจาคหรือเสียสละไปแล้ว เป็นกุศลคุณ
ความดี มีอานิสงส์หรือมีผลอย่างไร ?
มีผลเกิดขึ้นทั้งในทางจิตใจของเราและมีผลที่เรียกว่าเป็น วิบาก คือ จะมีผลของกรรมนี้ให้บังเกิดผลแก่ตน ถ้าจะว่าถึงคุณความดี คือ ทาน หรือ จาคะ คือการเสียสละเช่นนี้ เมื่อมีการเสียสละไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ประการแรกที่เห็นชัดเจน คือ ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างขวางเปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา แก่สรรพสัตว์โลกอื่น คุณธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วในใจและมีปกติเป็นผู้มีจิตใจที่ถูกชำระความตระหนี่ เหนียวแน่น ความเห็นแก่ตัว จำเพาะตัว จำเพาะตน จำเพาะหมู่เหล่าให้หมดสิ้นไป
ทานกุศล จึงเป็นธรรมชาติชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสประเภทโลภเกินเหตุ เกินต้องการ เห็นแก่ตัว ตระหนี่เหนียวแน่นจนเกินไป กิเลสเหล่านี้ถ้ามีขึ้นแล้ว มีแต่โทษต่อตนเอง เพราะตนไม่ได้รับประโยชน์สุขจากทรัพย์สมบัตินั้นทั้งสิ้นปวง และยังไม่ให้ความสุขแก่ผู้อื่น จะไปหามิตรแท้ที่จะมาคบค้าสมาคมอย่างเสมอกันได้ที่ไหน หรือจะมีมิตรหรือผู้น้อยเข้ามาพึ่งพาอาศัยได้จากไหน คนใจแคบย่อมมีเพื่อนแท้น้อยลง ที่จะถูกชักนำไปสู่คุณธรรมความดีเป็นทางบุญทางกุศลย่อมเป็นไปด้วยยาก เพราะไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย แต่ผู้ที่ให้ด้วยใจเปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาพรหมวิหาร ไปจนถึงอุเบกขาพรหมวิหาร ไปที่ไหนมีแต่มิตร ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ มีเทพยดา เป็นต้น เทพยดาต่างอยู่ดีมีสุขจนไม่รู้ว่าจะให้อะไรแก่กันและกัน เป็นต้น เทพยดาต่างอยู่ดีมีสุข จึงไม่รู้ว่าจะให้อะไรกัน แต่เทพยดามีสิทธิ์ที่จะอนุโมทนาส่วนบุญที่มนุษย์ประกอบการบุญการกุศล อย่างเช่นทานกุศล เป็นต้นได้ เขาย่อมมีโอกาสได้อนุโมทนาบุญด้วย ส่วนสัตว์อื่นแม้แต่สัตว์ดิรัจฉานเมื่อเราให้ทานไป ผลของทานนั้นย่อมได้มิตร หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่มีศัตรู เพราะว่าทานกุศล หรือ จาคะที่จะเกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้นด้วยพรหมวิหารธรรม กุศลในอดีตส่งผลปัจจุบันใจก็ต่อใจ เรื่องนี้เคยมีอยู่ในสมัยพุทธกาลว่า
ในสมัยหนึ่งเกิดข้าวยากหมากแพง พระโมคคัลลานะรับอาสาพระพุทธเจ้าว่าพระภิกษุสงฆ์อัตคัตขัดสนเหลือเกิน ภัตตาหารบิณฑบาตไม่ค่อยได้ ต้องฉันแต่ข้าวตูข้าวแห้ง อดอยากมาก เพราะข้าวยากหมากแพง ประชาชนอดอยาก เคยอาสาที่จะพาพระพุทธเจ้าด้วยฤทธิ์และคณะภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไปบิณฑบาตที่อุตตรกุรุทวีป ไปอยู่ที่นั่นสักระยะหนึ่งเพื่อจะไม่อด แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ในขณะนั้นก็มีพระภิกษุสงฆ์จากทิศต่าง ๆ บ้างก็เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า และมานมัสการพระเถระผู้ใหญ่ บางรายมาด้วยความซูบผอมเพราะอดอยาก บางรายก็มาด้วยความเปล่งปลั่ง เพราะมาจากถิ่นที่มีอยู่มีกิน ปรากฏว่ามีภิกษุสงฆ์ชุดหนึ่ง ความอดอยากมีน้อยเพราะว่าไปบิณฑบาตหมู่บ้านนั้น ปรากฏว่าประชาชนในหมู่บ้านนั้น ๆ ที่ยากจน เกิดความรู้สึกเวทนาสงสารภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นเหมือนบุตร พยายามแบ่งภัตตาหารถวายพระไปส่วนหนึ่งเสมอ พระพุทธองค์ทรงทราบก็ทรงแสดงมูลเหตุที่พระภิกษุที่อยู่ในถิ่นกันดารแต่ไม่อดอยากนั้นว่า พระภิกษุชุดนี้เมื่ออดีตชาติได้เทเศษอาหารและตั้งจิตเป็นกุศลขอให้อาหารเป็นที่อิ่มหนำสำราญของมด มดเหล่านี้ได้รับอาหารจากพระภิกษุเหล่านี้พอยังชีวิต เมื่อเกิดมาในหมู่บ้านนั้น และพอดีพระภิกษุเหล่านี้เกิดมาอีกชาติหนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้ผ่านมาบิณฑบาต ชาวบ้านเหล่านั้นก็เกิดมีความรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นลูกหลาน เกิดเวทนาพระขึ้นมามาก จึงใส่บาตรเป็นประจำนี้แม้ว่าเราบริจาคทานตั้งจิตให้เป็นกุศล เป็นพรหมวิหาร แล้วให้ทานแก่สัตว์ดิรัจฉาน ยังได้อานิสงส์ถึงเพียงนี้ ถ้าเราหรือบุคคลใดบริจาคทาน ให้ทาน เสียสละทรัพย์สินเงินทองความสุขส่วนตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นตามควรแก่ฐานะแล้ว ผู้นั้นไม่ว่าจะไปถิ่นแคว้นแดนไหนย่อมไม่ตกต่ำ ย่อมมีแต่มิตรคอยอุปการะทุกเมื่อเป็นอย่างน้อยที่สุด นอกจากนั้นทานกุศลในส่วนที่เป็นอามิสทาน ยังเป็นพลวปัจจัยส่งผลเป็นวิบากคือ ผลของกรรมดีให้เป็นมนุษย์สมบัติบังเกิดมีแก่ผู้มีปกติจากการบริจาคทานนั้นด้วย
มนุษย์สมบัติได้มาอย่างไร
มนุษย์สมบัติมี “รูปสมบัติ” คือ ให้เป็นบุคคลที่งดงามด้วยกิริยามารยาท น่ารักน่าใคร่ ผิวพรรณ หน้าตา น่าดูน่าชม “ทรัพย์สมบัติ” และ “คุณสมบัติ” เพราะว่าให้ทานแก่บุคคลซึ่งจะสืบต่อหรือจะเจริญคุณความดีสืบต่อไป ให้ได้ทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ความดีนั้นย่อมมีผลสนองกลับเข้ามาสู่ผู้บริจาคทานนั้นเอง ผู้อุปการะหรือผู้อุปัฏฐากนั้นเอง ให้ได้รับผลเป็นคุณธรรมกลับมาเป็นสมบัติส่วนตนเรียกว่า “คุณสมบัติ” ให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด รู้จักเอาตัวรอดได้ด้วยวิธีการอันชอบ และมี “บริวารสมบัติ” เป็นต้นทั้งนี้เพราะสืบเนื่องมาว่าทานกุศลกินความไปถึงคุณธรรมดีข้ออื่นอีก
บุญต่อบุญ
