รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้จากสื่อการเรียนรู้

สื่อการเรียนรู้ หมายถึง การนำวัสดุ เครื่องมือ วิธีการ มาเป็นสะพานเชื่อมโยงความรู้ไปยังผู้เรียนได้ ทำให้เกิดความเข้าใจตรงตามจุดประสงค์การเรียนรู้ ส่วนความหมายของสื่อการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กรมวิชาการ 2544 หน้า 178) หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวผู้เรียนที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เน้นสื่อที่ใช้สำหรับการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองทั้งผู้เรียนและผู้สอน ผู้เรียนและผู้สอนสามารถจัดทำ พัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเอง หรือนำสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัวมาใข้ในการเรียนรู้

สรุป ความหมายของสื่อการเรียนรู้ได้ว่า สื่อการเรียนรู้ หมายถึง สิ่งที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคน สัตว์ พืช สิ่งของ สถานที่ สื่อสิ่งพิมพ์ ฯลฯ ซึ่งผู้สอนใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำคัญของสื่อกับผู้เรียน

    สื่อการเรียนรู้นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเรียนรู้ สื่อมีบทบาทต่อกระบวนการเรียนรู้ในส่วนของผู้เรียน ดังนี้

    1.   สื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะช่วยให้บทเรียนที่มีความซับซ้อน ง่ายต่อการทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น

    2.    สื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เรื่องราวไกลตัวได้

    3.    สื่อช่วยกระตุ้นและสร้างความสนใจ ทำให้กระบวนการเรียนรู้น่าสนใจยิ่งขึ้นไม่น่าเบื่อหน่าย

    4.    สื่อสามารถสนองความแตกต่างของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ผู้เรียนสามารถเรียนรู้

ความสำคัญของสื่อกับผู้สอน

    การใช้สื่อให้เหมาะสมกับสภาพการเรียนรู้ ทำให้การจัดกระบวนการเรียนรู้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ สื่อการเรียนรู้มีบทบาทต่อกระบวนการจัดการเรียนรู้ของผู้สอน ดังนี้

    1.    การใช้สื่อเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้น่าสนใจช่วยให้ผู้เรียนสนุกสนานเพลิดเพลินกับบทเรียน

    2.    ผู้สอนสามารถใช้ประโยชน์จากสื่อได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดการเรียนการสอน

    3.   สื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้สอนตื่นตัวในการเตรียมจัดหาหรือผลิตสื่อ เตรียมการในการใช้สื่อและสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้อยู่เสมอ

หลักการเลือกใช้สื่อการเรียนรู้

    การเลือกใช้สื่อเพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต้องคำนึงถึงหลักการต่าง ๆ ดังนี้

    1.    สื่อการสอนจะต้องสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมาย และเรื่องที่สอน

    2.    จะต้องเหมาะสมกับความรู้ ประสบการณ์ของผู้เรียน

    3.    เหมาะสมกับวัย และระดับชั้นของผู้เรียน

    4.    เนื้อหาและวิธีใช้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน

    5.    น่าสนใจ และทันสมัย

    6.    เทคนิคการผลิตดี

    7.    เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน

    8.    สามารถนำเข้าร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ได้ดี

    9.   ถ้ามีสื่อการสอนหลายอย่างในเรื่องเดียวกัน ให้พิจารณาว่าสื่อใดเหมาะสมที่สุด ที่จะให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เรียนได้ดีที่สุดและในระยะเวลาสั้นที่สุด

จากการสังเคราะห์จากรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูต้นแบบ พบว่า ครูต้นแบบจำนวนหนึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้ผู้เรียนเป็นสำคัญในรูปแบบของการใช้สื่อการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถศึกษาด้วยตนเองทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ สื่อช่วยเร้าความสนใจผู้เรียนก่อให้เกิดความกระตือรือล้นและเพลิดเพลินในการร่วมกิจกรรม อีกทั้งทำให้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและเข้าใจบทเรียนได้ดี

ตัวอย่างสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ครูต้นแบบพัฒนาไว้ ได้แก่

-          บทเรียนสำเร็จรูปหรือบทเรียนโปรแกรม

-          ชุดการสอน

-          ศูนย์การเรียน

-          แบบฝึก (การทดลอง/เสริมทักษะ)

-          คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (สื่อ CAI)

    แนวคิดทฤษฎีที่ใช้

    บทเรียนสำเร็จรูปหรือบทเรียนโปรแกรม

    บทเรียนสำเร็จรูปหรือบทเรียนโปรแกรม เป็นบทเรียนสำเร็จรูปในตัวเอง จัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียนตามลำดับขั้นตอนหรือเป็นกรอบ (Frame) ตามลำดับเรียนได้ด้วยตนเอง ในเนื้อหาแต่ละกรอบหรือแต่ละเฟรมจะมีคำถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจเนื้อหานั้น และมีคำตอบเฉลยไว้ให้ ถ้าผู้เรียนตอบผิดจะอ่านเนื้อหาในกรอบหรือเฟรมนั้นใหม่แล้วตอบคำถามอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตอบถูกก็จะเรียนในกรอบหรือเฟรมต่อไป

    บทเรียนสำเร็จรูปหรือบทเรียนโปรแกรมใช้ทฤษฎีทางจิตวิทยาของ ธอร์นไดท์ (Thorndike) และสกินเนอร์ (Skinner) ดังนี้

