บันทึกของชาวโลกที่เปลี่ยนไป
 
#427 บันทึกของชาวโลกที่เปลี่ยนไป

    ในอดีตการบันทึกเรื่องราวที่ประทับใจหรือไม่ประทับใจทำได้จำกัด อาจแกะสลักไว้บนแผ่นหิน เขียนบนผนังถ้ำ แกะสลักบนแผ่นไม้ หรือเขียนไปบนหนังสัตว์ หากจะแบ่งปันให้เพื่อนก็ต้องคัดลอกทีละชิ้นงาน เมื่อความก้าวหน้าทางการพิมพ์สูงขึ้นก็เกิดเป็นหนังสือ หนังสือพิมพ์ หนังสือสารานุกรมถูกจัดทำและเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตก็ถึงทางตันของสิ่งพิมพ์ หรือหนังสือชุดสารานุกรม เพราะข้อมูลข่าวสารสามารถเข้าถึงได้จากอินเทอร์เน็ต มีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สืบค้นข้อมูลที่ไม่รู้ได้จากกูเกิ้ล

    เรื่องราวเกี่ยวกับการเขียนไดอารี่ (Diary) หรือจดหมายนั้น มีเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจ คือ เรื่องคุณพ่อขายาว (Daddy Long Legs) ที่เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ได้รับทุนเรียนในโรงเรียนกินนอน และต้องเขียนจดหมายส่งให้ผู้อุปการะเป็นประจำ งานเขียนเป็นที่น่าประทับใจของเยาวชน เพราะผสมผสานระหว่างวัยรัก กับวัยเรียนได้อย่างลงตัว ปัจจุบันเราเลือกเขียนได้ในสมุดไดอารี่ บล็อก หรือระบบคาเรนด้า (Calendar) ตามเรื่องที่สนใจ ปัจจุบันเฟสบุ๊คหรือกูเกิ้ลพลัสเป็นระบบบันทึกที่ถูกใช้แพร่หลาย ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ซึ่งเดิมผู้คนไม่นิยมใช้ชื่อจริง และภาพถ่ายของตนเป็นภาพประจำตัว แต่ระยะหลังพบว่ากว่าร้อยละ80 ใช้ข้อมูลจริงกันแล้ว

    วัฒนธรรมการเปิดเผยตัวตนต่อสังคมได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้น ผมมีเพื่อนหลายท่านที่เคยไม่คิดเปิดเผยตัวต่อชาวโลก แต่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ มีการแบ่งปันเรื่องราวเหตุการณ์ที่น่าสนใจในสังคม ข้อคิดเห็นทางการเมืองทั้งที่ชื่นชม ติเตือน และเลือกข้างคละเคล้ากันไป มีการถ่ายรูปตนเอง ครอบครัว เพื่อน เพื่อนบ้าน ถ่ายคลิ๊ปวีดีโอ เขียนบันทึก และแบ่งปันเสียงเพลงที่ร้องเอง คงเพราะรู้สึกว่าโลกเสมือนจริงมีความปลอดภัย ทำแล้วมีความสุข ถูกยอมรับจากเพื่อนอย่างทันใจ ซึ่งชัดเจนว่าการเขียนบันทึกเรื่องราวเปลี่ยนจากการเขียนในสมุดไดอารี่เป็นการบันทึกด้วยภาพ คลิ๊ปวีดีโอ และมีข้อความอธิบายพอเข้าใจ แล้วถูกแบ่งปันไปในเครือข่ายสังคมเพิ่มขึ้น
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
428. การควบคุมพื้นที่ในโลกไซเบอร์
427. บันทึกของชาวโลกที่เปลี่ยนไป
426. ม็อบการเมืองกับโซเชียลมีเดีย
425. ไอพีทีวีของทีโอที
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com