ทานกุศล เมื่อเราทำไปแล้วเราอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์โลกใด ๆ ก็ตาม มีผลอุปมาเหมือนว่าเราจุดเทียนเล่มใหญ่ เมื่อเราอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ใดหรือสรรพสัตว์โลกทั้งหลายไม่มีประมาณก็เหมือนกับเราเปิดประตูหน้าต่างให้สรรพสัตว์โลกทั้งหลายมาต่อเทียนกับเรา เมื่อสรรพสัตว์โลกทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ด้วยกัน เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสหธรรมิกคือผู้มีธรรมเสมอกัน หรือแม้แต่สัตว์โลกในหมู่อื่น ๆ ที่พอจะรู้บุญกุศลอันเรากระทำแล้วมาอนุโมทนาบุญได้ ได้ร่วมอนุโมทนาบุญด้วย อุปมาเหมือนว่าสรรพสัตว์โลกอื่นทั้งหลายต่างก็มาขอต่อเทียนจากเรา แต่ละคนมีเทียนมาคนละเล่ม เมื่อเขามาต่อเทียนมากเท่าใด แสงสว่างจากคนอื่นสะท้อนถึงเราด้วยหรือไม่ ? เราย่อมสว่างยิ่งขึ้นไปอีก ฉันใดฉันนั้น การอุทิศส่วนบุญมิได้ทำให้บุญหมดไป แต่กลับจะมีเพิ่มมากขึ้น และความมีเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้จิตใจสว่างไสวมากขึ้น สะอาดบริสุทธิ์มากขึ้น ไม่เห็นแก่ตัว ส่วนผู้ที่มาอนุโมทนาบุญก็เป็นคนที่ไม่อิจฉาริษยา รู้ว่านี่เป็นคุณความดีก็อนุโมทนาคุณความดีเช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แปลว่า ดีต่อดีมาพบกันก็ยิ่งดีประเสริฐ “การอุทิศส่วนบุญ” และ “การอนุโมทนาบุญ” จึงจัดเป็นทานกุศลเหมือนกัน คำว่าทานกุศลจึงไม่จำเพาะแต่ว่าเสียสละด้วยตนเองเท่านั้น เราอุทิศให้คนอื่นด้วยก็เป็นทานกุศล ผู้อื่นอนุโมทนาบุญกับเราด้วยก็เป็นทานกุศล และแม้ “การขวนขวายช่วยการบุญการกุศลโดยชอบ” ก็เป็นบุญเช่นกัน นี่ก็เป็นทานกุศลเช่นกัน เช่นว่าทอดกฐินเราก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผ้าป่าสามัคคีก็ช่วยกันเป็นบุญเป็นกุศลหมด มาถึงสถาบันไม่นิ่งดูดาย เห็นอะไรรกรุงรังก็ช่วยกันเก็บ ช่วยกันแก้ไข เห็นต้นไม้มันเหี่ยวแห้งก็ช่วยกันรดน้ำ บุญกุศลเป็นของเราทั้งสิ้นนี่เรียกว่าขวนขวายช่วยการบุญ บุญกุศล ดีอย่างไร ? ช่วยอย่างนั้น ต้นไม้เจริญงอกงาม เราเองมานั่งธรรมะลมเย็น ๆ ก็อาจถึงธรรมะได้ หรือบุคคลอื่นมานั่งธรรมะลมเย็น ๆ ถึงธรรมะผลของกุศลที่เราช่วยทำนุบำรุงต้นไม้ก็สะท้อนถึงเราหมดเรียกว่าขวนขวายช่วยการบุญก็เป็นทานกุศล บุญกุศลจากการชักนำผู้อื่นให้มาร่วมการบุญการกุศล และการอุทิศส่วนบุญอย่างนี้ ย่อมมีผลให้เป็นผู้เจริญด้วยบริวารสมบัติ เพราะมีแต่พรรคพวก คำว่า “บริวาร” อย่าไปนึกว่ามีแต่ลูกน้อง หรือว่าคนอื่นทำบุญแล้วเราไปอนุโมทนาบุญกับเขา แล้วจะไปเป็นลูกน้องคนอื่นเขา คำว่าบริวาร จริง ๆ แท้ ๆ ณ ที่นี้หมายถึง ผู้ที่จะมาอุปการะช่วยเหลือเราได้ เช่นเราไปชักจูงผู้หลักผู้ใหญ่มาทำบุญทำกุศล มีทานกุศล เป็นต้น อันนั้นผู้ใหญ่ที่มาย่อมเข้าใจในบุญกุศลมิตรจิตมิตรใจก็เกิดขึ้น ผลคือว่าต่อไปในกาลข้างหน้า เมื่อเรามีปัญหาใด ๆ มีอันตรายใด ๆ เราก็ได้สหายหรือเพื่อน คือผู้ใหญ่ที่สูงกว่าเราคอยช่วยเหลือเราแล้วแต่บุคคลที่เราชักชวน ที่สูงกว่าเราก็มี เสมอกับเราก็มี ต่ำกว่าเราก็มีและผู้ที่อนุโมทนาบุญกับเรา อนุโมทนาบุญเฉย ๆ ก็ได้บุญ และบุญนั้นทำให้เราไปเป็นลูกน้องเขาหรือ ? อาจจะเป็นก็ได้ คำว่าบริวาร ณ ที่นี้มิได้กินความแต่ว่า “ลูกน้อง” อาจจะเป็นญาติเป็นมิตร เป็นลูกหลานเป็นเพื่อนสนิทก็ได้ แต่ว่าถ้าเราเองผู้อนุโมทนาบุญรู้จักขวนขวายที่จะทำบุญเองและที่จะเป็นหัวหน้าหรือผู้นำบุญด้วย ก็มีสิทธิ์ที่จะเจริญขึ้นตามฐานะได้และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็กลายเป็น “บุญต่อบุญ” ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด ทำงานใด ๆ ก็ย่อมจะมีแต่ผู้อุปการะทั้งบุคคลเสมอกัน ต่ำกว่ากัน และสูงกว่ากัน บริวารสมบัติ ณ ที่นี้กินความหมายกว้างเช่นนี้ อย่านึกว่าบริวารคือลูกน้อง เป็นได้ทั้งนั้นไปตามส่วนของบุญ สมมติว่าขณะใดบุญบารมียังไม่ส่งถึงให้เราเป็นใหญ่เป็นโตถึงไหนก็แล้วแต่ เราก็อาจเป็นมิตร อาจเป็นลูกน้องญาติสนิทใกล้ชิดถึงสายโลหิตของผู้ที่ทำบุญทำกุศลนั้น ในขณะนั้นก็ได้เสวยผลบุญเป็นความสุขไปด้วยกันไม่เสียหายแต่อย่างใด
ผู้นำคน - เกิดจากผลผู้นำบุญ
เมื่อใดบุญส่วนที่เรานำคนอื่นให้ผล บุญจากการที่เคยชักนำผู้อื่นให้ร่วมการบุญการกุศลหรือที่เราเคยอุทิศส่วนบุญนั้นก็ส่งให้เราได้ในลักษณะของผู้นำนั้นอยู่แล้ว ทานกุศลหรือจาคะคือการเสียสละ มีผลให้ได้ทั้งชำระจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์จากกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโลภจัด ความเห็นแก่ตัวจัด ความทะยานอยากไม่รู้จักจบสิ้น ความสะสมจนเกินจำเป็น อันเป็นเหตุให้ต้องบริหารดูแล ปกปักษ์รักษาจนเกินจำเป็น ให้เป็นผู้มีความสันติสุขด้วยการรู้จักปล่อย รู้จักวาง รู้จักพอดี กิเลสตัณหาอุปทานก็ลดลงความสันติสุขก็เกิดขึ้นกับบุคคลเช่นนี้เพราะความสันติสุข ถ้าไม่มีคุณธรรมดังกล่าวต่อให้ร่ำรวยเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ต่อให้อยู่ในฐานะใด ๆ ย่อมมีความทุกข์น้ำตาไหลได้อยู่เสมอ โศกเศร้าอาดูรเสียยิ่งกว่าคนที่มีฐานะปานกลางเสียอีก ความสุขมิได้อยู่ที่ทรัพย์เสมอไป แต่อยู่ที่ความพอเหมาะพอดี ด้วยมนุษย์สมบัติทั้งสิ้นทั้งปวง และละเอียดขึ้นไปเป็นสวรรค์สมบัติ สูงขึ้นไปเป็นนิพพานสมบัติที่เป็นไปเช่นนั้นได้ก็ด้วยบุญ เมื่อทำมาก ๆ เข้า ใจก็ใสสะอาดบริสุทธิ์ ธรรมชาติของบุญเมื่อใจใสสะอาดบริสุทธิ์ ธาตุธรรมของเราก็สะอาดบริสุทธิ์ไปตามด้วย ด้วยบุญอยู่ที่กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ตรงศูนย์กลางกายของเรา และดวงบุญนี้เมื่อประกอบการบุญการกุศลต่าง ๆ เช่นนี้ อย่างเช่นทานกุศลจนดวงบุญโตหนึ่งคืบของตัว จะกลั่นตัวเองหรือเรียกว่า “แก่กล้า” ดวงบุญจะกลั่นตัวเองอยู่ตลอดเวลาเป็น “บารมี” ได้ประมาณ 1 องคุลีมือของผู้เป็นเจ้าของ และเมื่อบารมีนั้นแก่กล้ากลั่นตัวเองจนเต็มโตเต็มส่วน 1 คืบของตัวเองโดยประมาณจะกลั่นตัวเองเป็น “อุปบารมี” ได้ 1 องคุลีมือ และอุปบารมีเมื่อแก่กล้ามากเข้าเต็มส่วน 1 คืบ จะกลั่นตัวเองเป็น “ปรมัตถบารมี” ได้ 1 องคุลีมือของผู้เป็นเจ้าของโดยประมาณ และถ้าคุณความดี 10 อย่างคือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา เจริญแก่กล้าเป็นปรมัตถบารมีเต็มส่วน 1 คืบของผู้เป็นเจ้าของ ผู้นั้นย่อมมีพลังหรือมีพลวปัจจัยที่จะให้ประพฤติปฏิบัติธรรมกำาจัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้ และสามารถบรรลุพระอรหัตผลได้ในชาตินั้น ในระดับปกติสาวก แต่ถ้าปรารถนาที่จะบำเพ็ญบารมีมี่สูงไปกว่าปกติสาวก เมื่อตั้งจิตอธิษฐานบารมีนั้นไปแล้ว คุณความดีที่จะเป็นบุญเป็นบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมีนั้นก็มีขอบเขตที่ใหญ่ไปกว่าประมาณ 1 คืบของตัวตามส่วน เช่น ผู้ปรารถนาเป็นเอตทัคคะคือ มีความชำนาญพิเศษ เป็นพระอสีติมหาสาวกหรือพระอัครสาวาก หรือพุทธอุปัฏฐาก พุทธบิดา พุทธมารดา เป็นต้น สูงขึ้นไปเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องบำเพ็ญบารมีมากขึ้นไป พระสัพพัญญูพุทธเจ้า เช่นพระพุทธเจ้าของเรานี้ก็ต้องบำเพ็ญบารมีนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์จึงจะยังบารมีให้เต็ม เป็นปรมัตถบารมี สำหรับจะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัพพัญูพุทธเจ้าในชาตินั้น