    ทฤษฎีของธอร์นไดท์ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ คือ

1.   กฎแห่งผล (Law of Effect) เป็นกฎที่กล่าวถึงการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า และการตอบสนอง ทั้งสองสิ่งนี้จะเชื่อมโยงกันได้ ถ้าเราสามารถสร้างสภาพอันพึงพอใจแก่ผู้เรียนได้ ผู้เรียนจะมีความแน่ใจว่าการตอบสนองหรือพฤติกรรมของคนที่แสดงออกมานั้นถูกต้อง สภาพการณ์อันนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าได้ให้แรงจูงใจหรือรางวัล เช่น เฉลยคำตอบที่ถูกต้องทันที หลังจากที่ผู้เรียนได้ตอบสนอง เพื่อให้เปรียบเทียบกับคำตอบของตนเองว่าถูกต้องหรือไม่ และการเขียนบทเรียนสำเร็จรูปนั้นควรให้ผู้เรียนมีโอกาสตอบถูกมากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนพอใจสิ่งเร้าและการตอบสนองของผู้เรียนจะเชื่อมโยงกัน คือ การให้รางวัลซึ่งได้แก่ คำชม หรือถ้าเป็นเด็กเล็กที่ทำบทเรียนได้ถูกต้อง ก็อาจให้รางวัลเป็นขนม เป็นต้น

2.   กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise) กล่าวคือ การเชื่อมโยงระหว่างการตอบสนองกับสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง จะช่วยทำให้การเชื่อมโยงระหว่างสองสิ่งนี้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หมายความว่าถ้ากระทำพฤติกรรมใด ๆ ซ้ำ ๆ อยู่เสมอ จะทำให้กระทำพฤติกรรมนั้นได้สมบูรณ์ถูกต้องมากขึ้น แต่ถ้าพฤติกรรมใด ๆ ที่ไม่ได้ทำซ้ำบ่อย ๆ พฤติกรรมนั้นก็มีแนวโน้มที่จะถูกลืม ในบทเรียนสำเร็จรูปให้ใช้วิธีให้ผู้เรียนตอบคำถามซ้ำ ๆ เพื่อเสริมให้มีความรู้ที่มั่นคง

3.   กฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness) กฎนี้กล่าวถึง สภาพการณ์ที่ผู้เรียนมีแนวโน้มที่จะพึงพอใจ หรือรำคาญใจ กับการยอมรับหรือปฏิเสธ ผู้เรียนจะพึงพอใจ และยอมรับเมื่อมีความพร้อมทั้งในแง่การปรับตัว การเตรียมพร้อม ความตั้งใจ ความสนใจและทัศนคติ อันจะก่อให้เกิดการกระทำขึ้น ในการสร้างบทเรียนสำเร็จรูปผู้สร้างต้องมีการเตรียมพร้อมในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างมาก นับตั้งแต่เลือกเนื้อหา วิธีการ การทดลอง เพื่อให้บทเรียนมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับวุฒิภาวะและสภาพของผู้เรียน

    ทฤษฎีของสกินเนอร์ มีหลักการดังนี้

1.   เงื่อนไขการตอบสนอง (Operant Conditioning) พฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ประกอบด้วยการตอบสนองที่แสดงออกมา การตอบสนองเหล่านี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมซึ่งมีการแสดงออกมาเรื่อย ๆ ในเมื่อมนุษย์ยังมีชีวิตอยู่ และพฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นกี่ครั้งหรือบ่อยแค่ไหน ก็ด้วยความถี่อันหนึ่งซึ่งเรียกว่า อัตราการตอบสนอง หรืออัตราการแสดงออกของพฤติกรรมการเรียนรู้ซึ่งจำเป็นต่อการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราการตอบสนองนั้น และการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้เพราะการเสริมกำลัง

2.   การเสริมแรง (Reinforcement) หมายถึง การให้สิ่งเร้าเพื่อทำให้การกระทำเปลี่ยนไปในทางที่ต้องการ การเสริมแรงในบทเรียนสำเร็จรูปอาจเป็นการให้คำชมเชย หรือให้รู้ผลแห่งการกระทำของตนว่าถูกหรือผิดในทันที

3.   การเสริมแรงทันทีทันใด (Immediate of Reinforcement) คือการให้สิ่งเร้าเพื่อทำตัวให้ตัวเสริมแรงเกิดขึ้นทันที หลังจากที่มีการตอบสนอง หรือ เมื่อได้คำตอบ มิฉะนั้นผู้เรียนอาจมีการตอบสนองอีกอย่างหนึ่งที่เราไม่ต้องการ จากการทดลองพบว่าคำตอบที่ถูกต้องจะต้องมีการเสริมแรงภายใน 5 วินาที ถ้าเกินนั้นไปอาจไม่เกิดประโยชน์

4.   การดัดรูปพฤติกรรม (Shaping) เป็นวิธีการให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมทีละน้อย ๆ จนกระทั่งเกิดพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับพฤติกรรมที่เราต้องการ สกินเนอร์เน้นว่าจะทำการดัดรูปพฤติกรรมได้ โดยใช้วิธีนำหน่วยย่อยต่าง ๆ มาเรียงประกอบกัน และเสริมแรงทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่หน่วยย่อยแรกสุด จนเกิดการตอบสนองที่ต้องการในขั้นสุดท้ายของการเรียนรู้

5.   หลักความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Difference) ทฤษฎีการเรียนรู้กล่าวไว้ว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การให้บทเรียนสำเร็จรูปจะช่วยให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองตามความสามารถของตน

    แบบฝึก (การทดลอง/เสริมทักษะ)

        หลักจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแบบฝึก

        ในการสร้างแบบฝึก สุจริต เพียรชอบ และสายใจ อินทรัมพรรย์ (2522) กล่าวว่า ต้องยึดหลักตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางจิตวิทยา ดังนี้

