หัวอกเอาท์ซอร์สเว็บไซต์
 
#607 หัวอกเอาท์ซอร์สเว็บไซต์

    คนไทยคงรู้จักคำว่า เอาท์ซอร์ส (Outsource) ผ่านภาพยนตร์เรื่องฟรีแลนซ์ (Freelance) ซึ่งเป็นลักษณะอาชีพหนึ่ง โดยฟรีแลนซ์ คือ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่รับงานในระดับบุคคล ส่วนเอาท์ซอร์สถูกมองว่าเป็นการใช้ทรัพยากรจากภายนอก อาจเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคลก็ได้ ฟรีแลนซ์ คือ ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างอิสระ มักไม่สังกัดองค์กร มีรายได้เป็นค่าจ้างจากผู้ว่าจ้าง โดยปกติเอาท์ซอร์สจะถูกมองเป็นภาพที่ใหญ่กว่าฟรีแลนซ์ มักถูกจ้างโดยส่วนราชการ หรือบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อไปทำงานที่องค์กรไม่ถนัด เช่น งานทำความสะอาด งานออกแบบ งานระบบไอที งานรักษาความปลอดภัย งานอีเวนท์ หรืองานที่มีกรอบเวลาชัดเจน เพราะสามารถลดต้นทุนในการจ้างคน ไม่ต้องลงทุนกับทรัพยากร การฝึกอบรม เสี่ยงเมื่อพนักงานลาออก และเปลี่ยนได้หากไม่ได้ผลงานตามที่ตกลงไว้

    มีมุมให้มองมากมาย หากมองในมุมของเอาท์ซอร์สต่อองค์กรผู้ว่าจ้าง ในเรื่องของการพัฒนาเว็บไซต์ ก็พบประเด็นเรื่องของบุคคลในหลายระดับที่อาจมีปัญหาแตกต่างกันไป การที่เอาท์ซอร์สจะรับงานก็ต้องมีการประสานงานจากบุคคลในองค์กร แล้วกำหนดความต้องการ ข้อมูล ทรัพยากร ค่าใช้จ่าย และระยะเวลา ซึ่งต้นทุนที่ชัดเจนอย่างน้อยประกอบด้วย ค่าเช่าเครื่องบริการ (Hosting) และค่าโดเมนเนม (Domain Name) ถ้ารับจ้างทำเว็บไซต์ทั้งหมด 500 บาท นั่นคือค่าจดโดเมนเพียงอย่างเดียว หากรับ 1000 บาทจะเป็นค่าโดเมนบวกค่าเช่าโฮส แต่เป็นค่าใช้จ่ายต่อปี หากจะให้เว็บไซต์อยู่ 3 ปี นายจ้างต้องจ่าย 3000 บาท นั่นหมายถึงเอาท์ซอร์สกำลังทำงานการกุศล ถ้าองค์กรไม่เข้าใจเรื่องค่าใช้จ่าย และเงื่อนไขการมีเว็บไซต์ให้อยู่ได้นาน ก็จะเป็นปัญหาที่ตามมาอย่างแน่นอน

    ผู้ประสานงานที่ติดต่อกับเอาท์ซอร์สและถือเป็นผู้ว่าจ้างนั้น ถือเป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในเงื่อนไขทั้งหมด แต่ปัญหาจะเกิดขึ้น หากรู้สึกว่างานทั้งหมดเป็นงานของเอาท์ซอร์ส และผลงานเว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นไม่ใช่งานของผู้ประสานงานก็คงบอกได้เลยว่าอนาคตของเว็บไซต์ได้มืดมนต์ไปตั้งแต่วันที่ส่งมอบงาน ผู้บริหารองค์กรต้องเข้าใจความสำคัญของโดเมนเนม เพราะมีองค์กรหลายประเภทที่ไม่ได้ใส่ใจเว็บไซต์ขององค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่เปลี่ยนผู้บริหารบ่อย หรือไม่ได้ประโยชน์จากการใช้เว็บไซต์ทางตรง จะส่งผลถึงการไม่ต่ออายุโดเมนเนม แล้วเว็บไซต์ก็จะหายไปโดยปริยาย เอาท์ซอร์สบางรายที่ผูกพันธ์กับผลงานที่ปั้นมากับมือก็อาจรู้สึกเสียดายที่ผลงานที่สร้างขึ้นหายไปจากโลก แต่เจ้าของโดเมนคือองค์กรอาจคิดไม่เหมือนกันก็ได้ และพบเห็นได้ในยุคที่เครือข่ายสังคมกำลังเฟื่องฟู
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
608. เก็บเรื่องราวในความทรงจำได้สั้น
607. หัวอกเอาท์ซอร์สเว็บไซต์
606. ไทยแลนด์เข้าสู่ยุคนวัตกรรม
605. การใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com