ทานปรมัตถ์
ความเสียสละ ความบริจาค เราจะดูผู้ที่มีบุญบารมีแก่กล้าเพียงใด ให้ดูว่าความเสียสละอย่างไม่เสียดาย และอิ่มใจอยู่ในความเสียสละนั้น ทั้งก่อน ขณะ และภายหลังกี่มากน้อยกล้าเสียสละด้วยใจอันบริสุทธิ์ด้วยศรัทธาในทานกุศลนั้นกี่มากน้อย หยิบยกเอาพระชาติสุดท้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดท้ายก่อนที่จะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงบำเพ็ญบารมีเฉพาะในส่วนทานปรมัตถบารมี เรียกว่า “มหาบริจาค” หรือเรียกว่า “มหาปัญจบริจาค” บริจาคได้ทั้ง 5 อย่าง คือ
  1. ธนบริจาค ทรงบริจาคทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของ แม้กระทั่งข้าทาสบริวารให้เป็นทานได้ไม่เสียดาย มีจิตใจเปี่ยมด้วยทานกุศลด้วยศรัทธา ทั้งก่อน ทั้งขณะและภายหลัง เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
  2. อังคบริจาค ทรงเสียสละอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กระทั่งเนื้อ หัวใจ นัยน์ตา ควักให้คนอื่นนับไม่ถ้วน  โลหิตสละให้แก่คนอื่นนับไม่ถ้วน  แม้ศีรษะของพระองค์ได้ถวายให้เป็นทานแก่ผู้อื่นมาแล้วนับไม่ถ้วนเช่นกัน เพื่อยังพระบารมีให้เต็ม
  3. ชีวิตบริจาค แม้ชีวิตก็ทรงบริจาคสละให้เป็นทานได้และทรงสละให้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
  4. ปุตตบริจาค บุตรก็ทรงบริจาคได้และทรงบริจาคมาแล้ว
  5. ทารบริจาค ภรรยาก็ทรงสละได้ ให้เป็นทานได้ ใครมาขอให้ไปหมดในสมัยที่เสวยพระชาติเป็นพระมหาเวสสันดรท่านบริจาคให้หมดแม้บุตร ภรรยา ซึ่งเสมอด้วยลมปราณ ก็บริจาคเสียสละ
านบารมี
ความบริจาคเหล่านั้นเป็นผลดีอย่างใดในการบำเพ็ญบารมี เบื้องต้นคนที่ไม่มีทานบารมี หรือไม่มีทานกุศล ความขัดสนกันดารมันเกิดขึ้น แม้จะบวชเป็นพระก็อดอยาก ถ้าดูให้ละเอียดแล้วบางทีจะทราบว่าพระที่ไปธุดงค์ถ้าเป็นผู้มีทานบารมีจะไม่อด หมายถึงไปโดยธรรมมิได้หมายถึงไปอย่างอธรรม ถ้าโดยอธรรมหมายถึงไปธุดงค์เข้าเมือง เข้าตลาด ปักกลดอยู่ชายบ้าน มีศีลไม่บริสุทธิ์ อย่างเช่นพระที่อยู่ในวัดบางทีพระลูกวัดเพื่อนสหธรรมมิกไปทำความเสียหายมาก กระเทือนถึงพระอื่น ๆ บิณฑบาตแล้วไม่ได้ แสดงว่าพระที่เป็นเพื่อนสหธรรมิกกันเวลาเมื่อสมัยเขาให้ทานกันก็อาจเคยเข้าไปขัดข้อง ขัดทางบุญเขา ผลจึงปรากฏออกมาว่าพระลูกวัดองค์หนึ่งไปทำเสีย ทำให้ประชาชนขาดความเลื่อมใสศรัทธา พระอื่น ๆ เหล่านั้นเวลาไปบิณฑบาตที่ไหน พอเขารู้ว่าอยู่วัดเดียวกันเลยไม่ให้ได้รับภัตตาหารไปด้วย ทานกุศลที่ไม่ได้ทำเองด้วยแล้วยังขัดทางบุญกุศลของผู้อื่นอีกด้วยจึงมีผลเช่นนี้ ถ้าว่าผู้มีทานกุศลหรือมีทานบารมี บางทีท่านไปในป่าลึก ๆ เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ด้วยก็ปรากฏว่าอมนุษย์มาใส่บาตร เทพยดามาใส่บาตร พระทีเล่าหรือข่าวที่ว่านี้เป็นเรื่องที่เชื่อถือได้พอสมควร นี่เป็นทานกุศลในส่วนของอามิสทานอย่างเดียว
2.ธรรมทานและอภัยทาน คือ การให้ธรรม และการให้อภัยเป็นทาน ในพระธรรมบทพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ “สพพทานํ ธมมทานํ ชินาติ” ธรรมทานชนะการให้ทานอื่นทั้งปวง อย่างไรจึงเรียกว่า “ธรรมทาน” ? ปฏิบัติธรรมเอง เพื่อชำระกิเลสออกจากกาย วาจา ใจของตนเอง ตั้งตนอยู่ในคุณความดี เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นเรียกว่า แจกธรรมะ ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ที่ดำเนินชีวิตประจำวันพูดแต่คำพูดไม่ดี ทำแต่กรรมที่ไม่ดี คิดแต่ความคิดที่ไม่ดีมาตลอด ประพฤติปฏิบัติตัวอย่างที่เลวแก่ผู้อื่น ชื่อว่าแจกอธรรม ธรรมทานต้องปฏิบัติเองเพื่อละชั่ว ทำดี ทำใจให้ใส เพื่อชำระกิเลสหยาบ กลาง และละเอียด ๆ ยิ่งขึ้นไปถึงวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์แห่งใจ แล้วจึงจะพบสันติสงบ และจะถึงนิพพานคือความดับกิเลสไม่มีเหลือ จะถึงนิพพานต้องเป็นลำดับจนถึงที่สุดอย่างถาวรนี่เรียกว่าธรรมทาน เบื้องต้นเป็นปฐมคือทำความดี ละชั่ว ทำใจให้ใสเองทั้งหมด และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น แล้วยังให้การแนะนำสั่งสอนอบรมผู้อื่นให้ประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรม พระวินัย และสนับสนุนอุปการะแก่ความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่นนั้นของบุคคล หรือคณะบุคคล ผู้ที่กำลังเพียรประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อชำระกิเลสแห่งทุกข์นั้นให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตรงนี้ก็ยิ่งด้วยธรรมทานไปอีก
สุดยอดของทาน ความสนับสนุนด้วยทั้งธรรมทานกับด้วยอามิสทานสูงขึ้นไปเพียงใดย่อมยังผลให้เจริญด้วยบุญบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมีเจริญแก่ตนเร็วขึ้นไปเพียงนั้น ผู้ที่ประกอบอามิสทานเฉย ๆ เป็นความดีชั้นต้น ถ้าได้ประกอบธรรมทานอันเป็นคุณความดีชั้นกลางและชั้นสูงเข้าไปด้วย รวมเป็นคุณความดีชั้นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ถึงที่สุด และยิ่งไปสนับสนุนบุคคลก็ดี คณะบุคคลก็ดีที่ทั้งประพฤติธรรมเองด้วย อบรมสั่งสอนคนอื่นด้วย กว้างขวางเพียงใด หากให้การทำนุบำรุงบุคคลหรือคณะบุคคลเช่นนั้น บุญกุศลที่เกิดขึ้นกับตนย่อมทับทวีทั้งในส่วนที่เป็นคุณความดีของตนเองโดยตรง และในส่วนที่เป็นคุณความดีกับผู้ที่เราอุปการะ คณะบุคคลที่เราอุปการะนั้นได้ประกอบคุณความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป บุญบารมีก็ยิ่งเพิ่มส่วนเป็นอัตราบวกหรืออัตราทวีคูณแก่เราต่อไปตามลำดับ นี่คือธรรมทานด้วยย่อมจัดว่าเป็นเลิศ ถ้าทำนุบำรุงบุคคลและคณะบุคคลก็ดีหรือบุคคลทั่วไปก็ดี หรือผู้ประพฤติธรรม ผู้แนะนำสั่งสอนคนอื่น ณ ที่ใด ๆ ก็ตาม ต้องดูไปอีกว่าบุคคลนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาส พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ใด ๆ ก็ตามว่าเจตนาความคิดอ่านในความประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบที่จะประพฤติปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป บริสุทธิ์สมบูรณ์และบริบูรณ์เพียงใด ถ้ายิ่งบริสุทธิ์เราไปทำนุบำรุง ผลก็ยิ่งเกิดแก่เราอย่างบริสุทธิ์ คือไม่มีส่วนเสีย และหากเราต้องเวียนว่ายตายเกิดเราก็จะได้อยู่ในหมู่คนกลุ่มคนที่มีสติปัญญาอันเห็นชอบ นำเราไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแต่อย่างเดียว ไม่ประกอบด้วยทุกข์ ไม่ประกอบด้วยโทษ ไม่ประกอบด้วยภยันตรายเพียงนั้น
ย่างไรเรียก อภัยทาน ? เมื่อบุคคลเจริญธรรมขึ้นด้วยทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศลเพื่อละชั่ว ทำดี ฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องใสและอบรมปัญญาให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นเพียงใด ความเข้าใจ ความซึ้งใจในบาปบุญคุณโทษก็เจริญมากขึ้น และพรหมวิหารธรรมอันมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เจริญขึ้นเป็นบุญบารมี เป็น เมตตาบารมี และ อุเบกขาบารมี อุปบารมี และ ปรมัตถบารมียิ่งขึ้นเพียงนั้น ความเห็นอกเห็นใจเข้าใจในความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสัตว์โลกผู้ยังมีจักษุอันมืดบอดด้วยความหลงผิด จึงคิดผิด พูดผิด ทำผิด ๆ ในเราก็มีมากขึ้น ความรักปรารถนาให้สัตว์โลกเป็นสุขด้วยเมตตาพรหมวิหารธรรม และความเวทนาสงสารปรารถนาให้สัตว์โลกให้พ้นจากความทุกข์ด้วยกรุณา พรหมวิหารธรรม แม้จะถูกกร้าวร้าว ปรามาส ล่วงเกิน และถูกก่อกรรมทำเข็ญแก่ตนมาแล้วมาก จากทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตเพียงใด ย่อมไม่ติดใจโกรธพยาบาทยิ่งขึ้น และสามารถอดทน อดกลั้นต่อความก้าวร้าว ปรามาส ล่วงเกิน ความเบียดเบียนจากสัตว์โลกทั้งหลายผู้ล่วงเกิน และผู้เบียดเบียนโดยรอบทั้งหลายเหล่านั้น ได้มากขึ้นเพียงนั้น จนถึงวางใจเป็นอุเบกขาไม่ยินดี ยินร้ายได้มั่นคงนี้ชื่อว่า “อภัยทาน” จัดเป็นทานอันเยี่ยมยอดไปอีก
พุทธประวัติเกี่ยวกับอภัยทาน มีความปรากฏในพระธรรมบทว่า พระพุทธองค์ได้ทรงเป็นผู้มีอภัยทานเป็นเยี่ยมด้วย ทานปรมัตถบารมี ตลอดถึง เมตตาและอุเบกขาปรมัตถบารมีอันได้อบรมมาดีแล้วเป็นเวลาถึง 4 อสงไขยแสนกัปป์ พระองค์ทรงได้รับการก่อกวนล่วงเกิน เบียดเบียนจากพระเทวทัตในระหว่างที่ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นับครั้งไม่ถ้วน จนแม้ถึงสมัยพุทธกาลที่ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขณะเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ก็ทรงรับพระเทวทัตให้เข้ามาบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แม้จะทรงทราบเหตุแห่งพระเทวทัตว่าจะมาก่อกรรมทำเข็ญอีก แต่ด้วยพระเมตตาและพระกรุณาว่า หากพระเทวทัตมิได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้วจะกระทำการก่อกรรมทำเข็ญหนักยิ่ง อันจะมีโทษหนักโดยที่พระเทวทัตก็จะมิได้กระทำปัจจัยที่เป็นบุญกุศลให้เป็นนิสสัยปัจจัยในภพชาติต่อไปอีก จึงทรงรับพระเทวทัตให้บวชและเมื่อบวชมาแล้วก็ก่อกรรมทำเข็ญ ล่วงเกิน เบียดเบียนพระพุทธองค์อีกมากจนได้ ทั้ง ๆ ที่ในอดีตชาตินั้นได้กระทำผิดต่อพระพุทธเจ้าอีกมากมายหลายประการ เช่น กลิ้งก้อนหินใส่พระพุทธเจ้าหมายจะฆ่าพระพุทธองค์ แต่ไม่สำเร็จ เพียงแต่พระบาทห้อพระโลหิต ให้คนปล่อยช้างนาฬาคีรีกลับคุกเข่าถวายบังคมพระองค์ สุดท้ายจึงขออำนาจในการปกครองสงฆ์เองแทนพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต จึงคิดอุบายที่จะทำสังฆเภทโดยแกล้งขอวัตถุ 5 ประการ ได้แก่
  1. ขอให้พระภิกษุทั้งหลายจงเป็นผู้อยู่ป่าตลอดชีวิต
  2. ขอให้พระภิกษุทั้งหลายจงเป็นผู้เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตตลอดชีวิต
  3. ขอให้พระภิกษุทั้งหลายจงเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต
  4. ขอให้พระภิกษุทั้งหลายจงเป็นผู้อยู่ ณ โคนต้นไม้ตลอดชีวิต
  5. ขอให้พระภิกษุทั้งหลายจงไม่ฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต

รั้นเมื่อพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ก็ถือโอกาสชักชวนพระภิกษุผู้บวชใหม่ ผู้ยังไม่รู้พระธรรมวินัยอันพระพุทธองค์ตรัสและบัญญัติไว้ดีแล้วดีพอ ให้เห็นว่าพระพุทธองค์ไม่ทรงเคร่งครัดในพระธรรมวินัยสู้พระเทวทัตไม่ได้ ถ้าใครต้องการพ้นจากทุกข์ก็จงไปกับพระเทวทัต พระภิกษุผู้บวชใหม่ยังมิได้เรียนรู้พระธรรมวินัยดีพอประมาณ 500 รูปก็เห็นดีเห็นงามไปด้วย เลยชักชวนกันไปกับด้วยพระเทวทัต พระเทวทัตได้ยังสงฆ์คือหมู่ภิกษุให้แตกแยกกันแล้ว ชื่อว่า สังฆเภท
เมื่อได้ภิกษุผู้เป็นบริวาร 500 ไปแล้วสู่คยาสีสะประเทศ พระเทวทัตและบริวารก็เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการหลอกลวงชาวบ้านผู้มักศรัทธาแต่ในวัตถุเศร้าหมอง (ลูขัปปมาณิกา) ว่า พวกตนนี้แหละเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย คือ ในวัตถุ 5 ประการที่เคยทูลขอกะพระพุทธเจ้า แต่พระองค์ไม่ทรงอนุญาตนั้น แล้วยังแสดงตนประหนึ่งว่าเป็นพระพุทธเจ้าเสียเองอีก คือนั่งบนอาสนะอันจัดไว้แบบพระพุทธ โดยให้มีพระอัครสาวกซ้ายขวา และแวดล้อมด้วยหมู่พระภิกษุเพื่อแสดงธรรม ด้วยการเยื้องกราย คือด้วยพุทธลีลาอย่างพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ตรัสให้ภิกษุทั้งหลายทราบว่า เทวทัตนั้นมิใช่ว่าจะทำตามพระองค์ในคราวนี้ แต่ว่าได้ทำตามพระองค์มาแล้วแต่อดีตชาติ และได้ทรงเล่านทีจรกากชาดกว่า ในอดีตชาติที่พระพุทธองค์ได้ทรงเสวยพระชาติเป็นกาน้ำ ชื่อว่า วีรกะ ผู้เที่ยวไปทั้งในน้ำและบนบก ผู้บริโภคปลาดิบเป็นปกติ มีกาตัวหนึ่งชื่อ สวิฏฐกะ เห็นกาน้ำวีรกะบริโภคปลาดิบอยู่เป็นประจำ อยากจะบริโภคเช่นนั้นบ้าง จึงทำตาม (ดำน้ำ หาปลา) อย่างกาน้ำ จึงถูกสาหร่ายพันติดตัวตาย