        1.     กฎการเรียนรู้ของ ธอร์นไดท์ เกี่ยวกับกฎแห่งการฝึก (Law of Exercise) ซึ่งกล่าวว่า สิ่งใดก็ตามที่มีการฝึกหัดหรือกระทำบ่อย ๆ ย่อมจะทำให้ผู้ฝึกมีความคล่องและมีความสามารถทำได้ดี (Law of Use) ในทางตรงกันข้ามสิ่งใดก็ตามที่ไม่ได้รับการฝึกหัด หรือถ้าทิ้งไปนานแล้วย่อมจะทำให้ทำไม่ได้ดี (Law of Disuse)

        2.     ความแตกต่างระหว่างบุคคล ควรคำนึงถึงว่า ผู้เรียนแต่ละคนมีความรู้ความถนัด ความสามารถ และความสนใจต่างกัน ฉะนั้นในการสร้างแบบฝึกจึงควรพิจารณาถึงความเหมาะสม คือ ไม่ยากและง่ายจนเกินไป ควรมีหลาย ๆ แบบ   

        3.     การจูงใจผู้เรียน โดยการจัดแบบฝึกจากง่ายไปหายาก เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้เรียน ซึ่งจะให้เกิดผลสำเร็จในการฝึกและช่วยยั่วยุให้ติดตามต่อไป

        4.       ใช้แบบฝึกสั้น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย

        ลักษณะแบบฝึกที่ดี

        ในการสร้างแบบฝึกสำหรับผู้เรียนมีองค์ประกอบหลายประการ ซึ่งนักการศึกษาหลายท่านให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับลักษณะของแบบฝึกที่มีไว้ ดังนี้

        ริเวอร์ (River 1968: 97 –105) กล่าวถึงลักษณะของแบบฝึกไว้ดังนี้

        1.     ต้องมีการฝึกมากพอสมควรในเรื่องหนึ่ง ๆ ก่อนจะฝึกเรื่องอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ทำขึ้นเพื่อการสอนมิใช่ทำขึ้นเพื่อการทดสอบ

        2.       แต่ละแบบฝึกควรใช้แบบประโยคเพียงหนึ่งแบบเท่านั้น

        3.       ฝึกโครงสร้างใหม่กับสิ่งที่เรียนรู้แล้ว

        4.       ประโยคและคำศัพท์ควรเป็นแบบที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวันที่ผู้เรียนรู้จักกันดีแล้ว

        5.       เป็นแบบฝึกที่ผู้เรียนให้ความคิดด้วย

        6.       แบบฝึกควรมีหลาย ๆ แบบ เพื่อไม่ให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย

        7.       ควรฝึกให้ผู้เรียนสามารถใช้สิ่งที่เรียนไปแล้ว ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

        ลักษณะการพัฒนารูปแบบ

    บทเรียนหรือสื่อโปรแกรม เป็นระบบสื่อที่มีผลต่อการออกแบบและการพัฒนาการสอนหรือเทคโนโลยีการสอนมาก ในปัจจุบันสื่อโปรแกรมได้พัฒนาเป็นสื่อการเรียนรู้หลายลักษณะและหลายรูปแบบ เช่น บทเรียนโปรแกรม ชุดการเรียน/การสอน และบทเรียนทางคอมพิวเตอร์

    บทเรียนสำเร็จรูป หรือบทเรียนโปรแกรม (Program Instruction)

บทเรียนสำเร็จรูป หรือบทเรียนโปรแกรม เป็นการจัดระบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถของตน ด้วยการกระทำกิจกรรมตามลำดับขั้นทีละขั้น โดยได้รับผลติชมทันที ก้าวหน้าไปตามความสามารถของตนเอง

ลักษณะของบทเรียนสำเร็จรูป เป็นบทเรียนที่เสนอเนื้อหาของวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นขั้นตอนย่อย ๆ เรียกว่า “กรอบ” หรือ “เฟรม” มี 3 ประเภท คือ กรอบนำ กรอบสอน และกรอบสอบ ในกรอบสอนแต่ละกรอบประกอบด้วยเนื้อหาความรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แนวการตอบหรือเฉลยที่ผู้เรียนสามารถวัดผลได้ด้วยตนเอง

            ทฤษฎีทางจิตวิทยาพื้นฐานของบทเรียนโปรแกรม

        เนื่องจากบทเรียนโปรแกรมมีจุดประสงค์ที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้สอน จึงต้องใช้เทคนิควิธีที่จะช่วยทดแทนส่วนที่ขาดหายไปในการเรียนกับผู้สอนในชั้น ดังนั้น บทเรียนโปรแกรมจึงต้องอาศัยทฤษฎีทางจิตวิทยาเข้าช่วย ดังนี้ (ไพโรจน์ เบาใจ, 2520 ; ชม ภูมิภาค .2521 ; ประหยัด จิระวรพงศ์. 2529)

        1.     ทฤษฎีสิ่งเร้าและตอบสนอง (S – R Theory) โดยยึดหลักการที่ว่า ความสำเร็จหรือการตอบสนองที่ถูกต้องจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ต่อไป บทเรียนโปรแกรมแต่ละกรอบจะมีคำถามหรือกิจกรรมที่ง่ายสำหรับผู้เรียน โดยมุ่งหวังว่าผู้เรียนจะตอบถูก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

        2.     การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของบทเรียนโปรแกรม ในการเรียนกับผู้สอนตามปกตินั้น ผู้สอนจะเป็นผู้ที่เสริมแรงให้กับผู้เรียน บทเรียนโปรแกรมซึ่งผู้เรียนเรียนด้วยตนเองจึงต้องเพิ่มการเสริมแรงลงไปในบทเรียน เช่น การเฉลยคำตอบ การให้คำชมเชย ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อกระทำลงไปแล้วทราบผลในทันทีว่าถูกหรือผิด จะทำให้ผู้เรียนเกิดกำลังใจในการเรียนต่อไป

