Print90

#611 เมื่อเพื่อนขอใช้โทรศัพท์เข้าสื่อสังคม

    อาจมีสักครั้งที่เพื่อนสนิท หัวหน้า กิ๊ก หรือแฟนขอยืมสมาร์ทโฟนของเราเข้าสื่อสังคม ในกรณีที่โทรศัพท์ของผู้ที่เข้ามายืมมีปัญหาและมีเหตุผลจำเป็น คำตอบโดยปกติคือ ไม่ให้ยืม แต่ถ้าคำตอบต้องเป็นให้ยืม แล้วต้องทำอย่างไร บางครั้งอาจต้องมีการทำงานกลุ่ม ต้องการภาพ หรือคลิ๊ปที่มีคุณสมบัติเหมือนกันจากสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวกันเพื่ออัพโหลด หรือในกลุ่มมีเพียงของเราที่เชื่อมต่อเครือข่าย 3G หรือ WiFi ได้ หรือในกลุ่มพร้อมใจกันไม่ได้พกอุปกรณ์ติดตัวไปด้วย นั่นมีเหตุผลมากมายที่ต้องให้ยืม แล้วผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเข้าใจเงื่อนไขเหล่านี้ จึงพัฒนาโปรแกรมบราวเซอร์ให้สามารถเปลี่ยนเป็นโหมดส่วนตัวที่ไม่บันทึกข้อมูลขณะใช้งาน และหายไปเมื่อเลิกใช้ได้ ซึ่งรองรับการให้เพื่อนยืมสมาร์ทโฟนเพื่อเข้าสื่อสังคมได้

    ในสมาร์ทโฟนมักมีโปรแกรมบราวเซอร์ (Browser) อยู่หลายค่าย อาทิ Chrome, Firefox, Opera, Baidu หรือ Dolphin ผู้ใช้บางท่านอาจลงผลิตภัณฑ์หลายค่าย ซึ่งทุกค่ายมีคุณสมบัติในการเข้าโหมดส่วนตัว แต่ละค่ายก็จะมีชื่อเรียกโหมด และวิธีการใช้งานที่แตกต่างกันไป แต่โหมดส่วนตัวหรือโหมดปลอดภัยจะมีคุณสมบัติเหมือนกัน คือ จะไม่เก็บรหัสผู้ใช้และรหัสผ่านขณะใช้งานในโหมดปลอดภัยนี้ ไม่บันทึกการใช้งานให้ติดตามได้ใน History และไม่เก็บข้อมูลคุกกี้ไว้ในเครื่องเมื่อเลิกใช้ และทำงานแยกออกจากโหมดใช้งานปกติ ซึ่งผู้ใช้สามารถล๊อกอินเข้าระบบสื่อสังคม อาทิ เฟสบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ด้วยบัญชีผู้ใช้ที่แตกต่างกันระหว่างโหมดปกติ และโหมดปลอดภัยคนละชื่อ หากมี 3 โปรแกรมบราวเซอร์ และสลับโหมดก็จะสามารถให้เพื่อนไม่ต่ำกว่า 6 คนเข้าสู่ระบบของสื่อสังคมด้วยบัญชีที่แตกต่างกันได้ แต่คงจะวุ่นวายอยู่ไม่น้อยกับการใช้สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวโดยผู้ใช้ 6 คน

    การเข้าโหมดลับของโปรแกรม Chrome เรียก New incognito tab แล้วยังเปิดได้หลาย Tab ส่วนโปรแกรม Firefox เข้าผ่าน Private tab หรือ Tools, New Guest Session ก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ส่วนโปรแกรม Opera เข้าผ่าน Tab ที่ชื่อ Private คล้ายกับของ Firefox การใช้งานในโหมดลับนี้จะป้องกันการเห็นข้อมูลเฉพาะในตัวเครื่องเท่านั้น การเชื่อมต่อแล้วส่งข้อมูลออกไปภายนอกยังคงเปิดเผย และมีการเก็บข้อมูลการจราจร (Traffic Log) เช่นเดิม ผ่านผู้ให้บริการเครือข่าย ข้อความที่ส่งไปในสื่อสังคมก็ไม่ลับ หากข้อความนั้นมีคุณสมบัติเป็นสาธารณะ ดังนั้นการส่งข้อความใดก็ควรอยู่ในวิจารณญาณว่าจะไม่ก่อความเดือดร้อนให้ตนเอง หรือผู้อื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อความปลอดภัยของตนเองเป็นที่ตั้ง เพราะความลับไม่มีในโลก และอย่างน้อยความลับที่ว่าลับนักนั้นตนเองก็รู้