ต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทรงให้พระอัครสาวกทั้ง 2 คือ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ ไปแสดงธรรมและสั่งสอนพระภิกษุ 500 รูปผู้บวชใหม่นั้น ผู้ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงไปอยู่กับพระเทวทัตที่คยาสีสะประเทศ ให้เข้าใจทั่ว แล้วพาเหาะกลับมาทางอากาศสู่พระเชตวันวิหาร พระภิกษุคู่หูของพระเทวทัตชื่อ โกกาลิกะ ไม่พอใจที่พระเทวทัตไปคบหาสมาคมกับพระอัครสาวกทั้ง 2 แต่ก่อน เป็นเหตุให้พระอัครสาวกทั้ง 2 มานำภิกษุผู้บริวารกลับไปได้ จึงตีเข่าที่ยอดอกของพระเทวทัตจนกระอักเลือดและป่วยหนัก ภายหลังเทวทัตจึงสำนึกในความชั่วของตนและสำนึกในพระคุณของพระพุทธเจ้าได้ จึงขอให้ลูกศิษย์ยกตนขึ้นใส่เตียงน้อยและให้พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยสำนึกว่า
พระพุทธองค์นั้น มิได้ทรงมีความอาฆาตแม้สักเท่าปลายผมในตน (พระเทวทัต) ผู้กระทำผิดแล้วในพระองค์มาตลอด และว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงมีพระทัยเสมอกันหมดในชนทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นพระเทวทัต หรือว่านายขมังธนูผู้พระเทวทัตให้ไปประทุษร้ายพระองค์ ใจรองคุลีมาล ช้างนาราคีรี หรือว่าพระราหุลผู้เป็นราชโอรส
แต่ว่าพระเทวทัตก็ไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพราะผลแห่งกรรมชั่วอันหนักที่กระทำผิดในพระพุทธองค์หลายประการ ชื่อว่ากระทำ อนันตริยกรรม จึงถูกธรณีสูบที่สระโบกขรณี ก่อนที่จะถึงพระวิหารเชตวันเพียง 1 คาวุต (ประมาณ 100 เส้น) ขณะเมื่อถูกธรณีสูบเข้าสู่แผ่นดินลงจนถึงคางแล้วก็พอมีสติ จึงตั้งจิตอธิษฐานขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง และขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกระดูกคางของตน แล้วได้ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก อันมีเหล็กแหลมขนาดเท่าต้นตาลแทงทะลุตลอด ซ้าย-ขวา หน้า-หลัง ล่าง-บน ตรึงอยู่ เสวยผลกรรมชั่วอันทารุณแสบร้อน จากไฟนรกอันร้อนแรงเผาไหม้ (แต่ไม่ตาย) อยู่ชั่วกาลนาน
แม้ว่าพระเทวทัตจะได้กระทำผิดในพระพุทธเจ้ามาตลอด พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงถือเป็นข้อโกรธพยาบาทแม้แต่สักเท่าปลายแห่งเส้นผม ทรงมีพระทัยสม่ำเสมอ เปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรมและอภัยทานอันเยี่ยม ไม่ยินดียินร้าย แม้พระเทวทัตถึงซึ่งความวิบัตฉิบหายเพราะผลแห่งกรรมชั่วของตน
ทำทานอย่างผู้มีปัญญา
พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในธรรมบทว่า ทานที่เลือกให้พระตถาคตเจ้าทรงสรรเสริญเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วเหมือนใจแคบที่ไปเลือกให้ทานแต่ที่ดี ๆ ทุกอย่างที่เราจะดำเนินไปในชีวิตของเรานี้ เราต้องใช้สติปัญญาว่าทำอย่างไรจึงจะดีที่สุด จะเสียน้อยที่สุดเป็นธรรมดา เพราะผู้มีปัญญาก็ย่อมคิดถูก พูดถูก ทำถูก ความเจริญรุ่งเรืองก็เกิด แต่ถ้าคิดผิด รู้ผิด เห็นผิด ทำผิด เข้าไป ผลที่ไม่ดีก็ปรากฎขึ้นตามส่วน เหมือนกับเราปลูกต้นไม้ ถ้าพันธุ์ดีปลูกในพื้นที่ดินดีด้วย บรรยากาศดีและเราขยันทำนุบำรุงด้วย ผลไม้ที่ออกมาก็ย่อมดี ดีทั้งคุณภาพและปริมาณเป็นของธรรมดา พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้มีในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค มีว่า “วิเจยย ทานํ สุคตปปสตถํ” แปลความว่า การเลือกให้อันพระสุคตทรงสรรเสริญ ต้องเลือกให้ ถ้าให้กับคนพาล คือคนที่คิดไม่ดี ทำไม่ดี หลอกลวงเขา คิดจะหาแต่เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงเขา และทำก็ทำไม่ดี ไม่ซื่อสัตย์ ไม่สุจริต ไม่บริสุทธิ์ใจ แม้กระทั่งพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ถ้าเราให้โดยไม่เลือก ไม่ดูให้ดี บางทีเราอาจไปเจอคนพาลแบบคุด ๆ ที่เรามองผ่าน ๆ ไม่เห็น อย่างนี้มีได้เป็นได้ หรือแม้แต่เราจะให้ทานบุคคลทั่วไปก็เป็นของธรรมดา ถ้าเราให้คนมีจิตใจชั่วก็ทำให้เขาไปทำความชั่วต่อ มีกำลังไปทำความชั่วต่อ ถ้าให้คนดีเขามีกำลังที่จะทำความดีต่อ แล้วเราจะเลือกให้ใคร? มันเป็นธรรมชาติ คือเราต้องเลือกในทางที่ดีที่สุด แม้คณะบุคคล จะเป็นภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี อุบาสก-อุบาสิกาก็ดี ก็ต้องดูเช่นนั้นเหมือนกัน แต่มีได้หมายความว่ามานั่งเลือกเสมอไป การให้ย่อมได้บุญเสมอไป แต่บุญที่จะได้จะเป็นไปตามคุณภาพของผู้ให้และผู้รับ ทั้งสิ่งที่ให้และทั้งเจตนาผู้ให้บริสุทธิ์ใจต้องการให้เป็นทานด้วยใจศรัทธา ปรารถนาให้เขาเป็นสุข ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ ให้เขาเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป เจตนาของผู้ให้ดี และเป็นผู้มีศีล มีธรรม มีปัญญา ปัญญาเป็นเรื่องสำคัญ มีปัญญาจึงให้และให้คนที่ควรให้ ถ้าให้เช่นนี้จะเป็นเช่นไร? เวลาที่เราไปในถิ่นแคว้นแดนไหน จะพบกับผู้มีคุณธรรมเช่นนั้น หรือเราเกิดในภพชาติใด เมื่อเรายังไม่บรรลุอรหัตผล ยังไม่ได้เข้าอนุปาทิเสสนิพพาน ถ้าเกิดชาติใดไปพบใคร คณะใดเข้าถ้าเราไปอยู่ในคณะที่ตั้งใจแต่จะประพฤติแต่คุณความดี ไม่มีคดในข้องอในกระดูก พระบาลีท่านว่า “วงก” คด ๆ โค้ง ๆ ถ้าเป็นพระภิกษุกระทำนอกรีตนอกรอยสมณะ ด้วยความเลี้ยงชีพในทางไม่สมควร คด ๆ งอ ๆ ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย ชื่อว่า “อเนสนา” ก็ต้องพิจารณาดูให้ดี ถ้าเช่นภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม โดยตรงหรือโดยอ้อมเพราะเหตุแห่งการเลี้ยงชีพ หรือออกปากขอของต่อคนไม่ควรขอ หรือในเวลาที่ไม่ควรขอ อย่างนี้ถ้าดูไม่ดีจะไม่เห็น ต้องดูให้ดีจึงเห็น
เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปเจอสิ่งที่คด ๆ หรือไปทำบุญกับคนคด ๆ เราก็จะได้ไปอยู่ในหมู่คนคด ๆ และจะไม่สบายไปตลอด แต่ถ้าเรามองดูว่าที่ไหนไม่คด ทั้งบุคคลทั้งคณะบุคคลทั้งเจตนา ทั้งกิจกรรมเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าเราไปทำบุญกับท่าน หรือ ทำนุบำรุงท่าน และกิจกรรมอันดีของท่าน เมื่อไปเกิดในภพใดชาติใดก็เจอแต่คนดี ๆ เช่นนั้นก็จะสบายไปด้วยกัน จะไม่ไปในทางทุกข์