        3.     ความเกิดขึ้นพร้อมกันหรือใกล้เคียงกันของสิ่งเร้ากับการตอบสนอง (Continuity) ซึ่งเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ของ Guthrie โดยเสนอสิ่งเร้าเป็นกรอบเล็ก ๆ แล้วผู้เรียนทำการตอบสนองทันที

        4.     การตอบสนองมากซึ่งเป็นไปตามหลัก Operant Conditioning ของ Skinner การที่ผู้เรียนได้ทำการตอบสนองต่อกิจกรรมต่าง ๆ ของบทเรียนจำนวนมากด้วยความสนใจและกระตือรือร้น ที่จะร่วมกิจกรรมของผู้เรียนเอง ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดี

        5.     ความแตกต่างระหว่างบุคคล บทเรียนโปรแกรมสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ดี เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ผู้เรียนจะบรรลุจุดหมายของบทเรียนได้เท่ากัน เพียงแต่ใช้เวลาในการเรียนไม่เท่ากันตามความสามารถาของผู้เรียนแต่ละคน และไม่จำเป็นต้องเรียนพร้อมกัน

        6.       เป็นการเรียนโดยการกระทำ (Active Learning) ทำให้เข้าใจได้ดีและมีความคงทนในการจำดี

                                             คุณลักษณะของบทเรียนโปรแกรม

        จากการศึกษาวิจัยของวสันต์ อติศัพท์ (2522) เกี่ยวกับบทเรียนโปรแกรม พบว่า บทเรียนโปรแกรมมีคุณลักษณะต่อการเรียนรู้หลายประการ โดยได้กล่าวถึงคุณลักษณะของบทเรียนโปรแกรม ดังนี้

        1.       ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนด้วยตนเอง และดำเนินไปตามความสามารถของตน คล้ายกับผู้เรียนได้เรียนกับผู้สอนตัวต่อตัว

        2.     ช่วยให้ผู้สอนทำงานน้อยลงในด้านการสอนข้อเท็จจริงต่าง ๆ ทำให้ผู้สอนมีโอกาสใช้เวลาเหล่านั้นเพื่อเตรียมบทเรียนอื่น ๆ หรือใช้เวลาดูแลผู้เรียนได้มากขึ้น

        3.       การได้รู้คำตอบในทันทีทันใด ทำให้ผู้เรียนลดความเครียดและวิตกกังวล เป็นแรงกระตุ้นให้อยากเรียนต่อไป

        4.       สนองตอบในเรื่องความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล

        5.       ช่วยการแก้ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษาในปัจจุบัน

        6.       แก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนครู

        7.     ทุ่มเวลาในการสอน เพราะจากผลการวิจัยพบว่า บทเรียนโปรแกรมสามารถสอนเนื้อหาได้มากกว่าวิธีสอนอื่น ๆ โดยใช้เวลาน้อยกว่า

        8.       ช่วยเพาะนิสัยความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

        9.       ผู้เรียนสามารถเรียนเวลาใด ที่ไหนก็ได้ตามความพอใจ และยังใช้ในด้านการศึกษาผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี

             ประโยชน์ของบทเรียนสำเร็จรูป

        บทเรียนสำเร็จรูปเป็นสื่อที่ส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ   ธีระชัย ปูรณโชติ (2539, หน้า 27) อธิบายถึงประโยชน์ของบทเรียนสำเร็จรูป ดังนี้

        1.     สนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามเอกภาพของตน เช่น ความสนใจ สติปัญญา วุฒิภาวะ ฯลฯ

        2.       ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

        3.       ผู้เรียนสามารถศึกษาบทเรียนในเวลาใด เมื่อไรก็ได้ ตามความพอใจของผู้เรียนเอง แม้แต่เป็นที่บ้านของผู้เรียนเอง

        4.       ผู้เรียนได้เรียนรู้เป็นขั้นตอนทีละน้อย และได้รับทราบผลการเรียนรู้ของตนทุกขั้นตอน เกิดการเสริมแรง

        5.       ช่วยแก้ปัญหาการชาดแคลนครูได้

        6.     ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีความก้าวหน้าและพัฒนาการทางการเรียนเพิ่มขึ้น (แสงทอง ภักดีแก้ว, 2543)

 

                ชุดการสอน (Instructional Package)

    ชุดการสอน เป็นนวัตกรรมการศึกษาอย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำสื่อหลาย ๆ อย่างที่เรียกว่า “สื่อประสม” มารวมกันสอนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ของเรื่องนั้น ๆ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเอง และลดบทบาทการพูดของผู้สอนให้น้อยลง

    สื่อประสม หมายถึง สื่อการเรียนรู้ที่สามารถนำเสนอข้อมูลตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ได้กำหนดไว้ในรูปแบบต่าง ๆ อาจเป็นเอกสาร สิ่งพิมพ์ ของจริง ของจำลอง รูปภาพ แถบบันทึกเสียง แถบวีดีทัศน์ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ฯลฯ

    ประเภทของชุดการสอน

    1.     ชุดการสอนประกอบคำบรรยาย เป็นการผลิตสื่อและจัดกิจกรรมประกอบคำบรรยายของครูเกี่ยวกับเนื้อหา หรือประสบการณ์หน่วยใดหน่วยหนึ่งที่ผู้สอนต้องการให้นักเรียนได้เรียนพร้อมกัน เพื่อลดบทบาทการพูดของผู้สอน และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ร่วมกิจกรรมการเรียนมากขึ้น ใช้ได้กับผู้เรียนทั้งชั้นหรือเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ

    2.     ชุดการสอนแบบกิจกรรมกลุ่ม เป็นการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้กระทำเป็นกลุ่ม ๆ หรืออาจจัดในรูปของศูนย์การเรียน (Learning Center) สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มมีโอกาสทำกิจกรรมหรือศึกษาจากชุดการสอนย่อย ๆ ทุกคน ทั้งด้วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในศูนย์เดียวกัน จนครบทุกศูนย์โดยผู้สอนมีหน้าที่ชี้แจง แนะนำ หรือให้คำปรึกษาเท่านั้น

    3.     ชุดการสอนรายบุคคล เป็นชุดการสอนที่ผลิตขึ้นเพื่อสนองความต้องการ ความสนใจ ความถนัด ตามความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาการเรียนรู้ของตนเองเต็มความสามารถโดยไม่ต้องรอผู้อื่น ในชุดการสอนจะมีคำสั่ง คำแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรม แหล่งวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ศึกษาเพิ่มเติม พร้อมทั้งแบบทดสอบเพื่อประเมินผลด้วยตนเอง

    องค์ประกอบของชุดการสอน

    ชุดการสอนได้บูรณาการสื่อประสมในรูปวัสดุอุปกรณ์และวิธีการสอนมาจัดระบบให้เกิดประสิทธิภาพ มีความสมบูรณ์ในเนื้อหาและเกิดความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยอย่างเหมาะสม ชุดการสอนมีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วน ดังนี้

    1.       คู่มือและแบบฝึกปฏิบัติสำหรับผู้สอนและผู้เรียนที่จะใช้ชุดการสอน

    2.       บัตรคำสั่งหรือบัตรมอบงาน เพื่อกำหนดแนวทางแก่ผู้เรียน

    3.     เนื้อหา อยู่ในรูปของสื่อการสอนแบบประสมและกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งแบบกลุ่ม และรายบุคคล ซึ่งกำหนดไว้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้

    4.     การประเมินผล เป็นการประเมินผลจากกระบวนการเรียนรู้ ได้แก่ แบบฝึกหัดรายงานการค้นคว้า ฯลฯ และผลการประเมินจากแบบทดสอบชนิดต่าง ๆ

 

    ประโยชน์ของชุดการสอน

    ชุดการสอน เป็นสื่อที่ส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีประโยชน์ต่อการจัดการเรียน ดังนี้

    1.     ช่วยแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคล และส่งเสริมการศึกษารายบุคคล ทำให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถ ความถนัดและความสนใจ

    2.     ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนครู เนื่องจากเป็นสื่อที่ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตัวเอง หรือต้องการความช่วยเหลือจากผู้สอนเพียงบางส่วน

    3.     ช่วยลดเวลาการสอนของผู้สอน และลดภาระในการจัดการเรียนรู้เมื่อมีสื่อผู้สอนเพียงดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในสื่อ ไม่ต้องเสียเวลาทำสื่อการสอนใหม่ ถ้าไม่มีเวลาในการเตรียมการทดลอง ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และมีประสบการณ์กว้างขวาง ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการสอนของผู้สอน

    4.     ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษานอกระบบและสื่อดังกล่าวสามารถนำไปสอนผู้เรียนได้ทุกสถานที่และทุกเวลา และสามารถใช้สอนช่วยเสริมได้เป็นอย่างดี

    5.     ช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้ในแนวเดียวกัน  เนื่องจากชุดการสอนมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน มีคำแนะนำในการทำกิจกรรม และข้อสอบประเมินพฤติกรรมผู้เรียนไว้อย่างพร้อมมูล

    6.       ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และการคิดมีเหตุผลสูงขึ้น (วาสนา พรหมสุรินทร์, 2540 หน้า 73)

                คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI : Computer – Assisted Instruction)

    คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง สื่อการเรียนรู้ทางคอมพิวเตอร์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งออกแบบไว้เพื่อนำเสนอบทเรียนแทนผู้สอนและผู้เรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง โดยผ่านทางจอภาพ หรือแป้นพิมพ์ วัสดุทางการสอนจะถูกเก็บอยู่ในแผ่นจานแม่เหล็ก (diskette) หรือหน่วยความจำของเครื่อง และพร้อมที่จะเรียกมาใช้ตลอดเวลา

    คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction หรือ CAI) เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่สามารถเสนอเนื้อหาวิชา คำถามคำตอบ ตรวจคำตอบและแสดงผลการเรียนให้แก่ผู้เรียนได้ทั้งในรูปตัวหนังสือ แสง สี เสียง ภาพเคลื่อนไหว รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับบทเรียน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้สอนจะต้องเลือกรูปแบบโปรแกรมให้เหมาะสมกับเนื้อหาวิชาและเป้าหมายการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามจุดประสงค์

    ขั้นตอนของการจัดทำสื่อ CAI

    1.       ศึกษาโปรแกรมที่นำมาใช้ในการจัดทำสื่อ CAI

    2.       นำบทเรียนและแผนการสอนมาวิเคราะห์ เพื่อวางเค้าโครงส่วนที่เป็นเนื้อหา และส่วนที่เป็นแบบทดสอบใน CAI

    3.     เขียนและจัดทำต้นฉบับของเนื้อหาวิชาและแบบทดสอบ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชา ให้คำปรึกษาและตรวจสอบความถูกต้อง

    ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

    คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ดังนี้

    1.     ด้วยลักษณะการทำงานของคอมพิวเตอร์ ที่สามารถเปิดโอกาสให้ผู้เรียนป้อนข้อมูลและคอมพิวเตอร์แสดงผลออกมาทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกว่าตนเป็นผู้ควบคุมบทเรียน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนสนุกสนาน และสนใจต่อบทเรียน

