สั่งคอมพิวเตอร์ด้วยคลื่นสมอง
 
# 283 สั่งคอมพิวเตอร์ด้วยคลื่นสมอง

    ปัจจุบันการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานจะใช้มือพิมพ์มีถึงร้อยละ 99 เพราะมีความถูกต้องแม่นยำสูงที่สุด มีการพัฒนาการรับข้อมูลหรือสั่งงานคอมพิวเตอร์ด้วยเสียง (Sound Recognition) มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี แต่ข้อจำกัดในความไม่แน่นอนของเสียงทำให้การสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานด้วยเสียงยังไม่เป็นที่นิยม หรือพูดแล้วให้คอมพิวเตอร์แปลงข้อความเสียงเป็นตัวอักษรในไมโครซอฟท์เวิร์ด (Microsoft Word) ก็ยังมีข้อผิดพลาดอยู่มากขณะแปลงเป็นตัวอักษร แต่ถ้ารับตัวเลขที่มีเพียง 10 ตัว คือ 0 ถึง 9 ก็จะรับข้อมูลได้ถูกต้องกว่าข้อความทั่วไป เพราะความถี่ของเสียงตัวเลขแต่ละตัวมีความแตกต่างกันชัดเจน และมีจำนวนไม่มาก ซึ่งต่างกับข้อความทั่วไป เช่นคำว่า sort หรือ source ที่พูดแล้วเครื่องคอมพิวเตอร์อาจตีความต่างไปจากที่ตั้งใจ

    การพัฒนาให้คอมพิวเตอร์รับคำสั่งด้วยคลื่นสมองเป็นแนวคิดที่มีให้เห็นในภาพยนตร์ แต่ในงาน CeBIT 2011 ซึ่งเป็นงานนำเสนอผลงานด้านอุตสาหกรรมดิจิทอลที่ใหญ่ที่สุด ระหว่าง 1 - 5 มีนาคม 2554 ณ รัฐฮาโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี มีการนำเสนออุปกรณ์ที่ชื่อ Intendix โดย Guger Technologies ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ใช้สามารถพิมพ์ข้อความบนคอมพิวเตอร์โดยใช้สมอง ด้วยการใช้อุปกรณ์อ่านคลื่นสมอง (EEG : Electroencephalography) พัฒนาขึ้นเพื่อจำหน่ายเป็นเครื่องแรกของโลกสำหรับผู้พิการทางร่างการหรือเป็นอัมพาต อุปกรณ์ประกอบด้วยหมวกอิเล็กโตรด หน้าจอแสดงผลตัวอักษรที่กระพริบตลอดเวลา อุปกรณ์ขยายคลื่นสมอง และซอฟท์แวร์ควบคุมการทำงาน การใช้งานนั้นผู้ใช้ต้องมีสมาธิ และคอมพิวเตอร์จะจดจำรูปแบบคลื่นสมองกับตัวอักษรที่เลือก หากระบบซอฟท์แวร์จดจำรูปแบบคลื่นสมองได้แล้ว จะสามารถพิมพ์ตัวอักษรตามความนึกคิดของผู้ใช้ได้ด้วยความเร็ว 5 - 10 ตัวอักษรต่อนาที

    ทางเลือกในการรับข้อมูลจากผู้ใช้นอกจากใช้มือแล้วก็ยังมีเทคโนโลยีอื่นที่ยังอยู่ในระหว่างพัฒนา ข้อจำกัดของการรับคำสั่งด้วยคลื่นสมอง คือ ความเร็วในการพิมพ์ตัวอักษรที่พบจากคลิปสาธิตการใช้งาน พบว่าหากต้องการพิมพ์อีเมลความยาว 250 คำอาจต้องใช้เวลาหลายสิบชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบกับระบบสั่งพิมพ์ด้วยวิธีกระพริบตาสำหรับผู้พิการก็อาจใช้เวลาหลายวันกว่าจะได้อีเมลหนึ่งฉบับ แต่ทั้งสองเทคโนโลยีเป็นความพยายามสร้างโอกาสให้กับผู้พิการ และเป็นทางเลือกใหม่ของมนุษย์ในการสั่งงานคอมพิวเตอร์ ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้พัฒนาทุกคนที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ และก็หวังว่าสักวันหนึ่งคอมพิวเตอร์จะสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมีแป้นพิมพ์วางอยู่หน้าเครื่อง เป็นความฝันว่าคนจะพูดคุยกับคอมพิวเตอร์รู้เรื่อง หรือแค่คิดคอมพิวเตอร์ก็เข้าใจและปฏิบัติงานได้ทันที
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
284. ภาพยนตร์ 2012 กับหายนะวันนี้
283. สั่งคอมพิวเตอร์ด้วยคลื่นสมอง
282. ทันโลกทันเหตุการณ์
281. วิวัฒนาการด้านการสื่อสาร
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com