ทานที่บริสุทธิ์
ทานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ทานนั้นต้องเลือกให้แต่ความที่เลือกให้ บางทีเราก็ให้บุคคลอื่นซึ่งเราไม่รู้ว่าเขาเป็นพาลหรือไม่ เราให้ด้วยใจเมตตา เราก็ได้บุญเหมือนกัน อย่างเช่น พระภิกษุในสมัยพุทธกาลที่เคยได้ให้ทานกับมด อย่างเรื่องที่เล่าให้ฟัง ให้เศษอาหารกับมดก็ยังได้อานิสงค์ถึงเพียงนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุปัจจัยและผลแห่งการให้ทานไว้หลายประการคือ
ถ้าเราให้ทานในฐานะที่ผู้ให้มีจิตใจบริสุทธิ์ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ประการหนึ่ง ผู้รับก็เป็นผู้บริสุทธิ์ใจ บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา ตั้งใจประพฤติปฏิบัติไปในแนวทางที่ถูกต้องบริสุทธิ์ไม่คดไม่งอด้วยเจตนาความคิดอ่านทั้งหลาย ประการหนึ่ง และสิ่งที่ให้เป็นของบริสุทธิ์ คือที่เราได้มาโดยบริสุทธิ์ อีกประการหนึ่ง แล้วเราก็ให้หรือถวายไปด้วยความบริสุทธิ์ใจและเจตนาบริสุทธิ์ 3 ประการ ความบริสุทธิ์ 3 ประการนี้เกิดขึ้นแก่ผู้ให้ทานคนใด ผลทานย่อมบังเกิดผล เป็นความสุขความเจริญแก่ผู้ให้นั้นอย่างสมบูรณ์ยิ่ง ไม่มีความเสื่อม ยิ่ง ๆ ขึ้นไปจากทานกุศล เป็นทานบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี และยังช่วยส่งเสริมบารมีอื่น ๆ เช่น ศีลบารมี ฯลฯ ให้เจริญก้าวหน้าไปด้วย เราจะดำเนินชีวิตอย่างไรก็ไม่ยากจน มีแต่สุข สมบูรณ์ บริบูรณ์ด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ เรื่อยไป แม้เจริญรุ่งเรืองด้วยสมบัติดังกล่าวก็ไม่หลง จึงไปดีเช่นนี้ไม่ยากจนด้วย และแม้จะร่ำรวยอยู่ในฐานะที่สูงเพียงใดก็ไม่หลง เมื่อไม่หลงก็เป็นบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี มารักษาศีล ภาวนาย่อมทำได้สะดวก ถ้าเดือดร้อนมาก ๆ จะมาไม่ได้ รักษาศีลก็ไม่ได้ พอรักษาไป รักษาไป ประเดี๋ยวเกิดความทุกข์ร้อนหนักขึ้นมาก็ต้องทำความไม่ดี ศีลก็ผิด แต่ทว่าไม่เดือดร้อนด้วยทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของ หรือด้วยมนุษย์สมบัติ อย่างน้อยก็ด้วยคุณสมบัติ จะยากจนข้นแค้นก็ไม่อับจน เพราะมีสติปัญญารักษาตนได้ อยู่ได้ด้วยความสุขสบาย หรือถึงซึ่งความเจริญได้ในกาลภายหลัง
ทานกุศลเช่นนี้ ทั้งที่เป็นอามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทานย่อมบังเกิดผลหลายประการคือ ประการแรก เป็นวิบาก คือ ให้ผลเป็นความสุขความเจริญแก่ตนด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประการที่สอง ให้ผลเป็นความสะอาดบริสุทธิ์แห่งจิตใจปราศจากกิเลส หรือ ลดกิเลส คือ ความโลภอย่างยิ่ง ความเห็นแก่ตัวอย่างจัด ความตระหนี่เหนียวแน่น ให้เป็นบุคคลมีจิตใจกว้างขวาง มีจิตใจอันปล่อยวาง เมื่อบุคคลมีจิตใจอันปล่อยวางได้เพียงใด การจะเจริญสมาธิและปัญญาเป็นไปได้ง่ายเพียงนั้น ย่อมทำให้ศีลเจริญ สมาธิเจริญและเนกขัมมะเจริญ ก็เป็นศีลบารมี เนกขัมมะบารมี อุปบารมี ปรมัตถ์บารมี และปัญญาก็เจริญ บารมีอื่น ๆ ก็เจริญตามกันไปด้วย อาการอย่างนี้ สำหรับข้อที่ 1 และข้อที่ 2 พระพุทธองค์ทรงแสดง เวลาพระให้พร อคคสมึ ทานํ ททตํ อคคํ ปุญญํ ปวฑฒติ อคคํ อายุ จ วณโณ จ ยโส กิตติ สุขํ พลํ แปลความว่า บุญอันเลิศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มาให้ทานด้วยวัตถุอันเลิศ อายุ วรรณะ เกียรติ สุข กำลัง อันเลิศก็เจริญด้วย เป็นมนุษย์สมบัติ เจริญรุ่งเรืองด้วยอายุ วรรณ สุขะ พละ เกียรติยศ ทั้งหลายทั้งปวงตามกันไปหมด ประการที่สาม ที่ว่าท่านให้เลือกทำ มีข้อพิเศษอยู่ข้อซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้มีปรากฎใน ขุททกนิกายชาดก ว่า ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ย่อมให้ในคนที่ควรให้ ผู้นั้นแม้ประสบความเสื่อมเพราะภยันตรายย่อมได้สหาย ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ควรให้ ย่อมให้ในคนที่ไม่ควรให้ ผู้นั้นประสบความเสื่อม เพราะภยันตรายย่อมไม่ได้สหาย เพราะว่าความเป็นสหายในคนพาลไม่มี พระพุทธองค์ตรัสอีกบทหนึ่งว่า นตถิ พาเล สหายตา แปลความว่า คุณเครื่องแห่งความเป็นสหายย่อมไม่มีในเพราะคนพาล คนพาล คือ คนคด คนทุจริต คนไม่จริงใจ มักคิดชั่ว คิดไม่ดี จะขบถคดโกงผู้อื่นเสมอ หลอกได้ก็หลอก ตุ๋นได้ก็ตุ๋น พูดก็พูดในทางไม่จริงใจ พูดอย่างทำอีกอย่าง และมักกระทำกรรมที่ไม่ดีต่อหน้าคนทำดีอย่างหนึ่ง ลับหลังก็ทำไม่ดี นี่เป็นลักษณะของคนพาล ถ้าไปทำบุญทำทานให้กับคนเช่นนี้ก็ได้บุญในส่วนที่เขาให้เขามีกำลัง เราก็มีกำลัง แต่สติปัญญาสะท้อนกลับมาถึงเรา เพราะเราไปบำรุงอย่างนั้น เวลาเราเกิดมีภยันตรายขึ้นมา เราจะหาที่พึ่งก็มีแต่คนพาลคนคด พวกนี้ก็หนีหน้าหมด บางทีกลับซ้ำร้าย มาทำลายเหยียบย่ำเราเสียอีก จะหาคนจริงใจคนที่เป็นกัลยาณมิตรที่แท้จริงไม่ได้ มีแต่มิตรเทียม แต่ถ้าให้ทานกับคนที่ควรให้ ไม่ให้กับคนที่ไม่ควรให้ คือคนพาล คือไม่ให้เช่นนั้นแล้ว เวลาเราประสบอันตรายก็จะได้เพื่อนที่เป็นคนดี มีผู้อุปการะมีผู้เกื้อหนุนอย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เข้าใจว่า ทานหนทางสู่การกำจัดกิเลส
ทาน คืออะไร าน คืออะไร ? คือ การให้ การเสียสละ เมื่อให้ไปแล้ว เป็นบุญอย่างไร? เป็นบุญเพราะว่าเป็นคุณเครื่องกำจัดกิเลส ได้แก่ โลภ เห็นแก่ตัวจัด ตระหนี่เหนียวแน่นจนเกินเหตุ หรือเป็นผู้มักสะสมจนเกินจำเป็น เป็นผู้ทะยานอยากไม่รู้จักจบสิ้น ช่วยชำระจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์จึงชื่อว่าบุญ เมื่อแก่กล้ามากเข้าเป็นบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี และยังเกื้อกูลสนับสนุนบุญบารมีอื่น ๆ ให้เจริญขึ้นและเต็มขึ้นได้ และทานกุศลเป็นทั้งอามิสทานและธรรมทาน ส่วน อามิสทาน คือ ทานที่ให้เป็นวัตถุสิ่งของ ได้แก่ปัจจัย 4 หรือข้าวของเงินทอง ความสุขส่วนตัว สติปัญญาความสามารถและแรงงาน เป็นต้น ส่วน ธรรมทานได้แก่ ความประพฤติปฏิบัติตนเอง เพื่อชำระกิเลสเหตุแห่งทุกข์ และยังความดี คือบุญกุศลให้เกิดขึ้นในสันดาน และรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อม เหล่านี้ชื่อว่าธรรมทาน สูงขึ้นไปถึงอภัยทาน ทำเองด้วย สนับสนุนให้ผู้อื่นทำด้วย ชักนำให้ผู้ที่ยังไม่ศรัทธาให้มีศรัทธาด้วย ช่วยผู้ที่มีศรัทธาน้อยให้มีศรัทธามากด้วย การชักนำคนอื่นเข้ามาก็จัดว่าเป็นทานกุศลเช่นกัน การประพฤติตน วางตนเป็นคนดีเป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้อื่น ก็เป็นธรรมทานเช่นกัน