    2.     คอมพิวเตอร์สามารถสร้างภาพกราฟฟิก ภาพเคลื่อนไหว สี เสียง ได้ ทำให้บทเรียนน่าสนใจมาก ทั้งในรูปแบบที่เป็นแบบฝึกหัด การสอนเนื้อหา สถานการณ์จำลอง และเกมส์

    3.       เป็นสื่อการสอนที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเรียนรู้ เพราะสามารถตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ดี

    4.     ผู้เรียนได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เข้าใจได้ง่าย และมีความคงทนในการเรียนรู้สูง

    5.       ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความก้าวหน้า และความสามารถของตนเอง

    6.     ผู้ที่เรียนช้าจะมีทัศนคติที่ดีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นอย่างมาก เนื่องจากทำให้เขาไม่ต้องเรียนรวมกับเพื่อนและต้องอายเพื่อนเมื่อเรียนไม่ทัน

    7.       การใช้คอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์ช่วยให้ผู้เรียนได้คิด ได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง

    8.     การทดลองด้วยคอมพิวเตอร์ทำให้ไม่วิตกกังวลในขณะทำการทดลองที่กลัวว่าจะเกิดความเสียหาย และคอมพิวเตอร์ก็ให้ผลการทดลองที่เหมือนจริง

                แบบฝึก (ปฏิบัติการทดลอง/เสริมทักษะ)

    การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกปฏิบัติการทดลองประกอบการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้หลักการทางจิตวิทยาที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์ตรง ซึ่งการสอนโดยใช้แบบฝึกปฏิบัติการทดลองประกอบการเรียน จะเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิด การลงมือปฏิบัติ การค้นหาคำตอบด้วยตนเอง สาระหลักของรูปแบบอยู่ที่กระบวนการแก้ปัญหา ที่มีจุดกำเนิดจากความสนใจของตน ที่มีจากสิ่งกระตุ้นสิ่งเร้าของผู้สอน แล้วพัฒนากระบวนการเรียนรู้ตามลำดับขั้นตอนในบัตรงานที่ผู้สอนแจกให้แต่ละกลุ่มศึกษาจนเข้าใจ ทำนายผลการทดลอง บันทึกผลการทดลอง ตอบคำถามหลังการทดลอง ทำแบบฝึกหัด ศึกษาเพิ่มเติมจากใบความรู้ในแต่ละเรื่อง ในกลไกของการเรียนเด็กควรมีส่วนร่วมคิดและปฏิบัติเสมอ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

    การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกปฏิบัติการทดลองประกอบการเรียนเป็นการสอนที่เน้นที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ โดยพัฒนาการเรียนรู้ตามความสนใจของเด็กเอง ซึ่งแต่ละขั้นตอนของการเรียน เด็กจะต้องดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละขั้นด้วยตนเอง ในขณะที่ผู้สอนเป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 หมวด 4 ว่าด้วยแนวการจัดการศึกษา ระบุว่า “การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ”

    ลักษณะแบบฝึกที่ดี

    นิตยา  ฤทธิโยธี (2520 : 1) กล่าวถึงลักษณะแบบฝึกที่ดี ดังนี้

    1.       เกี่ยวข้องกับบทเรียนที่เรียนมาแล้ว

    2.       เหมาะสมกับระดับ วัย หรือความสามารถของเด็ก

    3.       มีคำชี้แจงสั้น ๆ ที่ให้เด็กเข้าใจวิธีทำได้ง่าย

    4.       ใช้เวลาเหมาะสม คือ ไม่ใช้เวลานานหรือเร็วเกินควร

    5.       เป็นสิ่งที่น่าสนใจและท้าทายให้แสดงความสามารถ

    วรนาท  พ่วงสุวรรณ (2518 : 34-37) ได้กล่าวถึงหลักการในการสร้างแบบฝึก ซึ่งสรุปได้ดังนี้

    -  ตั้งวัตถุประสงค์

    -  ศึกษาเกี่ยวกับเนื้อหา

    -  ขั้นตอนต่าง ๆ ในการสร้างแบบฝึก

    3.1 ศึกษาปัญหาในการเรียนรู้

    3.2    ศึกษาจิตวิทยาวัยรุ่นและจิตวิทยาการเรียนรู้

    3.3    ศึกษาเนื้อหาวิชา

    3.4    ศึกษาลักษณะของแบบฝึก

    3.5    วางโครงเรื่องและกำหนดรูปแบบของแบบฝึกให้สัมพันธ์กับโครงเรื่อง

    3.6    เลือกเนื้อหาต่าง ๆ ที่เหมาะสมมาบรรจุในแบบฝึกให้ครบตามที่กำหนด

                ศูนย์การเรียน (Learning Center)

    การสอนแบบศูนย์การเรียนเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ และใช้เทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่ใช้สื่อประสมและกระบวนการกลุ่มเป็นสำคัญ มีการจัดบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้เรียนสามารถศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง โดยการเรียนรู้จากโปรแกรมการสอน ซึ่งจัดไว้ในรูปของชุดการสอน ผู้เรียนจะหาประสบการณ์เรียนรู้โดยประกอบกิจกรรมให้ครบทุกศูนย์ ภายใต้การดูแลของผู้สอนซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน

    การสอนแบบศูนย์การเรียนเป็นวิธีการจัดกิจกรรมอย่างหนึ่งของการผลิตชุดการสอน โดยการแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อย ตามเนื้อเรื่องย่อยที่เรียกว่า ศูนย์การเรียน แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละ 4 – 6 คน โดยมีศูนย์สำรองไว้ด้วยอย่างน้อย 1 ศูนย์ แล้วให้ผู้เรียนศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากแต่ละศูนย์ที่มีให้ ซึ่งแต่ละศูนย์จะไม่ขึ้นแก่กัน ผู้เรียนจะเรียนศูนย์ใดก่อนหลังก็ได้

