การพัฒนาเทคโนโลยีของชาวบ้าน
 
# 248 การพัฒนาเทคโนโลยีของชาวบ้าน
5 - 11 กรกฎาคม 2553

    ได้ฟังการบรรยายจาก ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ว่านาย David Cavallo ได้พูดคุยกับคนไทยส่วนหนึ่ง แล้วก็มีคนไทยบางคนคิดว่าการพัฒนาให้คนในชนบทใช้เทคโนโลยีได้นั้นอาจต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี แต่ David Cavallo ชี้ให้เห็นว่าความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันนักวิชาการในส่วนราชการหรือสถาบันการศึกษาบางกลุ่มคิดว่าความเจริญของชุมชนจะเกิดขึ้นได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจากชุมชนเมืองโดยผู้ทรงภูมิปัญญาขั้นเทพ ส่วนชาวบ้านเป็นผู้ไม่รู้หนังสือ อ่านไทยไม่ได้ เขียนหนังสือไม่ออก ไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย จำเป็นต้องพัฒนาอีกนานกว่าจะเข้าใจเทคโนโลยี หรือคิดค้นเครื่องมือขึ้นใช้งานได้

    ภูมิปัญญาชาวบ้านมีเทคโนโลยีน่าทึ่งอยู่มากมาย แต่นักวิชาการส่วนหนึ่งมักมองข้ามอัจฉริยภาพที่แฝงอยู่ในชนบท ด้วยคิดว่าตนเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาย่อมมีภูมิปัญญาเหนือผู้ไม่รู้หนังสือ ที่คิดไปเช่นนั้นก็เพราะไม่ได้เข้าไปศึกษาวิถีของชุมชน ไม่ทำความเข้าใจในความเป็นมาและเป็นไป หรือจดบันทึกข้อค้นพบอย่างเป็นระบบ เช่น เรือหางยาวมิได้เกิดจากคณะวิศวกรรมเป็นผู้พัฒนา การทำดินปืนของชาวเขาก็ไม่มีภาควิชาเคมีเข้าไปแนะนำ ครกกระเดื่องตำข้าวก็มิได้เกิดจากการคิดค้นของภาควิชาฟิสิกส์ ต้มเหล้าเถื่อนก็มิใช่คณะวิทยาศาสตร์เป็นผู้พัฒนาสูตร ผ้าทอมือมีลายประจำหมู่บ้านก็มิได้มีสาขาวิชาออกแบบที่ไหนไปให้การอบรม

    มีเทคโนโลยีมากมายที่เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามของชุมชนเพื่อแก้ปัญหา แล้วหาคำตอบด้วยกระบวนการทดลอง ทดสอบ ตั้งสมมติฐาน กำหนดวิธีการ ลองผิดลองถูก แล้วได้ผล นำผลมาใช้ร่วมกันในชุมชน หรือแลกเปลี่ยนวิธีการระหว่างชุมชน จนกลายเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมและสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นด้วยฐานคิดของคนในชุมชน แต่แล้วค่านิยมทางวัตถุ และความเป็นสังคมเมืองก็เริ่มเข้ามาสั่นคลอนเสถียรภาพของชนบทที่เคยอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย จึงมีคำถามว่าในสังคมเมืองมีปัญหามากมายทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ครอบครัว วัฒนธรรม และศาสนา แล้วทำไมคนในสังคมเมืองพยายามเข้ามายัดเยียดเทคโนโลยีที่นำไปสู่การเปลี่ยนจากวิถีชุมชนเป็นสังคมเมือง พอจะมีใครหรือไม่ที่สนใจการนำวิถีของชนบทไปใช้แก้ปัญหาของสังคมเมือง อย่างน้อยเราทุกคนก็ได้รู้ถึงแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เข้ามารั้งมิให้คนไทยก้าวกระโดดต่อไปแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง หลักนี้เป็นเสมือนเชือกที่ผูกคนไทยในโลกที่แสนวุ่นวาย มิให้หลุดลอยไปกับกระแสวัตถุนิยมที่ถอยห่างความพอเพียง ความสมเหตุสมผล หรือเส้นทางสู่ความสุขทางใจที่แท้จริง
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
249. สัดส่วนการใช้สังคมออนไลน์เพื่องาน
248. การพัฒนาเทคโนโลยีของชาวบ้าน
247. ส่งการบ้านทาง facebook.com
246. เวทีนำเสนอนวัตกรรมด้านไอที
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com