ร่วมด้วยและช่วยกัน
การขวนขวายช่วยส่วนบุญ การอุทิศส่วนกุศล การอนุโมทนาส่วนบุญก็เป็นทานกุศลเหมือนกัน เป็นทั้งธรรมทาน อภัยทาน และอามิสทานไปด้วยกัน การอุปการะเกื้อหนุนบุคคลหรือคณะบุคคลผู้ตั้งใจทำความดี มีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เป็นต้น และบุคคลหรือคณะบุคคลที่ช่วยแนะนำสั่งสอนอบรมผู้อื่นให้กระทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็เป็นทั้งอามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทาน ซึ่งจะกล่าวว่าเป็นทานสมบูรณ์แบบก็คือทานอย่างนี้
พระพุทธองค์ ทรงแสดงว่าทำทานหรือบุญกุศลนี้ พึงเลือกทำหรือเลือกให้ เพราะเมื่อเราให้ในบุคคลที่ควรให้ ไม่ให้ในบุคคลที่ไม่ควรให้ เวลาเราประสบความทุกข์ยากหรือประสบอันตรายก็จะมีสหายผู้จริงใจคอยช่วยอุปการะดูแลเรา และเมื่อเราเกิดชาติใดภพใด เราจะพบแต่คนที่เป็นบัณฑิต หรือแม้แต่ในชาตินี้จะมีเพื่อนฝูง จะมีคนสูงกว่าเรา เสมอกับเรา ต่ำกว่าเรา คอยเกื้อหนุน เราก็ต่างเป็นบุคคลที่เป็นคนดีมีศีลธรรมก็จะสุขสบายไปด้วยทันทั้งสิ้น ทานกุศลนั้นพึงทำทั้งอามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทาน ที่เป็นไปด้วยกัน ไม่ว่าที่ใดเป็นที่ ๆ มีบุคคล มีคณะบุคคลประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อขจัดขัดเกลากิเลส แล้วยังอบรมผู้อื่นให้ประพฤติปฏิบัติดี ละชั่ว ทำใจให้ใส ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเพียงใด บุคคลหรือคณะบุคคลเช่นนั้นควรแก่การอุปการะด้วยปัจจัย 4 และเครื่องอำนวยความสะดวก ควรแก่การอุปการะในการประพฤติปฏิบัติและเผยแพร่ธรรมะเช่นนั้น ตัวท่านทายก ทายิกา ผู้ให้ทานเองก็พึงประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย เมื่อกระทำได้ครบสูตรนี้ชื่อว่าท่านได้กระทำคุณความดีในทานกุศลนี้อย่างบริสุทธิ์ใจพร้อมทั้งเจตนาความคิดอ่านทั้งหลาย ครบบริบูรณ์ด้วยทั้งอามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทาน อันจะติดตามให้ผลแก่ท่านเป็นความสุขสมบูรณ์ บริบูรณ์ด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติได้เร็ว
อาตมา(สละชีวิตทางโลก) พร้อมด้วยคณะเข้ามาก็ด้วยเจตนาที่เข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรม และนำญาติโยมทั้งหลาย ให้ประกอบคุณความดีด้วยทานกุศลอย่างนี้ และด้วยศีลกุศล และด้วยภาวนากุศล ดังที่ทุกคนได้เห็นอยู่แล้ว หากมีใครมักจะคิดอยู่ว่าจะทำบุญกุศลอย่างไร อย่างเช่น ทานกุศลที่จะให้ผลเป็นบุญ เป็นบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี ได้เร็ว? ก็ต้องทำทานกุศลที่เป็นทั้งอามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทาน นอกจากนั้น ตัวอย่างอื่น ๆ ที่มีให้ทำ ถ้าได้ประสบก็อย่าได้ละโอกาส เช่น การสร้างอุโบสถอันเป็นที่ประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ คือ เสมือนหนึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และเป็นที่ทำให้กุลบุตรเป็นภิกษุเป็นคณะสงฆ์ และนอกจากนั้น ถ้ายิ่งพระประธานและพระคู่บารมีของพระประธานที่จะมีขึ้นนั้นเป็นปูชนียวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย เอื้ออำนวยให้แก่ทั้งศรัทธา ปสาทะ และให้แก่การประพฤติปฏิบัติธรรมให้ถึงธรรมกาย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะได้ดีเพียงใดด้วย ตัวอย่างเช่นนี้ก็เป็นมหากุศลเพียงนั้น เพราะทานลักษณะเช่นนี้มีสภาวะเป็นทั้งอามิสทาน ธรรมทานในตัวอันเยี่ยมแก่ผู้เสียสละ และบริจาคสร้างขึ้นนั้น ที่ได้กล่าวนี้มิใช่ว่าอาตมากำลังทำหรือก่อสร้างอยู่ ถ้าท่านเห็นว่ามีที่ใดดีก็ทำไป ถ้าที่นั่นมีเช่นนี้หรือมีดีกว่านี้ก็ทำไป เป็นคุณความดี พระคุณเจ้าที่สงสัยว่าจะทำบุญหรือทานกุศลอะไรที่ดี? ก็ดังตัวอย่างที่ยกมานี้ว่า การอุปการะบำรุงบุคคลและคณะบุคคลที่ตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติธรรมให้ถึงเป็นอภัยทานด้วย อบรมแนะนำสั่งสอนบุคคลอื่นด้วย จนถึงที่สุดในศีล สมาธิ ปัญญา ให้ถึงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ดีที่สุดเท่าที่เราจะพอจะมีได้ ณ ที่ใดก็ตามมีอย่างนี้จงทำ เป็นมหานิสงส์แรงมาก หรืออย่างเช่น การสร้างโบสถ์ วิหารการเปรียญ อันเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานและพระคู่บารมีอันเป็นไปเพื่อการประกอบสังฆกรรม ยังกุลบุตรให้เป็นพระภิกษุและเป็นคณะสงฆ์ เป็นปูชนียวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นอุปการะแก่การปฏิบัติภาวนาธรรมให้ถึงธรรมกาย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ได้ดี ไม่ว่าที่ใด ถ้าประกอบการบุญการกุศลที่นั้น ย่อมจะเกิดเป็นบุญกุศลแรง และจะทำให้บารมีเจริญขึ้นเต็มเร็วขึ้น ตนเองก็จะมีแต่ความเจริญและสันติสุข หมู่คณะและสังคมประเทศชาติก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขไปด้วยกัน เจริญพร.
!http://www.dhammakaya.org/dhamma/dana01.php (แหล่งข้อมูล)
ทานคืออะไร
5 ประเด็นที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
คลิปที่ 1. (กิจกรรมประจำปี)
ประเพณี - กฐิน
คลิปที่ 2. (การบริหารงาน)
ทศพิธราชธรรม - ธรรมของพระราชา
คลิปที่ 3. (สติเรื่องเวลา)
พรปีใหม่ - การครองตนอย่างมีสติ
คลิปที่ 4. (วันสำคัญทางศาสนา)
วันมาฆบูชา - วันกตัญญูแห่งชาติ
คลิปที่ 5. (การเป็นผู้ให้)
ทาน - อามิสทาน และธรรมทาน

ธรรมะ
ทำบุญทอดกฐิน
าน คืออะไร ? ให้ทานอย่างไรดี !