 

                ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน

    ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียนนี้ใช้สำหรับการเรียนแบบกิจกรรมกลุ่ม นอกจากจะให้ประสบการณ์เรียนรู้โดยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองแล้ว ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวร่างกาย ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความซื่อสัตย์ สามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในหมู่คณะ ตลอดจนเสริมสร้างวินัยและประชาธิปไตยในระบบกลุ่มด้วย

    1.       ส่วนประกอบ

        1.1)    กล่อง/กระเป๋าสำหรับบรรจุชุดการสอน

        1.2)   คู่มือครู มีรายละเอียด ได้แก่ คำชี้แจงการใช้ชุดการสอน สิ่งที่ผู้สอนต้องเตรียม แผนผังการจัดชั้นเรียน แผนการสอน กิจกรรมการเรียนของแต่ละศูนย์ สื่อ การประเมินผล และแบบทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียน

        1.3)    ซองกิจกรรมของแต่ละศูนย์ย่อย ประกอบด้วย

            -     บัตรชี้แจง เพื่อให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรม

            -     เนื้อหา/ประสบการณ์ซึ่งจัดไว้ในสื่อแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสมอาจจะเป็นวีดีโอ สไลด์ รูปภาพ หรือหนังสือ ฯลฯ

            -     แบบประเมินผลเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มหลังจากปฏิบัติกิจกรรมในศูนย์แล้ว

            -     เฉลยแบบประเมินผลของและศูนย์เพื่อให้ผู้เรียนได้รับรู้ผลการเรียนรู้ของตนเอง

        1.4)    แบบทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียนตามที่ระบุไว้ในคู่มือ

        1.5)    เฉลยแบบทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียน

   2.       การใช้

        ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน เน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้ด้วยตนเอง ผู้สอนจะเป็นผู้เตรียมสถานที่ เตรียมสื่อ เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล และให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้เรียนประสบปัญหา

 
บทบาทของครู

1.   ศึกษาเนื้อเรื่องที่จะสอนให้ชัดเจน และจัดแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นศูนย์ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

2.   แต่ละศูนย์ควรมีกิจกรรมแปลก ๆ แตกต่างกัน ไม่ควรเป็นการอ่านตอบคำถามซ้ำกันทุกศูนย์ ทำให้ไม่น่าสนใจ น่าเบื่อ

3.   เนื้อเรื่องที่เลือกมาจะเรียนตอนใดก่อนหลังก็ได้

4.   บัตรคำสั่ง บัตรคำถามในแต่ละศูนย์ต้องชัดเจน

5.   ให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมได้ครบทุกศูนย์

6.   ควรมีศูนย์สำรองเป็นกิจกรรมเสริมสำหรับผู้ทำงานเสร็จก่อนให้เพียงพอ

บทบาทของผู้เรียน

1.       ทำความเข้าใจตามที่ผู้สอนชี้แจงวิธีการเรียน

2.       ศึกษาให้ครบทุกศูนย์เพื่อจะมีประสบการณ์ครบถ้วน

3.       เมื่อศึกษาเสร็จก่อนคนอื่นในกลุ่มควรใช้ศูนย์สำรองคอยคนอื่นในกลุ่ม

4.       ให้ความร่วมมือแสดงความคิดเห็นไดเมื่อทุกกลุ่มเรียนจบศูนย์

 

 

ขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้

    การเตรียมการจัดกระบวนการเรียนรู้

     การเตรียมแผนการเรียนรู้วางแผนดังนี้

1.     ศึกษาหลักสูตร เพื่อเข้าใจหลักการ จุดมุ่งหมาย โครงสร้างจุดประสงค์ และคำอธิบาย เนื้อหาสาระสำคัญ ตลอดจนจุดประสงค์การเรียนรู้

2.       ศึกษาคู่มือการใช้หลักสูตร คู่มือการสอน แนวการสอน เพื่อเข้าใจจุดเน้นของหลักสูตร

3.     ศึกษาคู่มือการประเมินผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรประถมศึกษา ปีพุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.. 2533) ให้เข้าถึงหลักการ วิธีการ ประเมินผลการเรียนรู้ ทั้งแบบประเมินผลก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียน และประเมินผลปลายภาคเรียนให้เข้าใจ

4.     ศึกษาแนวทางการจัดการเรียนรู้ ตั้งแต่ความคิดรวบยอด จุดประสงค์การเรียนรู้ จุดประสงค์นำทาง จุดประสงค์ปลายทาง เกณฑ์การประเมินจุดประสงค์ กิจกรรมการเรียนรู้ การจัดทำสื่อที่ใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

5.       จัดทำกำหนดการสอนเป็นรายคาบ

6.       จัดทำแผนการเรียนรู้

7.     จัดทำสื่อประกอบการจัดกิจกรรมเรียนรู้ และทดลองใช้ก่อนนำไปสอน วัสดุอุปกรณ์ วัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ ต้องเตรียมใส่ไว้ในชุดการสอนให้พร้อม

8.     จัดทำเอกสารประกอบการจัดกิจกรรม เช่น แบบฝึกปฏิบัติการทดลองประกอบการเรียน มีทั้งใบงาน ใบความรู้ แบบฝึกหัด แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรม แบบบันทึกคะแนน ฯลฯ