ทาน แปลว่า การให้, การแบ่งปัน, การเสียสละ, การเอื้อเฟื้อ หมายถึงการให้ทานด้วยจิตใจที่ดีงาม มุ่งเพื่อบูชาพระคุณ เช่นที่ให้แก่บิดามารดา ถวายแก่พระสงฆ์ เป็นต้นบ้าง มุ่งเพื่อสงเคราะห์ เช่นที่ให้แก่คนตกทุกข์ได้ยาก ให้แก่คนทั่วไปด้วยความกรุณาสงสารบ้าง
ประเภทของทาน ทานแบ่งตามสิ่งที่ให้ ดังนี้
1. อามิสทาน คือ ให้สิ่งของเป็นทาน
2. ธรรมทาน คือ ให้ธรรมะเป็นทาน และที่ได้ยินในปัจจุบันคือ
3. วิทยาทาน คือ ให้ความรู้เป็นทาน
4. อภัยทาน คือ ให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคืองเป็นทาน
ในการดำเนินชีวิตต้องอาศัยทั้งอามิส และธรรมะ เพราะชีวิตมีสองด้านใหญ่ ๆ คือ กาย กับ ใจ
อามิส บริหารชีวิตด้านกาย
ธรรมะ บริหารชีวิตด้านจิตใจ
ฉะนั้น พึงบำเพ็ญทานทั้ง 2 ควบคู่กันไปเสมอ
แบ่งตามผู้รับทาน ดังนี้
1. ปาฏิปุคลิกทาน คือ ให้เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง
2. สังฆทาน คือ ให้แก่ส่วนรวมหรือแก่สงฆ์ ไม่จำเพาะเจาะจงว่าแก่พระภิกษุ
องค์ประกอบแห่งทาน
1. สิ่งของที่จะให้ต้องบริสุทธิ์ (วัตถุทาน) คือ ได้มาด้วยความชอบธรรมไม่ผิดศีลธรรม และเป็นสิ่งของที่เหมาะสมแก่ผู้รับ ไม่เป็นสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม อันนำมาซึ่งความเบียดเบียน เช่น สุรา สิ่งเสพติดทุกชนิด อาวุธ และสื่อลามกต่าง ๆ
2. ผู้ให้จะต้องให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยมุ่งหมายอนุเคราะห์บูชาคุณผู้รับ และขจัดความตระหนี่ในใจตน
3. ผู้ให้ต้องมีความเข้าใจเรื่องทาน มีปัญญารู้จักเลือกให้
4. ผู้ให้ต้องพยายามรักษาศรัทธาทั้งในก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้
5. ผู้รับ มีส่วนสำคัญกับผลของทาน คือ ผลหรืออานิสงส์ของทานจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับบุญคุณและคุณธรรมของผู้รับ
6. ผู้ให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมสูงขึ้นไปมีศีลเป็นต้น จะทำให้ทานมีอานิสงส์มากขึ้น
จุดมุ่งหมายแห่งทาน
ส่วนตน ขจัดความตระหนี่อันเป็นมลทินในจิตใจ ที่คอยขัดขวางไม่ให้คุณธรรมอื่น ๆ เจริญ
ส่วนสังคม บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์แก่สังคม ทำให้ผู้อื่นได้รับความสุข แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. ทานที่ให้เพื่อทำคุณแก่ผู้รับ เช่น การให้ทานเพื่อให้ตนเป็นที่รักที่ชอบใจของประชาชนเป็นต้น
2. ทานเพื่ออนุเคราะห์ ไม่ใส่ใจว่าจะเป็นบุญคุณหรือไม่ ทำไปเพื่ออนุเคราะห์ด้วยความเต็มใจ
3. ทานเพื่อบูชาคุณ การให้เพื่อบูชาคุณความดีของผู้อื่นให้ด้วยใจบริสุทธิ์
ลักษณะของทาน แบ่งตามชนิดของสิ่งที่บริจาคทาน
1. ให้สิ่งของที่ตนไม่ต้องการแล้ว เรียกว่า เป็น ทาสทาน
2. ให้สิ่งของที่ตนใช้สอยอยู่ (ให้สิ่งที่เสมอกัน) เรียกว่า สหายทาน
3. ให้สิ่งของที่ดีที่สุด (เท่าที่มีอยู่) เรียกว่า สามีทาน
การทำบุญลักษณะที่ 3 จึงจะมีผลมาก ต้องรู้จักการให้แบบสัตบุรุษ
สัปปุริสทาน 8 คือ
1. ให้ของสะอาด
2. ให้ของประณีต
3. ให้ในเวลาที่เหมาะสม
4. ให้ของที่สมควร เหมาะสม
5. ให้ด้วยวิจารณญาณ รู้จักเลือกทั้งของและคนที่จะให้
6. ให้ประจำ สม่ำเสมอ
7. ขณะให้ทำใจให้ผ่องใส
8. ให้แล้วเบิกบานใจ
ทานมีอานิสงส์ ตามคุณสมบัติผู้ให้
1. ผู้ให้ทานด้วยศรัทธามั่นคงไม่หวั่นไหว มีจิตใจผ่องใส ทั้งก่อนให้ ขณะให้และหลังจากให้แล้ว ผลแห่งทานย่อมทำให้เขาเป็นผู้มีรูปงาม ผิวพรรณงาม น่ามองน่าเลื่อมใส
2. ผู้ให้ทานด้วยความเคารพ ผลแห่งทานย่อมทำให้เขามีภรรยา สามี บุตร และบุคคลใกล้ชิดเป็นคนดี รู้จักเชื่อฟัง
3. ผู้ให้ทานตามกาล ผลแห่งทานย่อมทำให้เขาสำเร็จสมปรารถนาทันเวลาที่ต้องการ
4. ผู้ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ ผลแห่งทานย่อมทำให้เขาได้รับความอนุเคราะห์จากคนทั้งหลาย ถึงคราวลำบากย่อมมีคนคอยช่วยเหลือเสมอ
ทานมีอานิสงส์ ตามคุณสมบัติของผู้รับ
ลจากการให้ทานนั้น ย่อมทำให้มีอายุยืน ผิวพรรณดี ความสุข ไม่มีโรคภัย มีปัญญา และมีทรัพย์ สำหรับทานที่ให้แก่สัตว์ทั่วไป มีผลร้อยเท่า แก่มนุษย์ มีผลพันเท่า แก่ผู้มีศีล มีผลแสนเท่า ส่วนทานที่ถวายแก่สมมติสงฆ์ พระอริยสงฆ์ พระพุทธเจ้า และทานเพื่อส่วนรวม (สังฆทาน) มีผลหรืออานิสงส์ที่ไม่อาจนับได้โดยการคำนวณ อนึ่ง ผลบุญไม่อาจชั่ง ตวง วัดได้ เพราะเป็นสิ่งเกิดในจิตใจ สั่งสมเป็นศักยภาพภายในของมนุษย์ แต่อาจจะกำหนดความน้อยความมากของผลบุญตามคุณสมบัติของผู้รับ ดังนี้
1. ให้ทานแก่สัตว์ ได้บุญน้อยกว่าให้คนทุศีล (คนไม่มีศีล)
2. ให้แก่คนทุศีล ได้บุญน้อยกว่าคนมีศีล
3. ให้แก่คนมีศีล ได้บุญน้อยกว่า ถวายแก่พระภิกษุ (ปุถุชน)
4. ถวายแก่พระภิกษุ (ปุถุชน) ได้บุญน้อยกว่า ถวายแก่พระอริยสงฆ์
5. ถวายแก่พระอริยสงฆ์ ได้บุญน้อยกว่า ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
6. ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ได้บุญน้อยกว่า ถวายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
7. ถวายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บุญน้อยกว่า การถวายเป็นสังฆทาน (ถวายแก่ส่วนรวม)
8. ถวายเป็นสังฆทาน ได้บุญน้อยกว่า วิหารทาน (เพื่อประโยชน์แก่พระสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ)
ผลที่กล่าวข้างต้นเฉพาะอามิสทาน ส่วนการให้ธรรมะเป็นทานมีอานิสงส์ที่คำนวณและกำหนดไม่ได้เลย เพราะการให้ธรรมะชนะการให้ทุกอย่าง
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การบำเพ็ญทาน เป็นมงคลสูงสุดในชีวิต
ข้อมูลจาก หนังสือ “มงคลชีวิต 38 ประการ” เทพพร มังธานี สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง
rspsocial
Thaiall.com