    การเตรียมสถานที่

                                โดยจัดที่เรียนให้เป็นกลุ่มกิจกรรมจำนวนกลุ่มเท่ากับจำนวนศูนย์ย่อยในชุดการสอน ซึ่งนิยมจัดเป็น 5 ศูนย์ อาจจะมากหรือน้อยกว่า 5 ศูนย์ตามเนื้อหา ตามแผนผัง ดังนี้

  

 

 

 

 

 

 

 


 

    การจัดกิจกรรมการเรียนรู้

    1.     การทดสอบก่อนเรียน โดยให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน ตามที่ใช้การสอนกำหนดไว้ เพื่อวัดพื้นฐานความรู้เดิมของผู้เรียนใช้เวลาประมาณ 5 – 10 นาที

    2.       นำเข้าสู่บทเรียนแล้วแนะนำวิธีการเรียนในแต่ละศูนย์ การประเมินผลและการเปลี่ยนศูนย์ใช้เวลาประมาณ 10 นาที

    3.       ปฏิบัติกิจกรรม

            -    แบ่งกลุ่มเพื่อเข้าเรียนในศูนย์การเรียน

            -    แต่ละกลุ่มอ่านบัตรคำชี้แจงประจำศูนย์

            -    ปฏิบัติกิจกรรมตามคำชี้แจง

            -    ประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรมและศึกษาความถูกต้องจากแบบเฉลย

            -    เปลี่ยนศูนย์

ศูนย์ย่อยที่ 1 – 4 ทุกกลุ่ม จะต้องหมุนเวียนกันไป เข้าไปปฏิบัติกิจกรรมให้ครบทุกศูนย์ จึงจะได้มีเนื้อหาครบตามจุดประสงค์ ส่วนศูนย์สำรอง มีไว้สำหรับกลุ่มที่เสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีศูนย์ใดให้เปลี่ยนก็เข้าไปทำกิจกรรมเสริม

ในการเปลี่ยนศูนย์ ถ้าผู้เรียนเสร็จ 1 กลุ่ม ให้ไปเข้าศูนย์สำรอง ในกรณีที่เสร็จพร้อมกัน 2 กลุ่มเปลี่ยนศูนย์กัน ถ้าเสร็จพร้อมกัน 3 – 4 กลุ่ม ให้เวียนกันไม่ให้ซ้ำศูนย์ ผู้สอนต้องดูแลการเปลี่ยนศูนย์และควบคุมเวลาของแต่ละศูนย์

    4.       สรุปบทเรียน โดยตัวแทนของแต่ละกลุ่ม ผู้สอนช่วยเสริมในส่วนที่บกพร่องใช้เวลาอีกประมาณ 10 นาที

    5.     ทดสอบหลังเรียน โดยใช้แบบทดสอบชุดเดียวกับชุดก่อนเรียน หรืออาจสลับข้อหรือสลับคำตอบบ้าง ใช้เวลาประมาณ 5 – 10 นาที ผลการทดสอบก่อนเรียน หลังเรียน ควรแสดงให้ผู้เรียนเห็นความก้าวหน้าของตนเองด้วย

รวมเวลาที่ใช้ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียนครั้งหนึ่งประมาณ 3 – 4 คาบ แต่เวลาจะมากหรือน้อยไปกว่านี้อีกก็ได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อหากิจกรรมของชุดการสอนแต่ละเรื่อง

    ชุดการสอนแบบรายบุคคล

    1.       สำหรับผู้เรียนใช้ศึกษาค้นคว้าเป็นรายบุคคล

        1)      ส่วนประกอบ

        2)      กล่อง/กระเป๋า/ซองบรรจุชุดการสอน

        3)      คู่มือการใช้ชุดการสอน

    2.       การใช้

        1)      ใช้สำหรับศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เมื่อผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมอื่น ๆ เสร็จ และมีเวลา ก็นำชุดการสอนมาเรียนได้

        2)      สำหรับผู้เรียนที่เรียนซ้ำ ไม่ทันเพื่อน ผู้สอนอาจให้มาศึกษาชุดการสอนนอกเวลาหรือนำไปเรียนที่บ้าน

        3)      สำหรับเสริมให้เด็กเก่ง ได้ค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติม

    ลักษณะเด่นของรูปแบบ

        1)      สร้างบรรยากาศในการเรียนตามความสนใจของผู้เรียน ผู้เรียนเพลิดเพลินมีความสุขกับการเรียน

        2)    ส่งเสริมให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ผู้สอนเป็นเพียงผู้ช่วยชี้แนะอำนวยความสะดวก จัดเตรียมสื่อต่าง ๆ ไว้อย่างเพียงพอ

        3)    ฝึกการทำงานเป็นหมู่คณะ เกิดกระบวนการทำงาน เช่น การวางแผนการทำงาน ความรับผิดชอบ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเป็นประชาธิปไตย เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี รู้จักเคารพสิทธิและฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

        4)      เปิดโอกาสให้ผู้สอนใกล้ชิดกับผู้เรียนทุก ๆ กลุ่มให้ผู้สอนได้สังเกตพัฒนาการของผู้เรียนดียิ่งขึ้น

        5)      ช่วยให้การสร้างความรู้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มิใช่ผู้สอนคอยบังคับให้ผู้เรียนจดและท่องจำเพียงอย่างเดียว

        6)    ช่วยให้ผู้สอนตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในการค้นคว้าหาความรู้ในวิชาที่สอนเพิ่มเติม สำรวจแหล่งวัสดุอุปกรณ์ และคิดค้นประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นเอง

        7)      ช่วยให้ผู้สอนสอนผู้เรียนได้คราวละจำนวนมาก ๆ หากมีชุดการสอน/สื่อการสอนเพียงพอ

 

 

จาก http://www.wijai48.com/learning_stye/experince_learning/instruction_learning.htm